วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > “คนละครึ่ง” สะพัด 7 หมื่นล้าน ฟู้ดดีลิเวอรีออเดอร์พุ่ง ดันเฟส 5

“คนละครึ่ง” สะพัด 7 หมื่นล้าน ฟู้ดดีลิเวอรีออเดอร์พุ่ง ดันเฟส 5

เศรษฐกิจยุคของแพงส่งผลกระตุ้นยอดการใช้สิทธิ์โครงการคนละครึ่ง เฟส 4 มีแนวโน้มเติบโตพุ่งพรวดกว่าทุกเฟสที่ผ่านมา และปลุกบรรยากาศการแข่งขันในกลุ่มค้าปลีก รวมถึงกลุ่มแอปพลิเคชัน Food Delivery แห่ออกแคมเปญแข่งขันอย่างดุเดือด ชนิดลดแล้วลดอีก เพื่อช่วงชิงยอดขายตลอดระยะเวลามาตรการ 4 เดือน

ถ้าดูข้อมูลดีเดย์เปิดใช้สิทธิ์วันแรก 1 กุมภาพันธ์ 2565 มีผู้ใช้จ่ายพุ่งพรวดทันที 2.4 ล้านราย จากผู้ยืนยันการใช้สิทธิ 16.93 ล้านราย ยอดการใช้จ่ายรวม 501.24 ล้านบาท และผ่านไปเพียงสัปดาห์แรก มีผู้ใช้สิทธิ์ 20.40 ล้านราย ยอดการใช้จ่ายรวม 14,027.6 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 7,102.8 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย 6,924.8 ล้านบาท

ยอดใช้จ่ายสะสมแบ่งตามประเภทตามร้านค้า ได้แก่ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 5,201.1 ล้านบาท ร้านธงฟ้า 2,743.7 ล้านบาท ร้าน OTOP 675.8 ล้านบาท ร้านค้าทั่วไป 5,144.5 ล้านบาท ร้านบริการ 243.5 ล้านบาท และกิจการขนส่งสาธารณะ 19 ล้านบาท

ขณะที่มีประชาชนกดยืนยันสิทธิเข้าร่วมโครงการระยะที่ 4 มากกว่า 24 ล้านราย เทียบจำนวนผู้ใช้จ่ายโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 จำนวน 26.35 ล้านราย และมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ ระยะที่ 4 แล้ว 1.33 ล้านราย เป็นผู้ประกอบการรายใหม่ 166 ราย โดยกระทรวงการคลังประเมินว่า จะช่วยเพิ่มเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 6.96 หมื่นล้านบาท

แน่นอนว่า กลุ่มร้านอาหารได้แรงกระตุ้นจากแอปพลิเคชันฟูดดีลิเวอรี ซึ่งเฟสล่าสุดมีผู้ได้สิทธิ์เข้าร่วม 3 รายใหญ่ คือ ไลน์แมน แกร็บฟู้ด และรายใหม่อย่าง ทรูฟู้ด (True Food) ของเครือทรูคอร์ปอเรชั่น

นายยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไลน์แมน วงใน (LINE MAN Wongnai) เปิดเผยว่า ไลน์แมน เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งเฟส 4 ของรัฐต่อเนื่อง หลังจากร่วมเฟส 3 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก มีเครือข่ายร้านอาหารมากที่สุดถึง 60,000 ร้าน จากร้านอาหารทั้งหมดที่ลงทะเบียนกับกระทรวงการคลัง จำนวน 82,000 ร้าน ช่วยกระตุ้นยอดขายร้านอาหารเพิ่มมากขึ้นสูงสุด 5 เท่า

ทั้งนี้ จากสถิติที่ผ่านมาของลูกค้าจะมีการเลือกสั่งออร์เดอร์คนละครึ่งมากกว่าออร์เดอร์ปกติถึง 2 เท่า โดยมีจำนวนผู้ใช้ใหม่บนไลน์แมน เพิ่มขึ้นถึง 284% และเชื่อว่าคนละครึ่งเฟส 4 จะสร้างโอกาสให้ร้านอาหารทั้งที่เคยเข้าร่วมคนละครึ่ง ผ่านแอปไลน์แมน และร้านใหม่ที่ยังไม่เคยเข้าร่วม สามารถขยายฐานลูกค้ากว้างขึ้นและเป็นผลดีต่อการทำการตลาดของร้านในอนาคต

สำหรับโครงการคนละครึ่งเฟส 4 ไลน์แมนยังเพิ่มแคมเปญพิเศษดึงดูดผู้ใช้บริการ โดยแจกโค้ด “REALHALF” รับส่วนลด 50% สูงสุด 100 บาท และไม่มีกำหนดมูลค่าขั้นต่ำในการสั่งซื้อสินค้าผ่านร้านอาหารที่เข้าร่วมแคมเปญ

ส่วนร้านอาหารจะได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น ปรับลดค่าจีพี ไม่เกิน 20% สำหรับออร์เดอร์คนละครึ่ง มีสื่อโฆษณาออนไลน์บนแอป และทุกช่องทางสื่อของไลน์แมน วงใน ซึ่งระบบคนละครึ่งบนไลน์แมน มีจุดเด่นที่ไม่ต้องสแกน ไม่จำกัดระยะทาง และคนขับไม่ยกเลิกออร์เดอร์

กลุ่มร้านอาหารหลายแห่งเองยอมรับว่า การใช้แอปพลิเคชันฟูดดีลิเวอรีช่วยเพิ่มออเดอร์ลูกค้าขึ้นหลายเท่า ทั้งในแง่ความถี่และปริมาณการสั่งซื้อ หลายร้านสามารถขายเมนูราคาสูงได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีเม็ดเงินคนละครึ่งหักลดราคาอาหาร จนกระทั่งเริ่มมีเสียงเรียกร้องให้ขยายโครงการเฟสต่อๆ ไปยาวตลอดปี 2565 และเสนอให้รัฐบาลเพิ่มวงเงินสูงถึง 3,000 บาท ไม่ใช่แค่ 1,200 บาท หรือ 1,500 บาท เพื่อลดค่าครองชีพในช่วงจังหวะที่ภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่ต้องอยู่ท่ามกลางปัญหาของแพง ทั้งต้นทุนวัตถุดิบ ราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม

แม้กระทั่งร้านค้าปลีกแบรนด์ใหญ่ต้องกระโดดมาเล่นกลยุทธ์ “คนละครึ่ง” เช่นเดียวกัน อย่างค่ายร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น เดินหน้าโปรโมชั่น “คนละครึ่ง ลด 50%” ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่รัฐจัดโครงการเฟสแรกจนถึงล่าสุด โดยจัดสินค้าหมุนเวียนให้ลูกค้าสมาชิก All member ซื้อสินค้าลด 50% เมื่อจ่ายด้วยทรูมันนี่ วอลเล็ท ผ่านเซเว่นแอป นอกเหนือจากการเข้าร่วมโครงการช้อปดีมีคืน

ด้านยักษ์ใหญ่ไฮเปอร์มาร์เก็ต ไม่ว่าจะเป็นบิ๊กซี โลตัส ท็อปส์ รวมถึงร้านแฟมิลี่มาร์ท ต่างอัดโปรโมชั่น 1 แถม 1 เพื่อดึงดูดกลุ่มนักช้อปที่ต้องการความคุ้มค่าสูงสุด ทั้งลูกค้าที่เข้าโครงการช้อปดีมีคืนและคนละครึ่ง

นางสาวชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลกระทบจากสถานการณ์โควิดทำให้คนไทยเริ่มมีแนวคิดเรื่อง “ความสุขทรงตัว” เน้นการจับจ่ายอย่างระวังในช่วงเทศกาล ซึ่งหากพิจารณาผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคด้านการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งถือเป็นผลสำรวจชิ้นแรกของปีนี้ สะท้อนพฤติกรรมคนไทยส่วนใหญ่ระวังเรื่องการใช้จ่ายมากทำให้ภาพรวมการใช้จ่ายลดลง 4% เมื่อเทียบเท่ากับช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยมีข้อน่าจับตาถึงความต้องการในการใช้จ่ายของผู้บริโภค 2 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 คนไทยหันมาใช้จ่ายเพื่อผ่อนคลายและสร้างสุขภาพให้คนในครอบครัว สืบเนื่องจากความตึงเครียดจากสถานการณ์โควิด-19 อันยาวนาน ลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและไตร่ตรองในการจับจ่ายเพิ่มขึ้น เน้นเรื่องสุขภาพและต้องการสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย เพื่อต่อต้านโรคที่อยู่รอบตัว

ประเด็นที่ 2 วิถีชีวิตใหม่ที่เน้นใส่ใจคุณภาพและความน่าเชื่อถือ สถานการณ์โควิด-19 และเจ้าตัวไวรัสทั้งเดลตาและโอไมครอนที่มาใหม่ ส่งผลให้ผู้บริโภคชอปปิ้งสินค้าออนไลน์มากขึ้นต่อเนื่อง มีโปรแรงจากดับเบิลเดย์ 11.11, 12.12 ล่อตาล่อใจ การไลฟ์สดขายของต่างๆ และโปรโมชั่นกล่องสุ่มที่มาแรง

กลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคจับจ่ายมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน กลุ่มโทรศัพท์มือถือ สมาร์ตโฟน กลุ่มเสื้อผ้าและเครื่องประดับ กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมความงาม บริการท่องเที่ยว กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ตู้เย็น กลุ่มสินค้าคอมพิวเตอร์ แท็บแล็ต บริการรับประทานอาหารนอกบ้าน และกลุ่มรองเท้า กระเป๋า

ด้านศูนย์วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จัดทำบทวิเคราะห์ประเมินเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเส้นทางการฟื้นตัว แม้พัฒนาการล่าช้าจากการระบาดของไวรัสโอมิครอน แต่ผลกระทบอยู่ในวงจำกัด โดยในกรณีฐาน คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะแตะจุดสูงสุดในกลางเดือนกุมภาพันธ์ก่อนลดลงอย่างช้าๆ ภาคท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบมากสุดจากการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ และผลต่อภาพรวมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงราว 0.6%

แต่ปัจจัยบวกสำคัญ คือ การออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและบรรเทาภาระค่าครองชีพ ทั้ง โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 วงเงิน 34,800 ล้านบาท โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 4 วงเงิน 9,000 ล้านบาท และโครงการเพิ่มกำลังซื้อแก่กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ วงเงิน 8,070 และ 1,352 ล้านบาท ตามลำดับ จะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยืนยันว่า มาตรการคนละครึ่งเฟส 4 ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์และสิ้นสุด 30 เมษายนนี้ รวมถึงมาตรการช้อปดีมีคืน จะส่งผลให้เงินสะพัดในช่วงไตรมาสแรก ปี 2565 ประมาณ 90,000-1 แสนล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจเติบโตได้ 1-1.3%

เมื่อหักลบกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโอมิครอนที่ทำให้การจับจ่ายใช้สอยลดลงประมาณ 50,000 ล้านบาท โดยเฉพาะช่วงเทศกาลตรุษจีนที่เงินสะพัดต่ำสุดในรอบ 11 ปี คาดว่าไตรมาสแรกจะมีเงินสะพัดจริง 40,000-50,000 ล้านบาท และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาสแรกจะอยู่ที่ 2.5-3% จากเดิมที่เคยประเมินไว้ช่วงไม่มีโอมิครอน จะขยายตัว 3-4% ส่งผลให้ทั้งปียังประเมินจีดีพีปีนี้จะขยายตัวในกรอบ 4%

“ภาครัฐควรขยายโครงการอีกครั้งและเพิ่มวงเงินมากขึ้น โดยเฉพาะคนละครึ่งที่เห็นผลจริงและเป็นมาตรการขวัญใจประชาชน ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ต้องรอดูว่า หากสิ้นสุดโครงการเฟส 4 แล้วจะมีการขยายต่ออีกหรือไม่”

ดังนั้น เมื่อประเมินจากเสียงสะท้อนของประชาชนเกือบ 100% ต่างต้องการให้รัฐบาลขยายมาตรการ “คนละครึ่ง” เพิ่มวงเงิน อยากให้มีระยะเวลาใช้โครงการมากขึ้น และอยากให้เพิ่มยอดค่าใช่จ่ายต่อวันมากกว่า 150 บาท กลายเป็นมาตรการที่ชาวบ้านเรียกร้องมากที่สุดในเวลานี้.

ใส่ความเห็น