วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > ถอดรหัส “วรวุฒิ อุ่นใจ” ดัน “เซ็นทรัลออนไลน์” โตหมื่นล้าน

ถอดรหัส “วรวุฒิ อุ่นใจ” ดัน “เซ็นทรัลออนไลน์” โตหมื่นล้าน

 
 
20 กว่าปีก่อน “วรวุฒิ อุ่นใจ” เข้ามาพลิกฟื้นธุรกิจครอบครัว ร้านขายเครื่องเขียน “กิจวิทยา สเตชั่นเนอรี่” ที่กำลังอยู่ในสภาพย่ำแย่ เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจากลูกค้าทั่วไปเป็นกลุ่มองค์กร ฝ่ายจัดซื้อของบริษัทต่างๆ จนในที่สุดกลายเป็นจุดเริ่มก่อตั้งบริษัท ออฟฟิศเมท จำกัด สร้างกลยุทธ์ใหม่ขายสินค้าผ่านแค็ตตาล็อก และรับคำสั่งซื้อทางโทรศัพท์ หรือ Call Center แข่งขันกับซูเปอร์สโตร์อย่าง “แม็คโคร ออฟฟิศ” และ “ออฟฟิศดีโป” 
 
เปิดบริษัทแค่ 2 ปี เจอวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แต่ออฟฟิศเมทใช้เวลาไม่ถึง 6 เดือน พลิกสถานการณ์สร้างยอดขายเติบโตขึ้น 3 เท่า และเดินหน้าพัฒนาธุรกิจ ทำระบบการสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ ซีดี-รอม แค็ตตาล็อก นำระบบโรดแมปควบคุมและวางแผนเส้นทางการจัดส่งสินค้า การปรับปรุงระบบคอลเซ็นเตอร์ เริ่มพัฒนาสินค้าเฮาส์แบรนด์ ในชื่อ “Dee Den” และ “Furradec”
 
ปี 2542 วรวุฒิเปิดเว็บไซต์ www.officemate.co.th เพิ่มช่องทางการสั่งสินค้าของลูกค้าง่ายยิ่งขึ้น
 
ปี 2544-2546 ออฟฟิศเมทอยู่ในช่วงสร้างองค์ประกอบรองรับการขยายธุรกิจ เริ่มจากการตั้งคลังสินค้าขนาด 2,000 ตารางเมตร เปิด  Intelligent Call Center พัฒนาระบบ ระบบสั่งซื้ออิเล็กทรอนิกส์เฉพาะแต่ละองค์กร (e-Procurement) และรุกธุรกิจการซื้อขายอี-คอมเมิร์ซ B2B  
 
“ออฟฟิศเมท” กลายเป็นธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ รายใหญ่เบอร์แรกๆ ของคนไทย ยอดขายและรายได้เติบโตต่อเนื่อง จนต้องขยายคลังสินค้าเพิ่มเป็น 7,200 ตารางเมตร เพื่อรองรับสินค้ามากกว่า  20,000 รายการ และแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2551 ทุนจดทะเบียน 80 ล้านบาท  
 
ปี 2552 บริษัทเปิดตัวเว็บไซต์ใหม่ www.trendyday.com จำหน่ายสินค้าออนไลน์เจาะคนรุ่นใหม่ที่นิยมสั่งซื้อสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ต อายุ 18-35 ปี โดยมีสินค้าให้เลือกมากกว่า 2,000 รายการ รวม 9 หมวด เช่น เครื่องสำอาง หนังสือ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ สินค้าพรีเมียม ของเล่นเด็ก ไม่ใช่แค่อุปกรณ์สำนักงานหรือเครื่องเขียน โดยเป็นสินค้าแบรนด์เนม และราคาถูกกว่าท้องตลาด 20%
 
ที่สำคัญ www.trendyday.comจะเป็นมากกว่าอี-คอมเมิร์ซ แต่จะเป็น ECC หรือ Electronic community Commerce เป็นสังคมออนไลน์ที่เข้ามาเลือกพูดคุย หาเพื่อนใหม่ ซื้อของชอปปิ้ง ในสิ่งที่ชอบเหมือนๆ กัน ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมและมีจุดแข็งด้านบริการดีลิเวอรีด้วย
 
ปี 2553 บริษัทรุกตลาดช่องทางออนไลน์ ขยายฐานตลาดการขยายสินค้าผ่านเว็บไซต์ www.trendyday.com สู่กลุ่มโฮมยูส หรือเท่ากับยึดตลาดทุกกลุ่มลูกค้า ทั้งวัยรุ่น กลุ่มครอบครัว กลุ่มองค์กรธุรกิจเอกชนและภาครัฐ   
 
ในปีเดียวกัน วรวุฒินำหุ้นของบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) โดยเข้าซื้อขายวันแรก เมื่อ 28 กรกฎาคม 2553 จังหวะนั้นถือเป็นช่วงพีคของ “ออฟฟิศเมท” เพราะตลาดอี-คอมเมิร์ซในไทยเริ่มเติบโตชัดเจน อัตราขยายตัวก้าวกระโดดจาก 25% สูงถึง 50% เฉพาะปี 2552 ตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่ามีมูลค่า 600,000 ล้านบาท เปรียบเทียบกับจำนวนประชากรคนไทยมีการเล่นอินเทอร์เน็ต 15 ล้านคน มีเพียง 400,000 กว่ารายที่กล้าสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ ต่างจากเกาหลี ญี่ปุ่น อเมริกา ลิบลับ 
 
หลายๆ ธุรกิจเห็นโอกาสเจาะช่องทางธุรกิจออนไลน์อย่างจริงจังมากขึ้นและ “ออฟฟิศเมท” คือ บริษัทที่มีหลายธุรกิจต้องการเข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมทุนด้วย 
 
ปี 2554 บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อหุ้นบริษัท ออฟฟิศเมท จำกัด (มหาชน) จำนวน 4 ล้านหุ้น มูลค่า 40 ล้านบาท หวังต่อยอดธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) โดยกลุ่มแกรมมี่ต้องการเพิ่มฐานลูกค้าและช่องทางการจัดจำหน่ายในระบบออนไลน์นอกเหนือจากเว็บไซต์ www.gmember.com และ shopping8000  ขณะที่ออฟฟิศเมทสามารถเพิ่มสินค้าในแค็ตตาล็อกจากเครือจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ซึ่งมีความแข็งแกร่งในเนื้อหาด้านบันเทิง 
 
แต่เพราะปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์แพร่ระบาดอย่างหนัก และการใช้เม็ดเงินมหาศาลในกลุ่มธุรกิจทีวีดาวเทียม ทีวีดิจิตอล ทำให้ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ต้องตัดขายธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก ซึ่งรวมถึงการขายหุ้นออฟฟิศเมท 
 
ปี 2555 ทศ จิราธิวัฒน์ ในนามกลุ่มจิราธิวัฒน์ ประกาศนำบริษัท บีทูเอส และบริษัท ออฟฟิซ คลับ (ไทย) ผู้บริหารร้าน “ออฟฟิศ ดีโป” ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องใช้เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน และบริการครบวงจร  เข้าควบรวมกิจการกับบริษัท ออฟฟิศเมท เพื่อนำสินค้าที่หลากหลายในกลุ่มค้าปลีกเครือเซ็นทรัล มาต่อยอดในธุรกิจออนไลน์
         
ทั้งนี้ สินทรัพย์บีทูเอส และออฟฟิซ คลับ (ไทย) ณ สิ้นปี 2555 มีมูลค่ารวมกันกว่า 3,400 ล้านบาท และมียอดขายรวมกว่า 6,700 ล้านบาท ดังนั้น ภายหลังการควบรวมกิจการส่งผลให้ “ออฟฟิศเมท” มีสินทรัพย์รวมกว่า 4,000 ล้านบาท และมียอดขายรวมกว่า 8,000 ล้านบาทต่อปี 
 
26 ธันวาคม 2555  บมจ. ออฟฟิศเมท (OFM) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอย้ายเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ กลุ่มบริการ หมวดพาณิชย์ 
 
ทศ จิราธิวัฒน์ ประกาศชัดเจนถึงการควบรวมกิจการครั้งนั้นว่า วรวุฒิจะเข้ามามีบทบาทในการผลักดันสินค้าของกลุ่มเซ็นทรัลเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์อย่างเต็มตัว เพื่อเตรียมพร้อมรับการเปิดตลาดเออีซี โดยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทออฟฟิศเมท บริหารจัดการธุรกิจหลักของทั้ง 3 บริษัท คือ บริษัทออฟฟิศเมทเดิม บริษัท ออฟฟิซ คลับ (ไทย) และบริษัทบีทูเอส
 
ล่าสุด “ออฟฟิศเมท” เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) โดยวรวุฒินั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและถือเป็นซีอีโอกลุ่มธุรกิจออนไลน์ในอาณาจักรเซ็นทรัลกรุ๊ป 
         
ตามแผนของทศที่มองธุรกิจออนไลน์มีการขยายตัวปีละไม่ต่ำกว่า 100% มูลค่าตลาดรวมมากกว่า  80,000-90,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเฉพาะธุรกิจออนไลน์ที่มีระบบจัดส่ง มีมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท และแนวโน้มโลกพบว่าในอีก 10 ปีจากนี้ ธุรกิจออนไลน์อย่างอะเมซอนจะมีรายได้เกินธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่อย่างวอลมาร์ท
 
ขณะที่เซ็นทรัลกรุ๊ปในฐานะผู้นำในธุรกิจค้าปลีก ยอดขายเป็นหลักแสนล้านบาท ธุรกิจออนไลน์จะเข้ามาต่อยอดธุรกิจค้าปลีกในประเทศและการทำตลาดทั่วโลก หากธุรกิจออนไลน์สร้างรายได้ สัดส่วนแค่ 10-20% หมายถึงยอดขายไม่ต่ำกว่า  20,000-30,000 ล้าน และตั้งเป้าเป็นผู้นำตลาดออนไลน์ในระดับภูมิภาคอาเซียนด้วย
 
ถอดรหัสเส้นทางธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ของ “วรวุฒิ อุ่นใจ” เป้าหมายของทศ จิราธิวัฒน์ แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ใช่เรื่องยากเช่นกัน