วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
Home > Cover Story > ศูนย์ฝึกการโรงแรมฯ พี่มะลิ โรงเรียนกลางทุ่ง เพื่อเด็กด้อยโอกาส

ศูนย์ฝึกการโรงแรมฯ พี่มะลิ โรงเรียนกลางทุ่ง เพื่อเด็กด้อยโอกาส

ห่างจากตัวเมืองหนองคายและชายแดนไทย-ลาวไปไม่ไกลนัก เป็นที่ตั้งของ Pimali Hospitality Training Center หรือ ศูนย์ฝึกอบรมการโรงแรมและการบริการพี่มะลิ ศูนย์ฝึกอบรมกลางทุ่งสำหรับเด็กกำพร้าและด้อยโอกาส ที่ก่อตั้งโดยสองสามีภรรยา Stéphanie Des Arts-Loup และ Alexandre Des Arts ในนามของ “Pimali Foundation”

Stéphanie Des Arts-Loup – คุณสเตฟานี หรือที่คนไทยเรียกว่า “พี่มะลิ” เธอเป็นลูกครึ่งไทย-สวิส ที่เกิดและใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยผ่านการทำงานในองค์กรชั้นนำ ทั้งในฐานะผู้จัดการแบรนด์ช็อกโกแลต ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของแบรนด์นาฬิกาสุดหรู และยังเป็นผู้บริหารในโรงแรมระดับห้าดาวในสวิตเซอร์แลนด์

จนกระทั่งวันหนึ่งเธอมีโอกาสได้มาเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสที่ประเทศไทย ได้เห็นความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษา การมีอาชีพที่ดี และปัญหาความยากจน ซึ่งจากจุดเริ่มต้นนี้เอง ถือเป็นต้นกำเนิดของ “Pimali Hospitality Training Center” ศูนย์ฝึกอบรมการโรงแรมที่สร้างมาเพื่อเด็กด้อยโอกาสได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา และสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพที่ดีในอนาคตได้

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้อยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก สินทรัพย์ของคนทั้งประเทศกว่า 77% ไปกระจุกตัวอยู่กับคนรวยที่สุดของประเทศที่มีสัดส่วนเพียง 10% ของประชากรทั้งหมด

ช่องว่างของรายได้และทรัพย์สินที่เกิดขึ้นนี้เอง ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ ตามมา ซึ่งหนึ่งในความเหลื่อมล้ำคือการศึกษาอันถือเป็นรากฐานที่สำคัญของสังคม คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเปิดเผยว่า ปี 2564 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีเยาวชนวัยเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน (อายุ 3-17 ปี) อยู่นอกระบบการศึกษามากกว่า 670,000 คนทั่วประเทศ อันมาจากปัญหาความยากจน ความด้อยโอกาสทางสังคม ความพิการและปัญหาครอบครัว

และสำหรับกลุ่มเด็กยากจนและด้อยโอกาสยังมีความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสการสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษาสูงถึง 7 เท่า โดยเด็กจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศมีโอกาสศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาโดยเฉลี่ยเพียงร้อยละ 5 ของประชากรในกลุ่มรายได้เดียวกัน

จุดเริ่มต้นของศูนย์ฝึกอบรมการโรงแรมและการบริการพี่มะลิ

สเตฟานีเล่าว่า ปี 2552 เธอได้เดินทางมายังประเทศไทย ซึ่งในตอนนั้นเธอมีความคิดอยากจะช่วยเหลือเด็กกำพร้าและเด็กด้อยโอกาส จึงพยายามหาสถานที่ที่เธอจะสามารถไปเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือเด็กๆ ได้ จนได้พบกับบ้านซารนิลลี่ (Sarnelli House Foundation) บ้านสงเคราะห์สำหรับเด็กที่ถูกทอดทิ้ง หรือได้รับผลกระทบจากครอบครัวผู้ติดเชื้อเอชไอวี จังหวัดหนองคาย

หลังจากเป็นอาสาสมัครอยู่นาน 3 สัปดาห์ สเตฟานีต้องกลับไปทำงานที่สวิตเซอร์แลนด์ตามเดิม และหลังจากนั้นทุกครั้งที่มีวันหยุดเธอจะหาโอกาสกลับมาที่หนองคายและเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือเด็กๆ พร้อมกับนำเงินและของขวัญเล็กๆ อย่างช็อกโกแลตมาฝากอยู่เสมอ

“ทุกครั้งที่มา ฉันจะหาของขวัญเล็กๆ น้อยๆ และเงินที่ได้จากการระดมทุนมาบริจาคให้กับเด็กๆ ซึ่งมันอาจทำให้เขามีความสุขในระยะหนึ่ง แต่มันไม่สามารถช่วยพวกเขาในระยะยาวได้เลย จึงเริ่มคิดที่จะทำอะไรบางอย่างที่เป็นการช่วยเหลือพวกเขาในระยะยาว”

“ฉันหยุดคิดเรื่องนี้ไม่ได้เลย พยายามหาทางที่จะทำให้เด็กๆ มีอาชีพและมีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน จนมีอยู่คืนหนึ่งฉันตื่นมากลางดึกในบ้านที่สวิตเซอร์แลนด์ และปลุกสามีบอกเขาว่า ฉันรู้แล้วว่าจะทำอะไรเพื่อเป็นการช่วยเด็กๆ ที่เมืองไทย ฉันจะเปิดศูนย์ฝึกอาชีพการโรงแรมและการบริการให้เด็กกำพร้าและเด็กด้อยโอกาส”

แน่นอนว่าสามีอย่าง Alexandre Des Arts เห็นด้วยและสนับสนุนแนวคิดนี้อย่างเต็มที่ เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย และความต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

หลังจากนั้นสองสามีภรรยาจึงเริ่มวางแผนอย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากสำรวจรูปแบบการให้บริการในโรงแรม การฝึกอบรม มองหาพาร์ตเนอร์ในประเทศไทย รวมถึงการระดมทุนสำหรับการสร้างศูนย์ฝึกวิชาชีพตามที่ตั้งใจ

“ฉันถือกระดาษหนึ่งแผ่นที่บรรจุความฝันและความตั้งใจของฉันไปเสนอให้พวกเขาฟังว่าสิ่งที่ฉันจะทำจะสามารถช่วยเหลือเด็กๆ ได้อย่างไร เริ่มจากครอบครัวและกลุ่มเพื่อนๆ เราได้จัดงาน Charity Night เพื่อเป็นการระดมทุน ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี คนที่นั่นให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เราจึงก่อตั้ง Pimali Foundation ขึ้นมาเพื่อดำเนินการ และใช้เวลาในการระดมทุนอยู่ประมาณ 2-3 ปี”

เมื่อระดมทุนได้จำนวนหนึ่ง สเตฟานีและสามีตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่เมืองไทยเป็นการถาวรตั้งแต่ปี 2557 เพื่อสร้างศูนย์ฝึกวิชาชีพตามที่เธอตั้งใจ โดยปักหมุดที่จังหวัดหนองคาย เพราะเธอเห็นว่าหนองคายตั้งอยู่ในภูมิภาคที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และมีโรงเรียนฝึกวิชาชีพอยู่เพียงไม่กี่แห่ง เมื่อจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว เด็กที่ด้อยโอกาสมักไม่ได้รับการศึกษาต่อ ต้องทำงานในภาคการเกษตร หรือเข้าเมืองใหญ่เพื่อหางานทำ บางคนถูกเอารัดเอาเปรียบ ได้รายได้น้อย และบางคนต้องเข้าไปอยู่ในวงจรการค้าประเวณี

เป้าหมายสูงสุดคือการสร้างความมั่นคงทางอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน

กุมภาพันธ์ 2558 การก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมฯ เริ่มต้นขึ้น และใช้เวลาร่วมปีในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ กลายเป็นหมู่อาคารกลางทุ่ง ในชื่อ “Pimali Hospitality Training Center” หรือ ศูนย์ฝึกอบรมการโรงแรมและการบริการพี่มะลิ

อาคารด้านหน้าเป็นอาคารทำการและห้องเรียน ที่เชื่อมต่อกับห้องอาหาร คาเฟ่ และห้องครัวขนาดใหญ่เต็มรูปแบบ ถัดออกไปเป็นบังกะโลรับรองแขกจำนวน 4 หลัง ภายในบรรจุด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกตามมาตรฐานของโรงแรม แวดล้อมด้วยนาข้าวและพื้นที่เกษตรกรรมแบบปลอดสารเคมี ซึ่งทุกพื้นที่ถูกใช้เพื่อการเรียนการสอนและฝึกปฏิบัติของนักเรียนทั้งสิ้น

ธันวาคม 2558 ศูนย์ฝึกอบรมการโรงแรมและการบริการพี่มะลิ เปิดตัวการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกด้วยนักเรียนเพียง 6 คน เปิดสอนทั้งสิ้น 3 หลักสูตร อันประกอบไปด้วย 1. Kitchen การครัวและประกอบอาหาร 2. Food & Beverage งานบริการในร้านอาหาร สอนทำเครื่องดื่มและพื้นฐานการบริการ การเสิร์ฟ การจัดโต๊ะ และ 3. Housekeeping สอนการดูแลพื้นที่สาธารณะ การดูแลห้องพัก ระบบการจองห้องพัก และการต้อนรับ

สำหรับหลักสูตร Kitchen และ Food & Beverage จะใช้เวลาเรียน 11 เดือน และไปฝึกงานตามโรงแรมอีก 6 เดือน รวมเวลาเรียนทั้งสิ้นปีครึ่ง ส่วนหลักสูตร Housekeeping ใช้เวลาเรียนสั้นกว่าคือ 6 เดือน และฝึกงานอีก 6 เดือน รวมเป็นเวลา 1 ปี จึงจะถือว่าสำเร็จการศึกษาและได้รับประกาศนียบัตรสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ และในหลักสูตรยังมีการพาเด็กๆ ไปทัศนศึกษา ดูระบบการทำงานในโรงแรมใหญ่ๆ ที่กรุงเทพฯ อีกด้วย

โดยจะเปิดรับเด็กกำพร้าและเด็กด้อยโอกาสที่มีอายุตั้งแต่ 17 ปีขึ้นไป จบการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งสเตฟานีกล่าวว่าสำหรับเกณฑ์การจบการศึกษาภาคบังคับนั้น เป็นสิ่งจำเป็น แต่ไม่บังคับ ขอเพียงมีความต้องการที่จะเรียนรู้ด้านการโรงแรมเท่านั้น

เด็กที่เข้ามาเรียนที่นี่ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวยากไร้ในชนบทของภาคอีสาน และเด็กกำพร้าในการดูแลของมูลนิธิต่างๆ เช่น มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และซารนิลลี่ เฮาส์ เป็นต้น และมีบ่อยครั้งเป็นเด็กที่ทีมงานของศูนย์ฝึกอบรมพี่มะลิเป็นผู้ไปสำรวจตามหมู่บ้านต่างๆ และชักชวนให้มาเรียน

การเรียนที่นี่เป็นการเรียนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย มีหอพักให้อยู่ตลอดหลักสูตร มีเพียงอย่างเดียวที่ครอบครัวหรือมูลนิธิที่ดูแลเด็กต้องจ่ายคือ เงิน 500 บาทต่อเดือน ถือเป็น “Commitment Fee” ซึ่งศูนย์อบรมพี่มะลิจะเก็บเงินส่วนนี้ไว้ และคืนให้กับเด็กทุกบาททุกสตางค์ในวันที่จบหลักสูตร และถือเป็นเงินขวัญถุงให้กับพวกเขา

“แต่ถ้าเด็กคนไหนไม่มีจริงๆ เราก็จะสอนให้เขาเก็บหอมรอมริบจากทิปเวลาที่มีแขกมาพักที่ศูนย์ เพื่อสอนให้เขารู้จักการเก็บออมและรับผิดชอบ”

ติดอาวุธทั้งทักษะการทำงานและการใช้ชีวิต

สำหรับลักษณะการเรียนการสอนนั้น ในเดือนแรกเด็กทุกคนจะได้เรียนพื้นฐานในทุกหลักสูตร แล้วค่อยแบ่งไปตามหลักสูตรเฉพาะที่แต่ละคนเลือก โดยตอนเช้าจะเป็นการลงมือปฏิบัติ และตอนบ่ายเป็นภาคทฤษฎี นอกจากนี้ ยังมีการสอนในเรื่อง English & Life Skills หรือทักษะการใช้ภาษาอังกฤษและการใช้ชีวิต รวมถึงการทำการเกษตรอีกด้วย

“เราไม่ได้สอนเฉพาะวิชาที่เกี่ยวกับการบริการ แต่ยังสอนการสื่อสารภาษาอังกฤษซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะจะเพิ่มโอกาสที่ดีในการทำงานให้กับเด็กๆ นอกจากนั้น เรายังสอนทักษะการใช้ชีวิต การดูแลตัวเอง การบริหารเงิน สอนการเก็บออม เป็นการติดอาวุธให้เขาทั้งทักษะการทำงานและการใช้ชีวิต”

ผู้สนับสนุนคือพลังสำคัญ

จากนักเรียน 6 คนในรุ่นแรก ปัจจุบันศูนย์ฝึกอบรมพี่มะลิสร้างโอกาสทางการศึกษาและอาชีพให้เด็กๆ ผู้ยากไร้และด้อยโอกาสไปแล้วหลักร้อยคน โดยปัจจุบันถือเป็นรุ่นที่ 8 มีจำนวนนักเรียน 20 คน เด็กที่จบการศึกษาไปแล้วมีโอกาสได้งานทำทั้งในโรงแรมและร้านอาหารถึง 95% ซึ่งส่วนมากแล้วจะอยู่ตามโรงแรมใหญ่ๆ ในเมืองท่องเที่ยวอย่าง ภูเก็ต พัทยา และกรุงเทพฯ

“ในแต่ละปีเรารับเด็กได้ไม่เยอะมากนัก เพราะตลอดหลักสูตรเด็กจะกินอยู่กับเราตลอด มีหอพักให้ทั้งเด็กผู้ชายและผู้หญิง มีครูคอยดูแลให้คำปรึกษา เพราะฉะนั้นต้องแน่ใจว่าเราจะสามารถดูแลเขาได้อย่างทั่วถึง”

ซึ่งสเตฟานีกล่าวว่า การมาถึงจุดนี้ได้มาจากพลังของผู้สนับสนุน สปอนเซอร์ ทั้งในฐานะผู้บริจาค สนับสนุนทางการเงิน รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ที่เดินทางมาเป็นอาสาสมัครแบ่งปันความรู้ให้กับเด็กๆ

โดยผู้สนับสนุนหลักมีทั้งกลุ่มโรงแรมและองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น ONYX Hospitality Group (ออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ้ป) ที่บริหารงานโรงแรมในเครือ Amari, Electrolux, สโมสรโรตารี เป็นต้น ซึ่งผู้สนับสนุนที่เป็นกลุ่มโรงแรมยังเปิดพื้นที่เป็นสถานที่ฝึกงานสำหรับเด็กๆ อีกด้วย

แต่ถึงกระนั้นสเตฟานียอมรับว่าที่ผ่านมายังมีความท้าทายในหลายประเด็นที่ศูนย์ฝึกอบรมพี่มะลิยังต้องเผชิญ อย่างแรกเลยคือเรื่องเงินสนับสนุน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนศูนย์ฝึกอบรมแห่งนี้ ซึ่งทางศูนย์ฯ ยังคงเปิดรับผู้สนับสนุนอยู่อย่างต่อเนื่อง

“อีกความท้าทายที่เราเจอคือเรื่องของเด็ก เพราะแต่ละคนมีพื้นฐานความรู้ ความเป็นมาที่ต่างกัน ที่นี่เราสอนแบบไม่แบ่งระดับ บางคนไม่สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้ บางคนเป็นเด็กเรียนดีแต่ไม่สามารถเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยได้เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม ในขณะที่บางคนเราต้องสอนตั้งแต่การดูแลตัวเอง ความสะอาด การเข้าสังคม”

“ถ้าเด็กมาจากครอบครัวที่ยากจน ทางบ้านก็อยากให้เด็กเข้าทำงานให้เร็วที่สุด เพื่อหาเงินมาช่วยเหลือครอบครัว หลักสูตร 11 เดือนของเราถือว่านานไปสำหรับเขา เพราะเขามองว่าแต่ละเดือนที่เด็กเรียนอยู่ คือการเสียโอกาสในการทำมาหากิน เราต้องค่อยๆ อธิบายกับครอบครัวให้เข้าใจ”

สเตฟานีเล่าต่อว่า ต้องอธิบายกับครอบครัวของเด็กฟังว่า ถ้าเขาส่งลูกเข้าไปทำงานในเมืองใหญ่ๆ โดยที่เด็กยังไม่มีวุฒิ ไม่มีความเชี่ยวชาญ งานที่หาได้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นงานใช้แรงงาน ได้ค่าจ้างต่ำ มีโอกาสถูกเอารัดเอาเปรียบ แต่ถ้าเด็กได้ฝึกอบรม มีทักษะและความสามารถเฉพาะทางจะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้ทำงานที่ดี มีงานประจำ จะได้รับค่าแรงและสวัสดิการที่ดีกว่า ทำให้เด็กมีความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ในอนาคต

แรกๆ ทางครอบครัวอาจจะมองภาพไม่ออก แต่พอนักเรียนรุ่นแรกๆ จบหลักสูตรแล้ว และได้เข้าทำงานในโรงแรมต่างๆ มีรายได้สามารถส่งกลับมาจุนเจือทางบ้านได้ ครอบครัวเด็กก็เริ่มเข้าใจและเห็นด้วยที่จะให้เด็กมาเรียนที่ศูนย์ฝึกอบรมพี่มะลิ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ต้องเลิกเรียนกลางคัน ทั้งจากตัวเด็กเองและต้องออกไปหารายได้ช่วยครอบครัว

หลังจากเปิดการเรียนการสอนมากว่า 8 ปี ล่าสุดศูนย์ฝึกอบรมพี่มะลิ กำลังพัฒนาไปอีกขั้น เตรียมเปิดให้บริการห้องพักและห้องอาหาร เพื่อรองรับผู้มาเยือนอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากที่ผ่านมาเป็นการเปิดให้บริการที่ไม่ได้ประชาสัมพันธ์มากนัก

“เรามีบังกะโลอยู่ 4 ห้อง ใช้สำหรับฝึกปฏิบัติในหลักสูตร Housekeeping และเปิดให้เข้าพัก ที่ผ่านมาผู้ที่มาพักส่วนใหญ่คือสปอนเซอร์ เรามีห้องครัวขนาดใหญ่ ร้านอาหารและบาร์ สำหรับหลักสูตรการทำอาหาร เครื่องดื่ม และบริการ ตอนนี้เรากำลังพัฒนาระบบการจองห้องพัก ร้านอาหาร ให้ได้มาตรฐานเพื่อเชิญชวนให้ผู้คนมาใช้บริการ”

ที่ผ่านมาคนที่เดินทางผ่านหรือเห็นชื่อจะคิดว่าที่นี่เป็นเพียงศูนย์ฝึกอบรม เป็นโรงเรียน แต่ไม่รู้ว่ามีร้านอาหารและบริการห้องพัก ซึ่งล้วนเป็นฝีมือจากเด็กนักเรียนทั้งสิ้น

“สิ่งที่เราทำ เราไม่ได้ทำเพื่อธุรกิจ แต่เพื่อให้เด็กได้ลงสนามจริง รายได้ที่ได้จะนำมาใช้ในกิจการของทางศูนย์ เพราะฉะนั้นเงินที่คุณจ่ายไม่ว่าจะเป็นค่าอาหารหรือที่พัก มันไม่ใช่แค่การซื้อสินค้าและบริการ แต่มันยังเป็นการช่วยเหลือเด็กๆ ไปในตัวด้วย”

ในฐานะผู้ก่อตั้ง สเตฟานีกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า แม้จะเดินทางมาแล้วกว่า 8 ปี แต่ภารกิจของ “ศูนย์ฝึกอบรมการโรงแรมและการบริการพี่มะลิ” จะยังคงดำเนินต่อไป เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางการศึกษาและอาชีพให้กับเด็กๆ ที่ด้อยโอกาส และเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ในการพัฒนาประเทศ.