วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ซีพีเร่งทเวนตี้โฟร์ช้อปปิ้ง ระดมสินค้าโกยออนไลน์

ซีพีเร่งทเวนตี้โฟร์ช้อปปิ้ง ระดมสินค้าโกยออนไลน์

ยักษ์ใหญ่ “ซีพีออลล์” เจ้าของเครือข่ายร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ในประเทศไทย ได้จังหวะเร่งหนุนธุรกิจลูก “ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง” โดยไม่ต้องหวั่นผลกระทบช่วงไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โควิด19” แพร่ระบาดที่ทำให้กลุ่มลูกค้าจำนวนมากต้องกักตัวเอง เพื่อดูอาการอย่างน้อย 14 วัน เนื่องจากมีจุดแข็งการเข้าถึงลูกค้าผ่านแพลตฟอร์ม O2O ที่ครอบคลุมช่องทางจำหน่าย 360 องศา

ไม่ใช่แค่การซื้อขายผ่านหน้าร้านแต่ยังมีช่องทางผ่านแอปพลิเคชันโมบาย เว็บไซต์ คอลเซ็นเตอร์ อินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย ที่สำคัญ มีบริการ “เซเว่นดีลิเวอรี่” ส่งสินค้าถึงบ้านอย่างครบวงจรด้วย

ต้องยอมรับว่า บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) แม้เป็นผู้นำยึดครองส่วนแบ่งตลาดค้าปลีก เซกเมนต์คอนวีเนียนสโตร์มาอย่างยาวนาน แต่หากไม่ปรับตัวย่อมหมายถึงการสูญเสียรายได้ก้อนใหญ่ โดยเฉพาะเทรนด์การซื้อขายผ่านออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น จึงพยายามปลุกปั้นบริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง (24Shopping) อุดช่องว่างและสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่

สัญญาณเริ่มต้นชัดเจนจริงจังในปี 2559 เมื่อบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) สั่งยกเครื่องกลุ่มธุรกิจ “ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง” พร้อมปรับภาพลักษณ์แบรนด์ใหม่ เปลี่ยนโลโก้จาก “เซเว่นช้อปปิ้ง” เลข 7 เป็น 24 หรือ 24Shopping เพื่อตอกย้ำการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซตลอด 24 ชั่วโมง และรุกขยายช่องทางจำหน่ายทั้ง On ground, Online, On air รอบด้าน ทั้งสินค้าที่จำหน่ายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น สินค้ากลุ่มเอสเอ็มอีและสินค้าที่เน้นเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มลูกค้า เช่น กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน รวมถึงการส่งสินค้าไปจำหน่ายในตลาดเออีซี

ใน 3 ช่องทางของทเวนตี้โฟร์ช้อปปิ้ง On ground ได้แก่ การจำหน่ายสินค้าในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นและผ่านแค็ตตาล็อก Online ได้แก่ การจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ 4 เว็บไซต์ คือ www.shopat24.com, www.24catalog.com และ www.amulet24.com ส่วน On air ได้แก่ ช่องทางทีวีช้อปปิ้ง ทรูซีเลคท์ และการขายผ่านคอลเซ็นเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมๆ กับวางเครือข่ายการกระจายสินค้าจากคลังสินค้าใหญ่สู่ศูนย์กลางคลังสินค้าสำหรับพักสินค้าก่อนส่งต่อศูนย์ในจังหวัดใหญ่และมีเครือข่ายร้านเซเว่นอีเลฟเว่นสาขาใหญ่รองรับสินค้ากลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็ก จากนั้นส่งต่อไปยังร้านเซเว่นอีเลฟเว่นสาขาต่างๆ จนถึงมือลูกค้า

สิ่งที่เห็นชัดเจน คือ การทำ O2O ของซีพีออลล์ มีช่องทางการจำหน่ายครอบคลุมและบริการตลอด 24 ชั่วโมง ภายใต้คอนเซ็ปต์ “สะดวกสั่ง สะดวกจ่าย สะดวกรับ” ผ่านทุกสาขา ซึ่งมีมากกว่า 11,000 สาขา และตั้งเป้าขยายครบ 13,000 สาขาในปีหน้า ส่งผลให้ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง มีอัตราเติบโตสูงถึง 27% สูงกว่าภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตประมาณ 14-15% ติดอยู่ใน top 10 ของอีคอมเมิร์ซในไทย

ขณะเดียวกัน ทั้งปัจจัยบวกของพฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่และความจำเป็นจากสถานการณ์ไวรัสแพร่ระบาดยิ่งกระตุ้นให้กลุ่มลูกค้าหันมาใช้บริการสั่งซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม O2O มากขึ้น จนเป็นไปได้ว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซจะเติบโตชนิดพุ่งกระฉูด

เมื่อเร็วๆ นี้ นายจอห์น แวกเนอร์ ผู้อำนวยการบริหาร เฟซบุ๊ก ประเทศไทย ออกมาระบุว่า แม้ปัญหาสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวและสถานการณ์โรคโควิด 19 ที่กำลังระบาดอย่างหนักมีส่วนทำให้โซเชียลคอมเมิร์ซสะดุด เพราะเจอปัญหาด้านซัปพลายเชนจากประเทศจีนที่ส่งสินค้ามาไม่ได้ทำให้ร้านค้าไม่มีสต๊อกสินค้าเพียงพอ แต่ในภาพรวมของตลาดโซเชียลคอมเมิร์ซบนแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กยังไม่เห็นสัญญาณลดลง เพราะในสถานการณ์แบบนี้ เมื่อคนไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้มากเหมือนก่อน การค้าออฟไลน์จะลดลงโดยปริยาย และการค้าขายออนไลน์จะเติบโตขึ้นแทนและเมื่อเกิดเหตุแบบนี้ แพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ เดลิเวอรี่ มีช่องทางขยายตัวมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย เฟซบุ๊กกล่าวว่า ทุกบริษัทในไทยกำลังหาช่องทางเติบโตธุรกิจออนไลน์ และอยู่บนโซเชียล คอมเมิร์ซ มีแพลตฟอร์มส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อสินค้าชัดกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประเทศไทยและภูมิภาคดังกล่าวถือเป็นผู้นำด้านการรับรู้และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น เทียบจากปี 2558 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้บริโภคชาวดิจิทัลราว 90 ล้านคน ปี 2561 เพิ่มขึ้นถึง 2.8 เท่า เป็น 250 ล้านคนและภายในปี 2568 คาดการณ์จะเพิ่มขึ้นเป็น 310 ล้านคน

นอกจากนี้ ประเมินมูลค่าการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าออนไลน์จะเติบโตถึง 4 เท่า ทั่วทั้งภูมิภาค และตั้งเป้ามูลค่าการใช้จ่ายจะเติบโตถึงเกือบ 5 เท่าในประเทศไทย

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินยอดขายของค้าปลีกปี 2563 น่าจะเติบโตสูงสุดไม่เกิน 3% เมื่อเทียบกับปี 2562 เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกที่เจาะกลุ่มลูกค้าฐานรากและกำลังซื้อปานกลางลงล่างอย่างร้านค้าปลีกดั้งเดิมและไฮเปอร์มาร์เก็ต แต่ค้าปลีกซูเปอร์มาร์เก็ตและ E-Commerce ที่เจาะกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อปานกลางและตลาดบนยังมีแนวโน้มเติบโตดี

กลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยมบนช่องทางออนไลน์ ได้แก่ สินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง/น้ำหอม และสินค้าอุปโภคบริโภค

สวรรยา พิพัฒน์ไพศาล ผู้ช่วยกรรมผู้จัดการบริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันมีสินค้าจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์ม O2O มากกว่า 20,000 รายการ จากผู้ประกอบการราว 2,000 ราย และยอดรายได้มีอัตราเติบโตดีมาก อยู่ในระดับหลักพันล้าน ซึ่งบริษัทกำลังเร่งเพิ่มหมวดสินค้าตามกระแสหรือเทรนด์การบริโภค เช่น กลุ่มสินค้าสุขภาพ เครื่องกรองอากาศ เจลฆ่าเชื้อโรค นอกเหนือจากสินค้ากลุ่มขายดีอยู่แล้ว เช่น กลุ่มความงาม กลุ่มรักษาสิ่งแวดล้อม กลุ่มรองรับผู้สูงวัย กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่มีจุดขายใหม่ๆ

อย่างไรก็ตาม หากแยกตามเว็บไซต์ที่เปิดขายสินค้าพบว่า www.24Catalog.com ซึ่งขายสินค้าจากเล่ม 24Catalog และสินค้าพิเศษต่างๆ มีกลุ่มสินค้าขายดี ได้แก่ กลุ่มความงาม กลุ่มเครื่องออกกำลังกาย กลุ่มเครื่องใช้ในครัว และกลุ่มสินค้าอุปโภค บริโภค www.Shopat24.com เว็บไซต์ขายสินค้าครบวงจร เสมือนห้างสรรพสินค้าออนไลน์ มีกลุ่มสินค้าขายดี ได้แก่ กลุ่มสินค้า IT & Gadget กลุ่ม Beauty กลุ่ม Fashion กลุ่มสินค้าเพื่อแม่และเด็ก และกลุ่ม Health

ด้าน www.amulet24.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ทเวนตี้โฟร์ช้อปปิ้งฉีกแนวจากยักษ์ค้าปลีกเจ้าอื่น มีหมวดบริจาคบูชา เช่าบูชา วัตถุมงคล สามารถสร้างรายได้เติบโตเช่นกัน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 26-28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จับมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สมาคมการค้าปลีกและเอสเอ็มอีทุนไทย และบริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จัดงานมอบรางวัล “เซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอีไทยยั่งยืน 2562” ในงานวันแห่งโอกาสดี@CP ALL 2020 ซึ่งถือเป็นการจัดร่วมกันปีที่ 2 เพื่อขยายคู่ค้าและคัดเลือกสินค้าเข้าสู่แพลตฟอร์มการขายมากขึ้น ทั้งกลุ่มสินค้าชุมชน กลุ่มสินค้าเกษตร กลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยมีกลุ่มเอสเอ็มอีเข้าร่วมมากกว่า 300 ราย

ในช่วง 3 วัน มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจและนำเสนอสินค้าเข้าสู่แพลตฟอร์มการจำหน่ายของทเวนตี้โฟร์ช้อปปิ้ง ซึ่งหากสินค้ามีจุดขาย มีความพร้อมและเอกสารครบถ้วน สามารถขึ้นเว็บและเปิดการขายอย่างรวดเร็วภายใน 5-6 วัน

ก่อนหน้านี้ บริษัทยังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขยายช่องทางการตลาดสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (GI) กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งปัจจุบันมีสินค้า GI ไทยที่เปิดให้สั่งซื้อผ่านทางเว็บไซต์ Shopat24 แล้ว 6 รายการ ได้แก่ ศิลาดลเชียงใหม่ ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน กาแฟดอยตุง ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง และผ้าครามธรรมชาติสกลนคร โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญายังพยายามหาสินค้า GI อื่นๆ ที่มีศักยภาพหรือมีผลผลิตตามฤดูกาลเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น หากเปรียบเทียบกับคู่แข่งค้าปลีก ต้องถือว่า ซีพีออลล์เหนือกว่าในแง่เครือข่ายร้านและช่องทางที่ครบวงจร เหลือแค่โจทย์ข้อเดียว คือ สินค้าจะวิบวับโดนใจกลุ่มเป้าหมายมากแค่ไหน

ใส่ความเห็น