วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > “เซ็นทรัล” ปฏิวัติ “JTC” บิ๊กโปรเจ็กต์ชอปปิ้งทาวน์ “สีลม”

“เซ็นทรัล” ปฏิวัติ “JTC” บิ๊กโปรเจ็กต์ชอปปิ้งทาวน์ “สีลม”

 

การประกาศพลิกฟื้นศูนย์กลางการค้าอัญมณีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย “จิวเวลรี่เทรดเซ็นเตอร์” ถือเป็นหมากตัวสำคัญของกลุ่มเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (ซีอาร์ซี) เพื่อเดินหน้าสู่บิ๊กโปรเจ็กต์ของ 2 ตระกูลใหญ่ การเชื่อมเครือข่ายค้าปลีกในกลุ่มเซ็นทรัลตลอดถนนสีลมของกลุ่ม “จิราธิวัฒน์” และโครงการชอปปิ้งทาวน์ “Gloden Square” ที่ใหญ่ที่สุดในเขตธุรกิจใจกลางเมือง ซึ่งเฮนรี่ โฮวางแผนการใหญ่ไว้ตั้งแต่วัยหนุ่มรุ่นบุกเบิก “จิวเวลรี่เทรดเซ็นเตอร์” กับดับบลิว. เค. โฮ ผู้เป็นพ่อเมื่อ 15 ปีก่อน 

เอ่ยชื่อ ดับบลิว. เค. โฮ  ผู้นี้ จัดเป็นพ่อค้าอัญมณีระดับเซียนชาวพม่า ลุยวงการธุรกิจอัญมณีจนสร้างชื่อในยุค 30 ปีก่อน โดยเฉพาะในตลาดฮ่องกง แต่เลือกมาลงหลักปักฐานในประเทศไทย เปิดออฟฟิศที่ชั้น 6 ตึกรามาจิวเวลรี่กรุ๊ป ผูกสายสัมพันธ์กับนักธุรกิจใหญ่หลายกลุ่ม ทั้งมาลีนนท์ โสภณพนิช และเกี่ยวดองกับตระกูลจิราธิวัฒน์ เมื่อเฮนรี โฮ แต่งงานกับ “นิตย์สินี” ลูกสาวเจ้าสัวสัมฤทธิ์ จนกระทั่งจับมือกันพัฒนาโครงการ “จิวเวลรี่เทรดเซ็นเตอร์” เมื่อปี 2541 บนถนนสีลม และหมายมั่นปั้นมือจะผุดโครงการใหญ่เชื่อมจากจิวเวลรี่เทรดเซ็นเตอร์
 
ปัจจุบันตระกูลโฮ รุ่นเฮนรี่ โฮ มีธุรกิจหลัก คืออัญมณี ทั้งธุรกิจซื้อขายอัญมณี เปิดสถาบันอัญมณีศาสตร์แห่งเอเชีย สอนดูเพชรพลอยมาอย่างยาวนาน 30 กว่าปี และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งก็คือโครงการจิวเวลรี่เทรดเซ็นเตอร์ และกำลังรุกเข้าไปทำอสังหาริมทรัพย์ในพม่า โครงการ “Wellness Center” พื้นที่เกือบหมื่นไร่
 
ทั้งนี้ ตามมาสเตอร์แพลนของเฮนรี่ โฮ ในส่วนจิวเวลรี่เทรดเซ็นเตอร์ ภายใต้ชื่อโครงการ ”Gloden Triangle” หรือสามเหลี่ยมทองคำที่ใหญ่ที่สุดในเขตธุรกิจใจกลางเมือง มี “จิวเวลรี่เทรดเซ็นเตอร์” เป็นศูนย์กลางและเชื่อมพื้นที่อีก 2 ด้านของถนนสีลม พื้นที่รวมกว่า 20 ไร่ ภายในโครงการประกอบไปด้วยศูนย์การค้า อาคารพักอาศัย อาคารสำนักงาน และโรงแรม มูลค่าลงทุนมากกว่า 5,000 ล้านบาท
 
เฮนรี่ โฮกล่าวกับ  ผู้จัดการ 360 ํ ว่า โครงการ Gloden Triangle วางแผนไว้ตั้งแต่เปิดโครงการจิวเวลรี่เทรดเซ็นเตอร์เมื่อปี 2541 แต่ช่วงเวลานั้นยังมีผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจ พิษค่าเงินบาทปี 2540 ทำให้การเข้ามาทำธุรกิจอสังริมทรัพย์อยู่ในภาวะชะลอตัวมาก แต่แผนทั้งหมดยังอยู่และเป็นเป้าหมายที่รอดูจังหวะการขยายโครงการ โดยล่าสุดเพิ่มเติมขนาดที่ดิน ขยายโครงการใหญ่ขึ้นและมูลค่าเงินลงทุนสูงขึ้น
 
“จิวเวลรี่เทรดเซ็นเตอร์เจอวิกฤตหลายรอบ ต้องยอมรับว่าซบเซา ไม่เป็นไปตามคาดหมาย แต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีลักษณะเป็นเซอร์เคิลขึ้นลง ตอนนี้ถือเป็นจังหวะที่ดีมากของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังขึ้นอีกครั้ง การพลิกโฉมของกลุ่มเซ็นทรัลยังช่วยสร้างความคึกคักและขยายตลาดด้วย”
 
จาก “Gloden Triangle” เฮนรี่ โฮ ประกาศขยายโครงการเป็น “Gloden Square” และเชื่อมต่อเครือข่ายค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัลที่ปัจจุบันสยายปีกตลอดถนนสีลมทั้งเส้น โดยในโครงการ Gloden Sqare มี “จิวเวลรี่เทรดเซ็นเตอร์” เป็นจุดศูนย์กลางเช่นเดิม ด้านขวาติดซอยสีลม 19 ซึ่งเฮนรี่ โฮนำที่ดินมาพัฒนาเป็นชอปปิ้งมอลล์ชื่อ “บ้านสีลม” และโรงแรมสไตล์นีโอโคโลเนียลยุค 1950 “The Heritage Baan Silom”
 
ฝั่งตรงข้ามบนถนนสีลมเป็นห้างเซ็นทรัล ดีพาทเมนท์สโตร์ ซึ่งล่าสุดปรับพื้นที่ส่วนใหญ่เป็น “ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต” ส่วนอีกด้าน ฝั่งถนนสุรศักดิ์ ซึ่งถือเป็นจุดเติมเต็มความเป็น Gloden Square นั้น เฮนรี่ โฮกำลังติดต่อขอเช่าที่ดินบริเวณสโมสรสีลมเดิมอีก 5 ไร่ กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อสร้างชอปปิ้งทาวน์ที่ใหญ่ที่สุดในเขตธุรกิจกลางเมือง (Central Business District: CBD)
 
ขณะเดียวกันจากจุดยุทธศาสตร์ “จิวเวลรี่เทรดเซ็นเตอร์” ยังเชื่อมต่อศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัล ตั้งแต่ห้างเซ็นทรัล สีลม ไป “สีลมคอมเพล็กซ์” และห้างโรบินสันเก่าหัวมุมสุดถนนสีลม ซึ่งขณะนี้เปิดให้บริการเฉพาะท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นใต้ดิน แต่ยังมีผู้เช่าเดิมอย่างร้านกาแฟสตาร์บัคส์ ร้านแมคโดนัลด์ เปิดให้บริการ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่กลุ่มเซ็นทรัลจะนำพื้นที่เช่าที่เหลือมาพัฒนาเป็นรูปแบบค้าปลีกใหม่ๆ
 
ล่าสุด ซีอาร์ซีประกาศพลิกโฉม “จิวเวลรี่เทรดเซ็นเตอร์” หมากตัวสำคัญเป็นจิวเวลรี่ชอปปิ้งแอนด์อาร์ทเซ็นเตอร์ครบวงจรภายใต้แบรนด์ใหม่ “เจทีซี” เพื่อขยายฐานกลุ่มลูกค้าให้หลากหลายมากขึ้น ทั้งในแง่กลุ่มอายุและไลฟ์สไตล์ของนักชอป ทั้งกลุ่มคนไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะการทดลองเปิดแฟชั่นเอาต์เล็ตขนาดใหญ่แห่งแรกในกรุงเทพฯ ต่างจากเดิมที่เอาต์เล็ตของแฟชั่นแบรนด์เนมมักเปิดตามต่างจังหวัด
 
เลิศวิทย์ ภูมิพิทักษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัททุ่มงบประมาณก้อนแรก 100 ล้านบาท ปรับปรุงพื้นที่รีเทลกว่า 22,000 ตารางเมตร ให้ดูทันสมัยและปรับสัดส่วนผู้ค้าโดยแบ่งพื้นที่เป็น 3 โซนหลัก คือ 1. โซนจิวเวลรี่ แบ่งเป็น “จิวเวล เวิลด์ (Jewel World) รวมร้านอัญมณีจำนวน 300 ร้าน และเดอะ ซิกเนเจอร์ (The Signature) หรือมุมเฉพาะที่เน้นแบรนด์ของดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่ ผลงานทันสมัย ราคาเหมาะสมกับกลุ่มคนรุ่นใหม่และสามารถเลือกหามาสวมใส่ได้ทุกวัน
 
2. โซนศิลปะ “บางกอก อาร์ต แกลเลอเรีย (Bangkok Art Galleria)” ศูนย์รวมผลงานศิลปะในแกลเลอรี่ชื่อดัง อย่างอินสไปร์ ไฟน์ อาร์ท แกลเลอรี (Inspire Fine Art Gallery) ซี. วี. เอ็น. อาร์ท แกลเลอรี (C.V.N Art Gallery) นัมเบอร์วัน แกลเลอรี (Number 1 Gallery) ทวิบู แกลเลอรี (Thavibu Gallery) โอม แกลเลอรี (OMM Gallery) และถัง แกลเลอรี (Tang Gallery)  เป็นแหล่งรวมงานศิลปะหายากของศิลปินชื่อดังและเป็นพื้นที่ให้ศิลปินรุ่นใหม่ๆ มีโอกาสแสดงตัวตนและผลงานสู่สาธารณชน  เพื่อเป็นศูนย์กลางงานศิลปะร่วมสมัยของไทยที่มีชื่อเสียงและดึงดูดศิลปินจากทั่วโลก
 
สุดท้ายเป็นโซนใหม่ที่ถือเป็นไฮไลต์ของกลุ่มเซ็นทรัล คือ โซนแฟชั่น “บางกอก แฟชั่น เอาต์เล็ต (Bangkok Fashion Outlet)” ซึ่งซีอาร์ซีวางสินค้าแฟชั่นทั้งเสื้อผ้า เครื่องประดับ กระเป๋า นาฬิกา รองเท้า จำนวนกว่า  500 แบรนด์ดัง เช่น วิเวียน แทม (Vivian Tam) อีวิสุ (Evisu) บริทิช อินเดีย (British India) เบเนตอง (Benetton) ซิสเลย์ (Sisley) คาสิโอ (Casio) แอกเนส บี. (Agnes B.) รักบี (Rugby) เกสต์ (Guess) แก็ป (Gap) ทูมิ (Tumi) ไฟว์ซีเอ็ม5CM และ เอฟซียูเค (FCUK) โดยลดราคาสูงสุด 90% ตลอดทั้งปี
 
การพลิกโฉมครั้งนี้ โดยเฉพาะการสร้างจุดขายใหม่ในโซนแฟชั่นจะดึงดูดลูกค้าเพิ่มขึ้นจากเดิม5,000 คนต่อวัน เป็น 30,000 คนต่อวัน โดยซีอาร์ซีตั้งเป้ากลุ่มลูกค้าชาวไทย 60% และต่างชาติ  40% ผลักดันยอดขายหมุนเวียนปีละ 2,500 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากโซนจิวเวลรี่ 1,750 ล้านบาท และโซนแฟชั่น 750 ล้านบาท นอกจากนี้ มีแผนพัฒนาพื้นที่อีกกว่า 5 ไร่ในเจทีซี เพิ่มโซนอัญมณีจากทั่วโลกให้ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งกลุ่มเพชร พลอย หยก มุก แกะสลัก และนาฬิกา
 
ปัจจุบัน อาคารจิวเวลรี่เทรดเซ็นเตอร์หรือแบรนด์ใหม่ “เจทีซี” เป็นตึกสูง 59 ชั้น พื้นที่เช่ารวม  22,000 ตร.ม. แบ่งเป็นพื้นที่ค้าปลีก อาคารสำนักงานและที่พักอาศัย 200 ยูนิต ซึ่งนอกจากเจทีซีจะขยายโครงการขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ แล้ว เฮนรี่ โฮ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์การค้า จิวเวลรี่เทรดเซ็นเตอร์ บริษัท เดอะสีลม แกลเลอเรีย ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด วางแผนใช้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ขยายสาขาศูนย์การค้าจิวเวลรี่เทรด เซ็นเตอร์ สู่จังหวัดหัวเมืองใหญ่ในประเทศและตลาดต่างประเทศในอาเซียน+6  ได้แก่ พม่า เวียดนาม จีน อินเดีย เกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์  โดยจะเริ่มที่จังหวัดจันทบุรีเป็นแห่งแรก ส่วนในอาเซียนจะเร่งเปิดตัวสาขาแรกในประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย ภายใน 3-5 ปีนับจากนี้
 
สำหรับรูปแบบการลงทุนมีทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ และรูปแบบ อี-มาร์เก็ต มีทั้งการลงทุนเองและร่วมทุนกับนักลงทุนท้องถิ่น โดยคอนเซ็ปต์แต่ละแห่งขึ้นอยู่กับทำเล ซึ่งเป็นไปได้ทั้งศูนย์การค้าจิวเวลรี่หรือเป็นศูนย์จิวเวลรี่แอนด์แฟชั่นเอาต์เล็ตเซ็นเตอร์
 
ขณะเดียวกัน ซีอาร์ซี ซึ่งประเดิมใช้เจทีซีเป็นจุดทดสอบตลาดการเปิดตัว “บางกอกแฟชั่นเอาต์เล็ต” ตั้งเป้าขยายเอาต์เล็ต ซึ่งถือเป็นธุรกิจใหม่ของกลุ่มซีอาร์ซีออกไปในหัวเมืองใหญ่ รวมถึงกรุงเทพฯ อีก 1-2 แห่ง แต่ต้องดูผลตอบรับของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและยอดขายก่อน
 
ไม่ว่าจะเป็นแผนพลิกฟื้น “เจทีซี” ของซีอาร์ซี ลุยธุรกิจใหม่ “แฟชั่นเอาต์เล็ต” แห่งแรกในกรุงเทพฯ ปัดฝุ่นและปลุกปั้น “Gloden Square” สร้างชอปปิ้งทาวน์ขนาดใหญ่ใจกลางกรุง หมากเกมนี้แท้จริงเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการขยายอาณาจักรธุรกิจในกลุ่มเซ็นทรัล ยึดตลาดรีเทลอย่างแข็งแกร่งที่สุด