วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > “อิออน” เปิดยุทธการ 2020 เร่งเครื่องยึด “อาเซียน-เอเชีย”

“อิออน” เปิดยุทธการ 2020 เร่งเครื่องยึด “อาเซียน-เอเชีย”

 
 
หลังจากค้าปลีกยักษ์ใหญ่ “อิออนมอลล์” ในเครืออิออนกรุ๊ป ประเทศญี่ปุ่น เปิดฉากบุกตลาดอาเซียนเมื่อ 3 ปีก่อน โดยปักหมุดแรกผุด “อิออนมอลล์” กลางกรุงโฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม พร้อมๆ กับตั้งทีมเดินสายดูการลงทุนและหาพันธมิตรคู่ค้าในทุกๆ ประเทศ 
 
ล่าสุด ปี 2559 “อิออนมอลล์” ยกทัพผู้บริหารชุดใหญ่จากประเทศญี่ปุ่นเดินทางเข้ามาประกาศความร่วมมือกับพันธมิตรไทยที่มี “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป” เป็นหัวเรือหลัก เป้าหมายไม่ใช่แค่เดินหน้าโครงการ “อิออนมอลล์” สาขา 2 ในประเทศกัมพูชา แต่ต้องการเปิดเกมรุกยุทธศาสตร์การขยายธุรกิจครั้งใหญ่ตาม Vision 2020 ของบริษัทแม่ที่ตั้งเป้าเป็นผู้นำตลาดค้าปลีกในภูมิภาคเอเชีย (Asia’s No.1 Super-Regional Retailer)
 
ตามแผน อิออนมอลล์ต้องการปักธงยึด 3 ตลาดหลัก ประกอบด้วยตลาดญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นตลาดหลักอันดับ 1 โดยกลุ่มอิออนเริ่มเปิดสาขาค้าปลีกแห่งแรกเมื่อปี 2514 จนปัจจุบันสร้างค้าปลีกแบรนด์ในเครือและขยายสาขาทั้งสิ้น 144 แห่ง มีจำนวนผู้ใช้บริการรวมมากกว่า 1,000 ล้านคนต่อปี และตั้งเป้าขยายต่อเนื่อง ปีละ 5-6 สาขา โดยถือเป็นเบอร์ 1 ในกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ (Commercial Real Estate) ประเทศญี่ปุ่น 
 
ตลาดที่ 2 จีน โดยบุกเข้าสู่สมรภูมิแดนมังกรเมื่อปี 2551 ล่าสุดเปิดสาขาอิออนมอลล์รวม 12 แห่ง ครอบคลุมภูมิภาคหลัก ทั้งทางด้านเหนือในกรุงปักกิ่งและเมืองเทียนจิน 5 สาขา ด้านตะวันออกในมณฑลเจียงซูและเจ้อเจียง 4 แห่ง ส่วนตอนกลางของประเทศยึดเมืองหูเป่ย 2 สาขา ขณะที่ด้านใต้จับฐานที่มณฑลกวางตุ้ง 1 สาขา สามารถดึงชาวจีนทั่วประเทศเข้ามาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 66 ล้านคนต่อปี และวางแผนขยายสาขาปีละ 5-6 สาขา 
 
ส่วนตลาดหลักที่ 3 อาเซียน ล่าสุดปักหมุดอยู่ใน 3 ประเทศ จำนวน 5 สาขา คือ เวียดนาม 3 แห่ง ในเมืองโฮจิมินห์ซิตี้และฮานอย กัมพูชา 1 แห่งในกรุงพนมเปญ และอินโดนีเซีย 1 แห่งในกรุงจาการ์ตา โดยประเมินยอดลูกค้าเมื่อปี 2558 มีมากกว่า 45 ล้านคนต่อปี และวางแผนขยายสาขาเฉลี่ยปีละ 2 สาขา 
 
ขณะเดียวกันยังมีการรีโนเวตอิออนมอลล์สาขาต่างๆ เพื่อสร้างสีสันและเพิ่มความทันสมัย ทั้งในญี่ปุ่นและจีน เนื่องจากมีคู่แข่งรายใหญ่เพิ่มขึ้นและพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก 
 
นอกจากนี้ อิออนกรุ๊ปยังแยกบริษัทในเครือเพื่อรุกธุรกิจค้าปลีกในประเทศอื่นๆ ได้แก่ มาเลเซียและฮ่องกง โดยมาเลเซียปัจจุบันมีสาขาอิออนมอลล์ 24 แห่ง และบริษัทวางแผนลงทุนเพิ่มอีก 5 สาขาในปี 2560-2561 ขณะที่ฮ่องกงเปิดแล้ว 9 สาขา
 
ทามาอิ มิตซูกุ กรรมการผู้จัดการและผู้จัดการทั่วไป ห้างสรรพสินค้าอิออน ภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า บริษัทมีแผนขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนภายใน 5 ปีนับจากนี้ เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี และมีจำนวนประชากรกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ซึ่งต่างจากประเทศญี่ปุ่นที่เริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโตไม่มาก โดยถือว่าการขยายการลงทุนสู่กลุ่มประเทศอาเซียนเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักที่อิออนมอลล์วางไว้ในแผนธุรกิจระยะกลางถึงระยะยาว รวมทั้งขยายความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนและจีนให้มั่นคงมากขึ้น
 
ล่าสุด บริษัทจับมือกับบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) พร้อมพันธมิตรรายใหญ่จากไทย เช่น บริษัท ยัสปาล จำกัด, บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน), บริษัท ฟูจิ กรุ๊ป จำกัด เปิดตัว อิออน มอลล์ แห่งที่ 2 ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2561 ภายหลังเปิดสาขาแรกเมื่อปี 2556 และได้ผลการตอบรับที่ดี เนื่องจากได้พันธมิตรที่แข็งแกร่งและร้านค้าแบรนด์ดังจากประเทศไทยเข้าไปเปิดให้บริการ ซึ่งหลังจากเปิดอิออนมอลล์ครบตามแผน 5 ปี คาดว่าจะมีรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 120% ต่อปี 
 
ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2555 ซึ่งอิออนมอลล์เข้ามาเดินสายเจรจาหาพันธมิตรค้าปลีกครั้งแรกในประเทศไทยก่อนบุกตลาดอาเซียน เคยมีการระบุว่า อิออนกรุ๊ปมีแผนการลงทุนในต่างประเทศมากกว่า 116,000 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจห้างในตลาดเกิดใหม่ ทั้งจีน อินเดีย กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ลาว และพม่า โดยภายในปี 2563 อิออนมอลล์จะเปิดห้างสรรพสินค้า 20 แห่งในฮานอย และ 14 แห่งในโฮจิมินห์ ส่วนจีนตั้งเป้าสูงถึง 100 สาขา เนื่องจากมองตลาดค้าปลีกในเอเชียเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการใช้ชีวิตที่ตอบรับกับความทันสมัย ส่งผลให้ธุรกิจห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกแนวใหม่มีโอกาสเติบโตสูงมาก
 
สำหรับประเทศไทย ซึ่งอิออนกรุ๊ปตั้งบริษัท อิออน (ประเทศไทย) ดูแลกิจการค้าปลีก ล่าสุดเปิดแผนลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2559-2563 เพื่อลุยธุรกิจ 3 โมเดล ทั้งโมเดลซูเปอร์มาร์เก็ต แบรนด์ “แม็กซ์แวลู” จะขยายประมาณ 10 สาขาต่อปี จากปัจจุบันมี 80 สาขา เป็นขนาดใหญ่หรือแม็กซ์แวลู 32 สาขา และขนาดเล็ก หรือแม็กซ์แวลู ทันใจ 48 สาขา เฉพาะปี 2559 ซูเปอร์มาร์เก็ต แม็กซ์แวลูขนาดใหญ่จะเปิด 3 สาขา และแม็กซ์แวลู ทันใจ 5 สาขา 
         
ขณะที่โมเดลขนาดใหญ่ หรือ “ชอปปิ้ง เซ็นเตอร์” เนื้อที่ 200,000-300,000 ตารางเมตร ซึ่งบริษัทเพิ่งเปิดตัวต้นแบบศูนย์การค้าอิออนแห่งแรกในศรีราชาเมื่อปี 2558 เพื่อแข่งขันกับศูนย์การค้าระดับไฮเอนด์ของไทย โดยวางแผนเปิดอีก 2 สาขาในปี 2561  
 
โมเดลสุดท้าย “สเปเชียลตี้ ชอป” โดยนำแบรนด์จากญี่ปุ่นมาเปิดในไทย เช่น ร้านสินค้าและบริการเกี่ยวกับสัตว์ “AEON PET”  ร้านจักรยาน “AEON BIKE” ร้านแอลกอฮอล์ “AEON LIQUOR” ร้านอาหารพร้อมทาน “AEON Delica World” และยังมีร้านค้าปลีก จำหน่ายสินค้าเสื้อผ้าและของใช้ เครื่องใช้ไฟฟ้า ร้านเพื่อสุขภาพและความงาม โดยคาดว่าจะทดลองนำ AEON PET หรือ AEON Delica World เข้ามานำร่องก่อน 1 สาขาภายในปีนี้ หากประสบความสำเร็จจะขยายเพิ่มเป็น 20 สาขาต่อแบรนด์ต่อปี
         
ที่สำคัญ ภายในปี 2563 หรือปี 2020 อิออนกรุ๊ปตั้งเป้าว่าบริษัท อิออน ประเทศไทยจะมียอดขายรวมกว่า 20,000 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2558 ที่มีรายได้ 7,000 ล้านบาท เพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
 
แน่นอนว่ายุทธการ 2020 ของอิออนกรุ๊ปหมายมั่นจะยึดตลาดอาเซียนและต่อยอดถึงตลาดเอเชียด้วย โดยเน้นทุกกลยุทธ์ ทั้งการลงทุน การจับมือกับพันธมิตรและการซื้อกิจการ ซึ่งรวมถึงการเปิดศึกชิงดีลการขายกิจการ บิ๊กซี เวียดนาม ของกลุ่มคาสิโนกรุ๊ป จนกลายเป็นเวทีประลองกำลังระหว่างกลุ่มทุนค้าปลีกทั่วเอเชียที่มีทั้งทีซีซี โฮลดิ้งส์และกลุ่มเซ็นทรัลจากไทย กลุ่มลอตเต้กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้และกลุ่มทุนท้องถิ่นในเวียดนาม 
 
เกมรุกเที่ยวนี้กำลังเร่งสงครามค้าปลีก “แนวรบอาเซียน” ร้อนดุเดือดขึ้นหลายเท่า