วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Cover Story > โครงข่ายศูนย์การค้า CPN ตั้งหลัก-ปักหมุดดูดเงิน AEC

โครงข่ายศูนย์การค้า CPN ตั้งหลัก-ปักหมุดดูดเงิน AEC

 

เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทุกต้นปี “กลุ่มเซ็นทรัล” และแต่ละกลุ่มธุรกิจในเครือเซ็นทรัลจะทยอยออกมาแถลงผลประกอบการและทิศทางการดำเนินงานต่อสื่อมวลชน สำหรับปีนี้ ทิศทางของกลุ่มเซ็นทรัลดูจะมุ่งเน้นไปที่ความตื่นตัวในการรองรับการเปิดตัวของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ดังจะเห็นได้จากหัวข้อการเสวนาที่ถูกจัดขึ้นพร้อมกับการแถลงประจำปีครั้งนี้ นั่นคือ “AEC Challenge” 
 
“ภูมิภาคอาเซียนจะเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ เพราะกลุ่ม AEC มี GDP ทั้งหมด 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มีประชากร 600 ล้านคน ถือเป็นกลุ่มที่จะมีศักยภาพมาก สำหรับทิศทางในการลงทุนของเรา ก็ยังคงจะเน้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากประเทศจีนและอิตาลีที่ลงทุนไปแล้ว เราก็คงจะเน้นขยายในภูมิภาคนี้เป็นหลัก” สุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล เกริ่น
 
สำหรับกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN ดูเหมือนกลยุทธ์สำคัญในการเตรียมพร้อมเข้าสู่ AEC ของกลุ่มคงอยู่ที่การเร่งเปิดศูนย์การค้าให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค โดยเฉพาะเข้าไปจับจองพื้นที่ในจังหวัดที่อยู่ติดหรืออยู่ใกล้กับชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรองรับการหลั่งไหลมาของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นอีกมากภายหลังเปิด AEC อย่างเป็นทางการ ในปี 2558 
 
ณ ชายแดนทางด้านเหนือ กลุ่ม CPN ได้ปักหมุดในจังหวัดเหนือสุดของสยามด้วย การเปิดตัว “เซ็นทรัลพลาซา เชียงราย” ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2554 เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนตอนล่าง ประเทศลาวตอนบน และประเทศพม่าตอนกลาง โดยในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน CPN ยังได้เปิดศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ในจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของไทย และมีถนนสายเอเชียแนวตะวันออก-ตก ตัดผ่านกับเส้นทางเอเชียแนวเหนือ-ใต้ ณ บริเวณสี่แยกอินโดจีน 
 
นอกจากนี้ ปลายปีที่ผ่าน CPN ยังได้เปิดตัวศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาขึ้นอีกแห่ง ณ จังหวัดลำปาง และในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ CPN ยังเตรียมตัวที่เปิดตัวเซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่ ซึ่งมีพื้นที่กว่า 2.5 แสน ตร.ม. และใช้งบลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท โดยเป็นการสร้างเพิ่มในเชียงใหม่จากที่มีอยู่แล้ว 1 แห่ง คือ เซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต ซึ่งมีพื้นที่ถึง 1.75 แสน ตร.ม.  
 
“ในภาคเหนือ กลุ่ม CPN ได้เติมเต็มหัวเมืองใหญ่ๆ เกือบครบทุกจังหวัดแล้ว วันนี้ ดีใจที่เรากลายเป็นผู้นำทางด้านค้าปลีกในภาคเหนืออย่างแท้จริง” วัลยา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ ออกแบบ และก่อสร้าง ของ CPN กล่าวอย่างภูมิใจ
 
ขณะที่กำลังซื้อจากประเทศลาว ทางด้านอีสาน กลุ่ม CPN ได้เปิดศูนย์การค้า “เซ็นทรัลพลาซา” ในจังหวัดอุดรธานีและขอนแก่น ตั้งแต่ปี 2552 และต่อยอดปรับปรุง “เซ็นทรัล อุดรฯ” เพื่อขยายพื้นที่ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิมถึง 2 เท่าเมื่อปลายปี 2555 ที่ผ่านมา หลังจากพบว่า ห้างเซ็นทรัล อุดรฯ มีประชาชนลาวเดินทางจากเวียงจันทน์ เข้ามาท่องเที่ยวและใช้จ่ายทุกช่วงสุดสัปดาห์ และคาดว่าน่าจะมีนักช้อปเข้ามาเพิ่มขึ้นอีกหลังจากเปิด AEC 
 
ทั้งนี้ ในเดือน เม.ย. ปีนี้ CPN ยังเตรียมเปิดตัว “เซ็นทรัลพลาซา” แห่งใหม่ที่มีขนาดใหญ่ถึง 1.4 แสน ตร.ม. ณ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประตูระหว่างอีสานใต้และลาวตอนใต้ 
 
สำหรับ “ประตู” ทางภาคใต้ CPN ได้เปิดตัว “เซ็นทรัลพลาซา สุราษฎร์ธานี” เมื่อเดือน ต.ค. ปีที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ยังได้ทำการขยายพื้นที่ของเซ็นทรัล เฟสติวัล ภูเก็ต ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งนี้ ในเดือน ต.ค. ปีนี้ CPN ยังเตรียมจะเปิดตัว “เซ็นทรัล เฟสติวัล หาดใหญ่” เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในหาดใหญ่เพิ่มขึ้นหลังจากเปิด AEC  
 
ฟากฝั่งนักช้อปจากประเทศพม่า CPN ได้เตรียมสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่กว่า 5 แสน ตร.ม. ลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเรียกได้ว่าใหญ่ที่สุดของกลุ่มเซ็นทรัล จะเป็นรองก็เพียง “เซ็นทรัล เวิลด์” แห่งเดียว  
 
Central WestGate ตั้งอยู่บนพื้นที่ 100 ไร่ บริเวณแยกบางใหญ่ โดยเป็นโครงการที่ CPN ตั้งใจจะใช้เป็นต้นแบบสำหรับการสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่และดีที่สุดในระดับเอเชีย หรือ “ซูเปอร์รีจินัล มอลล์” เพื่อตอบ “จุดยืน” ของโครงการในฐานะ “เมืองศูนย์รวมสุดยอดไลฟ์สไตล์แห่งอนาคตของเอเชีย”
 
โครงการนี้จะเป็นโครงการ Mixed Use จะประกอบด้วยศูนย์การค้า ซึ่งจะรวมร้านค้าแบรนด์เนมชั้นนำทั้งของไทยและระดับโลกกว่า 1 พันร้านค้า, ไลฟ์สไตล์ คอมเพล็กซ์, เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ที่ทันสมัยที่สุด, แหล่งรวมร้านอาหารคอนเซ็ปต์ใหม่ และโครงการที่อยู่อาศัยระดับกลาง-บน ขนาด 6 พันยูนิต ซึ่งจะเป็นโครงการแรกของ CPN ที่มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยในพื้นที่ 
 
ทั้งนี้ Central WestGate เป็นแบรนด์ใหม่ล่าสุดของ CPN ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงและสื่อสารถึงศักยภาพของความยิ่งใหญ่ของโครงการ ขณะที่คำว่า “WestGate” ยังหมายถึง “แยกบางใหญ่” อันเป็นที่ตั้งของโครงการซึ่งเป็น ประตู หรือ “Gateway” ที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก
 
ด้วยระบบคมนาคมที่สมบูรณ์แบบและอภิมหาโปรเจ็กต์ (Megaproject) จากภาครัฐที่เชื่อมต่อทุกเส้นทางเข้าด้วยกัน ทั้งวงแหวนสายตะวันตก ซึ่งแยกบางใหญ่ เป็นจุดตัดถนนกาญจนาภิเษกขนาด 12 เลน และถนนรัตนาธิเบศร์ขนาด 10 เลน มีศักยภาพในการรองรับรถยนต์กว่า 85 ล้านคันต่อปี และยังมีมอเตอร์เวย์สายตะวันตก บางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี เชื่อมต่อท่าเรือทวาย ทะเลอันดามัน ซึ่งถือเป็นเส้นทางแห่งอนาคตเพื่อรองรับการก้าวสู่ AEC อย่างแท้จริง  
 
นอกจากนี้ แยกบางใหญ่ยังมีทางด่วนขั้นที่ 3 ที่เชื่อมวงแหวนตะวันตกและมอเตอร์เวย์ชลบุรี ซึ่งสามารถเชื่อมกรุงเทพฯ ตะวันตก กับกรุงเทพฯ ตะวันออก ได้โดยไม่ต้องผ่านเข้าเมือง และในอนาคตอันใกล้ ก็กำลังจะมีรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ ซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนที่จะนำพามวลชนเข้าสู่โครงการเซ็นทรัล เวสต์เกต ได้อย่างสะดวก 
 
กลุ่มเป้าหมายของเซ็นทรัลครอบคลุมประชากรจำนวนกว่า 13 ล้านคน ในพื้นที่แถบนั้น หรือในรัศมีการเดินทางในระยะ 1 ชั่วโมงครึ่ง ประกอบด้วย 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และในอนาคตเมื่อวงแหวนรอบ 3 แล้วเสร็จ จะสามารถครอบคลุมถึง 15 จังหวัด โดยทาง CPN คาดว่า หลังการประกาศสร้างโครงการนี้จะทำให้พื้นที่บางใหญ่และใกล้เคียงมีโครงการที่อยู่อาศัยระดับกลางและบนเพิ่มขึ้นอีก 150,000 ยูนิต ในอีก 5 ปีจากนี้  
 
“การลงทุนครั้งสำคัญของ CPN ในครั้งนี้จะเป็นการสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับประเทศไทย ในฐานะผู้นำด้านรีเทลของภูมิภาค โดย CPN จะเป็นผู้นำในการเปิดมิติใหม่ของ “แยกบางใหญ่” ซึ่งเป็นสุดยอดทำเลศักยภาพสูงแห่งอนาคต เราจะเนรมิตที่นี่ให้เป็น “เมืองใหม่” ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด เพื่อเป็น New CBD ศูนย์กลางเศรษฐกิจและเป็นศูนย์กลางที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขยายเมืองใหม่ของภาครัฐ” วัลยากล่าว
 
ทั้งนี้ โครงการ Central WestGate ในเฟสแรก ซึ่งเป็นศูนย์การค้าขนาดพื้นที่กว่า 3 แสน ตร.ม. จะพร้อมเปิดให้บริการในช่วงต้นปี 2558 โดยผู้บริหาร CPN เชื่อว่าโครงนี้จะเป็น Talk of the Town ไม่ใช่เพียงในประเทศไทย แต่เป็น Talk of the Town ของเอเชีย และจะมีผู้มาใช้บริการต่อวันกว่า 2 แสนคน  
 
บนเวทีเสวนา AEC Challenge “กอบชัย จิราธิวัฒน์” ในฐานะหัวเรือใหญ่ ของ CPN ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ของ CPN นับจากนี้ว่า บริษัทฯ ได้เตรียมซื้อที่ดินทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาโครงการด้าน
อสังหาริมทรัพย์ โดยประเมินว่าธุรกิจด้านอสังหาฯ มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ CPN เติบโต เนื่องจากในระยะที่ผ่านมา มีประชาชนจำนวนมากย้ายเข้ามาอาศัยในบริเวณตัวเมืองของแต่ละจังหวัด และในแต่ละภูมิภาคเพิ่มขึ้นมาก เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 
 
ไม่เพียงปักหลักตั้งรับนักช้อปอาเซียนในเมืองไทย CPN เองก็มีแผนที่จะไปลงทุนในต่างประเทศด้วยเช่นกัน เพียงแต่หลักการเบื้องต้นของโครงการที่ CPN จะไปลงทุนนั้น มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 4-5 พันล้านบาท ซึ่งในเบื้องต้นยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้อยู่
 
นอกจากศูนย์การค้าแบรนด์ “เซ็นทรัล” ของกลุ่ม CPN เครือเซ็นทรัลยังมีห้างสรรพสินค้าแบรนด์ “โรบินสัน” ที่อยู่ภายใต้กลุ่มค้าปลีก หรือ CRC (เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น) ซึ่งแผนการเปิดตัวของห้างโรบินสันภายในปีนี้ ซึ่งเตรียมจะเปิด 5 สาขาใน 5 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี, อุบลราชธานี, สกลนคร, สระบุรี และ สุรินทร์ ก็ยิ่งช่วยสะท้อนภาพของกลุ่มเซ็นทรัลใน AEC และเวทีโลก ที่กลุ่มผู้บริหารตระกูลจิราธิวัฒน์ตั้งใจสร้างให้เป็นได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
 
 “เป้าหมายของกลุ่มเซ็นทรัลคือ เราต้องการเป็นแบรนด์ระดับโลกด้านค้าปลีก” คำกล่าวบนเวทีเสวนาเรื่อง AEC ของสุทธิลักษณ์ จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และยุทธศาสตร์และพัฒนาธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัล
 
สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกลุ่มเซ็นทรัล โดยสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ ที่ระบุบนเวทีเสวนาครั้งนี้ว่า “อาเซียนคือเป้าหมายสำคัญ เอเชียคือเป้าหมายใหญ่”
 
 

โครงข่าย CPN ปักหมุดดูดเงิน AEC 

 

ศูนย์การค้า

ปีที่เสร็จ

จุดเด่น

กลุ่มนักช้อป AEC

1. เซ็นทรัลพลาซา เชียงราย

ไตรมาสแรก 2554

เหนือสุดของไทย ใกล้กับเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมทองคำ” และกำลังจะมีสะพานมิตรภาพไทยลาว แห่งที่ 4

จีน ลาว พม่า

2. เซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่

.. 2556

ศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่

จีน ลาว พม่า

3. เซ็นทรัลพลาซา อุดรธานี

เสร็จปี 2552/

ปี 2555 ขยายพื้นที่เป็น 2 เท่า

ครึ่งชั่วโมงจากสะพานมิตรภาพไทยลาว ที่เชื่อมเวียงจันทน์หนองคาย

เวียงจันทน์ และลาวตอนกลาง

4. เซ็นทรัลพลาซา อุบลราชธานี

เม.. 2556

เป็นจังหวัดที่เป็นประตูเชื่อมระหว่างอีสานใต้ลาวใต้ และอยู่ใกล้กับเขตเศรษฐกิจ “สามเหลี่ยมมรกต”

ลาวตอนใต้

5. เซ็นทรัล เฟสติวัล หาดใหญ่

.. 2556

เป็นอำเภอที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคใต้ตอนล่าง และเป็นประตูระหว่างไทยมาเลเซีย

มาเลเซีย, สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

6. เซ็นทรัล เวสต์เกต

2558

แยกบางใหญ่ ซึ่งจะเป็น New CBD เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ และศูนย์กลางการคมนาคม ในอนาคต โดยเฉพาะเส้นมอเตอร์เวย์ที่เชื่อมต่อกับท่าเรือทวาย ทะเลอันดามัน

นักช้อปและนักธุรกิจที่เดินทางมาจากท่าเรือทวาย พม่า