วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > On Globalization > การกีดกันทางเพศในศตวรรษที่ 21

การกีดกันทางเพศในศตวรรษที่ 21

 
Column: Women in Wonderland
 
ทุกวันนี้ไม่ว่าจะไปเที่ยวที่ไหนในเมืองไทยหรือต่างประเทศ พวกเราไม่ว่าจะผู้หญิงหรือผู้ชายก็จะได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน ได้รับบริการจากร้านอาหาร ร้านขายของ และที่พักอย่างเท่าเทียมกัน แต่เมื่อไม่นานนี้เองผู้หญิงในประเทศซาอุดีอาระเบียกลับถูกปฏิเสธที่จะให้เข้าร้านกาแฟ เพียงเพราะเป็นผู้หญิงเท่านั้น เรื่องนี้ฟังแล้วอาจจะดูไม่น่าเป็นไปได้ที่ตอนนี้เราอยู่ในศตวรรษที่ 21 แต่ผู้หญิงกลับถูกเลือกปฏิบัติในสังคมเหมือนในอดีต
 
เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โลกโซเชียลมีการแชร์รูปภาพและข้อความในทวิตเตอร์เป็นจำนวนมากว่าร้านกาแฟชื่อดังอย่าง Starbucks ปฏิเสธที่จะให้ผู้หญิงเดินเข้าไปในร้านกาแฟเพื่อซื้อกาแฟ แต่ให้พวกเธอส่งคนขับรถที่เป็นผู้ชายเข้าไปซื้อกาแฟแทน โดย Starbucks ได้ติดประกาศข้อความนี้ไว้ที่ประตูหน้าร้าน ทำให้ผู้คนจำนวนมากในกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบียถ่ายรูปข้อความที่อยู่บนประตูของร้าน Starbucks ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาอารบิกมาเผยแพร่ในโลกโซเชียล 
 
เช่น มีผู้ใช้ทวิตเตอร์ได้ทวีตข้อความเหล่านี้ทันทีที่พวกเขาเห็นป้ายประกาศ ผู้หญิงซาอุดีอาระเบียคนหนึ่งได้เขียนข้อความว่า “Starbucks store in Riyadh refused 2 serve me just because I’m a WOMAN & asked me 2 send a man instead” (ร้าน Starbucks ในกรุงริยาดปฏิเสธที่จะขายกาแฟให้ฉัน เพียงเพราะฉันเป็นผู้หญิง และขอให้ส่งคนขับรถเข้าไปซื้อกาแฟแทน 
 
หรืออย่างชายชาวอาหรับอีกคนหนึ่งก็เขียนข้อความว่า “Unreal. Starbucks in Saudi Arabia refused to serve women. Note on their door, plus official response from company” (ไม่น่าเชื่อ ร้าน Starbucks ในซาอุดีอาระเบียปฏิเสธที่จะขายกาแฟให้กับผู้หญิง มีการประกาศไว้ที่ประตูหน้าร้านและบริษัทก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้)
 
จากการแชร์รูปภาพและข้อความเหล่านี้ในโลกโซเชียล ทำให้ผู้คนในหลายประเทศเริ่มออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะตอนนี้เราอยู่กันในศตวรรษที่ 21 ที่ผู้หญิงและผู้ชายควรจะได้รับการปฏิบัติในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน
 
สำหรับเรื่องนี้ Starbucks ชี้แจงกับสำนักข่าว CNN ว่า Starbucks ต้องทำตามกฎหมายของประเทศซาอุดีอาระเบียที่ให้แยกทางเข้าออกร้านระหว่างผู้ชายและผู้หญิงกับเด็กๆ ออกจากกัน แต่ Starbucks ได้ให้บริการในส่วนอื่นๆ อย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นรายการอาหาร เครื่องดื่ม สิ่งอำนวยความสะดวก และที่นั่งภายในร้าน เป็นต้น
 
หนึ่งสัปดาห์ต่อมา Starbucks ได้ออกประกาศผ่านหน้าเว็บไซต์ว่า Starbucks มีนโยบายที่จะให้บริการลูกค้าทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย และเด็ก เพื่อให้ทุกคนได้รับความประทับใจในการมาใช้บริการของร้าน แต่เนื่องจากว่า Starbucks สาขาที่ถูกพูดถึงนี้ต้องทำตามกฎหมายของประเทศซาอุดีอาระเบียถึง 2 ข้อด้วยกัน 
 
1) ร้าน Starbucks สาขานี้เป็นสาขาเก่าแก่ที่เปิดมานานแล้ว ตอนที่ทำเรื่องขอเปิดร้านซาอุดีอาระเบียยังไม่ได้มีการขออนุญาตเรื่อง Gender Wall (ในที่นี้หมายถึงการที่ร้านขายของในประเทศซาอุดีอาระเบียต้องแยกทางเข้าออกร้านระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงและเด็กให้เข้าออกร้านคนละทางกัน ซึ่งจะมีตำรวจด้านศาสนาคอยสอดส่องดูแลว่ามีร้านค้าไหนบ้างที่ไม่ทำตามกฎระเบียบนี้) ซาอุดีอาระเบียเพิ่งผ่านกฎหมายยกเลิกกฎของ Gender Wall เมื่อไม่นานมานี้เอง และ Starbucks สาขานี้ก็ยังไม่ได้ทำเรื่องขออนุญาตจึงทำให้ต้องแยกทางเข้าออกร้านระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงและเด็ก
 
2) ร้าน Starbucks สาขานี้ได้ทำเรื่องขอตกแต่งร้านใหม่ในบางส่วน ในขณะที่เปิดให้บริการตามปกติ ตามกฎหมายของประเทศซาอุดีอาระเบียนั้น ถ้าหากร้านค้าไหนก็ตามอยู่ในระหว่างการตกแต่งหรือทำการปิดปรับปรุงร้านบางส่วน กฎหมายอนุญาตให้บริการได้เฉพาะลูกค้าผู้ชายเท่านั้น และการติดประกาศหน้าร้านก็เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย
 
ดังนั้นร้าน Starbucks สาขานี้จึงไม่สามารถให้บริการกับลูกค้าที่เป็นผู้หญิงและเด็กได้ตามกฎหมายของซาอุดีอาระเบีย นอกจากนี้ Starbucks ยังได้ชี้แจงเพิ่มเติมในเวลาต่อมาอีกด้วยว่า สาขาที่มีปัญหานั้นได้ทำทางเข้าทางหนึ่งสำหรับผู้ชายและอีกทางหนึ่งสำหรับผู้หญิงและเด็ก ดังนั้นร้าน Starbucks สาขานี้จึงสามารถให้บริการได้สำหรับทุกคน 
 
ในประเทศซาอุดีอาระเบีย มีร้าน Starbucks ทั้งหมด 78 สาขา ซึ่งทุกสาขามีนโยบายที่จะให้บริการทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย และเด็ก นอกจากบางสาขาเท่านั้นที่มีไว้ให้บริการสำหรับผู้หญิงและเด็กเท่านั้น 
 
หลังจากเรื่องนี้มีการเผยแพร่อย่างแพร่หลายทำให้ผู้คนในหลายประเทศไม่พอใจ ยกตัวอย่างเช่นในประเทศฝรั่งเศส หนังสือพิมพ์ Le Monde ได้ลงข่าวหน้าหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ที่ซาอุดีอาระเบีย Starbucks ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปซื้อกาแฟ และยังมีหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับพร้อมใจกันลงข่าวนี้เป็นข่าวใหญ่ของช่วงนั้นเลยทีเดียว 
 
นอกจากนี้กลุ่มสิทธิสตรีชาวฝรั่งเศสได้ออกมารณรงค์ให้คนฝรั่งเศสเลิกซื้อกาแฟ Starbucks เพราะสนับสนุนการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง ถึงแม้จะมีหลายคนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ว่าไม่ใช่ความผิดของ Starbucks เพราะ Starbucks ก็ต้องทำตามกฎหมายของซาอุดีอาระเบีย ดังนั้นถ้าหากไม่พอใจก็ควรจะเรียกร้องให้ทางการประเทศซาอุดีอาระเบียแก้กฎหมายเหล่านี้มากกว่า 
 
อย่างไรก็ตาม กลุ่มสิทธิสตรีชาวฝรั่งเศสยังรณรงค์ให้คนฝรั่งเศสเลิกกินกาแฟ Starbucks ต่อไป ถึงแม้ Starbucks จะชี้แจงเรื่องนี้แล้วก็ตาม โดยอธิบายว่าการที่ Starbucks ยอมรับและปฏิบัติตามกฎหมายของซาอุดีอาระเบียนั้นเท่ากับยอมรับการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในสังคม
 
ซาอุดีอาระเบียอาจจะเป็นประเทศหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างชัดเจน อาจจะด้วยเพราะซาอุดีอาระเบียมีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งยกย่องผู้ชายให้มีบทบาทมากกว่าในสังคม 
 
แต่ในความเป็นจริงไม่เพียงแต่ประเทศที่มีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติเท่านั้นที่มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในสังคม ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษเองก็ยังมีการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงเพียงแต่อาจจะมองเห็นไม่ชัดเจนเหมือนในประเทศซาอุดีอาระเบียเท่านั้นเอง
 
อย่างเช่นในอเมริกาผู้หญิงที่ทำงานในบริษัทเดียวกัน ตำแหน่งงานเท่ากัน และมีลักษณะงานแบบเดียวกันกับผู้ชาย ผู้หญิงจะได้รับเงินเดือนที่น้อยกว่าผู้ชาย จากการสำรวจพบว่าถ้าผู้ชายได้รับเงินเดือน 1 เหรียญสหรัฐต่อการทำงานหนึ่งชั่วโมง ผู้หญิงจะได้รับเงินน้อยกว่า 80 เซ็นต์ต่อการทำงานหนึ่งชั่วโมง 
 
ถ้ามองในอีกตัวอย่างหนึ่งว่า ถ้า Starbucks ขายกาแฟให้ผู้ชายในราคาปกติ แต่จะขายกาแฟให้ผู้หญิงแพงกว่า 20 เซ็นต์ต่อหนึ่งแก้วจากราคาปกติ เรื่องนี้คงไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม เพราะราคาของกาแฟควรจะมีค่าเท่ากัน ไม่ว่าจะขายให้เพศไหนก็ตาม 
 
เรื่องการทำงานก็เช่นกัน ถ้าเรายอมรับว่าผู้หญิงที่ทำงานที่มีลักษณะงานเดียวกันกับผู้ชาย และมีตำแหน่งงานเท่ากัน แต่กลับได้รับเงินเดือนน้อยกว่า เท่ากับว่าเรากำลังยอมรับการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในสังคม และเรากำลังดูถูกคุณค่าในตัวของผู้หญิงเหล่านี้ว่าพวกเธอมีความสามารถไม่เท่ากับผู้ชาย ทำให้พวกเธอได้รับเงินเดือนน้อยกว่า
 
เรื่องนี้รัฐบาลสหรัฐฯ เองก็ได้พยายามหาทางแก้ไข อย่างรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้มีการออกกฎข้อบังคับให้บริษัทที่มีลูกจ้างมากกว่า 100 คน ต้องทำรายงานเรื่องการให้เงินเดือนพนักงานโดยจะพิจารณาตามเพศและเชื้อชาติว่าทุกคนได้รับเงินเดือนที่เท่าเทียมกันหรือไม่
 
ตัวอย่างเรื่องการได้รับเงินเดือนที่ไม่เท่ากันในงานที่มีลักษณะงานเหมือนกันนี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ทุกวันนี้ผู้หญิงยังคงถูกเลือกปฏิบัติในสังคมอยู่ เพียงแต่พวกเราอาจไม่ทันได้คิดว่ามันเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะไม่ได้มองเห็นอย่างชัดเจนอย่างร้าน Starbucks ในประเทศซาอุดีอาระเบียที่ไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปซื้อกาแฟในร้าน 
 
ดังนั้นพวกเราควรหยุดคิดให้มากขึ้นว่า การกระทำต่างๆ ในทุกวันนี้ส่งเสริมให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในสังคมหรือไม่ เพราะการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในศตวรรษที่ 21 คงไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนในประเทศซาอุดีอาระเบีย