วันเสาร์, กันยายน 14, 2024
Home > New&Trend > หัวเว่ย สกมช. และ กพร. เสริมศักยภาพความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แก่คลาวด์ประเทศไทย

หัวเว่ย สกมช. และ กพร. เสริมศักยภาพความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แก่คลาวด์ประเทศไทย

หัวเว่ย สกมช. และ กพร. เสริมศักยภาพความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แก่คลาวด์ประเทศไทย ร่วมจับมือเปิดโครงการฝึกอบรมบุคลากรดิจิทัลด้านคลาวด์ ตามกลยุทธ์ Cloud Security First

บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด ผสานความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล (กพร.) เปิดตัวโครงการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 2024 โดยมีเป้าหมายเพื่อบ่มเพาะบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยสำหรับเทคโนโลยีคลาวด์ให้แก่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศไทย ตอบรับความต้องการบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมคลาวด์ของประเทศ เพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยให้แก่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคลาวด์ในไทย และยกระดับการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ตามจุดยืนของหัวเว่ยเรื่อง “เติบโตในประเทศไทย เพื่อประเทศไทย” และกลยุทธ์ Cloud Security First ของ สกมช.

นายเอดิสัน สวี ​คณะกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “หัวเว่ยเล็งเห็นถึงความสำคัญในด้านความปลอดภัยของเทคโนโลยีคลาวด์ของประเทศไทย และความต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในสายงานนี้ จึงตั้งเป้าจะตอบโจทย์เรื่องนี้ด้วยการบ่มเพาะบุคลากรให้ถึง 10,000 รายภายในปี 2024 เพื่อช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับความปลอดภัยของคลาวด์ในไทยและช่วยปกป้องระบบสารสนเทศทางไซเบอร์ของประเทศ โดยโครงการความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นจำนวนมาก รวมถึงจะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับภาคสาธารณะ เพิ่มแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของเทคโนโลยีคลาวด์ และเพิ่มการตระหนักรู้ถึงเรื่องการป้องกันข้อมูลที่มีความอ่อนไหวและข้อมูลส่วนตัว อันจะมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศขึ้นไปอีกระดับได้”

เขายังกล่าวเสริมว่าการเปิดตัวโครงการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 2024 ในครั้งนี้ ยังช่วยตอกย้ำถึงความสำคัญของความปลอดภัยทางไซเบอร์และการป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล ผ่านการเสริมทักษะและความรู้ความเข้าใจด้านความปลอดภัยของเทคโนโลยีคลาวด์ให้แก่บุคลากรจากวิทยากรของมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย ที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นพิเศษจากความร่วมมือระหว่างหัวเว่ย คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อการบ่มเพาะทักษะเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แก่บุคลากรไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้กล่าวถึงความร่วมมือเพื่อฝึกอบรมบุคลากรดิจิทัลด้านความปลอดภัยเทคโนโลยีคลาวด์ในครั้งนี้ว่า “วัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือการผลิต พัฒนาบุคลากร และเพิ่มองค์ความรู้ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์บนเทคโนโลยีคลาวด์ในประเทศไทย ตามนโยบายเรื่อง Cloud Security First ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ สกมช. ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ จนทำให้เกิดเป็นความร่วมมือกับพันธมิตรจากทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างหัวเว่ยและกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในวันนี้ ซึ่งจะร่วมกันพัฒนาทักษะ จัดเตรียมช่องทางในการฝึกอบรมบุคลากร รวมถึงให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อปกป้องข้อมูลบนคลาวด์ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นทั้งการแก้ไขช่องว่างเรื่องการขาดบุคลากรด้านดิจิทัล และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ของไทยไปอย่างควบคู่กัน”

ด้าน นายพิเชษฐ์ ทองพันธ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการความร่วมมือครั้งนี้ว่า “แม้ว่าการประมวลผลแบบคลาวด์จะได้รับความนิยมมากขึ้นในไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่บุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เพื่อแก้ไขช่องว่างนี้ หน่วยงานภาครัฐจึงร่วมมือกับองค์กรในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการบ่มเพาะบุคลากรดิจิทัล รองรับด้านความปลอดภัยบนเทคโนโลยีคลาวด์ ทั้งนี้ การพัฒนาศักยภาพแรงงานในไทยให้มีศักยภาพสูง และตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานสมัยใหม่ ตรงกับภารกิจของ กพร. ในการตอบสนองยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ซึ่งเราต้องขอขอบคุณพันธมิตรภาคเอกชนระดับโลกอย่างหัวเว่ยที่ช่วยสนับสนุนทั้งเรื่องเทคโนโลยี บุคลากร และสถานที่สำหรับการจัดโครงการฝึกอบรมในครั้งนี้ รวมถึงการนำองค์ความรู้ชั้นนำต่าง ๆ มาช่วยพัฒนาแรงงานไทยให้มีความรู้ และความสามารถมากยิ่งขึ้น ตอบรับกับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยที่กำลังมีความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ให้ความสำคัญกับโครงการบ่มเพาะบุคลากรดิจิทัลในประเทศไทยเป็นจำนวนหลากหลายโครงการ ผ่านการผสานความร่วมมือทั้งกับพันธมิตรในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยมีโครงการเรือธงหลายโครงการ อาทิ โครงการ Huawei ASEAN Academy ซึ่งเป็นสถาบันฝึกอบรมหลักเพื่อบ่มเพาะและเพิ่มศักยภาพบุคลากรด้านดิจิทัลของประเทศไทย โครงการ Seeds for the Future ในประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการบ่มเพาะเยาวชนที่มีความสนใจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านไอซีที เปิดโอกาสให้พวกเขาเข้าถึงโครงการฝึกอบรมและองค์ความรู้ระดับคุณภาพ การเปิดตัวโครงการการแข่งขัน Cyber Top Talent Competition ร่วมกับทาง สกมช. เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ การลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ สกมช. ในการจัดหลักสูตรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แก่บุคลากรและผู้บริหารด้านไอซีที เป็นต้น นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยยังได้เดินหน้าต่อยอดโครงการรถดิจิทัลเพื่อสังคม เพื่อเร่งพัฒนาศักยภาพบุคลากรไอซีทีในพื้นที่ห่างไกลของประเทศไทยในจังหวัดต่าง ๆ กว่า 13 จังหวัด ด้วยองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีรวมถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งโครงการเหล่านี้ถือเป็นการตอบโจทย์พันธกิจสำคัญของหัวเว่ยในการ “เติบโตในประเทศไทย เพื่อประเทศไทย” และ “นำทุกฝ่ายก้าวไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง”