วันอังคาร, กันยายน 17, 2024
Home > PR News > เยาวชนไทยคว้าแชมป์รถต้นแบบประหยัดพลังงาน จากสนามแข่งขัน Shell Eco-marathon Asia Pacific and Middle East 2023

เยาวชนไทยคว้าแชมป์รถต้นแบบประหยัดพลังงาน จากสนามแข่งขัน Shell Eco-marathon Asia Pacific and Middle East 2023

ทีมเยาวชนไทยได้สร้างชื่อเสียงจารึกในสนามแข่งขันนวัตกรรมยานยนต์ระดับภูมิภาคอีกครั้ง เมื่อทีม “Virgin” จากวิทยาลัย เทคนิคสกลนคร สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในการแข่งขันรถประหยัดพลังงาน ประเภทรถต้นแบบ (Prototype Category) ในหมวดเครื่องยนต์ที่มีการเผาไหม้ภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) ด้วยน้ำมัน Ethanol จากการแข่งขัน Shell Eco-marathon Asia Pacific and Middle East 2023 ที่เกาะลอมบอก ประเทศอินโดนีเซีย โดยทำสถิติด้วยการใช้เชื้อเพลิง 1 ลิตรสามารถวิ่งได้เทียบเท่าระยะทางไกลถึง 1,867.8 กิโลเมตร หรือเทียบเท่ากับการขับรถจากจาการ์ตาไปกัวลาลัมเปอร์

Shell Eco-marathon Asia Pacific and Middle East 2023 หนึ่งในการแข่งขันสุดยอดนวัตกรรมรถยนต์ประหยัดพลังงานระดับภูมิภาค ซึ่งมุ่งเน้นให้เยาวชนสร้างสรรค์เทคโนโลยีและออกแบบรถยนต์เพื่อการประหยัดพลังงาน ได้เริ่มการแข่งขันอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ณ Pertamina Mandalika International Street Circuit ที่เกาะ Lombok ประเทศอินโดนีเซีย

การแข่งขันระดับภูมิภาคในปีนี้มีจำนวนทีมที่เข้าแข่งขัน จากสถาบันการศึกษาจำนวน 80 ทีมจาก 13 ประเทศในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลางที่เข้าร่วม ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม จีน อินโดนีเซีย อินเดีย สาธารณรัฐเกาหลี คาซัคสถาน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยมีทีมเยาวชนไทยที่มีศักยภาพโดดเด่นเข้าร่วมแข่งขันจำนวน 5 ทีม

โดยทีมเยาวชนไทยที่ลงสนามประลองสุดยอดนวัตกรรมยานยนต์ประหยัดพลังงานในปีนี้ แบ่งเป็นการแข่งขันในประเภท รถต้นแบบ (Prototype Category) หมวด ICE ประกอบด้วย 4 ทีม คือ ทีม Virgin จากวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร ซึ่งทำผลงานได้ยอดเยี่ยมจนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในหมวดนี้มาครองได้สำเร็จ ร่วมด้วยทีมเฟื่องฟ้า จากวิทยาลัยการอาชีพอัมพวา ที่ได้อันดับ 3 ด้วยระยะทาง 893.4 กิโลเมตร/เทียบเท่าการใช้เชื้อเพลิง 1 ลิตร และทีม RMUTP Racing จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้อันดับที่ 4 ด้วยระยะทาง 877 กิโลเมตรเทียบเท่าการใช้เชื้อเพลิง 1 ลิตร จากหมวดเดียวกัน ขณะที่ PNRU Collegain-Junior จากมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร สามารถฝ่าฟันจนได้อันดับ 4 ของการแข่งขันในหมวดเชื้อเพลิงแบตเตอรี่ไฟฟ้า ด้วยระยะทาง 600 กิโลเมตรต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ส่วน KMUTT EDR Epsilon จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็นทีมเดียวที่ลงแข่งขันในประเภทแนวคิดรถ Urban Concept ในหมวดแบตเตอรี่ไฟฟ้าก็ชูจุดเด่นด้วยความหลงใหลในการทำรถแฮนด์เมดในทุกส่วน รวมถึงล้อซึ่งเป็นส่วนที่ท้าทายที่สุด ซึ่งแม้ว่าทีมจะไม่สามารถผ่านเข้ารอบจากการตรวจสอบทางเทคนิคได้ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงสปิริตของทีมเยาวชนไทยอันยอดเยี่ยมในเวทีระดับภูมิภาค

นายปนันท์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการและกรรมการบริหารฝ่ายการเงิน บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า

“การแข่งขัน Shell Eco-marathon เป็นการแข่งขันสนามสำคัญที่เชลล์สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมเยาวชนรุ่นใหม่ให้ได้แสดงออกด้านนวัตกรรมและคิดค้นหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานในอนาคต จากรถยนต์ที่ได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นใน 2 ประเภท คือ Prototype และ Urban Concept โดยเน้นที่การขับเคลื่อนไปได้ระยะทางไกลที่สุดจากการใช้พลังงานเทียบเท่าเชื้อเพลิง 1 ลิตร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอนาคต สอดคล้องกับการขับเคลื่อนกลยุทธ์ Powering Progress ที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับทุกคนในอนาคต”

Shell Eco-marathon Asia Pacific and Middle East 2023 แบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภท Prototype Category รถต้นแบบเพื่ออนาคต ซึ่งให้ความสำคัญกับนวัตกรรมการออกแบบพื้นฐานรถที่ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง มี 3 ล้อ น้ำหนักเบา โดยทั่วไปจะออกแบบเพื่อลดความต้านทานและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและประเภท Urban Concept เป็นการออกแบบรถ 4 ล้อโดยคำนึงถึงการใช้งานจริงบนท้องถนนทั่วไป ซึ่งการแข่งขันทั้ง 2 ประเภทนี้ ทีมที่เข้าแข่งขันสามารถเลือก 1 ใน 3 หมวดพลังงานเชื้อเพลิงที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ดีเซล เบนซิน หรือพลังงานทางเลือก เช่น ไฮโดรเจน เอทานอล หรือ พลังงานจากไฟฟ้า/แบตเตอรี่ ที่ใช้ในการแข่งขัน

ด้านนายนัทพงษ์ สิงหกุล ผู้ขับขี่ของทีม VIRGIN นักศึกษาภาควิชาเทคโนโลยียานยนต์ จากวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร ซึ่งได้รับรางวัลที่ 1 ในประเภท Prototype ปะเภทเครื่องยนต์ ICE เชื้อเพลงเอทานอล กล่าวว่า “เราทุกคนในทีมดีใจมากที่สามารถทำผลงานออกมาได้ดีที่สุด เมื่อเทียบกับทีมผู้แข่งขันจากประเทศอื่น ๆ ในประเภทเดียวกัน Shell Eco-marathon เป็นสนามที่ท้าทายศักยภาพ ทั้งด้านการออกแบบและประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงสุดของนักวิศวกรรมยานยนต์ รวมถึงการนำยานพาหนะของเราจากประเทศไทยไปอินโดนีเซียด้วยสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เราฝ่าฟันบนสนามแห่งแรกของการแข่งขันและได้รับชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ในที่สุด”

“นักศึกษาทุกคนในทีมมีความมุ่งมั่นและสปิริตสูง พวกเขาได้เรียนรู้หลายอย่างจากการแข่งขันครั้งนี้ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพของตนเอง เพื่อการพัฒนาพาหนะที่มีประสิทธิภาพด้านการประหยัดพลังงานสูงสุดในอนาคต รางวัลที่ได้รับเป็นเครื่องยืนยันว่า พวกเขาสามารถฝ่าฟันจนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้สำเร็จ และพร้อมที่จะเดินหน้าสู่เป้าหมายที่ท้าทายยิ่งขึ้น ในสนาม Shell Eco-marathon ในครั้งต่อไป” นายประมวล รอนยุทธ อาจารย์ที่ปรึกษาทีม วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร กล่าวในที่สุด

ความสำเร็จจากสนามการเข่งขัน Shell Eco-marathon Asia Pacific and Middle East 2023 ของทีมไทยเป็นเพียงความท้าทายก้าวแรกสำหรับนักศึกษาด้านนวัตกรรมยานยนต์ การพัฒนาเพื่อยกระดับยานยนต์แห่งอนาคตเพื่อการใช้งานได้จริงในประเภท ทีม Urban Concept ให้สำเร็จ เป็นความคาดหวังจากเยาวชนไทยในการแข่งขัน Shell Eco-marathon Asia Pacific and Middle East 2024 ร่วมส่งกำลังใจและรอชมความสำเร็จของเยาวไทยไปพร้อม ๆ กัน