ขณะที่ค่ายน้ำเมาในไทยเน้นการแข่งขันกลยุทธ์การตลาดเรื่องรสชาติ กระตุ้นปาร์ตี้สังสรรค์ แฮงก์เอาต์ แต่ในต่างประเทศพยายามเจาะตลาด Eco-Actives รุกกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ที่กำลังเข้ามาแทนที่กลุ่มนักดื่มรุ่นเก่า เพราะในตลาดรวมสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) กลุ่มนี้มีอัตราเติบโตสูงต่อเนื่อง 22% ครอบครองตลาดทั่วโลกถึง 446,000 ล้านดอลลาร์ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 70,000 ล้านดอลลาร์ มูลค่ามหาศาล
ล่าสุด ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ค่ายดิอาจิโอ ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับพรีเมียม ซึ่งมีแบรนด์โด่งดังมากมาย เช่น สก็อตวิสกี้ จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ เบียร์กินเนสส์ ว้อดก้าสเมอร์นอฟ ไอริชครีมเบลีย์ ซิงเกิ้ลมอลต์วิสกี้ เดอะ ซิงเกิลตัน ออฟ เกลน ออร์ด และ ว้อดก้าเคเทลวัน ดำเนินธุรกิจในกว่า 180 ประเทศ ประกาศความร่วมมือกับ ecoSPIRITS บริษัทเทคโนโลยีผู้ผลิตโซลูชันบรรจุภัณฑ์หมุนเวียนในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับพรีเมียม ผุดโครงการนำร่องด้านบรรจุภัณฑ์แนวรักษ์โลก เริ่มต้นด้วยแบรนด์สเมอร์นอฟ และกัปตัน มอร์แกน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมตั้งเป้าขยายผลทั้งเอเชียแปซิฟิกด้วย
ตามแผน ดิอาจิโอจะนำเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ล้ำสมัยมาใช้ในการบรรจุขวด จัดเก็บ กระจาย และจัดจำหน่ายสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบาร์และภัตตาคาร โดยจัดส่งสินค้าในภาชนะ “ecoTote” ซึ่งนำกลับมาใช้ใหม่ได้ให้บาร์ต่างๆ
เมื่อผลิตภัณฑ์ในบรรจุภัณฑ์นั้นหมดบาร์จะส่งภาชนะนั้นกลับมาเติมใหม่ ซึ่งดิอาจิโอ ตั้งเป้าลดคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) และปริมาณขยะจากขวดแก้วบรรจุเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบใช้แล้วทิ้งอย่างต่อเนื่อง
หรือก่อนหน้านี้ค่ายเบียร์ Carlsberg เปิดตัวขวดเบียร์ต้นแบบ 2 แบบที่ทำด้วยกระดาษจากเส้นใยไม้บวกกับฟิล์ม PET พลาสติกพอลีเมอร์รีไซเคิลบางส่วน และฟิล์ม PE พลาสติกชีวภาพที่ใช้ไบโอพอลีเมอร์ 100% โดยเชื่อว่า นวัตกรรมนี้สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นทางเลือกใหม่ให้ผู้บริโภค
ชีวานนท์ ปิยะพิทักษ์สกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ประเทศไทยและมาเลเซีย บริษัทวิจัยการตลาด Kantar, Worldpanel Division กล่าวว่า การเกิดโควิด-19 และภัยพิบัติทั่วโลกทำให้ผู้บริโภคเห็นความยั่งยืนมีความสำคัญมากขึ้น คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากที่สุด โดยแบ่งกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มรักษ์โลก หรือ Eco-Segmentation เป็น 3 กลุ่ม
คือ กลุ่ม Eco-Actives นักชอปที่มีความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมากและลงมือปฏิบัติ กลุ่ม Eco-Considerers นักชอปที่มีความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม แต่แทบไม่ได้ลงมือปฏิบัติ และกลุ่ม Eco-Dismissers นักชอปที่มีความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมเล็กน้อยหรือไม่มีเลย และไม่ได้ลงมือปฏิบัติ โดยช่วงที่ผ่านมากลุ่ม Eco-Actives เติบโตต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น 1% จากปี 2020 และ 6% จากปี 2019
ส่วนกลุ่ม Eco-Dismissers มีจำนวนลดลง โดยครึ่งหนึ่งของประชากรโลกจะกลายเป็นกลุ่ม Eco-Actives ก่อนปี 2030 แม้ Eco-Actives อาจเป็นส่วนน้อยในตอนนี้ แต่คาดการณ์จะเพิ่มขึ้น 2 เท่าใน 6 ปีข้างหน้า และคิดเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรโลกภายในปี 2029
ทั้งนี้ ถ้าเจาะเฉพาะตลาดเหล้าเบียร์ในไทยยังไม่มีชอยส์ในตลาด ส่วนใหญ่เน้น Functional value รสชาติดี เป็นการตลาดยุคก่อน ต่อมาพัฒนาเป็น Emotional value เล่นเรื่องสังสรรค์ปาร์ตี้ Enjoyment แต่ในยุคต่อไปต้องมากกว่า Emotional value เป็น Impact to the world ดื่มแล้วต้องรับผิดชอบต่อโลกด้วย และแบรนด์ที่จะทำแพ็กเกจจิ้งสนับสนุนโลกต้องทำให้ผู้บริโภครับรู้ ไม่ใช่แค่รีไซเคิลอย่างเดียว ผู้บริโภคยุคต่อไปอยากรู้รีไซเคิลอย่างไร มีผลกับโลกอย่างไร มีส่วนช่วยเรื่อง Carbon Footprint ในกระบวนการผลิตอย่างไร
“กลุ่มผู้บริโภคเบียร์เป็นกลุ่มวัยรุ่นเติบโตขึ้นมาแล้ว เขาตระหนักเรื่องภัยธรรมชาติ Climate change ทุกวันนี้ เราขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เบียร์ เราไม่ได้ขายแค่เซกเมนต์เดิมเมื่อสิบปีหรือยี่สิบปีที่แล้วที่เราจะเล่นเรื่องรสชาติเบียร์ ดื่มแล้วนัดเจอเพื่อน นัดสังสรรค์ มันผ่านไปแล้ว ต้องรับผิดชอบต่อสังคม กลุ่มผู้บริโภคเติบโตขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มที่ดื่มทุกวันนี้เป็นเจน X เจน Y”
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยดูเหมือนช้ากว่าต่างประเทศ เพราะการลงทุนเรื่องขวดหรือบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ เป็นต้นทุนที่ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบและจะไปส่งผลต่อผู้บริโภคในเรื่องราคา เหมือนอาหารตามสั่งยังใช้กล่องพลาสติก ไม่ใช้กล่องกระดาษที่รีไซเคิลได้ ไม่เช่นนั้นต้องขายแพงขึ้น แต่ผู้บริโภคยุคใหม่ยังรอคอยทางเลือก อย่างแพ็กเกจจิ้งน้ำเมายังห่อด้วยพลาสติก แต่แพ็กเกจจิ้งดีไซน์ของต่างประเทศเป็นกระดาษทั้งหมด
ขณะเดียวกัน เมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุมวิชาการเสนอผลงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีการนำเสนอรายงานศึกษาการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์เบียร์ (An Assessment of Carbon Footprint of Beer Products) ของนางสาวสุพรรณี มีสุข และ ดร.สุพรรณนิกา วัฒนะ โดยประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์เบียร์ขวด ขนาดบรรจุ 620 มิลลิลิตร เบียร์กระป๋อง ขนาด 320 มิลลิลิตร และผลิตภัณฑ์เบียร์ถัง ขนาด 30 ลิตร พบว่า กระบวนการหาวัตถุดิบมีค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คิดเป็น 47% รองลงมา คือกระบวนการผลิต คิดเป็น 36%
วัตถุดิบสำคัญ คือขวดแก้วสีชาที่เป็นขวดใหม่ มีค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าขวดที่นำมาล้างใช้ซ้ำถึง 45 เท่า ซึ่งทีมศึกษาเสนอนำขวดเก่ามาใช้ในปริมาณเพิ่มมากขึ้น ลดการใช้ขวดใหม่บรรจุเบียร์ ลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการล้างขวดในโรงล้างขวด รวมถึงการใช้พลังงานในกระบวนการผลิต เช่น พลังงานไฟฟ้าและพลังงานไอน้ำ ควรเพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติมากกว่าน้ำมันเตา ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงมาก
ชีวานนท์ย้ำทิ้งท้ายอีกว่า เทรนด์รักษ์โลกเกิดขึ้นนานแล้ว แต่ยังไม่มีแบรนด์ไหนไปถึงจุดนั้นอย่างแท้จริง เพราะต้นทุนการลงทุนสูง ทั้งหมดต้องเกิดจากความร่วมมือของภาครัฐ ผู้ผลิต ผู้ค้า เพื่อให้ต้นทุนถูกลง และไม่ว่าจะเป็นเบียร์หรือสินค้าประเภทใด ออนทอปทุกอย่าง คือ สิ่งแวดล้อม เพราะการใช้ทรัพยากรในการผลิตทุกขั้นตอนส่งผลกระทบต่อโลกและผู้คนเหมือนกันหมด
คาร์บอนฟุตพรินต์เป็น 0 เป้าหมายท้าทายของคนไทย
ประเทศไทยประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น 0 ภายในปี ค.ศ. 2065 โดยมีคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) เป็นตัวชี้วัดปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas emissions and removals) ที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์หรือบริการ หรือจากกิจกรรมการดำเนินงานขององค์กร โดยวัดรวมอยู่ในรูปของตัน (กิโลกรัม) ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
คาร์บอนฟุตพรินต์แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ คาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร เกิดจากกิจกรรมการดำเนินงานขององค์กรกับคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ หรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่วัตถุดิบ กระบวนการผลิต การจัดจำหน่าย การใช้งาน และการจัดการของเสีย
สำหรับฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product: CFP) ของประเทศไทย เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 ภายใต้ความร่วมมือขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) กับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเท็ค) เพื่อประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ โดยปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ขึ้นทะเบียน CFP แล้วกว่า 2,000 ผลิตภัณฑ์ มากกว่า 405 บริษัท
การเลือกซื้อสินค้าหรือบริการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยเป็นทางหนึ่งที่ผู้บริโภคจะมีส่วนร่วมบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กระตุ้นให้ผู้ผลิตพัฒนาสินค้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก เนื่องจากหลายประเทศ ทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น และเกาหลี เรียกร้องให้สินค้านำเข้าจากไทยต้องติดเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพรินต์ เพื่อแจ้งปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ผู้บริโภครับรู้.