วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > พิษน้ำมันแรงแซงโควิด วิกฤตถล่มซ้ำเศรษฐกิจไทย

พิษน้ำมันแรงแซงโควิด วิกฤตถล่มซ้ำเศรษฐกิจไทย

พิษน้ำมันแพงยืดเยื้อตั้งแต่ปลายปีก่อนและแนวโน้มรุนแรง กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ชนิดผิดความคาดหมายของรัฐบาลและอาจต้องใช้เม็ดเงินอุดหนุนอีกมหาศาล เพราะตั้งแต่เริ่มต้นปี 2565 ราคาน้ำมันปรับขึ้นไปแล้วกว่า 10 ครั้งและยังมีเสียงเตือนอีกว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนต์อาจทะลุขึ้นไปอยู่ในระดับ 125 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในอีกไม่ช้าไม่นานด้วย

ขณะเดียวกันสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย สมาคมขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออก เครือข่ายสมาชิก และสมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย พยายามเคลื่อนไหวจัดกิจกรรม Truck Power เพื่อส่งสัญญาณความเดือดร้อนหลายครั้ง จนกระทั่งตัดสินใจเปิดยุทธการ Truck Power Final Season หน้ากระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ยืนยันข้อเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ตรึงราคาน้ำมันดีเซลในระดับ 25 บาทต่อลิตร ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และให้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. พลังงาน ลาออกจากตำแหน่ง

ที่สำคัญ เครือข่ายรถบรรทุกประกาศแข็งกร้าวว่า ผู้ประกอบการรับจ้างขนส่งจำนวน 4 แสนคัน จะปรับขึ้นค่าขนส่ง 20% พร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลในกรุงเทพฯ ใกล้แตะลิตรละ 30 บาทแล้ว ขณะที่ในต่างจังหวัด ปั๊มหลอดพื้นที่ห่างไกลราคาพุ่งสูงถึงลิตรละ 32 บาท ซึ่งกระทบกับผู้ประกอบการขนส่งรายย่อยในท้องถิ่นมาก

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการรถขนส่งส่วนใหญ่ให้บริการสินค้าจำเป็นเกือบทุกชนิด เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค พืชไร่ วัสดุก่อสร้าง และหากราคาน้ำมันยังไม่หยุดปรับขึ้นอีก สหพันธ์การขนส่งฯ จำเป็นต้องปรับขึ้นตามกลไกตลาด

ด้านสมาคมเรือไทยทำหนังสือไปยังกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ขอขึ้นค่าโดยสารเรือข้ามฟากในแม่น้ำเจ้าพระยา 8 ท่า จากคนละ 3.50 บาท เป็น 5 บาท แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยต้องเผชิญกับ 3 วิกฤตแทรกซ้อน ได้แก่ เรื่องการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่ยังไม่จบ ทำให้เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวได้อย่างที่คาดไว้ ซึ่งเป็นกันทั่วโลก ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากนัก

วิกฤตต่อมา ปัญหาเงินเฟ้อมีสาเหตุจากห่วงโซ่อุปทานสะดุดเนื่องจากโรงงานชะลอการผลิตจากปัญหาโควิด การขาดแคลนเรือและตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวางเรือสูงแฝงอยู่ในต้นทุนสินค้าและวัตถุดิบที่ไทยต้องนำเข้าเพื่อมาผลิต อาทิ เหล็ก ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ไทยเผชิญปัญหาของแพงและเงินเฟ้อจากต้นทุนแฝงต่างๆ เหล่านี้ แต่คนไทยไม่มีกำลังซื้อ เป็นปัญหาที่แก้ยากเพราะต่างจากเงินเฟ้อที่เกิดจากความต้องการซื้อที่สูงขึ้น

ส่วนอีกวิกฤตสำคัญที่กำลังถาโถมเข้ามา คือ น้ำมันแพง เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบมาทำน้ำมันดีเซลสัดส่วนสูงถึง 60% ของทั้งหมด ใช้ในการขนส่งและการเกษตร ซึ่งราคาน้ำมันที่สูงขึ้นต้องถามว่ารัฐบาลเตรียมการตั้งรับดีหรือยัง เพราะวิกฤตครั้งนี้ไม่เคยเกิดมาเป็น 10 ปี และต้องเผชิญกับ 3 วิกฤตพร้อมๆ กัน

“คำถามคือรัฐบาลเตรียมงบที่จะใช้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้พอหรือไม่ ปัจจุบันรัฐบาลใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อเดือน ณ ราคาน้ำมันดิบประมาณ 87 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หากราคากระโดดไป 90-92 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล รัฐบาลตั้งงบและเงินจากกองทุนน้ำมันเพื่อสู้กับราคาไว้เท่าไร หากรัฐบาลปล่อยเพราะไม่มีเงินอุดหนุน ราคาน้ำมันดีเซลจะพุ่งขึ้นเป็น 34 บาทต่อลิตร และอาจถึง 35-37 บาทต่อลิตร”

ล่าสุด กลุ่มธุรกิจร้านอาหารส่งสัญญาณทันที โดยนางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า แม้ปัจจุบันราคาสินค้าเกษตรที่ซื้อจากหน้าฟาร์มถูกลงมาก แต่เมื่อบวกค่าขนส่ง ราคาแพงขึ้นทันทีและเป็นต้นทุนที่ร้านอาหารต้องแบกรับ ซึ่งเชื่อว่า กลุ่มสตรีตฟู้ด ร้านข้างทาง จะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ปรับเพิ่มราคาอย่างน้อย 5-10 บาท อาหารจานเดียวอาจเพิ่มเป็น 40-60 บาท จาก 30-50 บาท

ส่วนร้านใหญ่ๆ เช่น ร้านอาหารตามห้างสรรพสินค้า ชาบู สุกี้ ปิ้งย่าง ราคาอาจไม่ปรับ แต่ปริมาณสินค้าจะน้อยลง เนื้อหมูบางลง เพราะถ้าเพิ่มราคาอาจกระทบยอดขายจากจำนวนลูกค้าที่ลดลง

เช่นเดียวกับกลุ่มอุตสาหกรรมและผู้ผลิตสินค้ายืนยันจะสามารถตรึงราคาสินค้าได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น โดยผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จำนวน 150 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ต่างมองปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้ และคาดว่าภาวะราคาสินค้าแพงจะยาวนานไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน หรืออาจยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้ หากราคาพลังงานยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งผู้ประกอบการสามารถตรึงราคาสินค้าได้อีกแค่ 1-2 เดือนเท่านั้น

ดังนั้น ส.อ.ท. เสนอให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการช่วยเหลือประชาชน โดยลดค่าสาธารณูปโภค ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าเดินทาง รวมทั้งลดภาระภาษีและค่าธรรมเนียม เช่น ภาษีสรรพสามิตเชื้อเพลิง

อันที่จริง กระทรวงพลังงานรับรู้ปัญหาความรุนแรง แต่ ณ ขณะนี้ยังกำหนดเพดานตรึงราคาน้ำมันดีเซลบี 5 ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งปัจจุบันใช้เงินกองทุนน้ำมันอุดหนุนถึงลิตรละ 3.79 บาทแล้วจากปริมาณการใช้กว่า 60 ล้านลิตรต่อวัน

หากต้องลดราคาเหลือ 25 บาทต่อลิตรตามข้อเรียกร้อง จะต้องใช้เงินอุดหนุนถึงลิตรละ 9 บาท หรือประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท คงไม่สามารถหาเงินมาดูแลได้ เพราะกองทุนน้ำมันติดลบกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันบวก 1 หมื่นล้านบาท และบัญชีแอลพีจีหรือก๊าซหุงต้ม ติดลบ 2.4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากกระทรวงพลังงานใช้เงินตรึงไว้ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคมนี้

“วันนี้สิ่งที่ได้ทำไปแล้ว คือ ตรึงราคาน้ำมันมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งตอนนี้กองทุนฯ ช่วยลิตรละ 3.79 บาท เงินไหลออก 7 พันล้านบาทต่อเดือน และตรึงราคาก๊าซแอลจีที่ 318 บาทต่อถัง 15 กก. ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ช่วงโควิดระบาด เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตจากการแพร่ระบาด ประชาชน พ่อค้า แม่ค้าใช้ก๊าซหุงต้มในราคาต่ำกว่าราคาตลาดมาก และเตรียมกู้เงินอีก 2-3 หมื่นล้านบาทเพื่อดำเนินการต่อ เบื้องต้นอยู่ในกระบวนการกู้เงิน และเชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหา” นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน กล่าว

เมื่อรัฐบาลยืนยันด้วยข้อมูลมากมาย ท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งทั้งหมดต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า นั่นคือทางเลือกที่ดีที่สุดและเป็นธรรมที่สุด หากไม่ใช่ รัฐบาลย่อมปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้เช่นกัน.

ใส่ความเห็น