วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
Home > Cover Story > จาก The Deck สู่ The Gate Grand Palace ย้อนเรื่องราวธุรกิจร้านอาหารย่านท่าเตียน

จาก The Deck สู่ The Gate Grand Palace ย้อนเรื่องราวธุรกิจร้านอาหารย่านท่าเตียน

“ท่าเตียน” ถือเป็นอีกหนึ่งย่านสำคัญของกรุงเทพฯ ที่เป็นที่รู้จักของทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ  ทั้งในบริบทของความเป็นย่านการค้าเก่าที่แวดล้อมด้วย วัด วัง และชุมชน รวมถึงในบริบทของการเป็นแหล่งแฮงก์เอาต์กลางกรุงที่แวดล้อมไปด้วยร้านอาหารและที่พักหลากหลายแบบ โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาและฉากของวัดอรุณราชวรารามเป็นไฮไลต์ 

และถ้าพูดถึงร้านอาหารและที่พักย่านท่าเตียนที่ปัจจุบันกำลังผุดขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว คงต้องพูดถึง “The Deck by the river” (เดอะ เด็ค บายเดอะริเวอร์) ในฐานะร้านอาหารแรกๆ ที่เข้ามาปักหมุดในย่านท่าเตียนเมื่อราวๆ 20 ปีก่อน และถือเป็นผู้จุดกระแสให้ท่าเตียนเป็นที่รู้จักในบริบทใหม่ จากย่านการค้าสู่แหล่งแฮงก์เอาต์กลางกรุง

พญ.ปิยะนุช รักพาณิชย์ หรือ หมอนุช ผู้อำนวยการแพทย์สวนสุขภาพอรุณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูและการแพทย์ผสมผสาน และในอีกหนึ่งบทบาทคือการเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง “อรุณเรสซิเด้นท์ กรุ๊ป” (Arunresidence group) ผู้ดำเนินกิจการร้านอาหารและที่พักย่านท่าเตียน อย่างเดอะ เด็ค บายเดอะริเวอร์, ศาลาอรุณ และโรงแรมอรุณ เรสซิเดนท์ เล่าถึงที่มาของการเริ่มธุรกิจร้านอาหารในย่านท่าเตียน โดยมีเดอะ เด็ค บายเดอะริเวอร์ เป็นร้านแรกให้ “ผู้จัดการ 360 องศา” ฟังว่า จุดเริ่มต้นเกิดจากการร่วมมือกันของหุ้นส่วนที่ส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ที่ต้องการทำร้านอาหารเพื่อสุขภาพเมื่อราวๆ 20 ปีก่อน

“ย้อนกลับไปเกือบ 20 ปีที่แล้ว นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ซึ่งเป็นศัลยแพทย์หัวใจและเคยทำงานด้วยกัน ท่านบอกว่า เรามาจับมือทำร้านอาหารเพื่อสุขภาพกันเถอะ เราก็สนใจเลยตอบตกลง หลังจากนั้นแกก็เดินท่อมๆ ไปทั่วกรุงเทพฯ สีลม สุขุมวิท เพื่อหาโลเคชันที่จะเปิดร้าน จนในที่สุดแกก็มาบอกว่า ‘คุณมาดูที่ตรงนี้สิ สนใจไหม’ มันคือซอยประตูนกยูง ท่าเตียน จำได้วันแรกที่มาดูเป็นช่วงเย็น เราเดินเข้ามาในซอยประตูนกยูง พระอาทิตย์กำลังจะตก มีแม่น้ำเจ้าพระยาและวิววัดอรุณราชวรารามที่อยู่ข้างหน้ามันสวยมาก พอมาเห็นจริงๆ เราคิดเลยว่าต้องรักษาพื้นที่ตรงนี้ไว้และทำให้มันกลมกลืนกับชุมชน นั่นจึงเป็นวันที่เราตกลงว่าจะทำร้านอาหารที่ท่าเตียน ซึ่งต่อมาคือเดอะ เด็ค บายเดอะริเวอร์ ร้านอาหารร้านแรกของเรา”

หมอนุชเท้าความต่อว่า เดิมทีที่ตั้งร้านเดอะ เด็ค บายเดอะริเวอร์ เป็นตึกเก่าๆ อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา เจ้าของตึกขายอาหารทะเลตากแห้งและใช้เป็นที่อยู่ของคนงาน เมื่อได้พื้นที่มาแล้วจึงทำการปรับปรุงสถานที่แต่ยังคงไว้ซึ่งเสน่ห์ของอาคารเก่าที่กลมกลืนไปกับชุมชนรอบข้าง โดยแบ่งออกเป็นโซนที่พักในชื่อโรงแรมอรุณ เรสซิเดนท์ ที่ปรับปรุงจากตึกสไตล์ชิโน-โปรตุกีส มีห้องพักจำนวน 5 ห้อง, ร้านอาหาร เดอะ เด็ค บายเดอะริเวอร์ และบาร์ในชื่อ Amorosa

สำหรับคอนเซ็ปต์ของร้านนั้นหมอนุชบอกว่าอย่างแรกต้องเป็นสถานที่ที่อยู่ในชุมชนให้ได้ ไม่ไปเปลี่ยนชุมชนที่เขาอยู่มานาน และอย่างที่สองคือต้องเป็นสถานที่ริมน้ำที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลายเหมือนอยู่บ้าน แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับการบุกเบิกธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมในย่านชุมชนแห่งนี้

“ตอนแรกที่ทำร้านก็ล้มลุกคลุกคลานนะ เพราะตอนนั้นยังใหม่และแถวนี้ไม่มีร้านอะไรเลย มีแต่ Vivi Coffee ที่เขามาก่อนเราอยู่ร้านเดียวแต่อยู่คนละซอย นอกนั้นเป็นร้านอาหารตามสั่งทั่วไป ยังไม่ใช่แหล่งที่คนจะมาเที่ยว ตอนนั้นปักธงว่าจะเป็นร้านอาหารเพื่อสุขภาพ แต่พอทำไปสักพักต้องปรับ ตอนหลังมีคุณก้า (กัลณิการ์ ตริยางกูรศรี) ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทและเชฟไก่ (ธนัญญา ไข่แก้ว) มาช่วย เราก็ค่อยๆ ทรานส์ฟอร์มรูปลักษณ์จากอาหารสุขภาพ มาเป็นร้านเดอะ เด็ค อย่างในปัจจุบัน”

เชฟไก่-ธนัญญา ไข่แก้ว ถือเป็นอีกหนึ่งเชฟมากฝีมือ ที่มีชื่อเสียงในวงการอาหารไทยและนานาชาติ ซึ่งปัจจุบันเธอเป็นที่รู้จักในฐานะเชฟกระทะเหล็ก ประเทศไทย แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน เชฟไก่ถือเป็นเชฟคนแรกของเดอะ เด็ค บายเดอะริเวอร์ ที่เข้ามาช่วยคิดค้นและปรับปรุงเมนูอาหาร ตลอดจนการวางระบบต่างๆ ภายในครัวจนอยู่ตัว โดยเน้นเมนูอาหารไทย อาหารไทยผสมอาหารฝรั่งหรืออาหารฟิวชันเป็นหลัก

หมอนุชเล่าต่อว่าสิ่งที่ทำให้เดอะ เด็ค บายเดอะริเวอร์ กลายเป็นที่รู้จักคือปีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม ในวาระทรงครองราชสมบัติครบ 60 ปี ซึ่งทุกคนอยากหาจุดที่จะสามารถชมขบวนเสด็จได้ แต่ตอนนั้นยังไม่มีร้านรวงอย่างในปัจจุบัน มีเพียงร้านเดอะ เด็ค บายเดอะริเวอร์ เท่านั้นที่มีทำเลที่ดี เพราะอยู่ตรงข้ามวัดอรุณฯ และเป็นจุดที่สามารถชมขบวนเสด็จได้ นั่นจึงทำให้ร้านเป็นที่สนใจ มีคนมาใช้บริการ และมีชื่อเสียงมากขึ้นเป็นลำดับ

เมื่อที่พักอย่างโรงแรมอรุณ เรสซิเดนท์ และร้านอาหารเดอะ เด็ค บายเดอะริเวอร์ เริ่มอยู่ตัว ทางหุ้นส่วนจึงได้เริ่มทำบาร์ขึ้นบริเวณด้านบนของอาคารในชื่อ Amorosa ซึ่งต่อมากลายเป็นจุดเช็กอินของนักท่องเที่ยวจนถึงขนาดต้องมีการจองโต๊ะกันเลยทีเดียว เพราะถือเป็นบาร์ที่สามารถชมพระอาทิตย์ตกหลังวัดอรุณฯ ได้สวยงามที่สุดอีกแห่งหนึ่ง

หลังจากนั้นทั้ง เดอะ เด็ค บายเดอะริเวอร์, อรุณ เรสซิเดนท์ และ Amorosa ต่างกลายเป็นสถานที่ยอดฮิตของทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีเหล่าผู้มีชื่อเสียงทั้งดารา เซเลบริตี้ และเชื้อพระวงศ์จากต่างประเทศแวะเวียนมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์และจัดงานแต่งงานอยู่เนืองๆ

“ช่วงนั้นแขกเยอะ ทั้งแขกวีไอพี ราชวงศ์ต่างชาติ เจ้าชายแห่งลักเซมเบิร์ก, นิโคลัส เคจ หรือดาราฮอลลีวูดก็มากัน เพราะมันไม่มีที่อื่น เราจึงมีโอกาสต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองมาโดยตลอด”

ในแง่ของผู้ประกอบการนี่คือความคึกคักของธุรกิจ แต่ในทางกลับกันการเกิดขึ้นของร้านอาหารและโรงแรมที่ทำให้มีคนเข้าออกพื้นที่ในชุมชนตลอดเวลา อาจทำลายความเงียบสงบและนำมาซึ่งแรงเสียดทานจากชุมชนเช่นกัน

“กระทบกระทั่งกันก็มีบ้างเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราค่อนข้างโชคดีที่ อ.สันต์ แกเป็นคนน่ารัก และทีมงานของเราก็น่ารัก เข้ากับชาวบ้านได้ดี ที่สำคัญเราต้องทำทุกอย่างที่ทำให้ชาวบ้านไม่เดือดร้อนเพราะเขาอยู่มาก่อน ต้องไม่ไปรบกวนเขา แรกๆ ทำโรงแรมแล้วแขกเสียงดังคุยไม่รู้เรื่อง เราก็ต้องเชิญแขกออก เพราะเพื่อนบ้านสำคัญ ต้องเข้ากับชุมชนให้ได้ ทั้งสถานที่ บรรยากาศ พนักงาน”

“ซึ่งชุมชนท่าเตียนเป็นชุมชนที่เข้มแข็งมาก เวลาชุมชนมีกิจกรรมอะไรเราก็เข้าร่วม ใครมีธุรกิจอะไรก็มาฝากกัน อย่างเขามีทัวร์ก็มาฝากกับเรา คนในชุมชนมาทำงานกับเราหลายคน เป็นเหมือนเพื่อนบ้านกันไปแล้ว”

ด้วยแนวคิดที่พยายามกลมกลืนไปกับชุมชน ทำให้การเข้ามาทำธุรกิจในฐานะคนนอกของหมอนุชและหุ้นส่วนเป็นไปอย่างราบรื่น อีกทั้งยังเป็นการสร้างความมีชีวิตชีวาและความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนอีกด้วย

จาก The Deck สู่ Sala Arun โมเดลเดิมแต่ต่างบรรยากาศ

หลังประสบความสำเร็จจากร้านแรก อรุณเรสซิเด้นท์ กรุ๊ป เดินหน้าขยายธุรกิจอีกครั้ง ด้วยโมเดลธุรกิจเดิม คือการสร้างโรงแรม ห้องพัก และบาร์ ไว้ในที่เดียวกัน

“พออยู่ไปสักพักมีคนอยากขายตึก ซึ่งเป็นตึกที่เราเล็งไว้นานแล้ว เป็นตึกเก่าเหมือนกันแต่คนละแบบกับเดอะ เด็ค เคยพยายามจะขอเช่ามานานแต่ก็ยังไม่ได้ หลังจากนั้นเกือบ 10 ปี เขาถึงจะยอมขาย ตึกนี้เราจึงสร้างเป็นที่พักชื่อศาลาอรุณเพราะอยู่ตรงข้ามกับวัดอรุณฯ มีร้านอาหารและบาร์บนดาดฟ้าเหมือนเดิม”

โดยศาลาอรุณ (Sala Arun) เป็นโรงแรมขนาด 9 ห้อง มีร้านอาหารชื่อ Eat Sight Story และมีบาร์ชื่อ Eagle Nest Rooftop Bar อยู่ด้านบน ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับเดอะ เด็ค บายเดอะริเวอร์ ที่ประสบความสำเร็จไปก่อนหน้านี้

แม้โมเดลจะเหมือนกัน อีกทั้งสถานที่ตั้งยังอยู่ในท่าเตียนเหมือนกัน แต่หมอนุชเสริมว่าบรรยากาศและกลุ่มลูกค้าแต่ละที่นั้นต่างกัน โดยก่อนโควิด-19 ระบาด ร้าน Eat Sight Story เน้นขายอาหารประเภทสเต๊กเป็นหลัก แต่ภายหลังได้มีการปรับให้ใกล้เคียงกับอาหารของเดอะ เด็ค บายเดอะริเวอร์ แต่จะต่างกันและแยกครัวกันชัดเจน ในขณะที่บาร์ด้านบน Eagle Nest Rooftop Bar จะเน้นกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น ส่วน Amorosa จะเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ขึ้นมาหน่อย

หลังจากนั้นดูเหมือนท่าเตียนจะกลายเป็นที่สนใจของผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่ต้องการเข้ามาปักหมุดในย่านนี้ มีที่พักและร้านอาหารใหม่ๆ ทยอยเปิดตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับอรุณเรสซิเด้นท์ กรุ๊ป เองก็ไม่หยุดอยู่แค่นั้น จาก 2 ร้านแรกที่อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตุลาคม พ.ศ. 2555 หมอนุชขยับธุรกิจร้านอาหารและที่พักในเครือให้เข้ามาใกล้ถนนมากขึ้น ด้วยการเปิดตัวร้านอาหารและที่พักในชื่อ “The Gate Chetuphon” (เดอะ เกท เชตุพน) บริเวณริมถนน ตรงข้ามกับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ขึ้นอีกหนึ่งแห่ง เพื่อจับกลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นหลัก

โดยเมนูอาหารของร้าน The Gate Chetuphon เน้นอาหารจานเดียวง่ายๆ แนวสตรีทฟู้ด และเป็นเมนูที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมรับประทาน รวมถึงไอศกรีมและชานมไข่มุก ซึ่งต้องบอกว่าได้รับความนิยมไม่แพ้ 2 ร้านแรกเลยทีเดียวโดยเฉพาะในหมู่นักท่องเที่ยว

“เดอะ เกท เชตุพน นี่ดังเพราะนักท่องเที่ยวชาวจีนและเกาหลี เขาเอาไปลงในโซเชียลมีเดียว่าอาหารจานใหญ่ ราคาถูก รสชาติดี หลังๆ เลยมีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการเยอะ”

Siam Origins อาหารไทยพื้นบ้านกับการกลับมาอีกครั้งของเชฟไก่-ธนัญญา

หลังจากปักหมุดร้านอาหารและที่พักบนทำเลทองย่านท่าเตียนไปแล้วถึง 3 แห่งด้วยกัน ล่าสุดปี 2566 ที่ผ่านมา หมอนุชและหุ้นส่วนเดินหน้าขยายธุรกิจอีกครั้ง ด้วยการเปิดตัวร้านอาหารอีก 2 แห่งในเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งครั้งนี้ไม่ได้อยู่แค่เพียงท่าเตียนเท่านั้น แต่ยังขยายอาณาเขตไปถึงย่านท่าช้างอีกด้วย

10 เมษายน 2566 ประเดิมด้วยการเปิดตัวร้านอาหารไทยพื้นบ้านสี่ภาคที่มาพร้อมกับเทรนด์รักสุขภาพในชื่อ “Siam Origins” (สยาม ออริจินส์) ขึ้นบริเวณมิวเซียมสยาม และตามมาติดๆ กับการเปิดร้าน The Gate Grand Palace ในวันที่ 17 มิถุนายน ปีเดียวกัน

“เมื่อ 2 ปีก่อน ร้านเดอะ เด็ค บายเดอะริเวอร์ เคยร่วมโปรเจกต์กับมิวเซียมสยามในช่วงที่เขามีงานย่านท่าเตียนเลยได้รู้จักกัน พอร้านเดิมที่เคยอยู่หมดสัญญาเขาเลยชวนให้เรามาทำ ซึ่งมิวเซียมสยามเขาอยากได้อะไรที่เป็นไทยๆ เราเองทำร้านอาหารมาหลายร้านก็เลยประจวบเหมาะ แต่ก็มีการเปิดประมูลตามปกติ ซึ่งเราก็ประมูลมาได้”

สำหรับคอนเซ็ปต์ของ Siam Origins เป็นร้านอาหารไทยพื้นบ้านสี่ภาคที่มาพร้อมเทรนด์รักสุขภาพ โดยมี ‘เชฟไก่-ธนัญญา ไข่แก้ว’ เป็นผู้สร้างสรรค์เมนู และที่สำคัญยังถือเป็นการโคจรกลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง หลังจากเป็นเชฟคนแรกให้กับร้านเดอะ เด็ค บายเดอะริเวอร์ เมื่อ 20 ปีก่อน

“ถ้าพูดถึงอาหารสุขภาพคนจะนึกถึงอาหารคีโต แพลนท์เบส วีแกน แต่ความจริงอาหารไทยพื้นบ้านนี่แหละถ้าทำถูกต้อง พื้นบ้านจริงๆ ใช้วัตถุดิบที่สะอาด สด เครื่องปรุงที่เหมาะสม มันคืออาหารเพื่อสุขภาพด้วยตัวมันเอง เวลารุ่นพ่อแม่เรากินแกงกะทิเขากินแชร์กัน กินหลากหลาย มีผักร่วมด้วย มันคือการผสมผสานภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่า”

เมนูอาหารของ Siam Origins จะเน้นเป็นอาหารไทยต้นตำรับที่ดีต่อสุขภาพ โดยยึดหลักสำคัญ 3 ข้อ คือ ต้องเป็นอาหารพื้นบ้าน ใช้วิธีการปรุงแบบต้นตำรับ และใช้วัตถุดิบที่เหมาะสม เพื่อตอกย้ำกระแส “Thai Taste Therapy” ที่ถือว่าอาหารไทยเป็นยาที่อร่อยที่สุดในโลก ครอบคลุมทั้งของคาว ของหวาน และเครื่องดื่ม เช่น apple cider splash, ชาหมักคอมบูชะ, ข้าวแรมฟืนเย็น ข้าวแรมฟืนร้อน ที่หารับประทานได้ยาก, ขนมหม้อแกงถั่วลูกไก่ เป็นต้น โดยลูกค้าของ Siam Origins เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวและกลุ่มคนรักสุขภาพเป็นหลัก

รวมทั้งมีการเลือกใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติและดีต่อสุขภาพ เช่น สมุนไพรและเครื่องเทศที่มีสรรพคุณช่วยดูแลสุขภาพ ใช้น้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลโตนด แทนการใช้น้ำตาลทรายขาว เครื่องปรุงที่ไม่มีกลูเตนผสม กะปิที่หมักจากเคย และใช้วิธีการดั้งเดิมอย่างการตำแทนการบด

อีกหนึ่งจุดเด่นของร้าน Siam Origins คืออาหารส่วนหนึ่งเป็นอาหารหมักดองที่มีจุลินทรีย์ตามธรรมชาติที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ข้าวแรมฟืนที่ใช้แป้งถั่วลันเตาเอาไปหมัก ไส้กรอกอีสานที่เป็นหมูหมัก ผักดองที่เป็นเครื่องเคียงในอาหารจานต่างๆ ซึ่งหมอนุชบอกว่าเป็นอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ที่ดีต่อร่างกาย

The Gate Grand Palace กับสุดยอดทำเลย่านท่าช้าง

17 มิถุนายน 2566 เพียง 2 เดือนนับจากวันที่เปิดตัวร้าน Siam Origins ไปหมาดๆ หมอนุชเดินหน้าเปิดตัวอีกหนึ่งร้านใหม่ในชื่อ “The Gate Grand Palace” ซึ่งคราวนี้ไม่ได้อยู่แค่ในย่านท่าเตียนอีกต่อไป แต่ยังขยายไปถึงท่าช้าง อีกหนึ่งทำเลทองในย่านเมืองเก่า

โดยก่อนหน้าที่จะมาเป็นร้าน The Gate Grand Palace นั้น เดิมทีทางทหารเรือเปิดเป็นพื้นที่ให้คนเช่า แต่พอช่วงโควิด-19 ระบาด ร้านดังกล่าวปิดตัวลง จึงมีการเปิดประมูลเพื่อหาคนมาเช่าสถานที่อีกครั้ง

“เรารู้ว่าเขาเปิดประมูลล่วงหน้าไม่กี่วัน แต่ด้วยทำเลมันดีมาก คืออยู่ตรงข้ามวัดพระแก้วกับพระบรมมหาราชวัง เลยตัดสินใจยื่นประมูลกับเขา แล้วก็ได้มาในที่สุด และใช้เวลาเพียง 3-4 เดือนก็เปิดร้านนี้เลย”

สำหรับ The Gate Grand Palace ตั้งอยู่ตรงหัวมุมถนนตรงท่าช้างติดกับอาคารของราชนาวีสโมสร  การตกแต่งยังคงคอนเซ็ปต์เดิมเหมือนกับทุกๆ ร้านที่เคยเปิดมาคือ ง่ายๆ สบายๆ ลูกค้าต้องไม่เกร็งเวลาเดินเข้าร้าน โดยเลือกใช้แดงชาดและสีเขียวในการตกแต่ง เพื่อให้ล้อไปกับสีที่ใช้ตกแต่งในวัดของไทย

 

ส่วนเมนูอาหารส่วนใหญ่เป็นอาหารฟิวชันที่เพิ่มกิมมิกให้แตกต่างจากร้านอื่นๆ ในเครือ เช่น ผัดไทยกรอบ ผัดซีอิ๊วกรอบ พิซซ่าหน้ากระเพรา พิซซ่าหน้าแกงมัสมั่น เป็นต้น

“ตอนแรกคิดว่าจะเอาเมนูของร้านเดอะ เด็ค มาบางส่วน เพราะร้านนี้เราเปิดเร็ว ประมูลมาได้ไม่นาน ปรับพื้นที่ ตกแต่ง แล้วเปิดเลย แต่กลุ่มลูกค้าไม่เหมือนกัน เชฟจึงคิดค้นเมนูขึ้นใหม่เฉพาะของที่นี่ อย่างผัดไทยต้องมีสไตล์ขึ้นมาหน่อย และเป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์ของร้านหากินที่อื่นไม่ได้”

โดยลูกค้าของ The Gate Grand Palace เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 80% เช่นเดียวกับร้าน The Gate Chetupon ส่วนลูกค้าของเดอะ เด็ค บายเดอะริเวอร์ และ Eat Sight Story เป็นคนไทยและต่างชาติในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

“จากร้านแรกมาร้านล่าสุดคือ The Gate Grand Palace ส่วนใหญ่ยังเป็นหุ้นส่วนชุดเดิม ถ้าในอนาคตจะขยายธุรกิจร้านอาหารอีกก็จะขยายในย่านนี้เพราะเราคุ้นเคย ไม่ต้องไปทำความรู้จักใหม่”

จากจุดเริ่มต้นของร้านเดอะ เด็ค บายเดอะริเวอร์ เมื่อ 20 ปีก่อน ปัจจุบันท่าเตียนรายล้อมไปด้วยร้านอาหารหลากหลายประเภท ทั้งร้านธรรมดาไปจนถึงร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารเวียดนามชื่อดังอย่าง Tonkin-Annam (ตงกิง-อันนัม), ร้านอาหารไทย “แสง ท่าเตียน”, Supanniga Eating Room, ศาลารัตนโกสินทร์, ร้านนุสรา รวมไปถึงที่พัก บาร์ คาเฟ่ และร้านขายของที่ระลึกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และอาจกล่าวได้ว่าการเกิดขึ้น “เดอะ เด็ค บายเดอะริเวอร์” เป็นการสร้างภาพจำใหม่ให้กับท่าเตียน จากย่านการค้าในอดีตสู่แหล่งแฮงก์เอาต์ในย่านเมืองเก่าอย่างในปัจจุบัน.