วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > On Globalization > จาก SARRC สู่ IDY การทูตวัฒนธรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ

จาก SARRC สู่ IDY การทูตวัฒนธรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ

 
Column: AYUBOWAN
 
วันนี้ผู้เขียนต้องขออนุญาตท่านผู้อ่าน AYUBOWAN ทุกท่าน แทรกคิวและข้ามโพ้นบริบทของศรีลังกาไปสู่ภาพกว้างที่น่าสนใจติดตามและกำลังขยายให้เรื่องราวความเป็นไปของภูมิภาคเอเชียใต้ เป็นประหนึ่งศูนย์กลางของวัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์ที่กำลังได้รับความนิยม โดยเฉพาะในมิติว่าด้วย well-being กันสักนิดนะคะ
 
เนื่องเพราะเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมาได้รับการเฉลิมฉลองให้เป็นวันโยคะนานาชาติ หรือ International Day of Yoga: IDY เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งการประกาศวันโยคะนานาชาติเช่นว่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างที่ใครอยากประกาศเฉลิมฉลองหรือจัดกิจกรรมยกย่องเทิดทูนผู้ใดหรือสิ่งใดก็ประกาศกันไปตามอำเภอใจนะคะ
 
หากแต่เรื่องราวความเป็นไปของ International Day of Yoga: IDY ถือเป็นวาระที่มีสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ร่วมพิจารณาและลงมติรับรองกันเลยทีเดียวค่ะ
 
เรื่องราวความเป็นมาและเป็นไปของ International Day of Yoga ที่ว่านี้คงเกิดขึ้นได้ยากและคงต้องยกเครดิตให้กับวิสัยทัศน์ รวมถึงความสามารถของ Narendra Modi นายกรัฐมนตรีคนที่ 15 และคนปัจจุบันของอินเดีย ที่นำพามิติทางวัฒนธรรมมาต่อยอดให้เกิดผลในระดับนานาชาติได้อย่างลงตัว
 
ความเป็นไปของ Narendra Modi ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีแห่งอินเดียก็น่าสนใจไม่น้อยเช่นกันนะคะ เพราะเขานำพาพรรค Bharatiya Janata Party หรือ BJP ให้สามารถครองชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2014 
 
แต่นั่นอาจไม่สำคัญเท่ากับการที่ Narendra Modi ดำเนินมิติและนโยบายการระหว่างประเทศต่อประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียใต้อย่างน่าสนใจยิ่ง เมื่อเขาส่งเทียบเชิญให้ผู้นำจาก South Asian Association for Regional Cooperation: SAARC ซึ่งประกอบด้วย อัฟกานิสถาน บังกลาเทศ ภูฏาน มัลดีฟส์ เนปาล ปากีสถาน ศรีลังกา และอินเดีย ให้เข้าร่วมในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นผู้นำอินเดียคนแรกที่ดำเนินการเช่นนี้
 
นัยความหมายของการเชิญผู้นำจาก SAARC ให้มาร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะกระชับความสัมพันธ์กับมิตรประเทศรอบบ้าน และการสร้างให้ SAARC เป็นกลไกที่ขับเคลื่อนพลวัตความจำเริญของภูมิภาคนี้ไปพร้อมกัน ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงบทบาทนำของอินเดียในประชาคมระหว่างประเทศแห่งนี้ไปโดยปริยาย
 
ความสำเร็จของ Modi ในฐานะมุขมนตรีแห่งรัฐคุชราต (Chief Minister for Gujarat) ที่ครองตำแหน่งยาวนานตั้งแต่ตุลาคม 2001 ถึง พฤษภาคม 2014 และนำพาความเจริญครั้งใหม่มาสู่พื้นที่ ควบคู่กับการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำทางธุรกิจและนักลงทุนเป็นประจำทุก 2 ปี (biennial summit) ในนาม Vibrant Gujarat ได้เปิดพื้นที่การรับรู้และโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในคุชราตอย่างกว้างขวาง
 
ก่อนที่พัฒนาการทางเศรษฐกิจตามแนว Gujarat Model จะกลายเป็นภาพจำที่ทำให้ผู้คนทั่วทั้งอินเดียพร้อมฝากความหวังในการสร้างภาพลักษณ์อินเดียยุคใหม่ไว้กับ Modi ด้วย
 
ภาพลักษณ์ของอินเดียยุคใหม่ไม่ได้ผูกพันอยู่เพียงการกระตุ้นการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่หรืออภิมหาโครงการพัฒนาอย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ เท่านั้น หากแต่ทักษะในการพัฒนาเศรษฐกิจของ Modi ยังได้หยิบนำรากฐานทางวัฒนธรรมของสังคมอินเดียมาสร้างเสริมให้เกิดมูลค่าเพิ่มและโอกาสทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ได้อย่างน่าสนใจ
 
การนำเสนอให้สหประชาชาติลงมติเห็นชอบรับรองให้วันที่ 21 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันแห่งโยคะนานาชาติ หรือ International Day of Yoga เป็นภาพสะท้อนความแหลมคมของวิสัยทัศน์ผู้นำ เพราะนอกจากจะเป็นการบ่งชี้ว่าอินเดียมีรากฐานและมรดกทางวัฒนธรรมยาวนานแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นโอกาสทางเศรษฐกิจจากวัฒนธรรมที่ประเมินมูลค่าออกมาเป็นตัวเลขได้อย่างมหาศาล
 
ลำพังแค่การเปิดพื้นที่ทั่วทั้งอินเดียให้เป็นจุดหมายปลายทางแห่งการสร้างเสริม “สุขภาวะ” (well-being) ตามแนวทางของโยคะที่ประกอบส่วนด้วยอาศรมและสำนักเผยแพร่ที่มีอยู่อย่างหลากหลายก็ทำให้ภาพลักษณ์และความทรงจำเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอินเดียเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
 
และเมื่อหากหมายรวมถึงการผลิต “ครูโยคะ” ที่จะกระจายออกไปเปิดสำนัก หรือที่เรียกกันว่า “yoga studio” ซึ่งแพร่หลายไปในทุกพื้นที่ของโลก นี่ก็คือการเปิดแนวรุกทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่ที่อาจมีผลหยั่งรากลึกลงไปในสำนึกตระหนักและจิตวิญญาณมากกว่าการเกิดขึ้นของร้านอาหารนานาชาติ ทั้งญี่ปุ่น จีน เกาหลี ที่ครั้งหนึ่งเคยสร้างให้เกิดกระแสวัฒนธรรมการบริโภคมาแล้ว
 
แต่นั่นยังไม่ได้ประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปกรณ์และเครื่องแต่งกายสำหรับโยคะ ที่มีมูลค่าสูงและกำลังแข่งขันทั้งในมิติของคุณภาพและการออกแบบให้สอดรับกับรสนิยมและไลฟ์สไตล์ของผู้สวมใส่แต่ละกลุ่มอีกด้วย
 
ขณะเดียวกัน ตราสัญลักษณ์ของ IDY ที่แม้จะได้รับการประเมินว่าเรียบง่าย หากแต่บ่งบอกนัยความหมายได้อย่างลึกซึ้งและแหลมคม โดยเฉพาะภาพแผนที่โลกซึ่งมีอินเดียและภูมิภาคเอเชียใต้ทั้งระบบเป็นศูนย์กลางหรือศีรษะในการขับเคลื่อนองคาพยพและความเป็นไปรอบข้างนี้ ไม่ได้สื่อแสดงให้อินเดียโดดเดี่ยวออกไปจาก SAARC หากแต่ยังให้ความสำคัญกับมิตรประเทศรอบข้างให้อยู่ร่วมในกระบวนการเดียวกัน ซึ่งสะท้อนความละเอียดอ่อนในการดำเนินกุศโลบายในการระหว่างประเทศอีกทางหนึ่ง
 
การนำรากฐานทางวัฒนธรรมมาเป็นองค์ประกอบในการดำเนินนโยบายต่างประเทศก็ดี หรือเป็นกลไกในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สังคม ดูจะเป็นกรณีที่หลายฝ่ายพยายามสร้างให้เกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ หากแต่ประเทศหรือสังคมที่จะดำเนินมาตรการเช่นว่านี้ให้เกิดประโยชน์โพดผลอย่างแท้จริง จำเป็นต้องมีรากฐานและแก่นแกนทางวัฒนธรรมที่มั่นคงจากภายในมากกว่าที่จะเป็นเพียงรูปแบบที่ห่อหุ้มอยู่แต่แค่ชั้นเปลือกนอก
 
ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่บางประเทศพยายามจะก่อรูปและผลักดันให้เกิดขึ้น ก็คงอยู่ในบริบทที่ว่านี้ เพราะหากปราศจากความสามารถในกระบวนการคิดสร้างสรรค์จากภายใน จะกำหนดสร้างหรือรังสรรค์ผลงานให้ปรากฏออกมาสู่สาธารณะได้อย่างไร
 
พิจารณาจาก IDY ที่เพิ่งผ่านไปในปีนี้แล้ว ก็แอบหวังว่าปรากฏการณ์นี้จะเป็นอนุสติให้เกิด well-being สำหรับสังคมที่เราอยู่ร่วมด้วยกันนะคะ