วันอังคาร, เมษายน 16, 2024
Home > Cover Story > Buddy HomeCare จากมูลนิธิสู่โมเดลธุรกิจ พร้อมดูแลผู้สูงวัยและสร้างโอกาสให้กับเยาวชน

Buddy HomeCare จากมูลนิธิสู่โมเดลธุรกิจ พร้อมดูแลผู้สูงวัยและสร้างโอกาสให้กับเยาวชน

ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จากการคาดการณ์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวภายในปี 2565 และในปี พ.ศ. 2573 ประชากรสูงวัยจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 26.9 ของประชากรทั้งประเทศ สัดส่วนของผู้สูงอายุหรือประชากรที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไปเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สัดส่วนของอัตราการเกิด และจำนวนประชากรในวัยทำงานลดน้อยลง

การเตรียมรับมือกับสังคมผู้สูงวัยเป็นประเด็นสำคัญที่ใกล้ตัว แต่ในขณะเดียวกันปัญหาเยาวชนกลุ่มเปราะบางที่ขาดโอกาสทางการศึกษาก็ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องการการแก้ไขอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน

ถึงแม้จะเป็นประเด็นปัญหาต่างวาระ แต่ทั้งสองประเด็นสามารถแก้ไขและเตรียมรับมือไปพร้อมกันได้ ดังที่ “บัดดี้ โฮมแคร์” (Buddy HomeCare) ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุที่เล็งเห็นความเป็นไปได้ จึงได้พยายามพัฒนารูปแบบจากการให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุแบบมูลนิธิสู่โมเดลธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ รวมถึงแก้ปัญหาเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ควบคู่ไปกับการเตรียมรับมือกับสังคมผู้สูงวัยไปพร้อมๆ กัน

ปัจจุบันธุรกิจดูแลผู้สูงอายุเกิดขึ้นอย่างมากมายตามจำนวนประชากรผู้สูงวัยที่เพิ่มมากขึ้น และมีหลากหลายบริการให้เลือก “บัดดี้ โฮมแคร์” ถือเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจนี้เช่นกัน แต่สิ่งที่ทำให้บัดดี้ โฮมแคร์ แตกต่างจากโฮมแคร์ทั่วๆ ไป อยู่ที่พนักงานที่เป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุทุกคน ล้วนแล้วแต่เป็นเยาวชนที่ขาดโอกาสด้านการศึกษาทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่น่าเป็นห่วง

“บัดดี้ โฮมแคร์” ตั้งอยู่ในเมืองใหญ่และศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางภาคเหนือของไทย อย่าง “เชียงใหม่” เป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่ให้บริการดูแลผู้สูงอายุ ที่มีการพัฒนาต่อยอดมาจากมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ (Foundation For Older Persons’ Development: FOPDEV) โดยผู้ร่วมก่อตั้งที่มีประสบการณ์ในการทำงานกับผู้สูงอายุ อย่าง เจนวิทย์ วิโสจสงคราม, นราธิป เทพมงคล และ อรพรรณ์ มงคลพนาสถิต

“เชียงใหม่เป็นจังหวัดใหญ่ที่มีความเหลื่อมล้ำสูง เรามีจำนวนผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลเป็นจำนวนมาก และในขณะเดียวกัน เราก็มีกลุ่มเยาวชนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา ไม่ได้เรียนต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษา และเข้าสู่วงจรค้ามนุษย์อยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน” เจนวิทย์ Co-Founder ของบริษัท บั๊ดดี้โฮมแคร์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ 360”

เยาวชนกลุ่มเปราะบางที่ขาดโอกาสทางการศึกษาคือเป้าหมายหลักที่บัดดี้ โฮมแคร์ ให้การช่วยเหลือ โดยการให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชนเพื่อฝึกอบรมเป็นผู้ดูแลสูงอายุ ซึ่งผู้จะได้ทุนต้องมีอายุครบ 18 ปี จบการศึกษาขั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และต้องผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึก เพื่อประเมินทัศนคติเพราะเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานกับผู้สูงอายุ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าเยาวชนที่ได้ทุนการศึกษาเป็นเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ถึง 98% ไม่ว่าจะเป็น ปกาเกอะญอ, อาข่า, ม้ง, ลาหู่, ลัวะ, ขมุ, ไทยใหญ่

ผู้ที่ผ่านเกณฑ์จะได้รับการฝึกอบรมในหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregivers) กับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นระยะเวลา 3 เดือน พร้อมทั้งจะได้รับการอบรมทักษะการดำเนินชีวิต (Life Skill) เพิ่มเติม ซึ่งเป็นคอร์สฝึกอบรมภายในของบัดดี้ โฮมแคร์ ประกอบด้วย การดูแลสุขภาพกายและใจ, การใช้ชีวิตในเมือง และการบริหารจัดการการเงิน โดยที่มูลค่าทุนจะอยู่ราวๆ 50,000-70,000 บาทต่อคน ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วจะได้ร่วมงานกับบัดดี้ โฮมแคร์ ในฐานะพนักงานผู้ดูแลผู้สูงอายุพร้อมได้รับเงินเดือนและสวัสดิการต่างๆ ต่อไป

“ความเป็นอยู่ในเมืองกับบนดอยมันต่างกัน เมื่อเขาลงมาทำงานในเมืองต้องปรับตัวเยอะ เราไม่สามารถส่งเขาออกไปโดยที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมให้กับพวกเขาก่อน เพราะฉะนั้น นอกจากความรู้ที่จำเป็นในการดูแลผู้สูงอายุแล้ว บัดดี้ โฮมแคร์ จะช่วยสอนสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตในเมือง ทั้งการสื่อสาร ใช้สมาร์ทโฟนและแอปพลิเคชันต่างๆ อย่างการสั่งอาหาร สั่งซื้อของ รวมถึงการบริหารจัดการเงินซึ่งเรามองว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้เขาดูแลเงินของเขาได้อย่างเป็นระบบ และวางแผนการเงินในอนาคตได้” เจนวิทย์กล่าว

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่เริ่มดำเนินการมา บัดดี้ โฮมแคร์ ได้ฝึกอบรมกลุ่มเยาวชนเพื่อเป็น Caregivers ไปแล้ว 3 รุ่น รวมทั้งสิ้น 65 คน และในจำนวนนั้น 45 คน กลับมาทำงานให้กับบัดดี้ โฮมแคร์

สำหรับเงื่อนไขในการให้ทุนนั้น ผู้ที่ได้รับทุนต้องทำงานกับบัดดี้ โฮมแคร์ เป็นเวลา 2 ปี และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้กับเยาวชนรุ่นต่อๆ ไปในกรณีที่สามารถทำได้ เพื่อเป็นการส่งต่อโอกาสให้กับน้องๆ รุ่นหลัง และเพื่อให้เห็นถึงคุณค่าของทุนที่เคยได้รับ

ในส่วนของการให้บริการดูแลผู้สูงอายุนั้น บัดดี้ โฮมแคร์ แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือให้บริการแบบรายวัน วันละ 8 ชั่วโมง และแบบที่สองคือให้บริการรายเดือน ดูแลอย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละ 6 วัน วันละ 8 ชั่วโมง ให้บริการทั้งดูแลสุขภาพและการอยู่เป็นเพื่อน อัตราค่าบริการของทั้งสองแบบแตกต่างกันเล็กน้อย แบบแรกอยู่ที่วันละ 800 บาท แบบที่ 2 เริ่มต้นที่ 15,000 บาทต่อเดือน และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของลูกค้า

ผู้สูงอายุที่บัดดี้ โฮมแคร์ ให้บริการดูแลแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ กลุ่มผู้ต้องการพักฟื้น เป็นกลุ่มที่สามารถกลับมาใช้ชีวิตโดยปกติได้ เช่น ผู้ที่เจ็บป่วยชั่วคราว ผู้พักฟื้นหลังผ่าตัด หรือผู้ที่มีภาวะสโตรก (โรคหลอดเลือดสมอง) เป็นกลุ่มที่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติถ้าได้รับการดูแลและฟื้นฟูที่ถูกต้อง

กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มประคับประคอง ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้สูงอายุที่เป็นโรคที่อาจจะรักษาไม่หาย แต่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เช่น ผู้สูงอายุภาวะสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ โดยพนักงานของบัดดี้ โฮมแคร์จะดูแลทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ จิตใจ เพื่อให้ผู้สูงวัยได้ใช้ชีวิตในแบบที่เขาต้องการไปได้นานที่สุด

กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่อยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต หรือกลุ่มประคับประคองให้ไม่เจ็บปวด ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ แต่ด้วยแผนธุรกิจและข้อจำกัดทำให้พนักงานอาจจะไม่สามารถดูแลลูกค้ากลุ่มนี้ได้มากนัก เพราะร่างกายของผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะวิกฤตได้ตลอดเวลา อาจจำเป็นต้องใช้พยาบาลดูแลเป็นการเฉพาะ

ในการดูแลผู้สูงอายุ บัดดี้ โฮมแคร์จะทำงานประสานกับพยาบาลวิชาชีพ และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพ เพื่อร่วมกันประเมินภาพรวมของผู้สูงอายุแต่ละราย รวมทั้งสำรวจสภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัย และความต้องการของครอบครัวและตัวผู้สูงอายุเอง เพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกันและออกแบบแผนการดูแลที่มีประสิทธิภาพที่สุด โดยยึดหลักการดูแลเพื่อให้ผู้สูงวัยมีความสุขและความภูมิใจในตนเอง

นราธิปอธิบายเพิ่มเติมว่า บัดดี้ โฮมแคร์ มุ่งดูแลผู้สูงอายุเพื่อให้เขาสามารถดูแลตัวเองให้ได้มากที่สุด โดยยึดหลัก “Aging In Place – สูงวัย สุขใจ ในบ้านตน” เพราะเชื่อว่าผู้สูงวัยต่างต้องการอาศัยอยู่ในบ้านตนเองร่วมกับครอบครัว ลูกหลาน การปรับปรุงบ้านเพื่อช่วยให้ผู้สูงวัยสามารถอยู่อาศัยที่บ้านได้ยาวนานยิ่งขึ้นสำคัญพอๆ กับการมีผู้ดูแลที่เข้าใจ เพราะเป็นการทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกภูมิใจในตัวเอง ซึ่งเป็นผลดีต่อทั้งสุขภาพกายและสภาพจิตใจของผู้สูงวัยเอง

ในส่วนรายได้ขององค์กร ส่วนหนึ่งมาจากการให้บริการดูแลผู้สูงอายุ แต่อีกส่วนหนึ่งได้มาจากการระดมทุนในฐานะธุรกิจเพื่อสังคมผ่านแคมเปญต่างๆ เพื่อนำมาเป็นทุนการศึกษาให้กับเยาวชนรุ่นต่อๆ ไป ซึ่งรายได้ดังกล่าวนอกจากจะเป็นเงินเดือนและค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว บัดดี้ โฮมแคร์ยังนำผลกำไรที่เกิดขึ้นไปให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้สูงอายุยากไร้อีกด้วย

ด้านหนึ่งบัดดี้ โฮมแคร์ให้บริการดูแลผู้สูงวัยที่มีกำลังจ่ายเพื่อสร้างรายได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็ให้การช่วยเหลือผู้สูงอายุยากไร้ที่ขาดแคลนกำลังทรัพย์แต่ต้องการความช่วยเหลือที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในสังคมตามเจตนารมณ์และภารกิจเดิมที่เคยได้ทำมาในฐานะมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ โดยการแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งจากการดำเนินธุรกิจมาเป็นทุนในการช่วยเหลือ รวมทั้งกำลังกายจากเหล่าเยาวชนที่ได้รับทุนการศึกษา

“เราจะออกเยี่ยมผู้สูงอายุตามชุมชนต่างๆ ทั้งในเมืองและบนดอยอย่างสม่ำเสมอ โดยมีน้องที่เขาได้รับทุนคอยเป็นอาสาสมัครมาดูแลพ่อเฒ่าแม่เฒ่า ซึ่งถือเป็นการคืนสิ่งดีๆ กลับสู่สังคม และที่สำคัญพวกน้องๆ เหล่านั้น เขากลายเป็น Role Model ให้กับเด็กคนอื่นในหมู่บ้านอีกด้วย” อรพรรณ์ มงคลพนาสถิต ชาวปกาเกอะญอ และหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบัดดี้ โฮมแคร์ กล่าว พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า

ในฐานะที่ตนเองเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยได้รับโอกาสทางการศึกษามาก่อน โอกาสคือสิ่งที่สำคัญและช่วยให้กลุ่มเปราะบางอย่างกลุ่มชาติพันธุ์ให้หลุดออกจากวงจรค้ามนุษย์ ยาเสพติด หรือการขายแรงงานที่ไม่เป็นธรรมได้ แต่ยอมรับว่าสิ่งที่บัดดี้ โฮมแคร์ทำอยู่ต้องใช้ความอดทนและใช้เวลาในสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้าน ซึ่งการได้เห็นตัวอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนใกล้ตัว คนในหมู่บ้านเดียวกันที่ประสบความสำเร็จ มีงานการที่มั่นคงทำ สามารถส่งเงินให้กับครอบครัวไม่ต้องไปกู้หนี้นอกระบบ ได้กลับไปสร้างบ้านให้พ่อแม่อยู่ สิ่งนี้มันจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้รุ่นต่อไปได้

ไม่เพียงเท่านั้น บัดดี้ โฮมแคร์ ยังได้วางแผนระยะยาวสำหรับเยาวชนที่ต้องการเติบโตต่อในสายงาน โดยเตรียมทุนเพื่อศึกษาต่อในหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลต่ออีกเป็นเวลา 1 ปี และหลักสูตรระยะยาว 4 ปี สำหรับพยาบาลวิชาชีพ นอกจากเป็นการต่อยอดทางวิชาชีพแล้ว บัดดี้ โฮมแคร์ หวังว่าเยาวชนเหล่านั้นจะกลับมาเป็นทรัพยากรเพื่อช่วยพัฒนาให้ความรู้แก่รุ่นน้องได้

ปัจจุบันแม้ว่าบัดดี้ โฮมแคร์ มีศูนย์กลางอยู่ที่เชียงใหม่ แต่มีขอบเขตการให้บริการครอบคลุมทั้งจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน และหวังว่าโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมเช่นนี้จะขยายต่อไปในพื้นที่ต่างๆ เพราะเชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาเยาวชนได้อย่างยั่งยืน

การวัดความสำเร็จทางธุรกิจ อาจวัดด้วยรายได้และผลกำไรที่เป็นตัวเงิน แต่สำหรับกิจการเพื่อสังคมอย่างบัดดี้ โฮมแคร์ นอกจากความสุขของผู้สูงวัยแล้ว การที่เยาวชนได้มีโอกาสทางการศึกษาและทำให้เขามีอนาคตที่ดีถือเป็นกำไรที่ไม่สามารถวัดได้ด้วยจำนวนเงิน

 

ใส่ความเห็น