วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > On Globalization > ผู้บริหารรุ่นใหม่ของกลุ่มธุรกิจสินค้าหรู

ผู้บริหารรุ่นใหม่ของกลุ่มธุรกิจสินค้าหรู

แบร์นารด์ อาร์โนลต์ (Bernard Arnault) ซื้อกิจการเครื่องหนังหลุยส์ วุตตง (Louis Vuitton) ปลุกปั้นให้ยี่ห้อเก่าแก่กลับมาดัง แล้วจึงซื้อกิจการของชองปาญ Moët-Chandon และเหล้ากอญัค Hennessy ตั้งเป็นกลุ่ม LVMH ซึ่งย่อมาจาก Louis Vuitton Moët Hennessy นั่นเอง แบร์นารด์ อาร์โนลต์ประสบความสำเร็จในธุรกิจสินค้าหรู จนได้เป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของฝรั่งเศส และร่ำรวยอันดับสี่ของโลกตามการจัดอันดับของนิตยสาร ฟอร์บส์ (Forbes) หากเงินทองที่มีอยู่ไม่ได้ทำให้รู้จักพอ เกิดการเสพติดความรวย และยิ่งอยากกว้านซื้อยี่ห้อหรูเข้ามาในอาณาจักร LVMH มองไปรอบข้างก็พบว่ามียี่ห้อที่หรูมาก หรูกว่าบรรดายี่ห้อที่ตนมีอยู่ นั่นคือ แอร์แมส (Hermès)

 

ยิ่งเห็นความสำเร็จของแอร์แมส จึงเกิดความคิดว่าน่าจะ “กวาด” แอร์แมสเข้ามาด้วยอันเป็นที่มาของการแอบซื้อหุ้นของแอร์แมสในตลาดต่างประเทศในสัดส่วน 17.1% และยังคงซื้อต่อไปจนถือหุ้นแอร์แมสอยู่ประมาณ 22.28% โดยมารยาทแล้ว แบร์นารด์ อาร์โนลต์น่าจะแจ้งแก่ผู้บริหารแอร์แมสถึงเรื่องนี้ แต่ไม่ได้ทำ แอร์แมสยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ให้สอบสวนการกระทำของ LVMH ที่น่าจะผิดกฎของตลาดหลักทรัพย์

 

แบร์นารด์ อาร์โนลต์ยังคงตั้งหน้าตั้งซื้อหุ้นของแอร์แมส แม้แอร์แมสจะตั้งหลักได้แล้วด้วยการตั้งโฮลดิ้ง โดยแอร์แมสถือหุ้น 51% เป็นมาตรการป้องกันมิให้ผู้อื่นเข้ามามีอำนาจบริหารผู้ที่เกรงกลัวความโลภของแบร์นารด์ อาร์โนลต์ คือทอม ฟอร์ด (Tom Ford) และผู้บริหารของกุชชี (Gucci)

 

เพราะแบร์นารด์ อาร์โนลต์เคยต้องการซื้อหุ้นของกุชชี เพื่อเข้ามาบริหารเอง ทอมฟอร์ดและพวกติดต่อนักธุรกิจฝรั่งเศสซึ่งเป็นคู่แข่งในธุรกิจสินค้าหรูของแบร์นารด์ อาร์โนลต์เข้ามาซื้อหุ้น เป็นการตัดหน้ากลุ่ม LVMH ในวันนี้เมื่อรัฐบาลสังคมนิยมของฝรั่งเศสประกาศเรียกเก็บภาษี 75% จากผู้มีรายได้มากกว่าหนึ่งล้านยูโรต่อปี

 

แบร์นารด์ อาร์โนลต์ยื่นขอสัญชาติเบลเยียมเพื่อเลี่ยงการเสียภาษีในประเทศ บ้านเกิดของตน แบร์นารด์ อาร์โนลต์มีลูกสองคนจากการแต่งงานครั้งแรก คือ เดลฟีน (Delphine) และอองต็วน (Antoine) ทั้งสองเข้ามาช่วยบริหารธุรกิจของ LVMH เดลฟีนเป็นลูกคนโต เธอเข้าทำงานในกลุ่ม LVMH

 

ในปี 2000 ปีถัดไปได้รับแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในผู้บริหารของห้องเสื้อคริสติออง ดิออร์ (Christian Dior) ปี 2003 ได้เป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารของกลุ่ม LVMH เธอใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีในการก้าวสู่ตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการของห้องเสื้อดิออร์ โดยมีซิดเนย์ โตเลดาโน (Sydney Toledano) คอยประคับประคองสอนงานให้จนปัจจุบันเธอดูแลทั้งการออกแบบเสื้อและส่วนประกอบแฟชั่นของดิออร์ และเป็นผู้ชี้ขาดในการจ้างราฟ ซีมงส์ (Raf Simons) มาเป็นดีไซเนอร์ของห้องเสื้อดิออร์นอกจากนั้นยังดูแลสินค้าอื่นๆ ของ LVMH อาทิ Céline,Cheval Blanc, Pucci และ Loewe

 

เดลฟีนไม่ชอบเป็นข่าว ครั้งแรกที่สาธารณชนได้รู้จักเธอเมื่อเธอแต่งงานในปี 2005 เธอเก็บงำชีวิตส่วนตัวให้ห่างไกลจากสายตาของสื่อต่างจากอองต็วนที่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ตลอดเวลาอาจเป็นเพราะหน้าที่การงานของอองต็วนที่ดูแลด้านสื่อของหลุยส์ วุตตง (Louis Vuitton) จึงได้ทำงานกับอีฟส์ การ์แซล (Yves Carcelle) เขาเป็นผู้ริเริ่มการเปิดประตูของกลุ่ม LVMH ให้สาธารณชนเข้าชมวิธีการผลิตสินค้าหรูยี่ห้อต่างๆ เขาเป็นผู้อำนวยการของรองเท้ายี่ห้อ Berluti และล่าสุดเข้าซื้อกิจการของArnysห้องเสื้อที่รับตัดเสื้อบุรุษ สื่อยิ่งจับตาอองต็วนเมื่อเขามีนางแบบสาวสวยชาวรัสเซีย นาตาเลีย โวเดียโนวา (Natalia Vodianova) อยู่เคียงข้าง Berluti เป็นยี่ห้อรองเท้าผู้ชาย อยู่ในอาณาจักร LVMH อย่างเงียบๆ ไม่ทำรายได้มากนัก หน้าที่ของอองต็วนคือการทำให้ Berluti เป็นยี่ห้อหรูที่ทำรายได้

 

นอกจากเครื่องหนังแล้ว ยังจะออกเสื้อสำเร็จรูปผู้ชายด้วย ลูกค้าคนดังของBerluti มีอาทิ เจมส์ ดีน (James Dean) แอนดี้ วาร์โฮล (Andy Warhol) ฌอง ก็อกโต (Jean Cocteau) เจอรารด์ เดอปาร์ดิเออ (Gérard Depardieu)

 

นอกจากนั้นอองต็วน อาร์โนลต์ยังอยู่ในคณะบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจLes Echos ส่วนกลุ่มแอร์แมสนั้นก็มีการเตรียมการถ่ายโอนอำนาจให้ชนรุ่นใหม่เช่นกัน โดยมีอักเซล ดูมาส์ (Axel Dumas) เป็นตัวหลัก เพราะตระกูลดูมาส์ (Dumas) เป็นหนึ่งในตระกูลที่เป็นทายาทของผู้ก่อตั้งแอร์แมส และเป็นตระกูลที่ถือหุ้น 25% ปาทริค โตมาส์ (Patrick Thomas) ผู้บริหารของแอร์แมสจะเกษียณอายุในเร็ววันนี้ จึงจำเป็นต้องแต่งตั้งผู้บริหารคนใหม่ และเขาเลือกอักเซล ดูมาส์ โดยฝ่ายหลังจะเข้าทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับเขาก่อนที่จะรับเป็นผู้บริหารอย่างเป็นทางการ

 

อักเซล ดูมาส์จบปรัชญาและกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคยทำงานที่ธนาคาร BNP เข้าทำงานที่แอร์แมสในปี 2003 เขาสนิทกับปิแอร์อเล็กซิส ดูมาส์ (Pierre-Alexis Dumas) ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องและเป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของแอร์แมส อีกทั้งปิแอร์อเล็กซิส เป็นพ่อทูนหัวของลูกชายอักเซล

 

อักเซล ดูมาส์อายุ 42 ปี วัยที่เหมาะกับการติดตามและจับกระแสแฟชั่น เขาเห็นว่าขนาดของบูติกไม่ได้สำคัญไปกว่าความหลากหลายที่แอร์แมสจะนำเสนอ เมื่อเขาหันมาบริหารเครื่องประดับ เขาเน้นการทำเครื่องประดับด้วยทอง ซึ่งประสบความสำเร็จสูง ในด้านเครื่องหนังซึ่งเป็นกิจกรรมหลักของแอร์แมส เขาร่วมกับปิแอร์อเล็กซิสในการผลิตกระเป๋าสามรุ่นคือ Jypsière, Toolbox และ Lindy เป็นการนำเสนอความแปลกใหม่นอกเหนือจาก Kelly และ Birkin หน้าที่หลักของอักเซล ดูมาส์ คือการนำแอร์แมสให้เป็นธุรกิจของครอบครัว ฝ่าฟันคลื่นลมที่กลุ่ม LVMH กระหน่ำมา

 

 

คอลัมน์ from Paris