วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Cover Story > “สมชัย เลิศสุทธิวงค์” กับมุมมองทางเศรษฐกิจ เมื่อ Digital Economy อาจไม่ใช่คำตอบ

“สมชัย เลิศสุทธิวงค์” กับมุมมองทางเศรษฐกิจ เมื่อ Digital Economy อาจไม่ใช่คำตอบ

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเราพูดกันเสมอว่า ประเทศไทยต้องก้าวสู่การเป็น Digital Economy หรือเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการพัฒนาประเทศให้เติบโต

แต่งานนี้ “สมชัย เลิศสุทธิวงค์” บิ๊กบอสของ AIS กลับเห็นต่าง เพราะเขาเชื่อว่า Digital Economy กำลังล้าสมัยและไม่ทันการณ์ในการที่จะทำให้ประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งยังเสนอแนวคิดใหม่อย่าง “Ecosystem Economy” พร้อมทฤษฎีพาย 3 ชิ้น เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ เพื่อดันเศรษฐกิจไทยให้โตเหนือจีดีพี

ในงานแถลงข่าวทิศทางการดำเนินธุรกิจของ AIS หรือ “AIS Beyond the Boundaries” นอกจากประเด็นด้านธุรกิจที่ต้องติดตามแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือทัศนะด้านเศรษฐกิจของ “สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแห่ง AIS ที่มักมีประเด็นใหม่ๆ มานำเสนอในทุกครั้งที่เขาขึ้นเวที

“เราพูดกันถึงเรื่อง Digital Economy ที่ทุกคนต้องไป สำหรับผมแล้วฟันธงได้เลยว่ามันล้าสมัยและไม่ทันการณ์ในการที่จะทำให้ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนพร้อมกันทั้งองค์กรรายใหญ่ รายกลาง และรายเล็กได้เลย”

นี่คือสิ่งที่สมชัยเห็นต่าง พร้อมเผยมุมมองทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจว่า

“หลังจากโควิด-19 เศรษฐกิจทุกอย่างฟื้นตัว หลายสำนักประมาณการกันว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะโตถึง 3.46% ซึ่งดีกว่าประเทศอื่นๆ และนี่คือโอกาสของประเทศไทย แม้ยังมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างๆ ก็ตาม ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน ค่าพลังงาน การล่มสลายของธนาคารในอเมริกาที่ลามไปถึงในยุโรป แต่ธุรกิจใหญ่ๆ ในเมืองไทยยังแข็งแรง และผมเชื่อว่าเราจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้อย่างแน่นอน”

“ประเทศไทยมีประชากรถึง 72 ล้านคน เป็นสเกลที่ใหญ่พอในการขับเคลื่อนธุรกิจต่างๆ ให้ไปได้ ที่สำคัญคือไทยยังเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมต่างๆ เรามีนิคมอุตสาหกรรมมากมาย ซึ่งความจริงแล้ว ต่างประเทศเขาอยากมาลงทุนในไทยเป็นจำนวนมาก แต่อาจจะติดอยู่ที่กฎระเบียบทางราชการเท่านั้นเอง”

ปัญหาคืออะไร
“ประเทศไทยมี SME ย่อยๆ อยู่ถึง 3,200,000 คน ที่ทำธุรกิจต่างๆ ผมเคยพูดอยู่ตลอดเวลาว่าเมืองไทยเราจะแข็งแรงได้ไม่ใช่บริษัทใหญ่ๆ แข็งแรงเท่านั้น บริษัทระดับกลาง ย่อย และรากหญ้าต้องแข็งแรงด้วย ไทยถึงจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน”

“วันนี้มีการคาดการณ์จีดีพีที่สูง แต่ปัญหาคือความมั่งคั่งทั้งหลายกลับอยู่ที่บริษัทใหญ่ๆ ทั้งสิ้น การจะทำให้ธุรกิจของเรายั่งยืนต่อไปในอนาคตจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ระดับกลาง ระดับล่างแข็งแรงขึ้นมาให้ได้”

“ผมเคยพูดบนหลายเวทีว่า ในยุค Digital Transformation ที่ดิจิทัลเข้ามา มันเป็นโอกาสทองของบริษัทเล็กๆ ที่จะเกิดขึ้น ในอดีตไม่มีทางเลยที่บริษัทเล็กๆ จะเติบโตขึ้นมาแข่งกับบริษัทใหญ่ได้เลย เพราะต้นทุนในการลงทุนแพง และความรู้ต่างๆ ยังใหม่”

“พอดิจิทัลเข้ามามันมีเรื่องคลาวด์และเทคโนโลยีต่างๆ ที่สะดวกและต้นทุนไม่สูง เราจะเห็นว่ามีบริษัทต่างๆ มากมายเกิดขึ้นในอเมริกาและจีนที่ล้วนเติบโตกันหมด แต่ทำไมไม่เกิดขึ้นในไทย บริษัทขนาดเล็ก มีจำนวนน้อยมากที่จะเกิดและเติบโตในไทย เหตุผลคือ เพราะโครงสร้างการทำงานและการทำธุรกิจของประเทศเรามันเอื้อให้กับบริษัทใหญ่ๆ แทบทั้งสิ้น”

“เพราะฉะนั้นแนวคิดที่เราเคยพูดกันเรื่อง Digital Economy ที่ทุกคนต้องไป สำหรับผมแล้วฟันธงได้เลยว่ามันล้าสมัยและไม่ทันการณ์ในการที่จะทำให้ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมกระบวนการทั้งรายใหญ่ รายกลาง และรายเล็ก”

“วันนี้สิ่งที่ผมอยากนำเสนอในการที่จะทำให้ประเทศไทยและธุรกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน เราต้องใช้ “Ecosystem Economy” มันอาจเป็นศัพท์ใหม่ไม่มีในตำรา แต่มันผ่านการคิดและกลั่นกรองของคน AIS แล้วว่า ถ้าอยากทำให้ไทยโตอย่างยั่งยืนเราต้องใช้ตัวนี้”

Ecosystem Economy คืออะไร และการเป็น Ecosystem Economy ตามแบบฉบับ AIS ทำอย่างไร?
ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต เมื่อ 5- 6 ปีที่แล้ว สมชัยเคยเสนอทฤษฎีขนม 3 ชั้น เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านครั้งนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น วันนี้เขาได้เสนอแนวคิดการทำธุรกิจแบบใหม่อย่าง “Ecosystem Economy” ที่แปลเป็นไทยง่ายๆ คือ การทำเศรษฐกิจแบบร่วมกัน พร้อมนำเสนอทฤษฎีพาย 3 ชิ้น เพื่อเป็นเครื่องมือในการก้าวสู่การเป็น Ecosystem Economy ที่แข็งแกร่ง

พายชิ้นแรก “Digital Infrastructure” ในยุคดิจิทัลดิสรัปชันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่แข็งแรง และยกระดับให้มีความเป็นอัจฉริยะ (Digital Intelligence Infrastructure) สำหรับเมืองไทยเขามองว่ามีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่แข็งแรงอยู่แล้ว เพราะทั้ง AIS-ทรู-ดีแทค ต่างก็ลงทุนในเรื่องดังกล่าวเป็นอันมาก เพื่อให้คนไทยได้ใช้งานอย่างทั่วถึงและต่อยอดทางธุรกิจได้

ในส่วนของ AIS เอง ถือว่ามีคลื่นความถี่ที่ครบทั้งย่านความถี่ต่ำ กลาง และสูง รวมกว่า 1460 MHz รวมถึงการเป็นพันธมิตรกับ NT ก็จะทำให้ AIS สามารถให้บริการต่าง ๆ ได้มากขึ้น นอกจากนั้นยังได้เปิดตัวบริการ 5G SA (Stand Alone) ครบทั้ง 77 จังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตพื้นที่เศรษฐกิจ EEC ที่ครอบคลุมกว่า 92%

พายชิ้นที่สอง “Cross Industry” เปิดใจกว้าง รับทุกคน อย่ากินรวบคนเดียว พร้อมทำงานกับพาร์ตเนอร์ทุกภาคส่วนและข้ามอุตสาหกรรมเพื่อสร้างความแข็งแรงไปด้วยกัน โดย AIS ได้จับมือกับร้านค้าถุงเงิน ร้านธงฟ้า ร้านค้ารายย่อย รวมถึงสตรีทฟู้ดและโชห่วย รวมกว่า 1.8 ล้านร้านค้าทั่วประเทศ ผ่านโครงการพอยท์เพย์จากธนาคารกรุงไทย ให้ลูกค้าสามารถนำ AIS Points มาแลกสิทธิพิเศษได้

“พูดง่ายๆ แทนที่เราจะโตคนเดียว เรามีความสุขนะครับมีรายได้เป็นแสนล้าน กำไรหมื่นล้าน แต่ผมคิดตลอดเวลาว่า ถ้าเพื่อนของเรา พาร์ตเนอร์ของเราไปไม่ได้ วันหนึ่ง AIS ก็อยู่ไม่ได้ ไม่มีใครใหญ่โตและอยู่ยืนยงโดยข้างล่างราบคาบพังทลาย”

พายชิ้นที่สาม “Human Capital” ช่วยกันพัฒนาบุคลากรของไทย การพัฒนาคนคือสิ่งที่ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญ รวมถึงการทำธุรกิจแบบยั่งยืนและระยะยาว ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสังคม โดย AIS ได้ร่วมมือกับสถานทูตแคนาดาประจำประเทศไทย และสมาคมวิทยาลัยและสถาบันประเทศแคนาดา (Colleges and Institutes Canada – CICan) ในการนำหลักสูตรการเรียนรู้จากสถาบันชั้นนำของแคนาดามาให้คนไทยได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง

และนี่คือพาย 3 ชิ้นที่ สมชัยเชื่อว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างระบบเศรษฐกิจแบบ Ecosystem Economy ที่แข็งแรง และนำไปสู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน ที่สามารถนำไปปรับใช้ในทุกอุตสาหกรรม ทุกองค์กร และทุกหน่วยธุรกิจของประเทศได้

“ผมเชื่อว่าถ้าทุกองค์กรและทุกคนร่วมกันพัฒนาใน 3 ส่วนนี้ ประเทศไทยจะแข็งแรง จีดีพีที่เติบโตจะเติบโตไปมากกว่านี้ เพราะมันมาจากฐานรากที่แข็งแกร่งและแข็งแรง และผมอยากนำเสนอเรื่องนี้ออกไปในวงกว้าง เพื่อจะได้ช่วยองคาพยพทุกระดับให้เติบโตขึ้นมาพร้อมกัน” สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS ทิ้งท้าย.