วันจันทร์, กันยายน 16, 2024
Home > Cover Story > ม้าเร็ว คนเร็ว จดหมาย ย้อนยุค 140 ปี ไปรษณีย์ไทย

ม้าเร็ว คนเร็ว จดหมาย ย้อนยุค 140 ปี ไปรษณีย์ไทย

การสื่อสารยุคสมัยใหม่ที่มีหลากหลายรูปแบบ การพูดคุยทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ การส่งข้อความผ่านไลน์ ผ่าน Messenger ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ทวิตเตอร์ สไกป์ ทำให้การเขียนจดหมายกลายเป็นช่องทางที่ล่าช้า ยกเว้นในพื้นที่ห่างไกลที่สื่อสารสมัยใหม่ยังเข้าไปไม่ถึง

หากย้อนรูปแบบการสื่อสารในประเทศไทยสมัยก่อน หลังการสร้างเส้นทางคมนาคมและเส้นทางการค้า มีทั้งการส่งข่าวผ่านกลุ่มพ่อค้า ใช้ม้าเร็ว ตั้งคนเร็วไว้ตามเมืองสำคัญ กระทั่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่สนพระทัยการเขียนจดหมายโต้ตอบเป็นภาษาอังกฤษ และทรงใช้การไปรษณีย์ติดต่อกับประมุข ติดต่อบุคคลทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ปี 2423 เจ้าหมื่นเสมอใจราช หัวหมื่นมหาดเล็กเวรสิทธิ์ ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายคำแนะนำให้เปิดบริการไปรษณีย์ในประเทศไทย ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชดำริเห็นชอบและทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษี สว่างวงศ์กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้ทรงมีประสบการณ์ เกี่ยวกับการจัดส่งหนังสือพิมพ์รายวัน “ข่าวราชการ” ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์

วันที่ 4 สิงหาคม 2426 มีการประกาศเปิดรับฝากส่งจดหมายหรือหนังสือ เป็นการทดลองในเขตพระนครและธนบุรี มีที่ทำการ ณ ตึกใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองโอ่งอ่าง ซึ่งปัจจุบันถูกรื้อและสร้างสะพานคู่ขนานกับสะพานพุทธ เรียกว่า “ไปรษณียาคาร”

ปี 2428 รัฐบาลได้ตรากฎหมายด้านการไปรษณีย์ฉบับแรก “พระราชบัญญัติการไปรษณีย์ไทย จุลศักราช 1248” เพื่อเป็นระเบียบข้อบังคับให้ประชาชนผู้ใช้บริการและเจ้าหน้าที่ถือปฏิบัติ

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2432 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธ์วงศ์วรเดช ทรงดำริให้ตั้ง โรงเรียนไปรษณีย์โทรเลข แต่ไม่มีอาคารเรียน โดยย้ายที่เรียนไปตามที่ต่างๆ หลายแห่ง เช่น ช่วงปี 2487 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนบ้านสมเด็จ ต่อมาไปเรียนที่แพร่งนรา โดยเช่าอาคารของวังกรมพระนราธิปพงศ์ประพันธ์

ปี 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมโทรเลขกับกรมไปรษณีย์ เรียกว่า “กรมไปรษณีย์โทรเลข” และต่อมาได้ย้ายไปใช้อาคารริมถนนเจริญกรุงเป็นที่ทำการ เรียกว่า ที่ทำการไปรษณีย์กลาง

ปี 2496 ปรับปรุงสถานที่ตึกไปรษณียาคาร 1 ที่วัดเลียบ เป็นที่ตั้งโรงเรียนกรมไปรษณีย์โทรเลข ก่อนมีการสร้างอาคารเรียน โรงเรียนกรมไปรษณีย์โทรเลขที่ซอยสายลม ถนนพหลโยธินในปี 2506

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2520 มีการจัดตั้งการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท) ตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 โดยรับมอบกิจการด้านปฏิบัติการทั้งหมด รวมถึงบริการไปรษณีย์จากกรมไปรษณีย์โทรเลข โดยมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ใช้สถานที่ปฏิบัติงาน ณ ที่ทำการไปรษณีย์กลาง และต่อมาสำนักงานใหญ่ย้ายมาอยู่ที่ถนนแจ้งวัฒนะ พื้นที่เดียวกับ กสท

ขณะที่โรงเรียนกรมไปรษณีย์โทรเลขเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนการไปรษณีย์และโทรคมนาคม” จัดการเรียนการสอนแผนกวิชาไปรษณีย์และแผนกวิชาโทรคมนาคม

ปี 2522 ย้ายที่ตั้งโรงเรียนไปสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ ณ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ มีชื่อว่า “โรงเรียนการไปรษณีย์และโทรคมนาคม”

จากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเทียบเท่าภาคเอกชน ซึ่งรวมถึง กสท และเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2546 คณะรัฐมนตรีมีมติแปรสภาพ กสท ตามแผนแม่บทพัฒนากิจการโทรคมนาคมและพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 แยกกิจการเป็น 2 บริษัท คือ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2546 และเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด

ปี 2547 โรงเรียนการไปรษณีย์และโทรคมนาคม เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนการไปรษณีย์” โดยจัดการเรียนการสอนเฉพาะระบบงานไปรษณีย์และหลักสูตรที่เกี่ยวข้องจนถึงปัจจุบัน เมื่อนักเรียนโรงเรียนไปรษณีย์สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแล้วจะได้รับการบรรจุเข้าทำงานเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ตำแหน่งพนักงานไปรษณีย์ 2 ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด รวมถึงจัดสร้างที่ทำการไปรษณีย์แห่งที่ 2 สำนักงานใหญ่แจ้งวัฒนะ

ปีนี้ บริษัท ไปรษณีย์ไทยเตรียมจัดงานใหญ่ฉลอง 140 ปี และจัดงานแสดงตราไปรษณียากรโลก 2566 ในเดือนพฤศจิกายนนี้ที่ไปรษณีย์กลาง บางรัก โดยมีการออกแสตมป์ชุด 140 ปี ไปรษณีย์ไทยและงานแสดงตราไปรษณียากรโลก 2566 รวม 2 ชุด

ชุดแรก คอนเซ็ปต์ scrapbook สมุดบันทึกความทรงจำ วิวัฒนาการของกิจการไปรษณีย์ในประเทศไทย โดยรวบรวมภาพเก่าหายาก ไอเทมชิ้นประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าความเป็นมาของกิจการไปรษณีย์ในสยาม เช่น ประกาศแจ้งการเปิดบริการไปรษณีย์เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2426 ภาพไปรษณียาคาร ที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของไทย ภาพที่ทำการไปรษณีย์รถยนต์ ภาพเครื่องบินยุคแรกที่ใช้ในการขนส่งไปรษณีย์ ภาพแสตมป์และภาพบุรุษไปรษณีย์ในยุคแรก เปิดจำหน่ายแล้ว ราคาชุดละ 20 บาท

ส่วนชุดที่ 2 กำหนดจำหน่ายวันที่ 23 พ.ย. 2566.