วันพฤหัสบดี, กันยายน 19, 2024
Home > Cover Story > เบทาโกรขยายฐาน เคลื่อนเข้าเขมร รับ AEC

เบทาโกรขยายฐาน เคลื่อนเข้าเขมร รับ AEC

แนวโน้มการลงทุนเพื่อรองรับประชาคมอาเซียนดำเนินไปอย่างคึกคัก ล่าสุด เบทาโกร ผู้ประกอบการอาหารรายใหญ่จากไทย ขยายฐานรุกเข้าสู่กัมพูชาเพิ่ม หวังเปิดตลาดอาหารแปรรูปครบวงจร รองรับการบริโภคของ AEC
 
จังหวะก้าวของเบทาโกรในการขยายฐานรองรับการเติบโตของ AEC ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การเข้าไปลงทุนในกัมพูชา ด้วยการเปิดบริษัท เบทาโกร แคมโบเดีย Betagro (Cambodia ) Company Limited เพื่อดำเนินธุรกิจจำหน่าย อาหารสัตว์ ธุรกิจฟาร์มสุกรพันธุ์ รวมทั้งจำหน่ายเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ และผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ ในราชอาณาจักรกัมพูชามาตั้งแต่ปี2551
 
แต่ดูเหมือนว่ายุทธศาสตร์การขยายตัวของเบทาโกรไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเท่านั้น เพราะล่าสุด เบทาโกรได้ทุ่มงบประมาณจำนวน 700 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานอาหารสัตว์ ณ นิคมอุตสาหกรรมพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ด้วยกำลังการผลิต 18,000 ตันต่อเดือน โดยจะเริ่มดำเนินการสร้างภายในเดือนพฤษภาคม 2556 และคาดว่าจะเสร็จภายในปี 2557
 
“เบทาโกรมียอดจำหน่ายอาหารสัตว์ที่ประเทศกัมพูชา 3,600 ตันต่อเดือน ภายใต้ชื่อแบรนด์เบทาโกร เพิ่มพูน และไบโอ ซึ่งการสร้างโรงงานอาหารสัตว์แห่งนี้จะช่วยให้การขนส่งอาหารสัตว์ไปสู่ประเทศกัมพูชาได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งอาหารสัตว์ ซึ่งเพิ่มความสามารถแข่งขันในด้านราคาให้กับบริษัทฯ” ณรงค์ชัย ศรีสันติแสง  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส เครือเบทาโกร ระบุ
 
การรุกคืบเข้าไปในกัมพูชาของเบทาโกร ยังประกอบส่วนด้วยการสร้างฟาร์มสุกรแม่พันธุ์ ขนาด 1,500 แม่พันธุ์ ที่จังหวัดกัมปงชนัง ประเทศกัมพูชา บนพื้นที่ 400 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนพฤษภาคม  2556  โดยนำสุกรแม่พันธุ์ จากบริษัท เบทาโกร ไฮบริด อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เข้าไปเลี้ยง แล้วประมาณ 500 แม่พันธุ์ โดยลูกสุกรที่ผลิตได้ส่วนหนึ่ง เบทาโกรจะเลี้ยงเองและอีกส่วนนำเข้าสู่โครงการจ้างเลี้ยง
        
“การสร้างฟาร์มสุกรพันธุ์ที่กัมพูชาเป็นส่วนหนึ่งในแผนการลงทุนของเครือเบทาโกร ซึ่งกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดโรงงานแปรรูปสุกร รวมถึงร้านเบทาโกร ช็อป ในกัมพูชาในอนาคตอีกด้วย”
 
ภายใต้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยเครือเบทาโกรยังคงให้ความสำคัญ และตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบฟาร์ม เช่นเดียวกันกับการสร้างฟาร์มในประเทศ โดยมีการก่อสร้างระบบก๊าซชีวภาพ (Biogas) เพื่อใช้ในการกำจัดของเสีย และช่วยลดการใช้ไฟฟ้าภายในฟาร์มได้ประมาณ 30 – 50% และที่สำคัญ มีระบบ Bio-Security หรือระบบความปลอดภัยทางชีวภาพที่เข้มงวด เพื่อความปลอดภัยสูงสุดทั้งของพนักงานและสุกร ตามนโยบายหลักของเครือเบทาโกร
 
การขยายการลงทุนเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนของเบทาโกรไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในกัมพูชาเท่านั้น หากยังได้รุกเข้าไปสู่ทั้ง สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนามด้วย
 
โดยในส่วนของ สปป.ลาว เบทาโกรได้เข้าไปจดทะเบียนบริษัท เบทาโกรลาว จำกัด เพื่อทำฟาร์มสุกรใกล้เวียงจันทน์ที่บ้านนาทรายทอง มีสุกร 1,000 แม่พันธุ์ โดยได้เข้าไปร่วมกับเกษตรกรของ สปป.ลาว กว่า 30 ราย ในการทำคอนแทร็กฟาร์มขนาดเล็ก ควบคู่กับการกระตุ้นยอดจำหน่ายอาหารสัตว์ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเช่นกัน
 
แม้ว่ารูปแบบการลงทุนในอินโดจีนของเบทาโกรจะยังไม่สามารถบ่งบอกทิศทางการเติบโตได้อย่างเด่นชัด แต่ภายใต้เป้าหมายหลักของผู้บริหารระดับสูงดูเหมือนว่าการขยายตัวไปต่างประเทศเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงได้
 
“การเติบโตของเบทาโกรในอินโดจีน ยังเป็นกรณีที่เร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตอย่างไร แต่เบทาโกรได้กำหนดขั้นตอนการลงทุนไว้แล้ว ว่าจะเริ่มจากการทำฟาร์ม สร้างโรงงานแปรรูปสุกร โรงงานสุกรปรุงสุก ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดในแต่ละประเทศที่เบทาโกรเข้าไปลงทุน” วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร เครือเบทาโกร ระบุในการให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ จากสถิติเมื่อปีที่ผ่านมา ความต้องการอาหารสัตว์ในประเทศไทยมีถึง 15 ล้านตัน โดยเครือเบทาโกรมีกำลังการผลิตทั้งเครือเพียง 2 ล้านตัน จากโรงงานผลิตอาหารสัตว์ 9 แห่ง ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับภาพรวมทั้งระบบ
 
กระนั้นก็ดีอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ปลอดยาที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้น จากกระแสห่วงใยสุขภาพ ทำให้ เบทาโกร มุ่งเน้นที่จะขยายกำลังการผลิตอาหารสัตว์ปลอดยาให้เพิ่มขึ้นจากเดิม 36,000 ตันต่อเดือน เป็น 48,000 ตันต่อเดือน
 
“เบทาโกรกำหนดเป้าหมายของเครือเบทาโกรไว้ที่การเป็นผู้ผลิตสินค้าต้นน้ำ ในการเลี้ยงปศุสัตว์ที่ปลอดภัย ก่อนที่จะทำการผลิตอาหารที่ปลอดภัยในทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตให้กับผู้บริโภค”
 
แม้ว่าผลิตภัณฑ์ของเบทาโกรจะสามารถส่งออกไปยังญี่ปุ่น อังกฤษ และประเทศในภาคพื้นยุโรป แต่ความมุ่งหมายของเบทาโกร ในมิติ “เพื่อคุณภาพชีวิต” ที่ดูเหมือนจะเป็นจุดขายและประเด็นสื่อสารหลักจะสามารถดำเนินการให้สัมฤทธิ์ผลเป็นจริงหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์