วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ระบบนิเวศของสัตว์ป่า จากเมืองกรุง

ระบบนิเวศของสัตว์ป่า จากเมืองกรุง

 
ท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุของเดือนเมษายนทำให้หลายคนตัดสินใจหลบร้อนไปพักผ่อนยังต่างประเทศซึ่งทำให้การท่องเที่ยวต่างแดนมีเงินสะพัดไม่น้อย กระนั้นก็ยังมีนักท่องเที่ยวชาวไทยจำนวนหนึ่งเลือกที่จะท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งหากเป็นช่วงเวลา High Season แล้วบรรดาโรงแรม รีสอร์ต ที่พักต่างๆ จะถูกจับจองกันจนเต็ม
 
ส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวที่อากาศดีและไม่ห่างจากกรุงเทพฯ มากนัก รวมทั้งยังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว กลายเป็นตัวเลือกสำคัญในการเลือกทำเลสำหรับการต่อยอดพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ “เขาใหญ่” จึงเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ในการปักหมุดของธุรกิจประเภทนี้
 
อีกเหตุผลหนึ่งที่น่าจะทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บนพื้นที่เขาใหญ่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดคือ ความต้องการมีบ้านหลังที่สองหรือหลังที่สาม จนทำให้ปลายปี 2557 ตลาดอสังหาฯ โซนเขาใหญ่มีมูลค่าตลาดประมาณ 12,000 ล้านบาท
 
ซึ่งหากจะวิเคราะห์ในเชิงธุรกิจอีกแง่มุมหนึ่งแล้ว อาจเป็นเพราะที่ดินทำเลดีย่านธุรกิจใจกลางเมืองนั้นค่อยๆ ลดปริมาณลง ซึ่งทำให้การพัฒนาอสังหาฯ ถูกจำกัดและไม่สามารถเติบโตได้มากไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 
 
ดังนั้นบรรดานักลงทุนจึงเบนเข็มมายังพื้นที่บริเวณเขาใหญ่ และกำลังเข้ามาเปลี่ยนป่าไม้ให้กลายเป็นป่าเมือง
 
“อากาศดี ใกล้ชิดธรรมชาติ” จุดขายหลักของบรรดาโครงการอสังหาฯ ที่เกิดขึ้นใหม่ราวดอกเห็ดในหน้าฝน นักลงทุนที่อยู่ในแวดวงอสังหาฯ ต่างทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลลงบนพื้นที่สีเขียวดังกล่าว กระนั้นกลิ่นอายความสดชื่นของเขาใหญ่ประหนึ่งเค้กก้อนโตที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบหายาก ก็ดึงดูดนักลงทุนวงนอกให้หันมาประชันขันแข่งในสังเวียนนี้ด้วยเช่นกัน
 
เขาใหญ่ พื้นที่ป่าสำคัญของประเทศไทยที่มีอาณาบริเวณกินพื้นที่ถึง 11 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสระบุรี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดนครนายก ป่าไม้ที่ให้ชีวิตแก่บรรดาสรรพสัตว์น้อยใหญ่ มอบอากาศที่เย็นสบายสดชื่นแก่ผู้คน
 
บัดนี้ ป่าแห่งนี้กำลังร้อนระอุ เมื่อผืนป่ากำลังถูกเปลี่ยนให้เป็นสนามแข่งขันที่สำคัญ หากนับย้อนเวลาไป 20-30 ปีก่อน มีนักธุรกิจตระกูลดังเพียงไม่กี่ตระกูลเท่านั้นที่เข้ามาจับจองทำเลดีๆ ปั้นโครงการบ้านพักตากอากาศออกขายในตลาด เช่นที่ตระกูลเตชะณรงค์ประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ และขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งบนพื้นที่เขาใหญ่แห่งนี้ ที่รู้จักกันดีในนาม “โบนันซ่าเขาใหญ่”
 
กระทั่งจุดสูงสุดของการแข่งขันนี้คือเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เมื่อนักลงทุนทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ทั้งแสนสิริ แมกโนเลีย บ.เดอะพริวิเลจ เอสเตท และน้องใหม่อย่างทายาทธุรกิจรองเท้า “ม้าดาว” ที่หันมาให้ความสนใจในธุรกิจนี้ ต่างพาเหรดกันเข้ามาในสนามแข่ง พร้อมหว่านเม็ดเงินกันเป็นว่าเล่น จนทำให้มีโครงการเกิดใหม่มากกว่า 50 โครงการ ทั้งคอนโดมิเนียม และโครงการบ้านเดี่ยว
 
เริ่มตั้งแต่ผู้ผลิตรองเท้าแตะแบรนด์ “ม้าดาว” ที่ส่งโครงการ เดอะ เครสตัน ฮิลล์ มูลค่าโครงการ 6,000-7,000 ล้านบาท บนเนื้อที่ 200 ไร่ ในขณะที่ค่ายแมกโนเลีย เปิดเผยแผนลงทุน 3 โครงการ มูลค่ากว่า 3,500 ล้านบาท และค่ายแสนสิริที่เปิดตัวไป 4 โครงการ มูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้น 2,300 ล้านบาท 
 
โดยส่วนใหญ่นักลงทุนจะเน้นไปที่โครงการคอนโดมิเนียมเนื่องจากตลาดคอนโดมิเนียมบริเวณโซนเขาใหญ่มีดีมานต์การซื้อเติบโตสูงถึง 83% จากยูนิตที่เสนอขายใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม 2556 – พฤศจิกายน 2557 จำนวน 387 ยูนิต และเพราะความต้องการที่สูงขึ้นส่งผลให้ราคาที่ดินบริเวณดังกล่าวกลายเป็นทำเลทองราคาที่ดินขยับจากไร่ละ 4-5 ล้าน เป็น 15-20 ล้าน
 
ทั้งนี้พื้นที่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือบริเวณโซนเขาใหญ่ (ถนนผ่านศึก-กุดคล้า ถึงเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่) มีการกระจุกตัวของอสังหาฯ สูงถึง 51% ซึ่งคือพื้นที่ไข่แดง รองลงมาเป็นพื้นที่ไข่ขาว ถนนธนะรัชต์ โซนขนงพระ-โยธาธิการ 33% โซนมิตรภาพ-ธนะรัชต์ 14% และ 2% เป็นของโซนมวกเหล็ก-ปากช่อง ทั้งนี้ทำเลยอดนิยมราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 88,600 บาทต่อตารางเมตร
 
การขยายตัวของตลาดอสังหาฯ โซนเขาใหญ่สวนทางกับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่มหาวิทยาลัยหอการค้าเปิดเผยตัวเลขที่คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจตลาดทั้งปี 2558 ว่า GDP ขยายตัว 3.2% ปรับลดจากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวที่ระดับ 4% เนื่องจากการบริโภคหดหาย การส่งออกลดราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งเครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดับทุกตัวนับเป็นภาวะที่ไม่เคยพบในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา
 
นอกเหนือไปจากโครงการอสังหาฯ ที่พากันเปิดตัวอย่างต่อเนื่อง ยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่เข้ามาอาศัยความได้เปรียบด้านพื้นที่ จนเกิดธุรกิจที่สร้างความบันเทิงให้กับผู้ชื่นชอบในความเร็วภายใต้ชื่อ Bonanza Speedway เดิมทีพื้นที่ดังกล่าวเคยถูกใช้จัด Big Mountain Concert อีกหนึ่งธุรกิจของตระกูลเตชะณรงค์ ที่กำลังมีปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์ หลังชุดปฏิบัติการพิเศษเข้าตรวจสอบ ในโครงการ “ปฏิบัติการทวงคืนพื้นที่ป่า จาก โบนันซ่า เขาใหญ่” ซึ่งพบว่าพื้นที่ของสนามแข่งรถดังกล่าว รุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ กินพื้นที่เขาเสียดอ้า เขานกยูง เขาอ่างหิน 
 
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนพื้นที่ของผืนป่าเขาใหญ่ทุกวันนี้ที่กำลังเปลี่ยนแปลง ในบางแง่มุมอาจดูเหมือนเป็นปรากฏการณ์ที่นำพาความเจริญและสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ แต่นั่นเป็นเพียงมุมมองในเชิงเศรษฐศาสตร์จุลภาคเท่านั้น 
 
เมื่อความเจริญจากในเมืองกรุงแผ่ขยายเข้ามาปกคลุมผืนป่าบางส่วนนั้น แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อภาพรวมมหภาค ดังระลอกคลื่นบนผิวน้ำ 
 
เริ่มตั้งแต่ผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา บางโครงการต้องตัดต้นไม้เพื่อปรับพื้นที่ให้เหมาะสมกับสิ่งปลูกสร้างระดับไฮเอนด์ ซึ่งนั่นย่อมเป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของสรรพสัตว์น้อยใหญ่ และยังส่งผลให้แหล่งอาหารของสัตว์ลดน้อยลงไป เมื่อปริมาณอาหารของสัตว์ไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรของสัตว์ป่า 
 
สัตว์ป่าเหล่านั้นดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดจำต้องออกมาหาอาหารในบริเวณพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งหากมองเพียงผิวเผินจะเหมือนกับว่า สัตว์ป่าเหล่านั้นบุกรุกพืชสวนไร่นาของชาวบ้าน ไม่อยู่แต่ในพื้นที่ของตนเอง คำถามคือใครบุกรุกพื้นที่ของใครก่อน
 
นอกเหนือไปจากผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่พึ่งพาอาศัยป่าแล้ว การตัดต้นไม้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสมดุลทางธรรมชาติ และวิถีชีวิตของเกษตรกร ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ดังเช่นที่เคยเกิดเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 น่าจะเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับประเทศไทยไม่เฉพาะแต่ผู้ที่ประสบภัยเท่านั้น
 
น่าแปลกที่เรื่องสำคัญอย่างการทำกฎหมายผังเมืองใหม่ไม่สามารถทำได้ดังใจ เพราะการเติบโตของธุรกิจอสังหาฯ บริเวณโดยรอบเขาใหญ่ ขยายตัวรวดเร็วเกินกว่าผังเมืองจะมาจำกัดพื้นที่ในภายหลัง และยังถูกต่อต้านจากกลุ่มทุน และกลุ่มองค์การบริหารส่วนตำบล ทำให้ต้องเลื่อนประกาศทบทวนผังเมืองรอบใหม่ ดูจะกลายเป็นเรื่องที่เอื้อประโยชน์ต่อนายทุนได้ดี
 
หลายประเทศในทวีปเอเชีย และทวีปยุโรปต่างมีกฎหมายเพื่อรองรับการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ โดยยังคงอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ในขณะที่เราดูแลปอดของประเทศเพียงแค่กิจกรรมสร้างภาพที่ฉาบฉวย 
 
เช่นนั้นเราก็เป็นเพียงมนุษย์ที่ไม่ใช่เพียงอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของห่วงโซ่อาหารเท่านั้น หากแต่ยังอาศัยความศิวิไลซ์เปลี่ยนตัวเองสู่การเป็น “ผู้ล่าอาณานิคม” อีกด้วย