วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > “สะพานแห่งศรัทธา” กับการจัดการของภาครัฐ

“สะพานแห่งศรัทธา” กับการจัดการของภาครัฐ

 

ข่าวการพังถล่มของสะพานมอญ สะพานไม้สุดคลาสสิก และสัญลักษณ์ของอำเภอสังขละบุรี เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สร้างความใจหายให้กับหลายๆ คน ทั้งนักท่องเที่ยว คนทั่วไป และโดยเฉพาะกับคนในพื้นที่ พร้อมกับคำถามที่ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเพราะภัยธรรมชาติอย่างที่เข้าใจ หรือจริงๆ แล้วเป็นผลพวงจากพฤติกรรมของมนุษย์

“สะพานมอญ” มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “สะพานอุตตมานุสรณ์” ตั้งตามชื่อของหลวงพ่ออุตตมะ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม พระเกจิซึ่งเป็นดังศูนย์รวมจิตใจของทั้งชาวไทย ชาวมอญและชาวกะเหรี่ยงแห่งเมืองสังขละ และเป็นผู้ริเริ่มสร้างสะพานดังกล่าวขึ้น เพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างตัวอำเภอสังขละบุรีกับหมู่บ้านชุมชนชาวมอญอีกฝั่งหนึ่งเข้าด้วยกัน

การสร้างสะพานเริ่มขึ้นตั้งแต่ ปี 2529 แล้วเสร็จในปี 2530 วัสดุที่ใช้สร้างเป็นไม้ทั้งหมด โดยอาศัยเพียงแรงกายและความร่วมแรงร่วมใจของชาวไทยและชาวมอญที่มีศรัทธาต่อองค์หลวงพ่ออุตตมะในการดำเนินการก่อสร้างเท่านั้น จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “สะพานแห่งศรัทธา”

สะพานมอญแห่งนี้ มีความยาว 850 เมตร ถือว่าเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย และเป็นสะพานไม้ที่ยาวเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสะพานไม้อูเบ็งในประเทศพม่าเท่านั้น ตัวสะพานทอดข้ามลำน้ำซองกาเลียเชื่อมระหว่างตัวอำเภอสังขละบุรีกับหมู่บ้านชุมชนชาวมอญอีกฝั่งหนึ่งเข้าด้วยกัน ถือเป็นเส้นทางสัญจรหลักของชาวมอญและชาวไทยตามแนวชายแดน แม้ว่าจะมีสะพานคอนกรีตที่ กฟผ. และกรมทางหลวงสร้างข้ามแม่น้ำรันตีเพื่อข้ามไปฝั่งมอญก็ตาม แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงใช้สะพานไม้เป็นหลักในการสัญจร

 “ทุกชีวิตใน อ.สังขละบุรี มีความผูกพันกับสะพานไม้แห่งนี้มาก เพราะทำให้ชาวไทย และชาวมอญไปมาหาสู่กันได้ หลังจากการท่องเที่ยวบูมขึ้น นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาเที่ยวที่สะพานไม้แห่งนี้เป็นหลัก ซึ่งหลวงพ่ออุตตมะเคยพูดไว้ว่า ต้องการให้สะพานไม้แห่งนี้เป็นสะพานไม้เช่นนี้ตลอดไป”…คำกล่าวของชาวสังขละบุรีที่สะท้อนถึงความสำคัญของสะพานไม้แห่งนี้

นอกจากเป็นเส้นทางสัญจรหลักของคนในพื้นที่แล้ว สะพานมอญที่สร้างด้วยฝีมือช่างพื้นบ้านแห่งนี้ ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและเป็นสัญลักษณ์ของสังขละบุรี ความงดงามตามธรรมชาติและภาพวิถีชีวิตชาวมอญคือเสน่ห์ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยือนสังขละบุรี ก่อกำเนิดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทั้งที่พัก ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก เป็นช่องทางสร้างรายได้ให้แก่ทั้งชาวไทยและชาวมอญในอำเภอสังขละบุรีได้อย่างดี

แม้หลวงพ่ออุตตมะจะแสดงเจตจำนงในสะพานไม้แห่งนี้ไว้อย่างไร “สะพานไม้แห่งศรัทธา” นี้ก็ไม่สามารถหลีกพ้นไปจากหลักอนิจลักษณ์ว่าด้วยการ “เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป” ได้

เพราะเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2556 สะพานมอญได้พังทลายขาดเป็น 2 ท่อนในช่วงกลางสะพาน เนื่องจากเกิดเหตุฝนตกหนักติดต่อกันนานถึง 3 วัน ทำให้เกิดน้ำป่าไหลเชี่ยวกรากจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร พัดขยะตอไม้ลงสู่แม่น้ำซองกาเลีย ปะทะกับเสาสะพานจนต้านไม่ไหว ทำให้ช่วงกลางของสะพานพังลงเป็นระยะทางรวมกว่า 70 เมตร

นอกจากนี้ สะพานข้ามลำห้วยซองกาเลีย ที่มุ่งหน้าไปยังด่านพรมแดนบ้านพระเจดีย์สามองค์ ประชาชนก็ไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ เนื่องจากกระแสน้ำที่ไหลหลากมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเริ่มเอ่อล้นสะพานและถนน มาจนถึงสามแยกด่านเจดีย์สามองค์ที่อยู่ห่างกันกว่า 10 กิโลเมตร ทำให้ด่านพรมแดนพระเจดีย์สามองค์ ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก

ภัยทางธรรมชาติ ฝนตก น้ำป่าไหลหลาก คือตัวการหลักของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามที่เข้าใจกัน แต่ต้นเหตุที่ทำให้เกิดภัยธรรมชาติเหล่านั้นต่างหากที่เป็นตัวการที่แท้จริง และควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่อย่างต่อเนื่อง คือตัวการหลักทำให้ป่าไม้ในประเทศลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสมดุลทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก ดินพังถล่ม เพราะขาดต้นไม้ที่คอยทำหน้าที่อุ้มน้ำและยึดเกาะหน้าดิน ทำให้เกิดภัยธรรมชาติอย่างที่เราประสบอยู่

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยทำลายป่าไป 1/3 ของพื้นที่ป่าของประเทศ เมื่อเทียบกับเนื้อที่ป่าเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมาจะมีพื้นที่ป่าลดลงไปถึงร้อยละ 50 ของที่เคยมี โดยในช่วงปี 2504-2525 มีพื้นที่ป่าหายไปมากที่สุดหลังจากเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มุ่งเน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการพาณิชย์ และการสัมปทานป่าไม้และไม่มีการป้องกันการบุกรุกตามมา

ปริมาณป่าไม้ที่ถูกทำลายนับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอัตราการเพิ่มของจำนวนประชากร มีการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพื่อเข้าครอบครองที่ดิน การลักลอบตัดไม้ทำลายป่าของทั้งนายทุนพ่อค้าไม้ เจ้าของโรงเลื่อย ผู้รับสัมปทานและชาวบ้านทั่วไป การส่งเสริมการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจเพื่อการส่งออก โดยไม่ได้ส่งเสริมการใช้ที่ดินอย่างเต็มประสิทธิภาพ การกำหนดแนวเขตพื้นที่ป่าของทางการที่ทำอย่างไม่ชัดเจนก่อให้เกิดความสับสนทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนาแก่ผู้ที่เข้าครอบครอง การจัดสร้างสาธารณูปโภคของรัฐ เช่น เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ถนนหนทาง รวมถึงสัมปทานการทำเหมืองแร่ ที่ต้องทำลายป่าไม้ลงเป็นจำนวนมากเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำเหมืองแร่

สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือสาเหตุหลักที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ของเมืองไทยลดลงอย่างรวดเร็ว จนส่งผลกระทบต่อความสมดุลทางธรรมชาติ และก่อให้เกิดปัญหาตามมา ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาดังกล่าว

การประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ 2507 คือมาตรการจัดการป่าของประเทศไทย แต่เนื่องจากเป็นมาตรการที่มุ่งในการควบคุมพื้นที่ป่าเพื่อการใช้ประโยชน์จากป่าเป็นสำคัญ ขาดการป้องกันการเข้าครอบครอง ทั้งการให้สัมปทานไม้ในอดีต ยังคงมีการอนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์หรือกระทั่งอยู่อาศัยในพื้นที่ ดังนั้นพื้นที่ป่าสงวนจึงมีพื้นที่ลดลงอย่างรวดเร็ว

การอนุรักษ์ป่าที่ได้ผลมากกว่าการประกาศป่าสงวน คือ “การประกาศเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์” หรือพื้นที่คุ้มครอง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า วนอุทยาน เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เพื่อป้องกันการรุกล้ำเขตป่า

ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในประเทศไทยประมาณ 20% ของพื้นที่ประเทศไทย เพื่อรักษาพื้นที่ป่าไว้ก็ตาม แต่จากข่าวการจับกุมไม้เถื่อนและการลักลอบตัดไม้ที่ยังคงมีให้เห็นอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน ควบคู่ไปกับข่าวความเสียหายของพื้นที่ทำกินและบ้านเรือนประชาชนที่เกิดจากน้ำท่วม ดินถล่ม และน้ำป่าไหลหลาก ที่เกิดขึ้นในทุกภาคของประเทศไทย สะท้อนให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวของภาครัฐยังไม่ดีพอ

ขั้นตอนการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในอดีตที่ขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน และการสำรวจเพื่อคุ้มครองสิทธิชุมชน ส่งผลให้เกิดปัญหาในเชิงสิทธิชุมชนมากมาย มีการประกาศพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ใช้ประโยชน์ทำกิน เก็บหาของป่าของประชาชนในชุมชนท้องถิ่น เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับภาครัฐอยู่เนืองๆ ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจะให้น้ำหนักเรื่องนี้อย่างจริงจัง มีนโยบายที่ชัดเจน และมีกระบวนการที่ชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของชุมชนต่อนโยบายของรัฐและเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ปัญหาการทำลายป่าไม้และสิ่งแวดล้อมมิใช่เพียงความรับผิดชอบของภาครัฐเท่านั้น แต่ยังเป็นโจทย์ใหญ่ของสังคมไทยที่ต้องร่วมกันคิดว่าเราจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงรักษาป่าไม้ที่ยังเหลืออยู่ไว้ได้อย่างไร