วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > On Globalization > สิทธิผู้หญิงในอัฟกานิสถานกำลังจะหมดไปหรือไม่เมื่อทหารอเมริกาจะถอนกำลังออกมาตอนสิ้นปีหน้า

สิทธิผู้หญิงในอัฟกานิสถานกำลังจะหมดไปหรือไม่เมื่อทหารอเมริกาจะถอนกำลังออกมาตอนสิ้นปีหน้า

เป็นเวลา 12 ปีมาแล้วที่สงครามต่อต้านการก่อการร้าย (War On Terror) ได้เริ่มขึ้น สงครามนี้เกิดขึ้นหลังจากการก่อวินาศกรรมในประเทศอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 และประเทศอื่นๆ ในเวลาต่อมา ทำให้ทหารของประเทศสมาชิกในกลุ่มองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า NATO) และประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม NATO ได้ร่วมมือกันเพื่อกำจัดกลุ่มอัลกออิดะห์ (Al-Qaeda) และองค์การก่อการร้ายอื่นๆ อย่างเช่น กลุ่มตาลีบัน ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายอิสลามและกลุ่มการเมืองซึ่งปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศอัฟกานิสถาน หรือกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายในปาเลสไตน์ มีวัตถุประสงค์เพื่อปลดปล่อยปาเลสไตน์จากอิสราเอล เป็นต้น

ปัจจุบันมีทหารประมาณ 55,000 –60,000 คนที่ประจำการอยู่ในประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งรัฐบาลของบารัค โอบามา ได้ออกมาประกาศว่าจะมีการถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากประเทศอัฟกานิสถานตอนสิ้นปีหน้า

ก่อนจะถึงเวลาถอนกำลังทหารตอนสิ้นปีหน้านี้ ประเทศอเมริกาและประเทศอัฟกานิสถานได้มีการพูดคุยตกลงกันว่า (1) ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า จะเริ่มมีการถอนกำลังทหารออกจากประเทศอัฟกานิสถาน โดยที่จะเหลือกำลังทหารไว้ประมาณ 34,000 คน และ (2) ตอนสิ้นปีหน้า มีแผนการว่าจะถอนกำลังทหารทั้งหมดออก หรืออาจจะมีอีกทางเลือกหนึ่งคือกำลังทหารของอเมริกาจะเหลืออยู่ที่อัฟกานิสถานประมาณ 9,000 นาย และมีทหารของกลุ่มNATO เหลืออยู่ประมาณ 2,000-3,000 นายเท่านั้น นายทหารที่เหลืออยู่นี้มีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยสอนการต่อสู้ให้กับทหารอัฟกานิสถานเพื่อที่จะสามารถป้องกันตนเองและต่อสู้กับกลุ่มอัลกออิดะห์ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ของพลเอกจอห์น อัลเลน ผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน

ไม่ว่าประเทศอเมริกาจะตัดสินใจถอนกำลังทหารทั้งหมดออกมาหรือจะเหลือทหารไว้ส่วนหนึ่ง ก็ล้วนแต่ส่งผลให้กลุ่มผู้หญิงในอัฟกานิสถานเริ่มมีการวิตกกังวลขึ้นมาว่าสิทธิของผู้หญิงอาจจะถูกลดทอนลงอีกครั้ง และพวกเธอจะต้องกลับไปเป็นเหมือนในอดีตที่พวกเธอต้องถูกจำกัดสิทธิต่างๆในสังคม เพราะกลุ่มตาลีบันอาจจะกลับมามีอำนาจอีกครั้งหลังจากการถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถาน

กลุ่มผู้หญิงอัฟกานิสถานได้แต่หวังว่าการตัดสินใจของประเทศอเมริกาและประเทศในกลุ่ม NATO ว่าจะถอนกำลังทหารทั้งหมดออกหรือไม่ตอนสิ้นปีนั้น พวกเขาจะคิดถึงผู้หญิงในอัฟกานิสถานด้วยซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากการถอนกำลังทหารในครั้งนี้

ตอนนี้ผู้หญิงในอัฟกานิสถานมีสิทธิในสังคมมากขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน พวกเธอเริ่มเดินขบวนเรียกร้องสิทธิต่างๆ และได้รับสิทธิในสังคมมากขึ้นตั้งแต่ปี 2544 ที่ทหารอเมริกาและประเทศสมาชิกในกลุ่ม NATO ได้เข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศอัฟกานิสถาน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการศึกษา การทำงาน หรือการเป็นเจ้าของกิจการ เป็นต้น

นักวิเคราะห์การเมืองหลายๆ ท่านออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ประเทศอัฟกานิสถานกำลังเข้าสู่ยุคของสงครามกลางเมือง และอาจจะร้ายแรงถึงขนาดที่กลุ่มตาลีบันอาจจะกลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่งในประเทศอัฟกานิสถานเลยทีเดียว ดังนั้นอนาคตของผู้หญิงอัฟกานิสถานจึงน่าเป็นห่วงมากๆ เพราะถ้ากลุ่มตาลีบันกลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง สิทธิต่างๆ ในสังคมของพวกเธอจะต้องลดลงอย่างไม่ต้องสงสัยเลย อย่างเช่นว่า พวกเธอจะไม่สามารถเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาได้ และไม่ได้รับอนุญาตให้ออกมาทำงานนอกบ้านได้

นายอาลี ชาฮิดี นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เป็นชาวอัฟกานิสถาน และยังเรียกตัวเองว่าเป็นนักเรียกร้องสิทธิสตรีอีกด้วย ได้ออกมาสนับสนุนความคิดเห็นของนักวิเคราะห์การเมือง และมีความเห็นในทางเดียวกันว่า ถ้ากลุ่มตาลีบันกลับมามีอำนาจอีกครั้งนี่ถือได้ว่าเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของผู้หญิงอัฟกานิสถาน เพราะผู้หญิงจะกลับไปถูกจำกัดสิทธิในสังคมหมือนเดิม

อาลีได้เล่าเพิ่มเติมว่า เขาไม่เคยคิดว่าผู้หญิงในอัฟกานิสถานจะถูกจำกัดสิทธิอย่างมากมาย จนกระทั่งเขาได้เห็นน้องเขยของเขาทำร้ายร่างกายและทรมานน้องสาวของตัวเอง และน้องเขยของเขาก็ไม่มีความผิดเพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่สามีจะสั่งสอนภรรยาได้ด้วยการทุบตีหรือทำร้ายร่างกาย ทำให้อาลีเริ่มคิดได้ว่าผู้หญิงอัฟกานิสถานถูกจำกัดสิทธิต่างๆ ในสังคม

อาลีเล่าว่า การที่เขาเติบโตมาในประเทศอัฟกานิสถานนั้น ทำให้เขาเห็นแม่ถูกพ่อทุบตีทำร้ายร่างกายเป็นเรื่องธรรมดา และการที่เขาได้เห็นเรื่องพวกนี้ทุกๆ วันทำให้เขากลายเป็นคนที่ใช้ความรุนแรงกับคนในครอบครัวเช่นกัน เขาเริ่มที่จะทำร้ายร่างกายพี่สาวและน้องสาวของเขา และเริ่มลวนลามผู้หญิงเมื่อเห็นพวกเธอเดินอยู่ตามถนนต่างๆ นอกจากนี้เขายังเริ่มมีพฤติกรรมที่แย่ลง อย่างเช่น อาลีจะใช้สายตามองอย่างดูถูก และใช้คำพูดที่แย่ๆ หรือหยาบคายเวลาพูดคุยกับพี่สาวและน้องสาวของตัวเอง

วัฒนธรรมอย่างหนึ่งของประเทศอัฟกานิสถานที่จำกัดสิทธิสตรีคือ การสอนผู้ชายว่า เกียรติของครอบครัวเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ไม่จำเป็นที่จะต้องสนใจความรู้สึกของพี่น้องผู้หญิงของตัวเอง ดังนั้นอาลีจึงปฏิบัติตามคำสอนนี้มาตลอด และทำทุกอย่างที่จะไม่ทำให้ครอบครัวตัวเองต้องขายหน้า แม้กระทั่งบีบบังคับให้น้องสาวของตัวเองต้องออกจากโรงเรียนและบังคับให้เธอแต่งงาน ทั้งๆ ที่เธอไม่ต้องการจะแต่งงาน ต่อมาสามีของน้องสาวย้ายไปอยู่ที่ประเทศอิรัก ทำให้น้องสาวของเขาต้องย้ายไปอยู่ด้วยและกลายเป็นเหยื่อของการถูกทำร้ายร่างกายจากการแต่งงานในครั้งนี้ น้องเขยของอาลีได้ทุบตีและทรมานน้องสาวของเขาระหว่างที่เธอกำลังตั้งท้อง ไม่ว่าจะขังเธอไว้ในห้อง และทำร้ายลูกชายของเขาที่มีอายุไม่กี่เดือนด้วยมีด ซึ่งเรื่องนี้ทำให้น้องสาวของอาลีเกิดความกลัวขึ้นในจิตใจจนถึงกับกินข้าวไม่ได้และต้องเข้าพบจิตแพทย์ และตามร่างกายของเธอยังคงมีรอยแผลเป็นตามที่ต่าง

จากเรื่องนี้ทำให้อาลีหันมาให้ความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะเรื่องของสิทธิสตรี เพราะเขาไม่ต้องการให้ผู้หญิงอัฟกานิสถานคนไหนต้องมาพบเจอเหตุการณ์อย่างที่น้องสาวของเขาเจอมา

ดังนั้นถ้าหากกลุ่มตาลีบันกลับมามีอำนาจอีกครั้ง ผู้หญิงอัฟกานิสถานก็จะต้องกลับไปเผชิญหน้ากับเรื่องการถูกทำร้ายและการถูกจำกัดสิทธิต่างๆ ในสังคมเหมือนอย่างแต่ก่อน เพราะสำหรับกลุ่มตาลีบันแล้วนั้น พวกเขาไม่เคยเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ในตัวของผู้หญิง ผู้หญิงจึงไม่มีคุณค่าอะไรในสังคมสำหรับกลุ่มตาลีบัน

อาลียังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ถ้าหากเหตุการณ์การถอนกำลังทหารของอเมริกาและประเทศสมาชิกในกลุ่ม NATO ตอนสิ้นปีหน้าและนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสงครามกลางเมือง หรือการกลับมามีอำนาจอีกครั้งของกลุ่มตาลีบัน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสิทธิของผู้หญิงอัฟกานิสถานในสังคมที่ได้ต่อสู้เรียกร้องมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มมีสงครามต่อต้านการก่อการร้ายก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะผู้หญิงเหล่านี้จะสูญเสียสิทธิต่างๆ ในสังคมและกลับไปมีชีวิตความเป็นอยู่แบบเดิมคือถูกทำร้ายร่างกายจากสามี และได้รับการปฏิบัติเหมือนเป็นคนชั้นที่สองในสังคม

นอกจากนี้อาลียังให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการถอนกำลังทหารของอเมริกาว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะการถอนกำลังทหารของอเมริกากับเรื่องสิทธิของผู้หญิงอัฟกานิสถานนั้นมีความเกี่ยวข้องกัน ตอนนี้ที่อัฟกานิสถานยังคงมีกำลังทหารของอเมริกาอยู่ ซึ่งหมายความว่าประเทศอัฟกานิสถานยังคงมีความปลอดภัยจากกลุ่มตาลีบันและกลุ่มการก่อการร้ายอื่นๆ หรืออย่างน้อยก็มีความปลอดภัยมากกว่าที่จะปล่อยให้ทหารของอัฟกานิสถานเป็นคนดูแลประเทศอัฟกานิสถานทั้งหมด และถ้าหากทหารอเมริกาถอนกำลังทหารทั้งหมดออกไปเมื่อไหร่ ก็หมายความว่าประเทศอัฟกานิสถานแทบจะไม่เหลือความปลอดภัยไว้คุ้มครองคนอัฟกานิสถานเลย

สภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยเหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้หญิงอัฟกานิสถานในสังคม เช่น ผู้หญิงอัฟกานิสถานจะไม่ได้รับสิทธิในการศึกษา การจ้างงาน การเป็นเจ้าของบริษัท และการมีส่วนร่วมในการเมืองและสังคม เพราะเมื่อประเทศอัฟกานิสถานไม่มีความปลอดภัยจากลุ่มตาลีบันและกลุ่มการก่อการร้ายต่างๆ ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า (1) รัฐบาลอัฟกานิสถานก็จะสนใจแต่เรื่องการปกป้องประเทศ และการทำสงคราม ดังนั้นเรื่องสิทธิต่างๆ ของผู้หญิงอัฟกานิสถานก็จะถูกเพิกเฉยและไม่มีใครให้ความสนใจกับเรื่องนี้อีก หรือ (2) กลุ่มตาลีบันอาจจะกลับมามีอำนาจในประเทศอัฟกานิสถานอีกครั้ง และเมื่อกลุ่มตาลีบันกลับมามีอำนาจ สิทธิต่างๆ ที่ผู้หญิงเคยได้รับก็จะหมดไปและกลับไปถูกจำกัดสิทธิเหมือนอย่างเดิม

แม้ว่าตอนนี้ยังคงมีกำลังทหารของอเมริกาอยู่ในประเทศอัฟกานิสถาน แต่สถานการณ์ของสิทธิผู้หญิงในอัฟกานิสถานก็เริ่มมองเห็นแล้วว่า กำลังจะถูกเพิกเฉยและไม่ได้รับความใส่ใจเท่าที่ควรจากรัฐบาล สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ การผ่านกฎหมายการกำจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงในอัฟกานิสถาน (Elimination of Violence Against Women หรือ EVAW) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐสภาของอัฟกานิสถานปฏิเสธการผ่านร่างกฎหมายการกำจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงในอัฟกานิสถาน โดยฝ่ายค้านและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ได้ให้เหตุผลว่า กฎหมายนี้เป็นการละเมิดคุณค่าทางศาสนาและวัฒนธรรมของอัฟกานิสถาน

การที่กฎหมายนี้ไม่ผ่านรัฐสภาของอัฟกานิสถาน ทำให้กลุ่มผู้หญิงอัฟกานิสถานออกมาเดินขบวนให้มีการพิจารณาเรื่องนี้ใหม่ เพราะการที่กฎหมายนี้ไม่ผ่าน มีความหมายว่า เด็กๆ ชาวอัฟกานิสถานยังคงถูกบังคับให้แต่งงาน ผู้หญิงยังคงถูกทำร้ายร่างกายและกลายเป็นเหยื่อของการถูกข่มขืน และที่สำคัญที่สุด การที่กฎหมายนี้ไม่ผ่าน แปลว่าฝ่ายค้านและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนไม่ให้ความเคารพต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนและไม่เห็นคุณค่าของความเป็นคนของผู้หญิงอัฟกานิสถาน

เรื่องนี้ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่า ประเทศอเมริกาจะตัดสินใจออกมาอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องการถอนกำลังทหารออกมาจากอัฟกานิสถานในครั้งนี้ ได้แต่หวังว่าการเจรจาตกลงกันระหว่างทั้งสองประเทศจะเล็งเห็นถึงประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง และที่สำคัญควรจะพิจารณาไตร่ตรองถึงเรื่องสิทธิของผู้หญิงอัฟกานิสถานด้วย เพราะพวกเธอต้องใช้เวลาต่อสู้มานานถึง 10 ปีกว่าจะได้รับสิทธิในสังคมเช่นทุกวันนี้

Column: Women in Wonderland