วันพฤหัสบดี, เมษายน 18, 2024
Home > Life > Tamara de Lempicka, reine de l’art déco

Tamara de Lempicka, reine de l’art déco

 

 

ฤดูใบไม้ผลิ 2013 พิพิธภัณฑ์ Pinacothèque ย่านปลาซ เดอ ลา มาดแลน (Place de la Madeleine) จัดนิทรรศการคู่ขนานอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เกี่ยวกับอารต์ นูโว (art nouveau) และอารต์ เดโก (art déco) ซึ่งเป็นกระแสต่อเนื่องกัน L’art nouveau, la révolution décorative และ Tamara de Lempicka, reine de l’art déco

 

คำวิพากษ์ที่มีต่อศิลปะกระแส art nouveau ระหว่างงานเอ็กซ์โปนานาชาติที่ปารีสในปี 1900 ทำให้อาร์ติสต์กระแส art nouveau ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบ เส้นโค้งเว้าชดช้อยแปรเปลี่ยนเป็นรูปทรงที่มีเหลี่ยมมากขึ้น อองเดร เวรา (André Vera) เขียนในนิตยสาร Art décoratif ปฏิเสธ art nouveau เรียกร้องให้มีรูปแบบเรียบง่ายขึ้น ในปี 1907 เออแจน กราสเซต์ (Eugène Grasset) ได้เขียนเรื่อง Méthode de la composition ornementale เพื่อ “ปฏิเสธ” art nouveau

 

สงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้สังคมและเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในยุโรปและเยอรมนีเสียหาย แต่ฝรั่งเศสฟื้นตัวเร็ว การฟื้นฟูเมืองที่ได้รับผลกระทบจากสงครามเช่น แรงส์ (Reims) และแซงต์กองแตง (Saint-Quentin) ได้รูปแบบสถาปัตยกรรม art déco ทศวรรษ 1920 คนรวยเพิ่มขึ้นต่างสร้างบ้านสไตล์ art déco

 

ตัวอย่างอาคารสไตล์ art déco มีอาทิ ตึก Chrysler, Empire State ในนิวยอร์ ส่วนสถาปนิกและดีไซเนอร์ดังมีโรแบรต์ มัลเลต์สตีเวนส์ (Robert Mallet-Stevens) เลอ กอร์บุสซีเอร์ (Le Corbusier)

 

เช่นเดียวกับ art nouveau กระแส art déco แทรกซึมไปในทุกแขนงในชีวิตประจำวัน การตกแต่งภายใน เครื่องเรือน ของประดับบ้าน ภาพยนตร์ ภาพเขียน หรือแม้แต่แฟชั่น ช่างเสื้อที่สะท้อนรูปแบบ art déco คือ ปอล ปัวเรต์ (Paul Poiret)

 

ทศวรรษ 1920 เป็นช่วงที่ผู้หญิงสลัดความรัดรึงของเครื่องแต่งกาย ได้เดรสหรือเสื้อตัวตรงๆ แบบที่เรียกว่าชาร์ลสตัน (charleston) หรือ แก็ตสบี้ (Gatsby) นั่นเอง สาวๆ จะสวมเครื่องแต่งกายที่ดูเป็นผู้ชายที่เรียกว่า สไตล์ garçonne ซึ่งเรียกตามนวนิยายเรื่อง Garçonne ของวิกตอร์ มาร์เกอริต (Victor Marguerite) สาว garçonne ที่สวยได้แก่ ซูซาน เลงเกลน (Suzanne Lenglen) นักเทนนิสดัง หลุยส์ บรุคส์ (Louise Brooks) นักแสดง และทามารา เดอ เลมปิคกา (Tamara de Lempicka) จิตรกรที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของ art déco

 

ทามารา เดอ เลมปิคกาเป็นลูกครึ่งรัสเซียและโปแลนด์ จึงใช้ชีวิตระหว่างสองประเทศนี้ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งแรกในปี 1914 ทามารา เดอ เลมปิคกาติดอยู่ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก จึงเข้าเรียนศิลปะที่ Académie des beaux-arts และได้สมรสกับทาเดอุซ เลมปิคกี (Tadeusz Lempicki) ทนายความชาวโปแลนด์ เมื่อเกิดการปฏิวัติในรัสเซียโดยพวกบอลเชวิก ทั้งสองจึงอพยพมาปารีส แล้วเธอก็เข้าเรียนเขียนรูปกับโมริซ เดอนีส์ (Maurice Denis) ที่ Académie de la Grande Chaumière และกับอองเดร โลต (André Lhote) ค่อยๆ พัฒนาสไตล์ของตนเอง ผสมผสานระหว่างเรอแนสซองส์ (Renaissance) และ néo-cubisme ทามารา เดอ เลมปิคกาได้จัดแสดงผลงานที่มิลานในปี 1925 ทำให้ได้พบกับกาบรีเอเล ดานุนซิโอ (Gabriele D’Anunzio) และสังคมชั้นสูงที่ใช้ชีวิตอย่างสุดเหวี่ยง เมื่อเดินทางกลับกรุงปารีส เธอจึงใช้ชีวิตหรูหรา คบหานักธุรกิจที่มั่งคั่งและสมาชิกราชวงศ์รัสเซียที่ลี้ภัยมา ในปี 1929 รูฟัส บุช (Rufus Bush) เขียนรูปคู่หมั้นให้ เธอจึงเดินทางไปนิวยอร์ก นอกจากรูปพอร์เทรตแล้ว เธอยังเขียนรูปอื่นๆ เช่น อาคารสูงในนิวยอร์ก เป็นต้น

 

ด้านชีวิตส่วนตัว ทามารา เดอ เลมปิคกาหย่าจากสามี ในปี 1933และแต่งงานใหม่กับบารอนราอูล คัฟเนอร์ (Raoul Kuffner) เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มก่อหวอด ทั้งสองอพยพไปสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้ชาวอเมริกันจึงรู้จักผลงานของทามารา เดอ เลมปิคกา แม้จะแต่งงานสองหน แต่ทามารา เดอ เลมปิคกาก็ไม่ปิดบังว่าเธอเป็นรักร่วมเพศดัวย ถึงกระนั้นก็ไม่เห็นความจำเป็นในการแต่งกายเป็นผู้ชายดังในกรณีของมาร์ลีน ดิทริช (Marlene Dietrich) รักร่วมเพศระหว่างหญิงกับหญิงเป็นกระแสในยุคนั้น สาวดังที่ร่วมกระแสนี้มีหลุยส์ บรุคส์ (Louise Brooks) และโจเซฟีน เบเกอร์ (Joséphine Baker) ด้วย

 

นิทรรศการ Tamara de Lempicka, reine de l’art déco นำผลงานของทามารา เดอ เลมปิคกามาแสดง ภาพเขียนของเธอมีความเป็นเหลี่ยมเป็นมุมเป็นฉากหลัง ที่มักใช้สีเทาหรือดำแทรก ส่วนใหญ่เป็นภาพผู้หญิงที่ดูเซ็กซี่ และภาพเปลือย

 

ทามารา เดอ เลมปิคกาถือเป็นเจ้าแห่ง art déco ก็คงไม่ผิดความจริง เธอเป็นหนึ่งในอาร์ติสต์ดังของศตวรรษที่ 20 แม้จะมีผลงานไม่มากนัก ประมาณ 150รูปเท่านั้น

 

ในมิวสิกวิดิโอ Vogue มาดอนนารำลึกถึงทามารา เดอ เลมปิคกา และใน Open your heart มีภาพเขียนของทามารา เลมปิคกาอยู่ด้วย คงไม่ต้องบอกว่ามาดอนนาชื่นชอบอาร์ติสต์สตรีผู้นี้

 

ยุคเฟื่องฟูของ art déco อยู่ระหว่างปี 1925-1935 กล่าวคือช่วงระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้ง เป็นยุคที่ชาวฝรั่งเศสเรียกว่า années folles เพราะใช้ชีวิตสนุกสุดเหวี่ยง