วันพฤหัสบดี, กันยายน 19, 2024
Home > New&Trend > ยูโอบีรายงานผลการศึกษา ASEAN Consumer Sentiment Study 2023 เผยความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจของผู้บริโภค และเทรนด์ธนาคารดิจิทัล

ยูโอบีรายงานผลการศึกษา ASEAN Consumer Sentiment Study 2023 เผยความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจของผู้บริโภค และเทรนด์ธนาคารดิจิทัล

ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย รายงานผลการศึกษาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอาเซียน หรือ ASEAN Consumer Sentiment Study 2023 พบทัศนคติโดยรวมของผู้บริโภคในประเทศไทยยังเป็นไปในทิศทางบวก แต่มีความระมัดระวังมากขึ้น พร้อมเตรียมปรับตัวให้เข้ากับสภาวะเศรษฐกิจที่อาจชะลอตัว ส่วนเทรนด์ด้านธนาคารดิจิทัลและช่องทางการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันธนาคารบนมือถือและอีวอลเล็ตมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ASEAN Consumer Sentiment Study (ACSS) คือรายงานศึกษาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอาเซียน ที่จัดทำโดยธนาคารยูโอบีเป็นประจำทุกปี โดยรายงานปีที่ 4 ฉบับล่าสุดนี้ ธนาคารยูโอบีได้ร่วมมือกับ บริษัท เดอะ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด หรือ BCG บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก จัดทำขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2566 เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจาก 5 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม

ทำไมต้องโฟกัสที่อาเซียน?

– อาเซียนเป็นหนึ่งในกลุ่มเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกและมีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของโลก

– ภายในปี 2573 ขนาดเศรษฐกิจของอาเซียนจะใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก โดยมี GDP 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

– ภายในปี 2573 จากประชากร 723 ล้านคน – 1 ใน 6 ครัวเรือนที่เข้าสู่ชนชั้นการบริโภคของโลกจะมาจากกลุ่มประเทศอาเซียน

– และภายในปี 2573 จะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเกือบ 575 ล้านคนในภูมิภาคนี้ และจะมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างแพร่หลายสำหรับการบริโภครายวัน

สำหรับในประเทศไทยเป็นการสำรวจคำตอบของผู้บริโภคจำนวน 600 คนจากหลายกลุ่มประชากร อายุระหว่าง 18-65 ปี แบ่งเป็น กลุ่มชนชั้นกลาง (Mass) รายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน, กลุ่มชนชั้นกลางผู้มั่งคั่ง (Mass Affluent) รายได้ 50,000-199,000 บาทต่อเดือน และกลุ่มมั่งคั่ง (Affluent) รายได้มากกว่าหรือเท่ากับ 200,000 บาทต่อเดือน โดยใช้วิธีการสำรวจความคิดเห็นแบบออนไลน์ใช้เวลาประมาณ 35 นาที ระยะเวลาในการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 – 26 มิถุนายน 2566

นายยุทธชัย เตยะราชกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บุคคลธนกิจ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “รายงาน ACSS ที่จัดทำขึ้นโดยธนาคารยูโอบีฉบับนี้นำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญสำหรับทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจเพื่อให้เข้าใจถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ธนาคารมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้ทุกคนประสบความสำเร็จทางการเงินท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศของการบริการธนาคารดิจิทัลที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเปิดรับโอกาสทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน”

อิษฎา หิรัญวิวัฒน์กุล Managing Director and Senior Partner บริษัท เดอะ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด

สำหรับผลสำรวจแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน 2.เทรนด์ด้านธนาคารดิจิทัลและช่องทางการชำระเงิน

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

พบว่าความเชื่อมั่นโดยรวมของผู้บริโภคในประเทศไทยยังคงเป็นบวก แต่มีความรู้สึกไม่แน่อนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้บริโภคจำนวนมากมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยใน 6-12 เดือนข้างหน้า โดยพบว่า

– 77% ของผู้บริโภคในประเทศไทยระบุว่า ความรู้สึกปัจจุบันของตนเป็นไปในทางบวก

– 68% ของผู้บริโภคในประเทศไทยคาดว่าจะมีฐานะทางการเงินดีขึ้นภายในปีหน้า

-32% ของผู้บริโภครู้สึกไม่มั่นใจ

ซึ่งกว่า 7 ใน 10 มองว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 6-12 เดือนข้างหน้า ส่วนในกลุ่มผู้บริโภคที่แสดงความเชื่อมั่นมากที่สุดคือกลุ่ม Gen Y เชื่อมั่นที่ 82% และกลุ่มมั่งคั่ง (Affluent) เชื่อมั่น 100%

ความกังวลทางการเงินส่งผลให้ผู้บริโภคชาวไทยใช้จ่ายอย่างรัดกุมและวางแผนการลงทุน

อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่สูงขึ้นส่งผลให้เงินออมลดลง ทำให้ยากที่จะกันเงินเป็นเงินออมและรักษาระดับการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ผลสำรวจพบว่า 3 ใน 4 ของผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของตนเอง แบ่งออกเป็น

– 57% กังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

– 50% กังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่สูงขึ้น

– 48% กังวลเกี่ยวกับการออมทรัพย์/ความมั่งคั่งที่ลดลง

– 46% กังวลเกี่ยวกับภาระผูกพันทางการเงินระยะยาว

ส่วนสถานการณ์ทางการเงินที่น่ากังวลที่สุดในปัจจุบัน ได้แก่

– 30% ความสามารถในการซื้อสิ่งของจำเป็นสำหรับตนเองและครอบครัว

– 30% ความสามารถในการรักษาระดับการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน

– 30% ความสามารถในการกันเงินเพื่อการออม

– 28% ความสามารถในการชำระค่าสาธารณูปโภค

– 27% ความสามารถในการวางแผนเกษียณอายุล่วงหน้า

ยุทธชัย เตยะราชกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บุคคลธนกิจ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย

นอกจากนี้ รายงานยังระบุแนวโน้มที่น่าสนใจของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการออมและการลงทุนว่า Gen Z เป็นกลุ่มที่ระมัดระวังที่สุด โดยร้อยละ 41 มีแผนออมเงินมากขึ้นในปีนี้ ในขณะที่ Gen Y มุ่งเน้นการลงทุนมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น

ความกังวลทางการเงิน ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวไทยรัดกุมกับค่าใช้จ่ายและการลงทุนมากขึ้น ร้อยละ 57 ติดตามค่าใช้จ่ายของตนผ่านแพลตฟอร์มธนาคารดิจิทัล ผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นให้ความสนใจกับเครื่องมือทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝากออมทรัพย์ และเงินฝากประจำ อีกทั้งยังกระจายการลงทุนไปยังกลุ่มสินทรัพย์อื่นๆ ที่ไม่ใช่เครื่องมือทางการเงิน เช่น  แผนประกัน อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

จากผลสำรวจ ธนาคารยูโอบีจึงเน้นถึงความสำคัญของการวางแผนความมั่งคั่งในระยะยาว อย่างรอบคอบและมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

“การวางแผนความมั่งคั่งที่เหมาะกับระดับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล และการเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านความยั่งยืนเข้าไปเป็นกลยุทธ์การลงทุนจะช่วยสร้างความมั่งคั่งที่ยืนยาวให้แก่ผู้บริโภคได้” นายยุทธชัยกล่าว

ผู้บริโภคไทยใช้บริการธนาคารดิจิทัลมากที่สุด

ประเทศไทยมีผู้ใช้บริการธนาคารดิจิทัลมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน ในปีที่ผ่านมาร้อยละ 61 ใช้แอปพลิเคชันธนาคารบนมือถือ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค วิธีการชำระเงินที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ อีวอลเล็ตและการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด รายงานยังพบว่ากว่า 4 ใน 5 ของผู้บริโภคชาวไทยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลด้านการลงทุนและการจัดการความมั่งคั่ง โดย Gen Y เป็นกลุ่มที่ใช้บริการด้านการลงทุนมากที่สุด

นอกจากการเปิดรับบริการธนาคารดิจิทัล ผู้บริโภคยังพร้อมแบ่งปันข้อมูลส่วนตัวกับธนาคารเพื่อรับบริการเฉพาะบุคคลมากขึ้นร้อยละ 89 ของผู้สำรวจเลือกที่จะแบ่งปันข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร มากกว่าแอปพลิเคชันแบบอื่นๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจของผู้บริโภค ในการเปิดรับข้อเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่คัดสรรเฉพาะจากธนาคาร

“ยูโอบีมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเรื่องการธนาคารแบบเฉพาะบุคคล (Personalised Banking) ผ่านแอปพลิเคชัน UOB TMRW ที่ขับเคลื่อนด้วย AI วิเคราะห์ข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน ทำให้เข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง และสามารถช่วยให้บริหารจัดการเงินในแบบที่ลูกค้าต้องการ นอกจากนี้ ธนาคารกำลังพัฒนาแอปพิเคชัน UOB TMRW เพิ่มเติม เพื่อให้คำปรึกษาวางแผนด้านการลงทุนอัตโนมัติแบบเฉพาะบุคคล ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าบริหารจัดการการเงินได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากรายงานฉบับนี้” คุณยุทธชัยกล่าวเสริม

สำหรับประเด็นการวางแผนการเงินก่อนเกษียณ พบว่า ในบรรดาผู้สูงอายุ 10 ล้านคน มี 2.8 ล้านคนที่ไม่มีเงินออม และมีเพียง 4% หรือ 3.5 แสนคนที่มีเงินออมมากกว่า 3 ล้านบาท

นอกจากนี้คุณยุทธชัยยังมีข้อแนะนำสำหรับการมีสุขภาพทางการเงินที่ดีเป็นการทิ้งท้ายว่า 5 ข้อที่ไม่ควรทำถ้าอยากมีสุขภาพทางการเงินที่ดีคือ 1.ใช้จ่ายเกินตัว 2.ก่อหนี้สินที่ไม่จำเป็น 3.ไม่วางแผนเกษียณ 4.ไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน 5.ละเลยการดูแลสุขภาพ

ส่วนที่ต้องทำคือ 1.วางแผนการใช้จ่าย 2.ออมก่อนใช้ และ 3.วางแผนเกษียณ

ส่วนแหล่งเงินออมเพื่อวัยเกษียณ ประกอบด้วย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนการออมแห่งชาติ, กองทุนประกันสังคม, กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF), ประกันชีวิตสะสมทรัพย์ และประกันบำนาญ เป็นต้น