วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 2, 2024
Home > Cover Story > คาเฟ่อเมซอน ยึดอาเซียน “พันธุ์ไทย” ปักหมุด PUN CAFE

คาเฟ่อเมซอน ยึดอาเซียน “พันธุ์ไทย” ปักหมุด PUN CAFE

ตลาดอาเซียนเป็นอีกสมรภูมิร้านกาแฟที่แข่งขันดุเดือด โดยเฉพาะ 2 แบรนด์ใหญ่ในกลุ่มบริษัทน้ำมันของไทย คือ คาเฟ่อเมซอน (Café Amazon) ของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กับ “อินทนิล” ค่ายบางจากคอร์ปอเรชั่น (BCP) และล่าสุด “กาแฟพันธุ์ไทย” ในเครือ พีทีจี เอ็นเนอยี ได้ฤกษ์ส่ง “ปันคาเฟ่” (Pun Café) เข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่ง โดยปักหมุดแรกในสถานีรถไฟความเร็วสูงเวียงจันทน์ สปป. ลาว ก่อนตะลุยต่อเนื่องอีก 5 สาขาในปีนี้

ด้านบริษัทที่ปรึกษาด้านการค้าปลีก Momentum Works รายงานข้อมูลปี 2566 มี 5 แบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่เร่งรุกตลาดอาเซียน ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย พบว่า คาเฟ่อเมซอนมีจำนวนสาขามากที่สุดเป็นอันดับ 1 ซึ่งตามแผนของ OR ตั้งเป้าขยายการเปิดร้านในต่างประเทศให้ถึง 1,000 สาขา ภายในปี 2568-2570 จากจำนวนสาขาทั้งหมดเมื่อปี 2566 รวม 4,552 สาขา อยู่ในประเทศไทย 4,159 สาขา และต่างประเทศอีกราว 400 สาขา ใน 10 ประเทศ ได้แก่ จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว กัมพูชา พม่า ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น โอมาน และซาอุดีอาระเบีย

อันดับ 2 ร้านกาแฟสตาร์บัคส์จากสหรัฐอเมริกา มีสาขามากกว่า 2,000 แห่ง

อันดับ 3 ร้านกาแฟดังกิ้นจากสหรัฐอเมริกาเช่นกัน จำนวนมากกว่า 1,300 สาขา

ส่วน “อินทนิล” อยู่อันดับ 4 มีมากกว่า 1,000 สาขา และบริษัท บางจาก รีเทล จำกัด ในเครือ BCP ตั้งเป้าขยายสาขาครบ 2,500 สาขา ภายในปี 2570 ผ่านเครือข่ายแฟรนไชส์ทั่วประเทศไทยและในต่างประเทศ โดยพุ่งเป้าสองประเทศ คือ สปป. ลาว และกัมพูชา

อันดับ 5 ร้านกาแฟโกปี้ แจนจิ จิวา ของอินโดนีเซีย กว่า 900 สาขา

อันดับ 6 ร้านกาแฟโกปี้ คีแนนกัน จากอินโดนีเซีย เปิดสาขามากกว่า 800 แห่ง และอันดับ 7 ร้านกาแฟไฮแลนด์ส คอฟฟี่ จากประเทศเวียดนาม มีสาขาในอาเซียนมากกว่า 800 แห่ง

สุขวสา ภูชัชวนิชกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด กล่าวว่า กาแฟพันธุ์ไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากการขยายสาขาทั่วประเทศไทย จำนวนกว่า 900 สาขา และถึงเวลาเปิดประตูรุกตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) โดยประเดิมร่วมมือกับ บริษัท มัลติเพล็กซ์ จำกัด สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผู้ได้รับสิทธิ์บริหารร้านกาแฟแบรนด์ “ปันคาเฟ่” เปิดสาขาแรกภายในสถานีรถไฟความเร็วสูงเวียงจันทน์ ขบวนรถไฟโดยสารข้ามประเทศระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว กับ นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน และวางแผนขยายไปยังเมืองอื่นๆ อีก 5 สาขา เช่น ในเมืองหลวงพระบางและนาไซ

สำหรับการเลือกปักหมุดแรกที่ สปป.ลาว  เพราะมีพรมแดนติดกับประเทศไทย มีความคล้ายคลึงกันทั้งด้านภาษาและวัฒนธรรม ทำให้การติดต่อสื่อสารและการเดินทางขนส่งเป็นไปได้ง่าย

ที่สำคัญ คือ ศักยภาพด้านเศรษฐกิจ มีโอกาสเติบโตในระยะยาวจากหลากหลายปัจจัย ทั้งการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว การเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง สปป. ลาว-จีน ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย เป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจจีน – อินโดจีน ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐบาลของ สปป. ลาว ตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจถึง 4.5% ในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ที่ 4.2% ในปี 2566 ซึ่งเป็นโอกาสขยายตลาดลูกค้าใหม่ๆ สร้างยอดขายและผลักดันแบรนด์กาแฟไทย

ขณะเดียวกัน การเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงข้ามประเทศจากเวียงจันทน์ สปป. ลาว ถึงนครคุนหมิงของจีน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564-ธันวาคม 2566 มีปริมาณการขนส่งสินค้ามากถึง 29.1 ล้านตัน และผู้โดยสารมากถึง 24.2 ล้านคน

ส่วนชื่อ “ปันคาเฟ่” มาจากแนวคิดการเปิดกว้างทุกด้าน ทั้งการใช้วัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของลาว ไม่จำกัดเฉพาะของไทย การแบ่งปันสร้างอาชีพให้คนท้องถิ่น  เช่น บาริสต้า พนักงานในร้าน ซึ่งเป็นคนสัญชาติลาว 100% ใช้ชุดแต่งกายผ้าซิ่นทอมือ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมจากภูมิปัญญาของชาวบ้านในชุมชนชาวลาวที่สืบต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนี้ ยังต้องการให้ปันคาเฟ่มีโอกาสทางธุรกิจขยายไปได้ทุกที่ ไม่มีข้อจำกัดจากชื่อของแบรนด์ โดยสาขาแรกเป็นโมเดล Kiosk พื้นที่ 45 ตารางเมตร จำนวน 12 ที่นั่ง

ด้านเมนูอาหารและเครื่องดื่มไม่ต่างจากร้านสาขาในประเทศไทย โดยเฉพาะเมนูซิกเนเจอร์จากตาลโตนดและส้มมะปี๊ด ทั้งกาแฟและชา ราคาเริ่มต้น 46,000 กีบ หรือประมาณ 79 บาท เมนูแซนด์วิช วาฟเฟิล พาย โจ๊กหมู โจ๊กไก่ และข้าวพร้อมรับประทาน เช่น  ข้าวกะเพราไก่ ข้าวผัดแฮม ราคาเริ่มต้น 42,000 กีบ หรือประมาณ 73 บาท และเตรียมขยายบริการจัดอาหารว่างหรือสแน็กบ็อกซ์ให้หน่วยงานราชการและลูกค้ากลุ่มจัดเลี้ยง จัดประชุม บริการงานออกบูธนอกสถานที่

แน่นอนว่า ค่ายโออาร์ย่อมรับรู้สัญญาณการเปิดเกมรุกของพันธุ์ไทย โดยเฉพาะใน สปป. ลาว ซึ่งคาเฟอเมซอนถือเป็นร้านกาแฟแบรนด์ต้นๆ ที่เข้ามาบุกเบิกตลาด สปป. ลาว ตั้งแต่ปี 2555 โดยปัจจุบันเปิดให้บริการรวมมากกว่า 92 สาขา ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวลาว และตั้งเป้าเพิ่มสาขารวมมากกว่า 100 สาขาทั่วประเทศในปี 2567

ช่วงปลายปี 2566 โออาร์ได้ทุ่มงบเปิดร้านคาเฟ่ อเมซอน คอนเซ็ปต์สโตร์ สาขาโรงกายะสิน ณ เมืองจันทะบูลี นครหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว อย่างเป็นทางการ  ถือเป็น Concept Store แห่งแรกในต่างประเทศ และแห่งแรกใน สปป. ลาว ที่พร้อมเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของนครหลวงเวียงจันทน์ ภายใต้แนวคิด The door to the local culture นำเสนอเรื่องราวความน่ารักของท้องถิ่นที่ตั้งของร้านมาผสานกับการดำเนินธุรกิจ ถ่ายทอดผ่านเอกลักษณ์ต่างๆ

บริษัทวางแผนขยาย Concept Store ไปยังเมืองต่างๆ และกำหนดเมนูพิเศษประจำร้านตามทำเลที่ตั้ง หรือใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น สร้างเอกลักษณ์ผ่านเครื่องดื่มสูตรพิเศษ (Signature Menu) โดยเมนูพิเศษของ Café Amazon Concept Store สาขาโรงกายะสิน ได้แก่ เครื่องดื่มตำบักหุ่ง (Tum Mak Hoong) ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากส้มตำลาว และใช้ชาขาว 400 ปี ซึ่งเป็นสินค้าหลักของบ้านกอแมน แขวงพงสาลี ทางตอนเหนือสุดของลาวเป็นเบสของเครื่องดื่ม ผสมไซรัปแตงกวา ให้รสชาติเปรี้ยวอมหวาน

มีเบียร์ลาวกระเจี๊ยบ (Roselle Beer Laos) จากเบียร์ลาวผสมกับไซรัปกระเจี๊ยบ และกาแฟ กายะสิน แฟลบเป้ (Kayasin Frappe) ซึ่งนำกาแฟมาปั่นกับนมมะพร้าว รวมทั้งเปิดบาร์เสิร์ฟเครื่องดื่มแบบพิเศษ หรือ Concept bar ใช้เมล็ดกาแฟคัดพิเศษจากเมืองปากซอง แขวงจำปาสัก

ขณะที่เวียดนาม ซึ่งเป็นอีกประเทศที่มีการเติบโตสูงและตลาดกาแฟมีมูลค่าสูงกว่า 6,000-7,000 ล้านบาท อัตราเติบโต 8-9% ต่อปี เพราะอัตราการบริโภคกาแฟของคนเวียดนามสูงกว่าคนไทยถึง 5 เท่า นิยมดื่มกาแฟวันละหลายแก้ว ในหลายโอกาสของวันนั้น โออาร์ร่วมมือกับบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (ซีอาร์จี) ในกลุ่มเซ็นทรัล ตั้งบริษัทร่วมทุนในเวียดนาม เปิดคาเฟ่ อเมซอน ภายใต้แนวคิด Restful Oasis for City Lifestyle หรือ โอเอซิสใจกลางเมือง ซึ่งสามารถเปิดสาขาใหม่ได้ต่อเนื่องเช่นกัน

ในส่วนบริษัท บางจาก รีเทล ในเครือ BCP มอบสิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์ให้ผู้ร่วมทุนในกัมพูชาและลาว เพื่อเปิดร้านกาแฟภายใต้คอนเซ็ปต์ More than just a high quality coffee และร้านแฟล็กชิปสโตร์ แม้ต้องหยุดชะงักช่วงสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด แต่ยังพุ่งเป้าหมายขยายสาขาให้ได้ 100 แห่งในทั้งสองประเทศ

ต้องยอมรับว่า พีทีจี เอ็นเนอยี กำลังเปิดเกมรุกตลาดร้านกาแฟในกลุ่มบริษัทน้ำมัน ไม่ใช่เฉพาะตลาดอาเซียนผ่าน “ปันคาเฟ่” แต่พยายามปูพรมสาขากาแฟพันธุ์ไทยเจาะพื้นที่ในประเทศไทยผ่านสาขาแฟรนไชส์ไล่จี้ “คาเฟ่ อเมซอน” ตามโรดแมป “PTG Business Outlook : Drive for Tomorrow” ภายในปี 2570-2571 จะมี Retail Oil Market Share กว่า 25% มีจำนวนสมาชิก Max Card กว่า 30 ล้านสมาชิกครอบคลุมคนไทยทั่วประเทศ และมีจำนวนสาขากาแฟพันธุ์ไทยกว่า 5,000 สาขา

ทั้งหมดเป็นการแต่งตัวบริษัท กาแฟพันธุ์ไทย ตามแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายในปี 2568 เพราะเมื่อถึงเวลานั้นทั้งการระดมทุนและความแข็งแกร่งย่อมหมายถึงโอกาสเอาชนะเจ้าตลาดจะยิ่งเข้าใกล้ความจริงมากขึ้น.