วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > On Globalization > อนุราธปุระ: ปฐมอาณาจักรแห่งลังกาทวีป

อนุราธปุระ: ปฐมอาณาจักรแห่งลังกาทวีป

 
Column: AYUBOWAN
 
 
หลังจากที่ได้กล่าวถึง Mahavamsa หรือมหาวงศ์ ให้ท่านผู้อ่านได้ร่วมเดินทางย้อนประวัติศาสตร์ลังกาทวีปไปก่อนหน้านี้ หากจะไม่กล่าวถึงความเป็นไปแห่งอาณาจักรอนุราธปุระ ซึ่งถือเป็นอาณาจักรแรกๆ บนแผ่นดินลังกานี้เสียเลยก็ดูกระไรอยู่นะคะ
 
อนุราธปุระได้ชื่อว่าเป็นอาณาจักรเริ่มแรกของศรีลังกา ที่สถาปนาขึ้นโดยพระเจ้าปานฑุกาภัย (Pandukabhaya) ในช่วง 377 ปีก่อนคริสตกาล ท่ามกลางเขตอาณาของเจ้าครองแคว้นน้อยใหญ่ที่ต่างพยายามขยายบทบาทอิทธิพลเหนือดินแดน แต่อาณาจักรแห่งอนุราธปุระก็ถือเป็นอาณาจักรที่ทรงพลานุภาพและได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ปกครองสูงสุดของลังกาทวีปในช่วงนั้น
 
ความรุ่งเรืองของอนุราธปุระดำเนินไปท่ามกลางความจำเริญของพุทธศาสนาอย่างยากจะแยกออกทั้งในมิติของวัฒนธรรม รูปแบบการปกครอง รวมถึงระบบกฎหมาย ซึ่งกรอบโครงความเชื่อและศรัทธาในพุทธศาสนาเช่นว่านี้ มีผลต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบและปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วมาประดิษฐานที่ลังกา ที่เป็นประหนึ่งสัญลักษณ์ในอำนาจบารมีของกษัตริย์แห่งอนุราธปุระไปโดยปริยาย
 
แต่การดำรงอยู่ของอนุราธปุระไม่ได้ดำเนินอยู่ท่ามกลางสุญญากาศแห่งอำนาจ หากอนุราธปุระต้องเผชิญกับการรุกรานจากอาณาจักรข้างเคียง โดยเฉพาะจากอาณาจักรในอินเดียใต้ ที่พยายามรุกคืบเข้ามามีอิทธิพลเหนือดินแดนแห่งนี้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งกษัตริย์ของอนุราธปุระสามารถรบพุ่งมีชัยชนะเหนือกองกำลังจากอาณาจักรอินเดียใต้และฟื้นฟูอำนาจเหนือดินแดนได้หลายครั้ง
 
แม้จะต้องดำเนินผ่านห้วงเวลายากลำบากแห่งสงครามกับผู้รุกราน แต่อาณาจักรอนุราธปุระก็สามารถจำเริญและดำรงอยู่ยาวนานนับเนื่องได้กว่า 1,500 ปี (377 ปีก่อนคริสตกาลถึงคริสต์ศักราชที่ 1017) ซึ่งห้วงเวลาที่ยาวนานดังกล่าวนี้เปิดโอกาสให้อาณาจักรอนุราธปุระผลิตสร้างและส่งผ่านมรดกหลากหลายประการให้กับสังคมในยุคหลัง
 
ความเป็นไปของอนุราธปุระซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางสังคมเกษตรกรรม ทำให้การก่อสร้างระบบชลประทาน กลายเป็นสิ่งสื่อแสดงให้เห็นความสำเร็จและก้าวหน้าของอาณาจักรโบราณแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี โดยอ่างเก็บน้ำและระบบคลองส่งน้ำที่ช่วยให้พื้นที่แห้งแล้งสามารถทำการเพาะปลูกได้ ส่งผลให้สังคมภายในอนุราธปุระเป็นไปในลักษณะที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงพอควร
 
เพราะนอกจากจะเพาะปลูกข้าวได้ถึงสองครั้งต่อปีแล้ว ยังเพาะปลูกอ้อย งา และข้าวฟ่าง โดยเฉพาะในเขตแห้งแล้ง ไว้สำหรับเป็นแหล่งอาหาร ขณะเดียวกันก็สามารถเพาะปลูกฝ้ายเพื่อรองรับความต้องการเรื่องเครื่องนุ่งห่ม โดยผลผลิตส่วนเกินสามารถส่งออกเป็นสินค้าควบคู่กับอัญมณี ไข่มุก เครื่องเทศ แลกเปลี่ยนกับการนำเข้าเครื่องถ้วยเซรามิก เครื่องหอม ไวน์ และผ้าไหม ที่มาจากทั้งตะวันออกกลางและตะวันออกไกล
 
ปัจจัยด้านทำเลที่ตั้งทำให้อาณาจักรอนุราธปุระสามารถสถาปนาความสำคัญในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการค้าขายระหว่างประเทศเชื่อมโยงโลกตะวันออกและตะวันตกได้อย่างไม่ลำบากนัก และส่งผลให้เกิดการผลิตเงินตราไว้ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนการค้านี้ด้วย
 
แหล่งอารยธรรมแห่งนี้จึงไม่ได้มีความสำคัญเป็นมรดกโลกหนึ่งในแปดแห่งของศรีลังกา จากผลของความสำคัญทางศาสนาและสถาปัตยกรรมที่รุ่งเรืองแต่เพียงลำพังเท่านั้น หากยังได้รับการบันทึกความสำคัญในฐานะที่เป็นตัวอย่างของวิวัฒนาการ แหล่งอารยธรรมของมนุษยชาติที่มีความสำคัญไม่ด้อยกว่าแหล่งอารยธรรมอื่นของโลก
 
เทคนิควิธีและความก้าวหน้าในเชิงวิศวกรรมชลยังปรากฏให้เห็นในกรณีของการก่อสร้างสถูปขนาดใหญ่เพื่อสื่อแสดงถึงพลังความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ดำเนินควบคู่กับงานสถาปัตยกรรมและประติมากรรมที่รุ่งโรจน์ และยังคงทิ้งค้างไว้ให้ชนรุ่นหลังได้พิจารณา ไม่ว่าจะเป็นองค์สถูปใหญ่ “รุวะเวลิสะยะ มหาสถูป” (Ruwanwelisaya) ซึ่งถือเป็นสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ที่กลายเป็นต้นแบบให้กับการก่อสร้างสถูปในยุคต่อมา และได้ชื่อว่าเป็นพระสถูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกด้วย
 
หรือการสถาปนาโลหะปราสาท Lovamahapaya ซึ่งนับเป็นโลหะปราสาทแห่งที่ 2 ของโลก มีขนาดใหญ่มหึมา นอกจากจะสะท้อนให้เห็นความก้าวหน้าในศิลปหัตถกรรมและฝีมือช่างในงานโลหะ โดยเฉพาะทองแดงแล้ว ยังบ่งชี้ให้เห็นความสามารถในการพัฒนาอาวุธเพื่อต่อสู้กับข้าศึกสงคราม และยังพัฒนาเป็นอุปกรณ์สำหรับเพาะปลูกและยังชีพที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
 
ขณะที่พระพุทธรูปปางประทับยืน Avukana ที่คาดว่าจัดสร้างขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 ในรัชสมัยของพระเจ้า Dhatusena โดยการแกะสลักจากหินแกรนิตและมีความสูงรวมกว่า 12 เมตร เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งในความรุ่งเรืองไพศาลของอาณาจักรอนุราธปุระ โดยเฉพาะในมิติของความสามารถในฝีมือช่างและความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ซึ่งถือเป็นจุดหมายยอดนิยมอีกแห่งหนึ่งในอนุราธปุระปัจจุบัน
 
แม้อาณาจักรอนุราธปุระจะสามารถจำเริญและยืนยาวมาได้นับพันปี แต่ก็ไม่สามารถหลีกหนีจากข้อเท็จจริงว่าด้วยอนิจลักษณะของสรรพสิ่ง ซึ่งการล่มสลายของอนุราธปุระ นอกจากจะเป็นผลมาจากการรุกรานจากภายนอกโดยอาณาจักร Chola จากดินแดนตอนใต้ของอินเดียแล้ว ความอ่อนแอของกษัตริย์มหินธะที่ห้า ซึ่งปกครองอนุราธปุระก็ได้รับการประเมินว่าเป็นอีกปัจจัยแห่งความเสื่อมสลายนี้
 
การรุกเข้ามาของอาณาจักร Chola ถือเป็นสิ้นสุดอาณาจักรอนุราธปุระไปโดยปริยาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อศูนย์กลางแห่งอำนาจย้ายไปอยู่ที่ Polonnaruwa และเป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักรใหม่ แม้เมื่อกษัตริย์สิงหลจะสามารถต่อสู้และกลับมามีอำนาจเหนือดินแดน แต่ก็ไม่มีใครประสงค์จะกลับมารื้อสร้างอนุราธปุระให้จำเริญขึ้นใหม่อีกแล้ว
 
อาณาจักรแรกของศรีลังกาอาจสิ้นสุดความสำคัญลงไปนานแล้ว แต่ร่องรอยแห่งความจำเริญของอนุราธปุระเมื่อครั้งเก่าก่อนยังคงหลงเหลือให้ศึกษาและเป็นอนุสติให้ชนรุ่นหลังอยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะประเมินสิ่งต่างๆ เหล่านี้ด้วยสายตาอย่างไรเท่านั้นนะคะ