วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Cover Story > ส่องแบรนด์ในตำนาน สามแม่ครัว-ปุ้มปุ้ย

ส่องแบรนด์ในตำนาน สามแม่ครัว-ปุ้มปุ้ย

นีกอลา อาแปร์ (Nicolas Appert) ชาวฝรั่งเศส ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งอาหารกระป๋อง เขาเป็นพ่อครัวและคนทำลูกกวาดในกรุงปารีส โดยปี ค.ศ. 1795 เขาเริ่มทดสอบและคิดค้นวิธีถนอมอาหาร ทั้งซุป พืชผัก น้ำผลไม้ เยลลี่ แยม น้ำเชื่อม ผลิตภัณฑ์จากนม และปลา นำอาหารเหล่านี้ใส่ในขวดโหลแก้ว ปิดปากด้วยจุกไม้ก๊อกและป้ายด้วยขี้ผึ้ง จากนั้นจุ่มในน้ำเดือด

ปี ค.ศ. 1800 จักรพรรดินโปเลียนเสนอเงินรางวัล 12,000 ฟรังก์ ให้ใครก็ตามที่คิดค้นวิธีถนอมอาหารแบบใหม่ได้ เพื่อใช้เป็นเสบียงอาหารให้แก่ทหารในช่วงสงคราม

ปี ค.ศ. 1806 อาแปร์นำขวดแก้วบรรจุอาหารต่าง ๆ ที่เขาถนอมไว้ออกมาแสดงในงานนิทรรศการผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมฝรั่งเศส (Exposition des produits de l’industrie française) แต่ไม่ชนะและไม่ได้รับเงินรางวัลใดๆ

ปี ค.ศ. 1810 กระทรวงมหาดไทยฝรั่งเศสเสนอเงิน 12,000 ฟรังก์ให้อาแปร์ โดยมีเงื่อนไขว่าเขาต้องเผยแพร่กรรมวิธีถนอมอาหารนี้แก่สาธารณชน อาแปร์ยอมรับและตีพิมพ์หนังสืออธิบายกรรมวิธีต่างๆ ชื่อว่า ศิลปะการถนอมเนื้อสัตว์และพืชผัก (L’Art de conserver les substances animales et végétales) ตีพิมพ์ครั้งแรก 200 เล่ม

ต่อมามีนักประดิษฐ์ชาวอังกฤษ ปีเตอร์ ดูรันด์ พัฒนากระป๋องโลหะที่สามารถนำอาหารมาบรรจุและผนึกปิดฝาได้ขึ้นมาซึ่งได้ถูกนำมาใช้จนในปัจจุบันนี้

สำหรับประเทศไทยเมื่อ 50 กว่าปีก่อนมีเพียงปลากระป๋องนำเข้า ทั้งปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาแมคเคอเรล กระทั่งปี 2516 สุวัฒน์ อุดมบัณฑิตกุล พร้อมกับเพื่อนอีก 5 คน อดีตกลุ่มเซลส์แมน ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อสร้างธุรกิจของตัวเอง โดยจดทะเบียนแบรนด์ “สามแม่ครัว” และตั้งบริษัท รอแยลฟู้ดส์ จำกัด เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2517 ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ผลิตและวางจำหน่ายปลากระป๋องสามแม่ครัว กลายเป็นเมนูประจำของครอบครัวคนไทย

ที่มาของชื่อแบรนด์ “สามแม่ครัว” เดิมใช้ชื่อ “แม่ครัว” เพื่อสื่อถึงการทำอาหาร แต่ต่อมาเห็นว่า เลข 3 เป็นเลขที่ดี จึงเปลี่ยนเป็น สามแม่ครัว และต้องการสื่อว่าการมี 3 แม่ครัวทำอาหารต้องอร่อยกว่าแม่ครัวคนเดียวทำแน่นอน

ปัจจุบัน บริษัท รอแยลฟู้ดส์ จำกัด เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปลากระป๋องแบบครบวงจร โดยทำตั้งแต่ปลูกมะเขือเทศ ผลิตซอส จนถึงมีโรงงานผลิตกระป๋องหรือบรรจุภัณฑ์ในเครือ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของบริษัท เช่น ปลาแมกเคอเรลในซอสมะเขือเทศ ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ ฉู่ฉี่ปลาแมกเคอเรล น้ำพริกปลาแมกเคอเรล คั่วกลิ้งปลาแมกเคอเรล ห่อหมกปลาแมกเคอเรล รวมถึงผลิตภัณฑ์ซีอิ๊วขาว ซอสหอยนางรม น้ำปลาไส้ตันแท้ ซอสปรุงรส โดยมีรายได้กว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี

ขณะที่อีกแบรนด์ในตำนานอย่าง “ปุ้มปุ้ย” เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2522 โดยพี่น้องตระกูลโตทับเที่ยงจับมือกันเปิด บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด จ.ตรัง ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 2 ล้านบาท และรุกตลาดปลากระป๋องอย่างจริงจัง หลังจากที่ผ่านมา ประเทศนำเข้าปลากระป๋องจากต่างประเทศมาตลอด โดยใช้โลโกปลาซาร์ดีนข้างกระป๋องเป็นปลาตัวโต อ้วนกลม และต้องมีน้ำลาย 3 หยดเป็นเอกลักษณ์ พร้อมชื่อแบรนด์ “ปุ้มปุ้ย” และ “ปลายิ้ม” ซึ่งถอดความจากภาษาจีน คำว่า ปุ่ยปุ๊ย แปลว่า อ้วนๆ กลมๆ สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์

บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล ประเดิมสินค้า 2 ตัวแรก คือ ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศฉลากสีส้ม และปลาปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศฉลากสีชมพู กำลังผลิต 1 ล้านกระป๋องต่อปี ซึ่งรสชาติที่ถูกปากทำให้ขยายตลาดอย่างรวดเร็วและแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ

เล่ากันว่า ในยุคแรกๆ ของปลากระป๋องไทย เคยทดลองทำปลากระป๋องในซอสมะละกอก่อน เพราะในสมัยอดีตประเทศไทยไม่มีพันธุ์มะเขือเทศเป็นของตัวเอง ต่อมาพัฒนามาเป็นปลากระป๋องในซอสมะเขือเทศ

กระบวนการผลิตปลากระป๋องเริ่มจากการล้างทำความสะอาดปลา ใช้คนตัดหัวหางปลาด้วยความเร็ว 60 กิโลกรัมต่อคนต่อชั่วโมง และนำมาล้างอีกครั้งก่อนบรรจุลงในกระป๋อง นำไปนึ่งด้วยความร้อนประมาณ 25 นาที จากนั้นจึงใส่น้ำมันและปรุงรสด้วยซอสมะเขือเทศ ผนึกฝาให้สนิท พร้อมระบุวันผลิตและวันหมดอายุ

จากนั้นปลากระป๋องถูกลำเลียงเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพ และนำไปฆ่าเชื้อโรคด้วยความร้อน ติดฉลากให้ชัดเจนถูกต้อง ก่อนจัดส่งไปถึงมือผู้บริโภค

ประมาณการกันว่า ตลาดปลากระป๋องในซอสมะเขือเทศของประเทศไทยมีมูลค่ามากกว่าหมื่นล้านบาท โดยปลากระป๋องตราสามแม่ครัวยังสามารถยึดครองตำแหน่งผู้นำตลาด มีส่วนแบ่งกว่า 40% และมีแบรนด์หน้าใหม่เพิ่มขึ้นหลากหลายยี่ห้อ เช่น นกพิราบ โรซ่า ซื่อสัตย์ ไมก้า อะยัม ซีเล็ค ยูเซฟ มงกุฎทะเล ซูเปอร์ซีเชฟ

แต่แน่นอนว่า ไม่มีใครไม่รู้จัก 2 ยี่ห้อในตำนาน “สามแม่ครัว” และ “ปุ้มปุ้ย” ซึ่งบุกโลดแล่นในตลาดประเทศไทยนานหลายสิบปีและรุกส่งออกลุยตลาดโลกอีกหลายสิบประเทศด้วย.