วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > New&Trend > ดร.วี โชว เยา ประธานกิตติคุณและที่ปรึกษา กลุ่มธนาคารยูโอบี ถึงแก่กรรม

ดร.วี โชว เยา ประธานกิตติคุณและที่ปรึกษา กลุ่มธนาคารยูโอบี ถึงแก่กรรม

กลุ่มธนาคารยูโอบีออกมาประกาศข่าวการถึงแก่กรรมของ ดร.วี โชว เยา ประธานกิตติคุณและที่ปรึกษา (Chairman Emeritus and Honorary Adviser) กลุ่มธนาคารยูโอบี ในวัย 95 ปี

ในฐานะนักการธนาคารผู้มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล นักธุรกิจผู้มีชื่อเสียงอันเป็นทีเคารพรักและผู้เป็นเสาหลักของชุมชน ดร.วี มีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินกิจการของกลุ่มธนาคารยูโอบีให้ก้าวสู่การเป็นธนาคารชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย ตลอดระยเวลากว่า 5 ทศวรรษ ดร.วี มีวิสัยทัศน์อันแน่วแน่ที่ตั้งอยู่บนความรอบคอบ มีวินัย และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาธนาคารให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทำให้กลุ่มธนาคารยูโอบีเติบโตจากธนาคารที่มีเพียงแค่ 1 สาขาเป็นธนาคารระดับภูมิภาคมีสาขาอยู่ใน 19 ประเทศและเขตการปกครองและมีสินทรัพย์เติบโตเพิ่มขึ้นจาก 2.8 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ เป็น 253 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ ภายในปี 2556 (ปีที่ท่านเกษียณอายุ) โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 กลุ่มธนาคาร ยูโอบีมีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นเป็น 516 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ และได้รับการจัดลำดับให้เป็นธนาคารที่มีความแข็งแกร่งในระดับสากลจากบริษัทจัดลำดับความน่าเชื่อถือระดับโลก ได้แก่ Aa1 โดย มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส และ AA- โดย ฟิทช์ เรทติงส์ และเอสแอนด์พี โกลบอล เรทติงส์

ดร.วี เป็นที่รู้จักและยอมรับทั่วโลกในฐานะนักธุรกิจผู้มีวิสัยทัศน์โดดเด่นและกว้างไกล บทบาทอันโดดเด่นนี้เห็นได้จากการเข้าซิ้อกิจการธนาคาร 3 แห่งในประเทศสิงคโปร์ ประกอบด้วย ธนาคาร Chung Khiaw Bank ธนาคาร Lee Wah Bank และ ธนาคาร Industrial and Commercial Bank จนนำไปสู่การเข้าซื้อกิจการธนาคาร Overseas Union Bank ในปี 2544 ที่ทำให้ ดร.วี ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในนักธุรกิจชั้นแนวหน้าของประเทศสิงคโปร์

นาย วอง กัง เซียง ประธานกรรมการ กลุ่มธนาคารยูโอบี กล่าวว่า “นาย วี โชว เยา เป็นหนึ่งในนักธุรกิจสิงคโปร์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดอย่างไม่ต้องเป็นที่สงสัย ความมุมานะของท่านในการทำงาน กอปรกับความแน่วแน่ที่มั่นคงและการยึดมั่นในค่านิยมของความเป็นเอเชีย ทำให้ท่านสร้างยูโอบีให้กลายมาเป็นหนึ่งในธนาคารที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดในโลก อิทธิพลอันโดดเด่นของท่านได้ถูกจารึกไว้ ณ ทุกหนแห่งทั่วประเทศสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม ธุรกิจ บุคคล และชุมชนผ่านการสนับสนุนจากกลุ่มธนาคารยูโอบีและท่านยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ประเทศสิงคโปร์ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลกอีกด้วย”

นาย วี อี เชียง รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธนาคารยูโอบี และบุตรชายของ ดร.วี กล่าวว่า “บิดาของผมได้สร้างคุณูปการอันใหญ่หลวงให้แก่ประเทศสิงคโปร์และภูมิภาคแห่งนี้ ท่านเปรียบเสมือนแรงบันดาลใจในทุกย่างก้าวชีวิตของผม ท่านเป็นที่รู้จักในฐานะนักธุรกิจที่มีความโดดเด่นและประสบความสำเร็จอย่างมากมาย แต่สิ่งที่ท่านจะเป็นที่ระลึกถึงอยู่ตลอดเวลาคือค่านิยมของยูโอบีในด้านคุณธรรม ความสร้างสรรค์ เป็นหนึ่งเดียว และมุ่งมั่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการส่งเสริมความยั่งยืนในระยะยาว การสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น และการทำในสิ่งที่ถูกต้องและช่วยเหลือผู้อื่น กลุ่มธนาคารยูโอบียึดมั่นที่จะรักษามรดกและคุณค่าที่ท่านได้ถ่ายทอดให้คงอยู่สืบไป”

ดร.วี ยังเชื่อในความสำคัญของการศึกษาและการตอบแทนสังคมอีกด้วย เขาเป็นผู้ก่อตั้ง Singapore Federation of Chinese Clan Associations (SFCCA) ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปี 2553 และดำรงตำแหน่งผู้นำของ Hokkian Huay Kuan ตั้งแต่ปี 2515 ถึงปี 2553 เขาก่อตั้ง Wee Cho Yaw Banking Forum เพื่อเชื่อมโยงระหว่างสิงคโปร์และจีน ในปี 2558 ธนาคารยูโอบียังได้จัดตั้งกองทุนการศึกษา Wee Cho Yaw Future Leaders Award มูลค่า 50 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพื่อช่วยให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เด็กนักเรียนด้อยโอกาส

ดร.วี ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติมากมาย สะท้อนถึงผลงานและคุณูปการอันเป็นที่ประจักษ์ อาทิ รางวัล Distinguished Service Order (รางวัลวันชาติสูงสุดของสิงคโปร์) รางวัล Asian Business Advisory Council Legacy Award สำหรับสิงคโปร์ และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง

ธนาคารยูโอบี ภายใต้การดูแลของ วี โชว เยา
พ.ศ. 2492 – เข้าร่วมกับ Kheng Leong ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวที่ซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์
พ.ศ. 2501 – ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการธนาคารยูโอบี
พ.ศ. 2503 – ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการ (ดาโต๊ะ วี เค็ง เชียง ลาออกจากตำแหน่ง)
พ.ศ. 2508 – เปิดสาขาในต่างประเทศแห่งแรกในฮ่องกง
พ.ศ. 2514 – เข้าถือหุ้นใหญ่ในธนาคาร Chung Khiaw / เปิดสาขาโตเกียว
พ.ศ. 2516 – เข้าซื้อกิจการ Lee Wah Bank
พ.ศ. 2517 – ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการและซีอีโอของ UOB
พ.ศ. 2518 – เปิดสาขาลอนดอน
พ.ศ. 2520 – เปิดบริษัทตัวแทนในนิวยอร์ก
พ.ศ. 2523 – เปิดบริษัทตัวแทนในลอสแอนเจลิส
พ.ศ. 2526 – เปิดสำนักงานตัวแทนในกรุงโซล
พ.ศ. 2527 – เปิดสำนักงานตัวแทนในกรุงปักกิ่ง
พ.ศ. 2528 – ขยายธุรกิจในซิดนีย์และเซียะเหมิน
พ.ศ. 2529 – ขยายธุรกิจสู่แวนคูเวอร์
พ.ศ. 2530 – เข้าถือหุ้นส่วนใหญ่ใน Industrial & Commercial Bank ในสิงคโปร์
พ.ศ. 2535 – เปิดสำนักงานตัวแทนในเวียดนาม / เปิดสำนักงานตัวแทนในไทเป
พ.ศ. 2537 – เปิดสำนักงานตัวแทนในย่างกุ้ง
พ.ศ. 2540 – รวมบริษัทในเครือของ UOB Malaysia เข้ากับบริษัทในเครือของ CKB Malaysia
พ.ศ. 2541 – เปิดสาขาเซี่ยงไฮ้
พ.ศ. 2542 – เข้าซื้อกิจการ Westmont Bank ในฟิลิปปินส์ / เข้าซื้อกิจการธนาคารรัตนสิน ในประเทศไทย
พ.ศ. 2544 – เข้าซื้อกิจการ Overseas Union Bank ในสิงคโปร์
พ.ศ. 2547 – เข้าถือหุ้น 96.1% ในบริษัท ธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) ในประเทศไทย
พ.ศ. 2548 – เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของ PT Bank Buana ในอินโดนีเซียเป็น 61.1%
พ.ศ. 2550 – ก้าวลงจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (นาย วี อี เชียง ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร)
พ.ศ. 2552 – เปิดสาขามุมไบ
พ.ศ. 2553 – รวม PT Bank UOB Indonesia กับ PT Bank UOB Buana
พ.ศ. 2556 – ก้าวลงจากตำแหน่งประธานกรรมการ รับตำแหน่งประธานกิตติคุณและที่ปรึกษา
พ.ศ. 2558 – เข้าซื้อกิจการ Far Eastern Bank อย่างเต็มรูปแบบ
พ.ศ. 2561 – เกษียณจากการดำรงตำแหน่งกรรมการ ธนาคารยูโอบี