วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ปิติภัทร บุรี เจาะ “ออฟฟิศแคมปัส” สู้วิกฤต

ปิติภัทร บุรี เจาะ “ออฟฟิศแคมปัส” สู้วิกฤต

“การสร้างออฟฟิศไม่ใช่แค่ตึกสูงอย่างเดียว…”

“เหมือนโรงแรมที่ไม่ใช่มีแค่ 1 ดาว 2 ดาว แต่มี 1-5 ดาว หลากหลาย ตั้งแต่สไตล์บูทีค เรียบง่าย จนถึงบริการเต็มที่ เป็นอาคารสำนักงานที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย ใกล้ชิดชุมชน เทรนด์นี้จะเป็นออฟฟิศในอนาคต”

ปิติภัทร บุรี กรรมการบริหารกลุ่มบริษัท ภิรัชบุรี กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ในร้านกาแฟ Roots at Sathon พาร์ตเนอร์ที่เข้ามาเติมเต็มความเป็นอาคารสำนักงานแนวใหม่ บรรยากาศเรียบง่ายสบายตา มี Open Bar ส่วนกลางที่เหล่าบาริสต้าสร้างสรรค์เครื่องดื่มแก้วพิเศษ

แน่นอนว่า ในร้านเต็มไปด้วยคนทำงานรุ่นใหม่ที่เข้ากันกับสถานที่ เหมือนต่างฝ่ายต่างมีจุดร่วมกันอย่างเหมาะเจาะ

ปิติภัทรเล่าว่า ที่ผ่านมา กลุ่มภิรัชบุรีมีอาคารสำนักงาน ภิรัชทาวเวอร์ แอท เอ็มควอเทียร์ ซึ่งไปได้ดีมากกับห้างสรรพสินค้า ภิรัชทาวเวอร์ แอท ไบเทค เป็นอาคารใหญ่ แต่ตอนนี้บริษัทจะทำอาคารสำนักงานรูปแบบแคมปัส สร้างอาคารเล็ก เป็น Village เล็กๆ และกลับมาให้ความสำคัญกับพื้นที่ส่วนกลางมากขึ้น อาคารไม่เกิน 3 ชั้น สร้างความเป็นคอมมูนิตี้เชื่อมโยงกับเรื่องราวในพื้นที่มากขึ้น ซึ่ง ภิรัชทาวเวอร์ แอท สาทร ถือเป็นโครงการนำร่องก่อนมาผุดโครงการมิกซ์ยูสแบบแคมปัสเต็มรูปแบบอย่าง “ซัมเมอร์ ลาซาล”

อันที่จริง กลุ่มภิรัชบุรีถือเป็นกลุ่มทุนอสังหาฯ เก่าแก่ ซึ่งต้นตระกูล หลวงภาษาภิรัช เป็นข้าราชการที่มีความรู้ทันยุคทันสมัย สำเร็จการศึกษาด้านนิติศาสตร์ ทั้งจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและเยล เคยดำรงตำแหน่งกงสุลสยามประจำเกาะปีนัง ช่วงปี 2469-2478 เมื่อเกษียณอายุราชการหลวงภาษาภิรัชกลับมาร่วมธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ที่พี่สาวดำเนินกิจการอยู่ก่อนแล้ว และเริ่มซื้อทรัพย์สินชิ้นแรกที่ อ.พระประแดง พื้นที่ศูนย์กลางการปกครองดั้งเดิมของ จ.สมุทรปราการ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด แคทรีน บุปผา บุรี บุตรสาวของหลวงภาษาภิรัช สำเร็จการศึกษาจากสหราชอาณาจักร เดินทางกลับประเทศไทย และร่วมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัว โดยปี 2503 จับมือกับบริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (สยาม) พัฒนาโครงการอาคารสมัชชาวาณิช 1 (UBC I) อาคารสำนักงานแห่งแรกบนถนนสาทร และถือเป็นตึกที่สะท้อนภาพกรุงเทพฯ ในฐานะศูนย์กลางทางธุรกิจที่กำลังเติบโตโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย

กระทั่ง ดร. ประสาน ภิรัช บุรี วิศวกรจากอิมพีเรียลคอลเลจในลอนดอน บุตรชายของแคทเธอรีน บุปผา บุรี เข้ามารับช่วงต่อรุกธุรกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะการตัดสินใจทุ่มทุนสร้างศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ฝ่าฟันวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” จนขยายอาณาจักรครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาโครงการจนถึงบริการด้านการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์

ปัจจุบัน ประสานและภรรยา คือ ประพีร์ บุรี ให้ลูกสาวคนโต คือ ปนิษฐา รับผิดชอบบริหารธุรกิจ “ไบเทค” ส่วนปิติภัทร ดูแลธุรกิจอาคารสำนักงานและค้าปลีก ซึ่งต้องถือเป็นการเปลี่ยนผ่านแนวคิดการเจาะตลาดออฟฟิศเทรนด์ใหม่ โดยเฉพาะการนำร่องโครงการภิรัช ทาวเวอร์ แอท สาทร รูปแบบแคมปัส เพราะเดิมที่ดินที่นี่เป็นอาคารสำนักงานและโกดังเก่า แทนที่ปิติภัทรจะรื้อและสร้างตึกสูง เพื่อเพิ่มมูลค่าตามราคาที่ดินหลักพันล้าน เขากลับคงอาคารโกดังเก่าและใช้วิธีเติมเต็มองค์ประกอบต่างๆ

“ผมไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างอาคาร ด้านในยังเหมือนเดิม แต่ตกแต่งหน้าตา ทาลิปสติกให้มีสีสันมากขึ้น เพราะอยากคงประวัติศาสตร์ 40-50 ปีความเป็นถนนสาทร ซึ่งคนส่วนมากไม่เห็นหน้าตานี้แล้ว เช่น ต้นหางนกยูง ซึ่งเมื่อก่อนเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของสาทร เดี๋ยวนี้ไม่เหลือแล้ว เราจึงพยายามเอาคีย์คอนเซ็ปต์ของสาทรและสร้างความเชื่อมโยงกับพื้นที่ กับชุมชน เปิดพื้นที่ส่วนกลางด้านหน้าอาคารให้เหล่าศิลปินสะท้อนเรื่องราวความเป็นสาทรให้ทุกคนบนถนนสาทรเยี่ยมเยือน ไม่ใช่งานศิลปะที่แตะต้องไม่ได้ แต่อยากให้เป็นงานศิลปะที่ชุมชนมีส่วนร่วมและเข้าถึง ซึ่งต้องใช้เวลาสื่อสารกับผู้คน”

อย่างไรก็ตาม ใช้เวลาไม่นาน ภิรัช ทาวเวอร์ แอทสาทร มีผู้เช่าเต็มพื้นที่ และเริ่มเห็นเทรนด์ความต้องการออฟฟิศบิลดิ้งรูปแบบ “แคมปัส” มากขึ้น กลายเป็นแรงกระตุ้นให้ปิติภัทรเร่งเติมเต็มโครงการซัมเมอร์ลาซาล แคมปัสมิกซ์ยูสโปรเจกต์ บนที่ดินกว่า 60 ไร่ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า “สาทร” หลายเท่า ประกอบด้วย อาคารสำนักงาน 5 แคมปัส รวมทั้งสิ้น 29 อาคาร คอมมูนิตี้มอลล์และโรงแรม ซึ่งผู้เช่ารายใหญ่สามารถเช่าพื้นที่เป็นแคมปัสเป็นวิลเลจของแต่ละบริษัท

ล่าสุด ซัมเมอร์ลาซาลเปิดให้บริการแคมปัส A เฟสแรกและเตรียมเผยโฉมคอมมูนิตี้มอลล์ “Sunny” ช่วงปลายปีนี้ ซึ่งเขายอมรับว่ากว่าจะแล้วเสร็จทั้งโครงการต้องใช้เวลาอีกหลายปี เพื่อเติมเต็มออฟฟิศแห่งอนาคตให้สมบูรณ์ที่สุด

สำหรับเป้าหมายสูงสุดบนเส้นทางธุรกิจ ปิติภัทรย้ำว่า สิ่งสำคัญ คือ ไม่ได้เน้นการเติบโตรวดเร็ว เพราะต้องการตอบโจทย์ที่หลากหลายอย่างแท้จริงและเน้นคุณภาพระดับพรีเมียม ไม่ใช่แค่สแตนดาร์ด หากมีอาคารใหญ่แต่ไม่ตอบโจทย์เหมือนสิ่งสิ้นเปลือง จ่ายค่าเช่าแพงอีก และเชื่อว่ามีตลาด เพราะปัจจุบันยังไม่มี Product ทำให้ไม่มี Demand แต่เมื่อมี Product จะเกิด Demand ทันที

“ผมอยากสร้างสำนักงานออฟฟิศที่ใกล้ชิดชุมชน มีการใช้พื้นที่ส่วนกลางมากขึ้น ให้คุณภาพชีวิตพนักงาน ไม่ใช่ออฟฟิศสแตนดาร์ดทั่วไป เป็น Feel ที่ต้องการสร้างมากที่สุด”

ที่สำคัญ ท่ามกลางสถานการณ์ที่เหล่านักวิเคราะห์เริ่มหวั่นวิตกกับปัญหาโอเวอร์ซัปพลาย คงต้องจับตาแนวคิด “ออฟฟิศแคมปัส” จะสามารถรับวิกฤตนี้ได้หรือไม่!!

ใส่ความเห็น