วันจันทร์, กันยายน 16, 2024
Home > Cover Story > เส้นทาง ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จาก “บุญเติม” ก้าวกระโดดสู่ “เต่าบิน”

เส้นทาง ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จาก “บุญเติม” ก้าวกระโดดสู่ “เต่าบิน”

จุดเริ่มต้นความฮือฮาของ “ตู้เต่าบิน” อาจต้องย้อนไปพูดถึงพงษ์ชัย อมตานนท์ ผู้ก่อตั้งบริษัท จีเนียส คอมมูนิเคชั่น ซีสเต็ม จำกัด เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน

พงษ์ชัย อมตานนท์ เรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์ สาขาไฟฟ้า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เขาเริ่มเปิดกิจการบริการแปลซอฟต์แวร์และจำหน่ายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กระทั่งปี 2532 ตัดสินใจเปิดบริษัท จีเนียส คอมมูนิเคชั่น ซีสเต็ม จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายตู้สาขาโทรศัพท์ (PABX) ภายใต้เครื่องหมายการค้า FORTH โดยแจ้งเกิดจากการพัฒนาระบบตอบรับอัตโนมัติที่เป็นเสียงพูดภาษาไทยและสามารถพิมพ์ใบเสร็จแจ้งการใช้งานโทรศัพท์ของผู้พักอาศัย เจาะตลาดกลุ่มอพาร์ตเมนต์จนวงการรู้จักแบรนด์ FORTH และจีเนียส คอมมูนิเคชั่น ซีสเต็ม

ปี 2548 บริษัทแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในชื่อบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีพงษ์ชัยเป็นประธานกรรมการบริหาร

ไม่กี่ปีถัดมา ในห้วงจังหวะการเติบโตของการใช้งานอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ พงษ์ชัยเริ่มคิดหาช่องทางการต่อยอดหารายได้จากอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ บวกกับพฤติกรรมของผู้คนที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วในการเติมเงินค่าใช้บริการต่าง ๆ เพราะเวลานั้นมือถือส่วนใหญ่ต่างใช้ระบบเติมเงินเป็นหลัก กลายเป็นที่มาของตู้บริการเติมเงินสารพัดนึก

ปี 2551 บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แตก บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจผู้ให้บริการเติมเงินมือถือและประเภทเติมเงินล่วงหน้า (Pre-paid) และรับชำระเงินออนไลน์อื่นๆ ที่หลากหลายผ่านเครื่องรับชำระเงินอัจฉริยะ (Intelligent Kiosk) ภายใต้เครื่องหมายการค้า “บุญเติม”

ช่วงแรก บริษัทเคยวางแนวทางขายแฟรนไชส์ตู้บุญเติมแบบขายขาด แต่ข้อจำกัดด้านเงินทุนของเครือข่ายตัวแทน ทำให้อัตราการขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมาย จึงปรับเปลี่ยนเป็นระบบให้บริการผ่านตัวแทนและพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น ร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น เทสโก้โลตัส แฟมิลี่มาร์ท ท็อปส์ รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีบริการน้ำมัน สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งเครือข่ายตัวแทนไม่ต้องซื้อตู้บุญเติม แต่มีหน้าที่เพียงหาสถานที่ติดตั้งตู้และดูแลการเก็บเงิน

ปรากฏว่า จำนวนตู้บุญเติมติดตั้งใหม่พุ่งพรวดพราดเฉลี่ยเกือบ 3,000 ตู้/เดือน เพราะเปิดให้กลุ่มร้านโชห่วยร่วมเป็นเครือข่ายด้วย ชนิดที่ว่า ตู้บุญเติมผุดราวดอกเห็ดรุกเข้าซอยต่างๆ ในหมู่บ้านขนาดใหญ่ จำนวนตู้กระจายอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 1 แสนตู้

ขณะเดียวกัน จากบริการเติมเงินโทรศัพท์ ขยายเพิ่มมากกว่า 80 บริการ เช่น จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ เติมเกมออนไลน์ ฝากเงิน บริการแพ็กเกจอินเทอร์เน็ต บริการจ่ายเงินทรูมันนี่ แอร์เพย์ ขสมก. บริการซื้อไลน์สติกเกอร์ บริการประกัน บริการดูดวง มีให้เลือก  4 ภาษา ทั้งไทย อังกฤษ กัมพูชา และเมียนมา

นอกจากนั้น แตกประเภทตู้บุญเติม ทั้งตู้เติมเงินออนไลน์ บุญเติม Counter Service ตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติและเติมเงิน (Vending Machine & Top-Up) ตู้กดน้ำดื่มสะอาดและเติมเงิน (Water Vending & Top-Up Machine) และตู้จำหน่ายเครื่องดื่มและขนม

ปี 2557 ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น แปรสภาพบริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด เป็นบริษัทมหาชนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI

ปี 2558 ก่อตั้ง บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด ดำเนินธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าและเครื่องดื่มอัตโนมัติ (Vending Machine)

ณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART กล่าวว่า เฉลี่ยแล้วมีผู้ใช้บริการตู้บุญเติม 21 ล้านเลขหมาย ปริมาณการใช้ 1.5 ล้านธุรกรรมต่อวัน เฉลี่ยการเติมเงิน 40-50 บาท ต่อครั้งต่อคน โดยจ่ายค่าธรรมเนียมครั้งละ 2 บาท โดยผู้สนใจติดตั้งตู้จะจ่ายค่าแรกเข้าครั้งเดียวเพียง 5,000 บาท และแบ่งรายได้ 3 ส่วน คือ FSMART ผู้ให้บริการ (Agent) หรือตัวแทน โดยไม่ขายขาด หากตู้เสียมีตัวแทนทั่วประเทศซ่อมให้ฟรี และอัปเดตฟรี เมื่อมีบริการใหม่

ปี 2562 แยกโรงงานผลิตเป็น บริษัท ฟอร์ท อีเอ็มเอส จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจบริการรับจ้างประกอบและรับเหมาผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร

ปี 2564 เปิดตัว “ตู้เต่าบิน” (TAO BIN) นิยามตัวเองเป็น Robotic Barista พัฒนาโดยบริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด มีการจดสิทธิบัตรไว้แล้วถึง 35 สิทธิบัตร

ปี 2566 FSMART เปิดตัวต้นแบบเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า GINKA Charge Point ใช้บริการผ่านหน้าจอ Touch Screen เหมือนตู้บุญเติมและเต่าบิน ตั้งเป้าหมายติดตั้งปีแรก 5,000 จุด ก่อนขยายเพิ่มตามอัตราเร่งของจำนวนรถยนต์ในอนาคต

จากตู้สาขาโทรศัพท์ จนถึงล่าสุด กลุ่มฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น มีธุรกิจหลัก 3 กลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจอีเอ็มเอส EMS Business ออกแบบและพัฒนา ผลิตสินค้านวัตกรรม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในแบรนด์ของลูกค้าและบริษัทในเครือ

กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรซ์ โซลูชัน บริการโซลูชันด้านโทรคมนาคมและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โครงการของภาครัฐและเอกชน เช่น กำไลอีเอ็ม อุปกรณ์จีพีเอส ตู้สาขาโทรศัพท์ ระบบไฟสัญญาณจราจรอัจฉริยะ

กลุ่มธุรกิจสมาร์ทเซอร์วิส บริการธุรกรรมทางการเงินครบวงจร  ตู้จำหน่ายสินค้าและเครื่องดื่มอัตโนมัติ เช่น คาเฟ่อัตโนมัติเต่าบิน บุญเติมเวนดิ้ง สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ตู้เติมเงินบุญเติม บุญเติมเคาน์เตอร์เซอร์วิส ตู้น้ำมันบุญเติม ตู้กดน้ำดื่มบุญเติม.