วันจันทร์, กันยายน 16, 2024
Home > PR News > ยูโอบีเผยผลสำรวจ ธุรกิจ 3 ใน 4 เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในปีนี้

ยูโอบีเผยผลสำรวจ ธุรกิจ 3 ใน 4 เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในปีนี้

ผลสำรวจยูโอบีเผย ธุรกิจ 3 ใน 4 เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในปีนี้ เอสเอ็มอีและบริษัทขนาดใหญ่มองหาโอกาสขยายธุรกิจในต่างประเทศ ปรับตัวสู่ดิจิทัล และสนับสนุนเรื่องความยั่งยืน

รายงาน UOB Business Outlook Study 2023 (SME& Large Enterprises) ที่จัดทำโดยธนาคารยูโอบีเผยธุรกิจเอสเอ็มอีและบรรษัทขนาดใหญ่เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว รายงานสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ เทรนด์ธุรกิจและกลยุทธ์หลักที่บริษัทชั้นนำของประเทศไทยใช้เป็นแนวทางหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจให้เติบโตหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

นายตัน ชุน ฮิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “เมื่อไม่นานมานี้ยูโอบีได้จัดทำรายงานเพื่อรวบรวมความคิดเห็นและวิสัยทัศน์ของผู้บริหารธุรกิจเอสเอ็มอีและองค์กรใหญ่รวม 530 คน ครอบคลุม 10 กลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศ เกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตขององค์กรและการฟื้นฟูธุรกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ได้คลี่คลายลง โดยผลสำรวจพบว่าธุรกิจเอสเอ็มอีและองค์กรขนาดใหญ่มีความเชื่อมั่นว่าภาคธุรกิจกำลังเข้าสู่สภาวะฟื้นตัว และยังต้องการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ เพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัล พร้อมนำกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนมาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนให้องค์กรเติบโตอย่างแข็งแกร่ง”

ภาคธุรกิจเชื่อมั่นผลประกอบการเติบโต

ร้อยละ 76 หรือ 3 ใน 4 ของผู้บริหารที่ตอบแบบสำรวจเชื่อมั่นว่าผลประกอบการขององค์กรในปี 2566 มีแนวโน้มสูงขึ้น ธุรกิจด้านการผลิตและวิศวกรรมมีความเชื่อมั่นสูงสุด (ร้อยละ 85) ตามด้วยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการโรงแรม (ร้อยละ 80) และธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (ร้อยละ 79) แนวโน้มผลประกอบการที่สูงขึ้นส่งผลให้ผู้บริหารส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 74 มีความเชื่อมั่นว่าภาคธุรกิจจะกลับมาฟื้นตัวในปีนี้

นอกจากนี้บริษัทส่วนใหญ่มั่นใจว่ารายได้ของธุรกิจจะกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปี โดยกว่าร้อยละ 90 หรือ 9 ใน 10 ของธุรกิจเชื่อว่าจะเห็นกำไรกลับคืนมาภายในปี 2568 พร้อมระบุว่าเป้าหมายหลักของธุรกิจในปีนี้คือ การมองหาฐานลูกค้าใหม่ (ร้อยละ 37) สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง (ร้อยละ 35) ลดรายจ่าย (ร้อยละ 32) หาแหล่งรายได้ใหม่ (ร้อยละ 30) และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ (ร้อยละ 29)

อัตราเงินเฟ้อสูงกระทบการดำเนินธุรกิจและระบบห่วงโซ่อุปทาน

ผลสำรวจพบว่าตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา 9 ใน 10 ของธุรกิจยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ภาคธุรกิจต้องแบกรับต้นทุนการดำเนินธุรกิจเพิ่ม (ร้อยละ 61) ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่ม (ร้อยละ 56) และกำไรลดลง (ร้อยละ 44) นอกจากนี้ความขัดแย้งทางการเมืองโดยเฉพาะจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นและส่งผลให้การบริหารห่วงโซ่อุปทานในหลายอุตสาหกรรมได้รับความเสียหาย โดยมากกว่า 2 ใน 5 ของธุรกิจพบว่าต้นทุนที่สูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อทำให้การบริหารระบบห่วงโซ่อุปทานประสบปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ และสำรองวัตถุดิบที่จะมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ

อย่างไรก็ดีธุรกิจส่วนใหญ่เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงภายใน 6 เดือน ถึง 2 ปี สอดคล้องกับการประเมินภาวะเศรษฐกิจของธนาคารยูโอบีที่มองว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยได้ขึ้นไปแตะที่จุดสูงสุดแล้วและได้ทยอยปรับระดับลงมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 จากราคาพลังงานที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับระบบห่วงโซ่อุปทานโลกปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้น
มองหาโอกาสการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ

ผลสำรวจพบว่าผู้บริหารจำนวนถึง 9 ใน 10 ให้ความสนใจกับการมองหาโอกาสขยายธุรกิจไปต่างประเทศภายในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยเหตุผลหลัก คือ เพื่อเพิ่มรายได้ แสวงหากำไร และสร้างภาพลักษณ์ระดับนานาชาติให้แก่องค์กรในตลาดใหม่ โดยผลสำรวจพบว่าองค์กรขนาดใหญ่ เช่น ธุรกิจค้าส่งและส่งออก (ร้อยละ 96) ต้องการขยายธุรกิจในต่างประเทศมากที่สุด มากกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชีย (ร้อยละ 89) และของอาเซียน (ร้อยละ 83) สิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย รวมถึงจีนเป็นจุดหมายหลักที่ธุรกิจต้องการขยายตลาด และกว่า 1 ใน 3 สนใจจะขยายธุรกิจไปนอกภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ความท้าทายหลักที่ภาคธุรกิจเผชิญเวลาขยายธุรกิจไปต่างประเทศคือ ขาดความรู้ทางกฎหมาย กฎระเบียบ และภาษี รวมถึงขาดพันธมิตรที่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เดินหน้าปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล พร้อมชูกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน

การปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัล และแนวคิดการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนกำลังเป็นเทรนด์การดำเนินธุรกิจที่อยู่ในกระแสทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยในช่วง2-3ปีที่ผ่านมา ผลสำรวจพบว่าบริษัทพร้อมนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ และส่งเสริมกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงาน และปรับภาพลักษณ์ขององค์กรให้ดีขึ้น

มากกว่า 9 ใน 10 ของธุรกิจหรือ ร้อยละ 92 นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในธุรกิจอย่างน้อย 1 หน่วยงานซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชีย (ร้อยละ 87) และอาเซียน (ร้อยละ 86) โดยธุรกิจที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น และช่วยให้การบริการลูกค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ธุรกิจส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในกระบวนการธุรกิจ โดยธุรกิจประมาณร้อยละ 60 มองหาคำแนะนำจากธนาคารในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และทำให้การประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ และเชื่อมต่อกับบุคคลที่สามเป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น

ในส่วนของความสนใจเรื่องการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ร้อยละ 96 ของบริษัทใส่ใจแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ธุรกิจมองว่ากลยุทธ์ด้านความยั่งยืนจะช่วยส่งเสริมชื่อเสียงของบริษัทให้ดีขึ้น ทั้งยังสามารถดึงดูดพนักงานใหม่และนักลงทุน ผลสำรวจยังพบว่าถึงแม้กว่า 9 ใน 10 ของธุรกิจไทยได้ประกาศพันธสัญญาเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) มีเพียงร้อยละ 51 ที่ได้นำแนวคิดด้านความยั่งยืนมาปฎิบัติใช้อย่างจริงจัง โดยกว่า 1 ใน 3 ของธุรกิจกังวลว่าการนำแนวคิดความยั่งยืนมาปฎิบัติจะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นและกระทบต่อกำไรของบริษัท

“สถานการณ์โควิดที่ผ่านมาเป็นตัวเร่งให้บริษัทในประเทศไทยเดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัล และผนึกกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนเพื่อรับมือต่อวิกฤตที่เข้ามา โดยยังสามารถปรับตัวให้ธุรกิจมีผลกำไรและเติบโตไปข้างหน้าท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน บริษัทที่ยังไม่พร้อมนำแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาลมาใช้อาจสูญเสียโอกาสทางธุรกิจได้” นายตัน กล่าวทิ้งท้าย