วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > เจนฯ ใหม่ “เตมียเวส” กับการรุกตลาดน้ำมันพืช

เจนฯ ใหม่ “เตมียเวส” กับการรุกตลาดน้ำมันพืช

“เอกภัท เตมียเวส” เป็นเพียงไม่กี่คนในตระกูลเตมียเวส ที่เลือกออกมาทำธุรกิจส่วนตัวแทนการอยู่ในแวดวงราชการหรือการเมืองเหมือนคนในครอบครัว แต่ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นคือการเลือกเข้าสู่ “ธุรกิจน้ำมันพืช” อีกหนึ่งธุรกิจที่มีการแข่งขันที่เข้มข้น และยังมีผู้เล่นรายใหญ่จับจองตลาดอยู่ก่อนแล้ว

แต่ก่อนที่จะเข้าสู่ธุรกิจน้ำมันพืชนั้น เส้นทางบนถนนสายธุรกิจของ “เอกภัท” เจเนอเรชันใหม่แห่งเตมียเวสก็มีจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

เอกภัท เตมียเวส ในวัย 37 ปี เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ฟังว่า “ด้วยความที่ผมชอบการทำธุรกิจและการค้าขายมาตั้งแต่เด็กๆ พอมีโอกาสก็อยากทำธุรกิจของตัวเอง เลยเปิดบริษัทชื่อเตมียเวสกรุ๊ปทำอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าอย่างพวกอพาร์ตเมนต์ต่างๆ ทำธุรกิจเม็ดพลาสติก รวมถึงรับจ้างผลิตพวกขนมขบเคี้ยวแล้วส่งออกไปขายยังจีน สิงคโปร์ ฮ่องกง เพราะส่วนตัวชอบรับประทานขนมอยู่แล้ว”

แต่นอกเหนือจากอสังหาริมทรัพย์เพื่อการให้เช่า ผลิตเม็ดพลาสติก รับทำและจัดจำหน่ายสินค้าในกลุ่ม FMCG (Fast Moving Consumer Goods) แล้ว เตมียเวสกรุ๊ปยังเป็นผู้จัดจำหน่ายน้ำมันพืชยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งนี่เองคือจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่ธุรกิจน้ำมันพืชของเอกภัท

“เราเป็นผู้จัดจำหน่ายน้ำมันพืชยี่ห้อหนึ่ง แต่สุดท้ายทางแบรนด์เขาก็เอามาขายด้วย มันก็ทับไลน์กัน เลยมานั่งคิดว่าถ้าเป็นอย่างนี้ทำไมเราไม่ผลิตน้ำมันพืชเป็นแบรนด์ของตัวเองไปเลย เพราะมูลค่าตลาดมันใหญ่มีโอกาสเติบโตสูง ณ ช่วงเวลาที่เราตัดสินใจลุยธุรกิจน้ำมันพืช ตอนนั้นเฉพาะในเมืองไทยตลาดน้ำมันพืชมีมูลค่าตลาดราวๆ 20,000 ล้านบาท และที่สำคัญเรามีพื้นฐานด้านช่องทางการจัดจำหน่ายจากธุรกิจต่างๆ ที่ได้ทำมา”

นั่นคือจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่ธุรกิจน้ำมันพืชของเอกภัท แต่อีกหนึ่งเหตุผลคือเขามองว่าอาหารคือหนึ่งในปัจจัย 4 และน้ำมันพืชคือวัตถุดิบตั้งต้นในการทำอาหาร ถ้าผลิตน้ำมันพืชที่มีคุณภาพ ผู้บริโภคจะได้รับประทานอาหารที่มีกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพด้วยเช่นกัน

หลังจากนั้นเขาจึงเริ่มศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจน้ำมันพืชและการผลิต แต่ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด วิธีที่ตอบโจทย์ที่สุดคือการจ้างโรงงานที่ผลิตน้ำมันพืชอยู่แล้วผลิตให้ แต่ผลปรากฏว่าหลังจากเจรจาผ่านไปหลายรายไม่มีใครตอบตกลงที่จะผลิตให้

“ผมนำผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบไว้แล้วรวมถึงช่องทางจัดจำหน่ายที่เรามีอยู่ไปเสนอให้เขาผลิตให้ เขาก็ปฏิเสธ ถ้าเป็นรายสองรายผมคงไม่อะไร แต่นี่ 7-8 ราย ไม่มีใครตอบตกลงเลย คิดว่าเขาคงไม่อยากให้มีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เข้ามาในตลาด  ตอนนั้นผมยังเด็กมาก แค่อยากมีสินค้าที่เป็นแบรนด์ของเราเอง ขายให้กับลูกค้ากลุ่มเล็กๆ ที่เรามี ทำไมคนตัวใหญ่ๆ ถึงไม่เปิดโอกาส เราแค่ขอที่ยืนในธุรกิจนี้แค่นั้นเอง”

ถ้าไม่มีใครผลิตให้ เราก็สร้างโรงงานผลิตเองเสียเลย

อาจเป็นเพราะคำว่ายอมแพ้ไม่อยู่ในพจนานุกรมของเอกภัท หลังจากไม่มีโรงงานไหนรับผลิตน้ำมันพืชให้ เขาจึงตัดสินใจก่อตั้งบริษัท สวีท มีท (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นในปี 2561 เพื่อสร้างโรงงานผลิตน้ำมันพืชภายใต้ชื่อแบรนด์ “เพลิน” ด้วยตนเองกับเม็ดเงินลงทุนกว่า 20 ล้าน แต่ด้วยงบประมาณที่มีอยู่ไม่สูงนัก เขาจึงใช้วิธีเช่าที่ดินเปล่าเพื่อสร้างโรงงานพร้อมเครื่องจักรในการผลิตเครื่องเล็กๆ

“ตอนแรกไปเช่าที่ดินเปล่าสร้างโรงงาน ใช้เครื่องจักรตัวเล็กๆ ผลิตน้ำมันพืชจากปาล์มเป็นผลิตภัณฑ์แรกก่อน ซึ่งตั้งแต่ล็อตแรกของการผลิต น้ำมันพืชเพลินได้รับการตอบรับดีมาก มียอดพรีออเดอร์เข้ามาเรื่อยๆ โดยเราเน้นการทำการตลาดแบบ B2B เป็นหลัก”

ในปีแรกๆ ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์น้ำมันพืชเพลินมีน้ำมันปาล์มเพียงชนิดเดียว เน้นการทำการตลาดแบบ B2B (Business to Business) โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ Horeca (Hotels, Restaurants, café-catering) อย่างร้านอาหาร โรงแรม และขายผ่านผู้จัดจำหน่ายเป็นหลัก

“การทำการตลาดแบบ B2B ทำให้เราใกล้ชิดกับลูกค้า ผมเริ่มจากการขายเองดูว่าลูกค้าต้องการอะไร เราทำแบบเล็กๆ ซึ่งในความเล็กมันกลายเป็นความแข็งแรง คนรุ่นเก่าเขาอาจมีความเชื่อและสไตล์การทำธุรกิจอีกแบบหนึ่ง แต่เรามองว่าการมุ่งตรงไปถึงลูกค้า ดูความต้องการของเขา ถ้าทำได้เราทำให้ อย่างนี้มันถึงตัวคุยง่ายกว่า ซึ่งนี่คือความแข็งแกร่งของน้ำมันพืชเพลิน”

ตั้งแต่เริ่มเดินเครื่องการผลิตและจำหน่ายน้ำมันพืชเพลินครั้งแรกในปี 2561 เพลินมียอดจำหน่ายอยู่ที่ 44 ล้านบาท ปี 2562 ยอดจำหน่าย 46 ล้านบาท ก่อนที่จะกระโดดขึ้นเป็น 200 ล้านบาทในปี 2563 และ 750 ล้านบาท ในปี 2564 โดยคาดว่าในปี 2565 จะมียอดจำหน่ายสูงถึง 1,200 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยในช่วง 2 ปีแรกที่ยอดขายยังไม่ถึง 50 ล้านบาทนั้น เอกภัทเปิดเผยว่าเพราะกำลังการผลิตมีอยู่อย่างจำกัด และเพื่อสร้างโอกาสทางการเติบโต เอกภัทจึงเพิ่มกำลังการผลิตและเพิ่มความหลากหลายของตัวผลิตภัณฑ์ จากน้ำมันปาล์มสู่น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน รวมถึงขยายตลาดสู่ต่างประเทศเพื่อเพิ่มโอกาสและกระจายความเสี่ยง นั่นทำให้ยอดขายของน้ำมันพืชเพลินเติบโตอย่างก้าวกระโดด

น้ำมันพืชแบรนด์ไทยที่กล้าบุกตลาดอียู

สำหรับจุดเด่นของน้ำมันพืชเพลินนั้น เอกภัทกล่าวว่า อยู่ที่ความสดใหม่ โดยระยะเวลาจากโรงกลั่นจนถึงบรรจุสู่ขวดพร้อมส่งมอบถึงมือลูกค้าใช้เวลาไม่เกิน 12 ชั่วโมง รวมถึงมีกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันจากยุโรปซึ่งเป็นกระบวนการธรรมชาติ ทำให้ได้น้ำมันที่มีคุณภาพที่ดีขึ้น ปลอดภัย และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งเพลินเป็นแบรนด์เดียวในไทยที่ใช้นวัตกรรมนี้ จึงถือเป็นแต้มต่อและเป็นจุดแข็งของน้ำมันพืชเพลิน

ปัจจุบันบริษัทฯ มีโรงงานผลิตน้ำมันพืชอยู่ที่อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี มีกำลังการผลิตอยู่ที่วันละ 6,000 ลัง/วัน สำหรับขนาดขวด 1 ลิตร จัดจำหน่ายในประเทศ 80% ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักในประเทศยังคงเป็นกลุ่ม B2B และส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ 20% ของรายได้รวม โดยส่งออกไปในกลุ่มประเทศแถบเอเชียและกลุ่ม CLMV อาทิ พม่า ลาว และกัมพูชา รวมถึงเกาหลี ออสเตรเลีย และประเทศในกลุ่มทวีปยุโรปอย่าง เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี และเยอรมนี

“การขายสินค้ามันมีอยู่ 2 แบบ สินค้าเดิมขายในตลาดใหม่ กับ สินค้าใหม่ขายในตลาดเดิม ซึ่งเราทำทั้งสองแบบ เราเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และเพิ่มตลาดในการจัดจำหน่าย แบรนด์อื่นอาจจะทำเพียงส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศ แต่เราเลือกที่จะไปตั้งบริษัทที่ยุโรปเลย โดยเลือกเปิดบริษัทที่เนเธอร์แลนด์เพื่อจะได้ใกล้ชิดกับลูกค้า เข้าถึงพื้นที่ รู้สถานการณ์ ราคาตลาด และความต้องการของผู้บริโภค เพื่อใช้ในการวางแผนและสามารถแก้สถานการณ์ได้ทันท่วงที ซึ่งเราเป็นแบรนด์น้ำมันพืชรายแรกๆ ที่เข้าไปทำการตลาดในอียู โดยเพลินตั้งเป้าส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 1% ของการบริโภคทั้งหมดในอียู”

ปัจจุบันมูลค่าตลาดน้ำมันพืชในไทยอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท ซึ่งเอกภัทประเมินว่าน้ำมันพืชเพลินน่าจะชิงส่วนแบ่งการตลาดได้ราวๆ 5% ในขณะที่ทางยุโรปมูลค่าการตลาดอยู่ที่ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าปี 2566 อุตสาหกรรมน้ำมันพืชเพื่อการบริโภคจะมีการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้นและมีโอกาสขยายตัวมากขึ้นเช่นกัน อันเนื่องมาจากสถานการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลาย อุตสาหกรรมอาหารที่ต้องใช้น้ำมันพืชเป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้า รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัว

นั่นทำให้ในปี 2565 น้ำมันพืชเพลินมีการลงทุนเพิ่มเติมในการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับการขยายฐานลูกค้าในปี 2566 โดยเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็น 7,200,000 ขวด/เดือน สำหรับขวดขนาด 1 ลิตร จากเดิมที่ผลิตได้ 2,100,000 ขวด/เดือน

สำหรับปี 2566 เอกภัทมีแผนเพิ่มสัดส่วนในการส่งออกไปยังต่างประเทศเป็น 40% และในประเทศ 60% เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดและต้นทุนของน้ำมันพืชแต่ละประเภท พร้อมกับการรุกตลาดภายในประเทศอย่างจริงจังมากขึ้น จากที่เคยโฟกัสที่ลูกค้า B2B แต่นับจากนี้น้ำมันพืชเพลินจะทำการตลาดแบบ B2C เพิ่มเติม เพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

“5 ปีที่ผ่านมา เราโฟกัสที่กระบวนการผลิต คุณภาพสินค้า ช่องทางการจัดจำหน่าย และเน้นการตลาดแบบ B2B เป็นหลัก ตอนนี้เราพร้อมแล้ว ดังนั้นปีหน้าเพลินจะลุยตลาด B2C สู่ลูกค้ารายย่อยและทำการตลาดในประเทศมากขึ้น ด้วยช่องทางค้าปลีกทั่วประเทศทั้งออฟไลน์และออนไลน์”

สำหรับปี 2566 เอกภัทตั้งเป้าปิดยอดขายของน้ำมันพืชเพลินอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นอย่างน้อย 30% จากปี 2565 ด้วยกลยุทธ์การตลาดทั้งในและต่างประเทศ ผ่านช่องทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์

“เราอยากเป็นตัวเลือกหนึ่งในแบรนด์น้ำมันพืชที่มีคุณภาพที่ลูกค้าเลือกใช้ และในปีหน้าผู้บริโภคจะได้เห็นน้ำมันพืชเพลินอยู่ในตลาดมากขึ้นอย่างแน่นอน” นี่คือสิ่งที่เอกภัทในฐานะผู้ก่อตั้งน้ำมันพืชเพลินกล่าวทิ้งท้าย.