วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > “เด็กไทย” เมื่อมูลค่ามาก่อนคุณค่า กวดวิชา ตลาดชอปปิ้งทางการเรียน

“เด็กไทย” เมื่อมูลค่ามาก่อนคุณค่า กวดวิชา ตลาดชอปปิ้งทางการเรียน

 

 
จากการจัดอันดับ “ระดับการศึกษา” ของไทยที่เป็นอันดับสุดท้ายในอาเซียน เป็นตัวบ่งบอกว่าระบบการศึกษาของไทยมีจุดอ่อนและเป็นปัญหาสะสมมานาน แม้ว่าภาครัฐจะให้ความสำคัญในการศึกษา โดยการทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาล เรียกว่าแทบชนเพดาน ให้กับงานด้านการศึกษา แต่เหมือนว่าไม่ได้เป็นการตอบโจทย์ที่จะพัฒนาเรื่องการเรียนของเด็กไทยได้
 
ในขณะที่การเติมความฝันที่จะเข้าเรียนไม่ว่าจะเริ่มจากระดับประถม มัธยม หรืออุดมศึกษา ยังมีการวางระบบการศึกษาเป็นแบบการแข่งขัน ทุกคนมุ่งเข้าสู่การแข่งขันเพื่อให้เข้าเรียนในสถาบันที่ตนเองต้องการ โรงเรียนกวดวิชาจึงตอบโจทย์ทั้ง “เด็ก” และ “พ่อแม่ผู้ปกครอง” ที่ถูกกำหนดเส้นทางไว้เบ็ดเสร็จจากการออกระบบการศึกษาที่มีจุดอ่อน
 
ขาลงการศึกษา แต่กลับเป็นขาขึ้นโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ในปี 2556 พบว่า ประเทศไทยมีโรงเรียนกวดวิชารวม 1,983 แห่ง แบ่งเป็นเขตกรุงเทพมหานคร 487 แห่ง และต่างจังหวัดอีก 1,496 แห่ง ซึ่งการศึกษาในโรงเรียนกวดวิชานั้นส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง และนักเรียนทุกคนต้องจ่ายเงินค่าเรียน จนทำให้โรงเรียนกวดวิชากลายเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรมหาศาล
 
สถาบันกวดวิชาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาส่วนใหญ่จะแยกสอนสถาบันละวิชาเดียวเท่านั้น เช่น เอ็นคอนเซ็ปต์ สอนเฉพาะภาษาอังกฤษ, เคมีอุ๊ สอนเฉพาะวิชาเคมี, แอพพลายฟิสิกส์ สอนเฉพาะฟิสิกส์ และมีเพียงบางสถาบันเท่านั้นที่สอนหลายวิชา เช่น เดอะติวเตอร์ เดอะเบรน
 
เรื่องจริงที่น่าเศร้าและสะเทือนใจ ก็คือในช่วงเปิดเทอม เด็กต้องเรียนเนื้อหาคู่ขนานกับการเรียนในโรงเรียน เพื่อตอบโจทย์ที่ว่า เรียนที่โรงเรียนไม่รู้เรื่อง ครูสอนอย่าง ออกข้อสอบอีกอย่าง  ฉะนั้นเด็กต้องขวนขวาย หาความรู้ข้างนอกเพื่อมาเติมเต็มความรู้
 
หรือแม้ในช่วงปิดเทอมถือว่าเป็นช่วงนาทีทองของผู้ปกครองบางคน ที่ต้องจัดคิวเต็มเหยียด เพื่อให้บุตรหลานตนได้ทุ่มเวลาในการเก็บเกี่ยวเนื้อหาจากโรงเรียนกวดวิชาอย่างเต็มที่ เรียกได้ว่าจัดเต็ม เรียนตุนไว้ก่อน จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า  ทำไมเด็กบางคนจึงเรียนเกินชั้นเรียน อาทิ เรียนอยู่ประถม 6 แต่เรียนวิชาต่างๆ ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ล้ำหน้าไปถึงชั้นมัธยม1-2 กันเลยทีเดียว
 
และในขณะที่ความเป็นจริงการสอบเข้าโรงเรียนชื่อดังยอดนิยม ถ้าเด็กไม่อัดแน่น หรือไม่ได้เรียนพิเศษ  ลำพังเรียนแค่ในโรงเรียนปกติ ก็ดูเหมือนว่าจะมีโอกาสค่อนข้างน้อย ที่จะเข้าไปเรียนได้ 
 
ปรากฏการณ์ที่ว่านี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าเด็กๆ จำนวนหนึ่งจะคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี  เมื่อเข้าไปเรียนหนังสือในโรงเรียนที่สอบเข้าไปเพราะได้พบเจอกันในสถาบันกวดวิชากันจนเจนตา และนี่อาจเป็นเหตุผลและหลักประกันว่าทำไมธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาจึงได้รุ่งเรือง พร้อมความร่ำรวยด้วยรายได้มหาศาล
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประมาณการมูลค่าตลาดธุรกิจกวดวิชา ทั้งในส่วนของการเรียนกวดวิชาในรูปแบบโรงเรียนกวดวิชา และติวเตอร์อิสระที่สอนแบบตัวต่อตัวหรือสอนเป็นกลุ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เฉพาะปี 2555 ประเทศไทยมีโรงเรียนกวดวิชา 2,005 แห่ง อยู่ในกรุงเทพฯ 460 แห่ง และภูมิภาค 1,545 แห่ง มีนักเรียนกวดวิชา 453,881 คน หรือ 12% ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาทั้งหมด 
 
โดยมูลค่าการตลาดของธุรกิจกวดวิชา ปี 2556 ประมาณ 7,160 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2555 ที่มีมูลค่า 7,000 ล้านบาท และคาดว่า ปี 2558 จะเติบโตไปสู่ 8,189 ล้านบาท เพิ่ม 5.4% ซึ่งการเติบโตนี้มีปัจจัยหนุนมาจากการเพิ่มราคาค่าเรียน และจำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้น
 
จากคำพูดที่ว่า  คนจนมักเข้าไม่ถึงการศึกษาเพราะขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่สำหรับการศึกษาในโรงเรียนกวดวิชานั้น ทุกคนล้วนมีทุนทรัพย์และต้องแข่งขันกันเสียเงิน ธุรกิจที่ไม่มีการต่อรอง และพร้อมที่จะรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้ปกครอง
 
ในขณะที่สถาบันบางแห่งที่อาจารย์มีชื่อเสียงผู้ปกครองต้องจองคอร์สกันล่วงหน้าหลายๆ  เดือน หรือบางคอร์ส อาทิ คอร์สเตรียมสอบเพื่อการแข่งขันคอร์สสอนสด ผู้ปกครองต้องแย่งกันไปรีบเสียเงิน เพื่อให้ลูกไม่พลาดเข้าเรียนในคอร์สนั้นๆ
 
เหตุผลที่ฟังดูอาจจะน่าขบขันแต่สะท้อนวิธีคิดของเด็กไทยที่ไปเรียนกวดวิชาก็คือ เนื้อหาดี มีเทคนิคการสอนเก่ง ถ่ายทอดดี สอนสนุก มีมุกตลกเข้ามาแทรก เด็กไม่เครียด ไม่เบื่อ ทำให้เด็กเรียนรู้เรื่อง เข้าใจ และชอบ
 
ซึ่งเป็นสิ่งที่หาไม่ได้ในระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนปกติ แต่เป็นครูที่เด็กต้องการ และเด็กสามารถ เลือกได้
 
สำหรับวิชาที่เด็กมาเรียนไม่ได้มีแค่คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ แต่ยังรวมถึงภาษาไทย และวิชาสังคม อีกด้วย เรียกได้ว่า วิชาหลักๆ ต้องพึ่งพิงโรงเรียนกวดวิชาอย่างเดียว ถึงจะเอาอยู่
 
จากประถม ก้าวถึงมัธยม และผ่านเข้ารั้วมหาวิทยาลัย ของเด็กหนึ่งคนที่ต้องเรียนกวดวิชาอย่างต่อเนื่อง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอาจต้อง ใช้เงินถึง 7–8 หลัก เพื่อซื้อความสำเร็จและความใฝ่ฝัน
 
โรงเรียนกวดวิชาต่างก็มีกลยุทธ์ในการลงทุนที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับขนาดของโรงเรียน ชื่อเสียง และทำเลที่ตั้ง โดยโรงเรียนกวดวิชาที่มีชื่อเสียงมักใช้กลยุทธ์ ดังนี้
 
การรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ โดยมีความร่วมมือกันระหว่างโรงเรียนกวดวิชาชื่อดังในวิชาต่างๆ ที่หลากหลาย มาใช้สถานที่หรืออาคารร่วมกันเพื่อเป็นจุดศูนย์กลาง หรือ One-Stop Service และรวมถึงการจัดตารางการสอนที่เอื้อกัน ซึ่งส่วนใหญ่มักมีทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองและห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีการคมนาคมที่สะดวกไม่ว่าจะเป็น ตึกวรรณสรณ์ ตึกซีพีทาวเวอร์ ตึกสยามกิตติ์ ซึ่งกลายเป็นศูนย์รวมโรงเรียนกวดวิชาไปแล้ว
 
การขยายสาขาไปต่างจังหวัดที่มีศักยภาพ แต่เดิมกลยุทธ์ของโรงเรียนกวดวิชาชื่อดังมักเลือกขยายสาขาไปในกรุงเทพฯ และจังหวัดหลักในภาคต่างๆ นักเรียนจังหวัดรอบข้างจึงต้องเดินทางมาเรียน ในขณะที่นักเรียนบางคนก็มีข้อจำกัดด้านการเดินทางจึงไม่สามารถเข้าถึงการเรียนกวดวิชาได้ โรงเรียนกวดวิชาชื่อดังได้ขยายสาขาไปจังหวัดรองมากขึ้น ทั้งที่หัวเมืองขนาดใหญ่และพื้นที่ที่เปี่ยมศักยภาพทั้งที่เชียงราย นครสวรรค์ พิษณุโลก อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ราชบุรี ตรัง
 
การปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับระบบ Admissions โดยโรงเรียนกวดวิชาชื่อดังหันมาปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับระบบดังกล่าวมากขึ้น ครอบคลุมทั้งวิชาสามัญทั่วไป การสอบความถนัดทั่วไป (GAT: General Aptitude Test) การสอบความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ (PAT: Professional and Academic Aptitude Test) รวมถึงวิชาเฉพาะ เช่น วิชาเฉพาะแพทย์
 
การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำ Application เกี่ยวกับการเรียนการสอนผ่านทางสมาร์ทโฟน การเรียนส่วนตัวแบบออนไลน์ซึ่งมีความยืดหยุ่นสูงโดยนักเรียนสามารถบริหารจัดการการเรียนด้วยตนเองซึ่งมองว่าอนาคตถ้ามีการเปิดประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 แล้ว ธุรกิจนี้จะได้รับความนิยมมาก
 
ในขณะที่ปีนี้จะเป็นปีที่เริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงทางด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มการปฏิรูปการศึกษาภายใต้แผนเร่งด่วนระยะเวลาหนึ่งปี (2558-2559) ที่ต้องขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม ตามแผนโรดแมปภาครัฐ
 
และเป็นปีที่เริ่มดีเดย์ในการเริ่มเก็บภาษี โรงเรียนกวดวิชา ในธุรกิจที่มองว่าต้นทุนต่ำและรายได้สูง ในขณะที่รัฐคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกหลายพันล้านบาท แต่ภาระจะตกอยู่ที่ผู้ปกครองแทนหรือไม่นั้น คงต้องตามดูกันต่อไป
 
ซึ่งถึงที่สุดแล้ว “เด็กไทย” ก็คงได้รับการประเมินในฐานะที่เป็นกลไกในการสร้าง “มูลค่า” ทางการค้ามากกว่าที่จะยกระดับให้มี “คุณค่า” สำหรับอนาคตของชาติอย่างเลี่ยงไม่ได้อยู่ดี