วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > “เซเว่นอีเลฟเว่น” รุกขยาย เครือข่ายออนไลน์กินรวบ

“เซเว่นอีเลฟเว่น” รุกขยาย เครือข่ายออนไลน์กินรวบ

 
ทิศทางธุรกิจค้าปลีกครึ่งปีหลังนอกจากเจอปัจจัยลบหนักหน่วง ทั้งหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น กำลังซื้อลดต่ำลง ล่าสุดเหตุระเบิดกลางสี่แยกราชประสงค์ดับฝันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และมีแนวโน้มลุกลามถึงสิ้นปี ส่งผลให้ทุกค่ายเร่งงัดกลยุทธ์ปลุกกำลังซื้อ โดยเฉพาะคอนวีเนียนสโตร์ที่มีลูกค้าระดับกลางและล่างเป็นกลุ่มหลัก แต่ต้องถือว่า “เซเว่นอีเลฟเว่น” มีจุดแข็งด้านเครือข่ายธุรกิจเหนือคู่แข่งหลายขุมมาก
 
ล่าสุด ค่ายเทสโก้โลตัสประกาศยุบโมเดลร้านสะดวกซื้อ “365” และปิดสาขานำร่องทั้ง 5 แห่ง แม้อ้างเหตุผลข้อสำคัญ เพื่อหันมาโฟกัสโมเดลเอ็กซ์เพรส เพราะตอบโจทย์ผู้บริโภคมากกว่าคอนวีเนียนสโตร์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นสำคัญอยู่ที่ความสามารถในการแข่งขัน ทั้งที่ทำเลร้าน 365 ล้วนอยู่ใจกลางเมืองและชุมชนหนาแน่น เช่น ประตูน้ำ ทองหล่อ จนต้องถอยกลับมาหาจุดแข็งเดิมเรื่องความหลากหลายและสินค้าราคาถูก 
 
ที่สำคัญ การรุกตลาดของเซเว่นอีเลฟเว่นไม่ใช่แค่หน้าร้านที่มีมากกว่า 8,500 สาขาทั่วประเทศ แต่ยังมีช่องทางออนไลน์ ซึ่งกำลังรุกขยายตลาดใหม่ เจาะกลุ่มลูกค้าใหม่และเปิดเซกเมนต์ใหม่อย่างเข้มข้นด้วย 
 
ปัจจุบัน ภายใต้บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) มีเครือข่ายธุรกิจสนับสนุนคอนวีเนียนสโตร์แบรนด์ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด ตัวแทนรับชำระเงินค่าสินค้าและบริการ และเป็นนายหน้าประกันชีวิตและประกันวินาศภัย บริษัท ซีพีแรม จำกัด ผลิตและจำหน่ายอาหารแช่แข็งและเบเกอรี่ บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด จำหน่ายและซ่อมแซมอุปกรณ์ค้าปลีก เช่น อุปกรณ์ชงกาแฟ เครื่องทำน้ำแข็งเกล็ด เครื่องปั่นสมูตตี้ 
 
บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด ให้บริการจัดหาเครื่องรับบัตร ให้บริการบันทึกข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตรเงินสด บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด บริการด้านระบบสารสนเทศ บริษัท เอ็ม เอ เอ็ม ฮาร์ท จำกัด บริการด้านกิจกรรมการตลาด การออกแบบโฆษณา บริษัท ไดนามิค แมนเนจเม้นท์ จำกัด บริการด้านโลจิสติกส์และซื้อขายสินค้าทั่วไป
 
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทลูกทำหน้าที่ผลิตผู้จัดการร้าน พนักงานขาย อย่างบริษัท ศึกษาภิวัฒน์ จำกัด โดยมีวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ เปิดสอนในระดับอาชีวศึกษา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จัดหลักสูตรระดับปริญญาตรีและปริญญาโท รวมทั้งมีบริษัท ปัญญธารา จำกัด ทำหน้าที่ฝึกอบรม จัดสัมมนาทางวิชาการ และบริษัท ออลล์ เทรนนิ่ง จำกัด พัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง
 
ขณะเดียวกัน ในแง่ช่องทางจำหน่าย ซีพีออลล์วางยุทธศาสตร์การขยายธุรกิจค้าปลีก ด้านหนึ่งขยายช่องทางจำหน่าย อีกด้านหนึ่งแตกไลน์แบรนด์ธุรกิจค้าปลีก นอกเหนือจาก “เซเว่นอีเลฟเว่น” ได้แก่ บุ๊คสไมล์ (Book Smile) จำหน่ายหนังสือและวารสารต่างๆ ร้านสุขภาพและความงามเอ็กซ์ต้า (eXta) จัดจำหน่ายสินค้าประเภทยาและเวชภัณฑ์ สินค้าสุขภาพ และเครื่องสำอาง
 
คัดสรร (Kudsan) จำหน่ายสินค้าที่คัดสรรพิเศษทั้งกาแฟและเบเกอรี่ และกำลังปั้นแบรนด์ “All meal-All cafe” มุมบริการอาหารปรุงสด กาแฟสด โดยทดลองในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นบางสาขา 
 
ขณะที่แตกแบรนด์ร้านกาแฟพรีเมียมสไตล์อิตาลี เบลลินี (Bellinee’s)  มีเบเกอรี่อบสดและเค้ก โดยขยายสาขาแยกออกจาก “คัดสรร” ซึ่งล่าสุด ร้านกาแฟเบลลินี่ เปิดแล้ว 9 สาขา หลังจากรุกเงียบทดลองสาขาแรกที่พลาซ่าลากูน วังหิน และส่วนใหญ่เปิดอยู่ในห้างแม็กซ์แวลู่ เพราะเน้นกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูง เช่น แม็กซ์แวลู่สาขาราชพฤกษ์  ปัญญาวิลเลจ คู้บอน พาร์คเลนเอกมัย นวมินทร์ รวมทั้งเปิดสาขาที่อาคาร ก.ล.ต. และ CP ALL Academy 
 
ส่วนอีก 2 ช่องทางจำหน่ายสำคัญที่ซีพีออลล์ทุ่มงบยกเครื่องใหม่ คือ ธุรกิจ 7-Catalog Order หรือบริการการสั่งซื้อสินค้าผ่านวารสารแค็ตตาล็อก และทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง (24shopping) ช่องทางจัดจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ โดยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด เมื่อปี 2557 เพื่อรุกธุรกิจอี-คอมเมิร์ซอย่างเต็มรูปแบบ 
 
ทั้งนี้ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จะให้บริการสั่งจองและจัดจำหน่ายสินค้ามากกว่า 5,000 รายการใน 9 กลุ่มสินค้าหลัก เช่น เครื่องนอน เครื่องครัว แฟชั่น ของเล่น โดยมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าหลากหลายมาก ตั้งแต่การจำหน่ายสินค้าในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น การจำหน่ายผ่านนิตยสารเซเว่นแค็ตตาล็อก การจำหน่ายผ่านรายการโฮมช้อปปิ้งทางช่องทรูซีเล็คท์ของทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี การสั่งสินค้าผ่านศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลข 02-711-7666 
 
และที่สำคัญ คือการจำหน่ายผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซ 4 เว็บไซต์ ได้แก่ www.7catalog.com, www.Shopat 7.com, www.amuletat7.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์บูชาเช่าพระเครื่อง และ www.booksmile.com รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการรับส่ง-จอง และรับสินค้าพิเศษได้ที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ทุกสาขาตลอด 24 ชั่วโมง
 
ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง ยังเปิดตัวเว็บไซต์ขายสินค้า www.taiwang.com เจาะกลุ่มลูกค้าชาวจีน ซึ่งเข้ามาเที่ยวในไทยจำนวนมาก และมีผู้นิยมซื้อสินค้าผ่านหน้าร้าน (เซเว่นอีเลฟเว่น) เพื่อใช้เองและซื้อกลับไปใช้ที่จีนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าความงาม เครื่องสำอาง รวมทั้งตั้งเป้าขยายช่องทางเจาะกลุ่มลูกค้าตลาดอาเซียน (เออีซี) ในอนาคต 
 
อำพา ยงพิศาลภพ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง กล่าวว่า ปีนี้ บริษัทลงทุน 150 ล้านบาท ปรับระบบการซื้อขายผ่านออนไลน์ โดยใช้ระบบจากเยอรมนี คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2559 เพื่อรองรับการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์และเทคโนโลยี 4จี ที่จะกระตุ้นตลาดคึกคักมากยิ่งขึ้น จากปัจจุบัน ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง มียอดลูกค้าราว 1.7 ล้านราย อัตราเติบโตเฉลี่ย 7% และมีลูกค้าใหม่เข้ามาในระบบไม่ต่ำกว่า 55,000 รายต่อเดือน 
 
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบรายได้ผ่านระบบออนไลน์ยังมีสัดส่วนน้อย โดยปี 2557 ยอดขายรวม 3,400 ล้านบาท มาจากการซื้อขายผ่านร้านเซเว่นอีเลฟเว่น 70% มาจากนิตยสารเซเว่นแค็ตตาล็อก 15-20% และมาจากช่องทางออนไลน์อีก 10-15% แต่ตั้งเป้าภายใน 3 ปีจะทำรายได้ถึงหลัก 1,000 ล้านบาท จากยอดขายรวมทุกช่องทาง 10,000 ล้านบาท
 
แน่นอนว่า สงครามคอนวีเนียนสโตร์กำลังขยายแนวรบจาก “ออฟไลน์” สู่ “ออนไลน์” ทั้งแฟมิลี่มาร์ท ซึ่งเร่งซินเนอยี่กับบริษัทแม่เซ็นทรัลรุกอี-คอมเมิร์ซ หรือกลุ่ม ปตท. ที่เริ่มชิมลางส่ง “จอยคาเฟ่คอนวีเนียน” และบุกสมรภูมิชอปปิ้งออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ CLICK2JOY 
 
แต่ดูเหมือนผู้นำตลาดอย่าง “เซเว่นอีเลฟเว่น” ขยับตัวเร็วกว่าหลายช่วงตัวแล้ว