วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
Home > Cover Story > ปิดฉาก “แฟมิลี่มาร์ท” ในไทย เซ็นทรัลลุย “ท็อปส์เดลี่”

ปิดฉาก “แฟมิลี่มาร์ท” ในไทย เซ็นทรัลลุย “ท็อปส์เดลี่”

ในที่สุด Family Mart ร้านสะดวกซื้อสัญชาติญี่ปุ่น ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา จะถอนแบรนด์ออกจากสมรภูมิร้านสะดวกซื้อเมืองไทย หลังตะลุยสู้ศึกช่วงชิงส่วนแบ่งกับเซเว่นอีเลฟเว่นมานานมากกว่า 30 ปี และสัญญาแฟรนไชส์กับบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC สิ้นสุดไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ส่วนร้านสาขาเดิมทั้งหมดจะทยอยพลิกโฉมเปลี่ยนชื่อเป็น Tops Daily ของกลุ่มเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล พร้อมๆ กับการปรับยุทธศาสตร์ใหม่ ปลุกปั้นมินิซูเปอร์มาร์เกตที่มีความเหนือชั้นมากกว่าเจ้าตลาดคอนวีเนียนสโตร์

สำหรับแฟมิลี่มาร์ทเป็นกิจการร้านค้าประเทศญี่ปุ่น ในเครือเซซันกรุ๊ป เจ้าของกิจการห้างสรรพสินค้าเซบุและร้านซูเปอร์สโตร์เซยู เปิดสาขาแรกเมื่อปี 2518 และบุกเข้าสู่ตลาดประเทศไทย โดยบริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท โฮลดิ้ง จำกัด บริษัท แฟมิลี่มาร์ท ประเทศญี่ปุ่น ในเครือเซซัน กรุ๊ป บริษัท อิโตชู ประเทศญี่ปุ่น และบริษัท ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จำกัด (มหาชน) จับมือเซ็นสัญญาซื้อสิทธิ์ประกอบกิจการค้าปลีก ตั้งบริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท จำกัด ทุนจดทะเบียน 800 ล้านบาท เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2535 และประเดิมสาขาแรกย่านพระโขนงในปีถัดมา

การต่อสู้ในตลาดเมืองไทยเข้มข้นและมีอุปสรรคมากมาย กระทั่งวันที่ 27 กันยายน 2555 บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น ลงนามสัญญาเข้าซื้อหุ้นของบริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท จำกัด จำนวน 50.29% ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นผู้บริหารร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ทในประเทศไทย มีการจัดวิธีการบริหารใหม่ทั้งหมด

ปีถัดมา เปลี่ยนชื่อ บริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท จำกัด เป็น บริษัท เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท จำกัด จัดรูปแบบร้านค้าต้นแบบใหม่ เริ่มนำสินค้าประเภทอาหารสดจากร้านค้าในเครือเซ็นทรัลเรสตอรองส์กรุ๊ปเข้ามาขาย เช่น ข้าวกล่องจากร้านเดอะเทอเรซ โดนัทจากมิสเตอร์โดนัท รวมถึงเข้าร่วมเครือข่ายบัตร “เดอะ วัน การ์ด” เพื่อขยายฐานลูกค้าและสร้างจุดขายใหม่ให้สมาชิกเดอะ วัน การ์ด สามารถสะสมและแลกคะแนนได้ที่ร้านแฟมิลี่มาร์ททุกสาขา

ปี 2560 มีการปรับโฉมสาขาอีกครั้ง เพิ่มอาหารและเครื่องดื่ม ร้านกาแฟเซกาเฟรโด ซาเนตติ มีบาร์เครื่องดื่มเบียร์สดแบบเติมไม่อั้น ตู้แช่ไวน์ อาหารกล่องจากภัตตาคารสีฟ้า บริการเดลิเวอรี ส่งพัสดุ ติดตั้งเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายคนทำงานและนักท่องเที่ยว บางสาขาเพิ่มอาหารพร้อมรับประทาน มุมกาแฟ เบเกอรี่ พร้อมจุดนัดพบเพื่อพักผ่อน ทำงาน พบปะสังสรรค์ รองรับคนทำงาน คนรุ่นใหม่

ต่อมาในวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด บริษัทย่อยของ เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น เข้าซื้อหุ้นของบริษัท เซ็นทรัลแฟมิลี่มาร์ท จำกัด อีก 49.00% ที่เหลืออยู่จากแฟมิลี่มาร์ท ประเทศญี่ปุ่น ทำให้แฟมิลี่มาร์ทในไทยเหลือสถานะเพียงแฟรนไชส์ของแฟมิลี่มาร์ทญี่ปุ่นเท่านั้น เป็นไปตามแผนถอนธุรกิจหลังสิ้นสุดสัญญาแฟรนไชส์

ขณะเดียวกันเซ็นทรัลรีเทลเปลี่ยนชื่อบริษัท เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท เป็นบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด มินิ มาร์เก็ต และทยอยรีแบรนด์ร้านแฟมิลี่มาร์ท เป็น ท็อปส์ เดลี่ ซึ่งกำหนดดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า กลุ่มเซ็นทรัลพยายามเสริมเขี้ยวเล็บแฟมิลี่มาร์ทต่อเนื่องและหากย้อนกลับไปในช่วงการเซ็นสัญญาร่วมทุนระหว่างกลุ่มเซ็นทรัล รีเทลคอร์ปอเรชั่น กับบริษัท แฟมิลี่มาร์ท จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2555 ทศ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ซีอาร์ซี ขณะนั้นวางแผนบุกตลาดร้านสะดวกซื้อ ทยอยปรับร้านท็อปส์เดลี่มาเป็นแฟมิลี่มาร์ท จนถึงขั้นอาจปิดฉาก “ท็อปส์เดลี่” โดยประกาศเฟสแรกปรับร้านท็อปส์เดลี่ที่มีพื้นที่ไม่เกิน 250 ตารางเมตร เป็นร้านแฟมิลี่มาร์ท 74 สาขา ภายในไตรมาส 1 ปี 2557

แต่ยุทธศาสตร์ดังกล่าวพลาดเป้า ต้องเปลี่ยนเกมเป็นการผนึกกำลังร่วมกัน โดยท็อปส์เดลี่เน้นจุดขายมินิซูเปอร์มาร์เกต มีความหลากหลายของสินค้ากลุ่มของสด อาหารพร้อมปรุงและขยายในทำเลหลากหลายมากขึ้น เช่น ในสถานีบริการน้ำมัน

ส่วนแฟมิลี่มาร์ทเน้นความเป็นร้านสะดวกซื้อ ความรวดเร็ว อาหารพร้อมรับประทาน เครื่องดื่ม ดึงร้านกาแฟสด อาริกาโตะ เข้ามาเสริมเพิ่มความพรีเมียมรองรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ อาหาร และขนมนำเข้าจากญี่ปุ่น โดยเจาะทำเลย่านสัญจรต่างๆ เช่น ในรถไฟฟ้าใต้ดิน คอนโดมิเนียม สถานศึกษา โรงพยาบาล

ช่วงปี 2560-2561 แฟมิลี่มาร์ทพยายามนำเสนอมินิมอลล์ คอนเซ็ปต์ Fresh Fun and Friendly และ One Stop Shopping Destination รูปแบบร้าน 2 ชั้น

ชั้นที่ 1 มีโซนสินค้าหลักๆ ได้แก่ กลุ่มผลไม้และดอกไม้สด กลุ่มของที่ระลึก เช่น สบู่ผลไม้ ผลไม้อบแห้ง กระเป๋าลายผ้าไทย กลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน เช่น ไก่ทอด Fami Chicken สลัดผัก แซนด์วิช เมนูจานเด็ดจากครัวมลิวัลย์ และสีฟ้า เรสเตอรองต์ ปรุงสดทุกวัน โอเด้งสูตรต้นตำรับจากญี่ปุ่น กลุ่มเครื่องดื่ม กลุ่มเบเกอรี่และกาแฟสด กลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม กลุ่มสินค้านำเข้า อาทิ ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม กลุ่มหนังสือและนิตยสาร

ชั้น 2 เป็น โซน Open Space พื้นที่กว่า 200 ตารางเมตร ซึ่งถือเป็นร้านสะดวกซื้อรายแรกที่เปิดให้บริการ co-working space แบบฟรี ไม่มีค่าเช่าใช้พื้นที่ โดยเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00-24.00 น. มีตู้ไข่หมุน กาชาปองเป็นของเล่นพักเบรกให้ลูกค้าขณะทำงานในโอเพ่นสเปซ

เหตุผล คือ การขยายฐานกลุ่มลูกค้าหลากหลาย ตั้งแต่กลุ่มคนทำงาน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ กลุ่มครอบครัว นักเรียน-นักศึกษา ซึ่งในเวลานั้น บริษัทวางแผนเปิดสาขาร้านพรีเมียมอย่างต่อเนื่อง เน้นแหล่งธุรกิจใจกลางเมืองและเมืองท่องเที่ยว อย่างสาขาป่าตองบีช เน้นคอนเซ็ปต์ Convenience Store On The Beach เป็นทั้งร้านสะดวกซื้อและจุดแฮงก์เอาต์ริมหาดป่าตอง

ที่สำคัญ ชู “กาแฟสด Coffee Arigato” แบรนด์กาแฟนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น เป็นแม็กเน็ตดึงดูดกลุ่มลูกค้าระดับกลางและดึงแบรนด์ร้านกาแฟอิตาเลียน Segafredo ในเครือเซ็นทรัล เข้ามาเปิดจุดจำหน่ายเพิ่มทางเลือกให้กลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียม

ทว่า แฟมิลี่มาร์ทยังไม่สามารถกอบโกยส่วนแบ่งในตลาดคอนวีเนียนสโตร์ บางสาขาต้องปิดตัวแถมถูกเสียบด้วยร้านสะดวกซื้อคู่แข่งเข้าเสียอีก

นั่นทำให้กลุ่มเซ็นทรัลต้องพลิกเกมอีกรอบ ผุดโมเดลใหม่ ท็อปส์มาร์เก็ตสแตนด์อโลน รับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่เลือกจับจ่ายใกล้บ้านและยกเครื่อง “ท็อปส์ เดลี่” มินิซูเปอร์มาร์เกตโฉมใหม่ นำเสนอสินค้าแบบ Room Concept มีพื้นที่เช่ารับร้านค้าและโซนที่นั่งรับประทานอาหาร เพื่อสู้ศึกสงครามค้าปลีกครั้งใหญ่ภายใต้แบรนด์ของตัวเองอีกรอบ.