วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > WB Organic Farm ธุรกิจสีเขียวของ “สหพัฒน์”

WB Organic Farm ธุรกิจสีเขียวของ “สหพัฒน์”

 
 
สหพัฒน์ใช้เวลากว่า 5 ปี ผ่าตัด “แพนเอเซียฟุตแวร์” ยกเครื่องธุรกิจผลิตรองเท้า ซึ่งเป็นกิจการดั้งเดิมตั้งแต่ยุคนายห้างเทียม โชควัฒนา ปรับกระบวนทัพพลิกสถานการณ์จาก “ขาดทุน” เริ่มเห็น “กำไร” และตั้งเป้าให้เป็นหัวขบวนบุกธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยประเดิมเปิดฉากรุกตลาดผลิตภัณฑ์ผักออร์แกนิก “WB Organic Farm” เป็นหัวขบวนแรก
 
ก่อนหน้านี้ ในช่วงการปรับโครงสร้างองค์กรและคณะกรรมการบริหารบริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่สร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืน มีกระแสข่าวว่า เครือสหพัฒน์มีการเสนอและศึกษาแผนการลงทุนธุรกิจใหม่ 2-3 ธุรกิจ โดยหนึ่งในนั้นน่าจะเป็นธุรกิจพลังงานทดแทน เนื่องจากมีบริษัทในเครือ คือ  บริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน) หรือ SCG เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำ มีบริษัทภายใต้การบริหาร 3 แห่ง มีกำลังติดตั้งมากกว่า 200 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าศรีราชา โรงไฟฟ้าลำพูน และโรงไฟฟ้ากำแพงเพชร 
 
ขณะเดียวกันมีกลุ่มทุนใหม่สนใจเข้าร่วมลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากสหพัฒน์มีที่ดินและพื้นฐานการดำเนินธุรกิจด้านพลังงาน รวมทั้งมีโอกาสทำรายได้และกำไรสูง 
 
แต่อาจเป็นเพราะนโยบายด้านพลังงานของรัฐไม่นิ่งหรือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่พ้นจุดเสี่ยงทำให้การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ถูกพับเก็บไว้ก่อน 
 
สุนทรา ฐิติวร ผู้จัดการฝ่ายบริหารธุรกิจ บริษัท แพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ผู้จัดการ360  ํ” ว่า บริษัทเพิ่งเริ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก WB Organic Farm หรือ World Best Organic Farm เมื่อปลายปี 2557 โดยลงทุนสร้างฟาร์มขนาด 30 ไร่ ในพื้นที่รวม 300 ไร่ ที่ อ.เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นที่ดินของเครือสหพัฒน์และปลูกต้นยางพาราอยู่เดิม 
 
ปัจจุบัน ฟาร์ม WB Organic  มีผักประมาณ 40 กว่าชนิด และจัดแพ็กเกจเป็น 2 รูปแบบ คือ แพ็กเกจขนาดเล็ก ส่งจำหน่ายให้ผู้บริโภค โดยวิธีดีลิเวอรี่และส่งผ่านโมเดิร์นเทรด เช่น โฮมเฟรชมาร์ทในห้างเดอะมอลล์ ส่วนแพ็กเกจขนาดใหญ่ เน้นกลุ่มร้านอาหารและโรงแรม  
 
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นการหาตลาด กำลังผลิตไม่แน่นอน ช่วงปีแรกจะเน้นการสร้างแบรนด์ให้ผู้บริโภครู้จักและเห็นความสำคัญของการเลือกบริโภคผักออร์แกนิก เช่น การเดินสายจัดบูธจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งหากผู้บริโภคเข้าใจจะทำให้การทำตลาดไม่ยาก เพราะตลาดมีศักยภาพและผู้บริโภคคนไทยส่วนใหญ่สนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น แม้ผักออร์แกนิกมีราคาแพงกว่าผักทั่วไป แต่มีประโยชน์และปลอดภัย
 
ทั้งนี้ ผักออร์แกนิกหรือผักอินทรีย์ยังมีผู้เล่นหรือคู่แข่งไม่กี่ราย เน้นการจำหน่ายในตลาดเฉพาะกลุ่ม จับกลุ่มผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้และกำลังซื้อสูง เนื่องจากในกลุ่มผู้บริโภคยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับผักออร์แกนิก ผักปลอดสารพิษ และผักไฮโดรโพนิกส์ คือ ผักออร์แกนิกหรือผักอินทรีย์จะไม่ใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ฮอร์โมน และสารสังเคราะห์ เน้นระบบการผลิตที่อาศัยกระบวนการทางนิเวศวิทยาและวงจรธรรมชาติที่มีลักษณะเฉพาะในแต่ละพื้นที่แทนการใช้ปุ๋ยเร่งการเติบโต หรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 
 
ขณะที่กระบวนการผลิตผักปลอดสารพิษและผักไฮโดรโพนิกส์มีการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ฮอร์โมน รวมถึงสารสังเคราะห์ เพียงแต่ต้องเก็บผลผลิตในระยะปลอดภัยแล้ว 
 
ที่ผ่านมา ทั้ง บุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) รวมถึง สมมาต ขุนเศษฐ กรรมการและผู้อำนวยการบริหารทั่วไป แพนเอเซีย ฟุตแวร์ จะเดินทางเข้ามาตรวจกระบวนการผลิตและลงมือปลูกผักออร์แกนิกด้วยอย่างสม่ำเสมอ 
 
สมมาตเคยกล่าวผ่านสื่อว่านับจากนี้ บริษัทวางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ 3 แนวทาง คือ 1. ผลิตชิ้นส่วนรองเท้าต่อไปโดยผลิตชิ้นส่วนประกอบรองเท้าให้ผู้ผลิตในเครือ แบรนด์เอคโค่ ลาคอสต์ และคีน  2. สร้างแบรนด์สินค้าของตัวเอง และ 3. การผลักดันธุรกิจเกษตรอินทรีย์ภายใต้แบรนด์ WB Organic Farm เพื่อสร้างรายได้ใหม่ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงด้วย 
 
ทั้งนี้มีการประมาณการว่า  ปี 2558 กำไรสุทธิของแพนเอเซียฯ จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท และรายได้เติบโต 10-15% เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่มีรายได้ 621.77 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 30.86 ล้านบาท โดยไตรมาสแรกของปี  2558 บริษัทมีกำไรสุทธิ 47.46 ล้านบาท และแนวทางการรุกธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพถือเป็นปัจจัยบวกทดแทนอุตสาหกรรมรองเท้าที่ยังเจอปัจจัยลบหลายข้อ โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนค่าแรงและคู่แข่งอย่างจีน เวียดนาม  
 
แน่นอนที่สุด บุญเกียรติในฐานะผู้พลิกฟื้นสถานการณ์ “แพนเอเซีย” กำลังหมายมั่นปั้นมือให้ WB Organic Farm เป็นจุดเริ่มธุรกิจสีเขียวในเครือสหพัฒน์ เป้าหมายคือการเติบโตอย่างยั่งยืนและตอกย้ำเจตนารมณ์การดำเนินธุรกิจ “An Honest World” อย่างชัดเจนที่สุด
 
 
Time line “แพนเอเซียฟุตแวร์ 4 ทศวรรษฝ่ามรสุมใหญ่”
 
ชื่อรองเท้า “แพน” แบรนด์เก่าแก่ของคนไทย เริ่มต้นเมื่อ 40 ปีก่อน จากหน่วยงานหนึ่งในบริษัท ไลอ้อน(ประเทศไทย) แยกออกมาตั้งบริษัท บางกอกรับเบอร์ จำกัด และขยายกิจการเปิดบริษัท แพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด ที่สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เวลานั้น แพนเอเซียไม่ใช่แค่ผลิตและจำหน่ายรองเท้านักเรียนและรองเท้ากีฬา “แพน” แต่ยังรับจ้างผลิตและจำหน่ายรองเท้าทั้งในและต่างประเทศ อย่าง NIKE ส่งออกไปทวีปอเมริกาและยุโรป  
 
ภาพรวมธุรกิจขยายใหญ่โต สร้างรายได้และผลกำไรดีต่อเนื่อง บริษัทแพนเอเซียยื่นคำขอจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ระดมทุนก้อนใหญ่ เปลี่ยนเงินทุนก้อนแรก 10 ล้านบาท เพิ่มเป็น 2,700 ล้านบาท  สามารถรองรับคำสั่งการผลิตรองเท้าหลากหลายแบรนด์ มีการลงทุนซื้อเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์กระเป๋า ภายใต้แบรนด์ JANSPORT, KIPLING, EASTPAK
 
อย่างไรก็ตาม ช่วงปี 2552-2555 อุตสาหกรรมรองเท้าเจอมรสุมธุรกิจลูกใหญ่ เมื่อคู่แข่งรองเท้าและเครื่องหนังของจีนกับเวียดนาม ซึ่งอาศัยจุดแข็งด้านต้นทุน ทั้งวัตถุดิบและค่าแรง เข้ามาดัมพ์ตลาด ใช้ราคาช่วงชิงลูกค้า  ประกอบกับประเทศไทยประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 300 บาทต่อวัน  
 
แพนเอเซียฟุตแวร์เจอทั้งวิกฤตตลาดในประเทศแถมถล่มซ้ำด้วยพิษต่างประเทศ เมื่อไนกี้ ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ย้ายฐานการผลิตไปที่จีนและเวียดนาม โดยลดออร์เดอร์ จากเดิมบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากไนกี้มากกว่า 90% เหลือแทบศูนย์ รายได้หดหายและขาดทุนสะสมถึง 1,000 ล้านบาท 
 
ปี 2554  บริษัทแม่ “สหพัฒน์” สั่งปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ให้บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในแพนเอเซีย และโยกบุญชัย โชควัฒนา เข้าบริหารงานแทนณรงค์ โชควัฒนา เพื่อยกเครื่ององค์กร ปรับปรุงระบบการผลิต ระบบการทำงาน และลดค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแนวคิดการทำธุรกิจ เลิกพึ่งพิงการรับจ้างผลิตแบรนด์ต่างชาติ หันมาสร้างแบรนด์ของตัวเอง คือ เอคโค่ เดย์เบรก เพิ่มไลน์สินค้ากลุ่มแฟชั่น และเปิดช็อป SHOES OUTLET  เพื่อปลุกปั้นแบรนด์ในฐานะสินค้าไทยคุณภาพสูง 
 
ที่สำคัญ ตัดสินใจลดขนาดธุรกิจ สั่งปิดบริษัทในกลุ่ม 13 บริษัท เหลือ 8 บริษัท และกำหนดแนวทางการดำเนินงานในลักษณะ “โฮลดิ้งคอมปะนี” มีธุรกิจ 2  กลุ่มหลัก คือ กลุ่มธุรกิจผลิตรองเท้าและเครื่องหนังกับกลุ่มธุรกิจลงทุนในหุ้นบริษัทต่างๆ โดยมีบริษัท ดับเบิ้ลยูบีแอลพี จำกัด เป็นบริษัทแกนหลัก 
 
ที่ผ่านมามีหลายธุรกิจอยู่ในแผนการขยายสู่ธุรกิจใหม่ ไม่ใช่แค่ธุรกิจผักออร์แกนิกส์ แต่ยังรวมถึงธุรกิจที่มีศักยภาพอย่างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนด้วย 
 
กว่า 4 ทศวรรษกับการฝ่าด่านมรสุมเศรษฐกิจ จึงถือเป็นเกม “เปลี่ยน” เพื่ออนาคตใหม่