วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Home > Cover Story > จากเศรษฐกิจดิจิตอล สู่ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ ฤาเป็นได้เพียงความพยายาม

จากเศรษฐกิจดิจิตอล สู่ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ ฤาเป็นได้เพียงความพยายาม

 
 
ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังชะลอตัว เห็นได้จากประมาณการตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจจากหลายสำนัก ที่บอกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไม่สามารถเติบโตไปได้เท่าที่ควร แน่นอนว่าการคาดการณ์ดังกล่าวไม่อาจเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนได้มากนัก
 
ในห้วงเวลานี้คงไม่ต้องเอ่ยถึงสถานการณ์การส่งออก ที่อาจเรียกได้ว่าจวนเจียนที่จะอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน รอคอยปาฏิหาริย์ที่จะสามารถพยุงให้ธุรกิจไม่สะดุดล้มไปเสียก่อน
 
หรืออีกความหวังหนึ่งในการกอบกู้เศรษฐกิจคือ นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) ที่อาจเป็นเสมือนพระเอกขี่ม้าขาวเข้ามาในเวลาที่ถูก และจังหวะที่เหมาะสม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่านโยบายอันทันสมัยจะเหมาะกับผู้ใช้งานรุ่นเก่าได้หรือไม่
 
นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งบุคคลที่รับผิดชอบการขับเคลื่อนนโยบายนี้คือหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล ทั้งนี้นโยบายดังกล่าวเกิดจากการผลักดันของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งเคยประมาณการมูลค่าธุรกิจไอซีที ปี 2556 มีมูลค่าถึง 1.2 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)
 
แบ่งเป็นธุรกิจ Telecommunications (ประกอบด้วยโทรศัพท์พื้นฐาน-เคลื่อนที่ อินเทอร์เน็ต-กิจการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต) จำนวน 5 แสนล้านบาท ธุรกิจ Broadcasting จำนวน 1 แสนล้านบาท ธุรกิจ IT (Information Technology) จำนวน 1 แสนล้านบาท ธุรกิจ Digital Contents จำนวน 5 หมื่นล้านบาท ธุรกิจ E-Commerce จำนวน 4 แสนล้านบาท และธุรกิจ Digital Marketing จำนวน 1 หมื่นล้านบาท
 
แน่นอนว่าการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อาจเป็นการเดินหมากที่น่าสนใจไม่น้อย แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์นั้นมีใจความสำคัญหลายประการ แต่เหตุผลสำคัญที่นำมาซึ่งการแก้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ น่าจะมาจากข้อที่ว่า รัฐจะกำกับดูแลระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศให้มีธรรมาภิบาลและความมั่นคงปลอดภัย รวมทั้งต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภคและข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อไม่ให้มีการละเมิดกัน
 
อีกประการหนึ่งคือ การสร้างความมั่นคงปลอดภัย และความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล (Soft Infrastructure) ซึ่งรัฐจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลทุกฉบับ รวมไปถึงกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของระบบดิจิตอล และการคุ้มครองข้อมูลประเภทต่างๆ ซึ่งจะเพิ่มความเชื่อมั่นเพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ นี่เองที่อาจเป็นเหตุผลให้เกิดการแก้ไข พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์
 
4 สิงหาคม 2558 วันแรกที่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 แม้ว่าไทยจะมี พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ใช้มานานแล้ว แต่ใจความอาจไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนเพิ่มเนื้อหาสาระเพื่อให้เหมาะกับยุคสมัยที่เทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในชีวิต เสมือนสารอาหารที่ร่างกายขาดไม่ได้
 
อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา มาลี โชคล้ำเลิศ เปิดเผยรายละเอียดเนื้อหาของ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ว่ามีสาระสำคัญ 8 ประเด็น 
 
 
 
 
หากจะสรุปประเด็นสำคัญของ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ 8 ข้อข้างต้น ให้เข้าใจได้ง่ายที่สุด คือ 
 
1. ไม่ให้คนอื่นมาลบ เปลี่ยนแปลงข้อมูลเจ้าของลิขสิทธิ์
 
2. คุ้มครองงานลิขสิทธิ์ที่เจ้าของใส่รหัสผ่านไว้
 
3. กรณีทำซ้ำชั่วคราวไม่นับเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เช่นการดูหนัง ฟังเพลง
 
4. เจ้าของลิขสิทธิ์ขอให้ศาลเอาไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากเว็บไซต์ได้
 
5. ซีดีเพลง ภาพยนตร์ มีกฎหมายภาพยนตร์และวิดีทัศน์
 
6. เพิ่มสิทธินักแสดง
 
7. ผู้ละเมิดจ่ายค่าเสียหายไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหาย
 
8. ศาลสั่งริบทำลายสิ่งที่ใช้ทำในการละเมิดลิขสิทธิ์ได้
 
กระนั้นกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการประชาสัมพันธ์รวมไปถึงรณรงค์ให้ประชาชนคนไทยตระหนักถึงสิทธิของทั้งตัวเองและเคารพสิทธิของผู้อื่น ด้วยการเผยแพร่รายละเอียดของ พ.ร.บ. ฉบับแก้ไขนี้ เชื่อว่าการจัดทำคู่มือคงเป็นแนวทางที่หน่วยงานภาครัฐนิยม แต่จะดีกว่าไม่น้อยหากเริ่มปฏิรูประเบียบการทำงาน โดยอาศัยช่วงเวลานี้เผยแพร่เนื้อหาของ พ.ร.บ. ผ่านสื่อออนไลน์ หรือโซเชียลเน็ตเวิร์คทุกรูปแบบ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายมากที่สุด
 
แม้บุคลากรในแวดวงธุรกิจจะให้ความเห็นว่าการที่รัฐบาลผุดนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล หรือนโยบายดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นผลให้เกิดการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 2 จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของไทยกระเตื้องขึ้น
 
ซึ่งหากวิเคราะห์ดูตามหลักการแล้ว มีความเป็นไปได้ไม่น้อย เมื่อนักธุรกิจทั้งรายใหญ่ รายย่อย ต่างใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางสำคัญในการทำการตลาด
 
แต่ท้ายที่สุดแล้วหากรัฐบาลคาดหวังให้เศรษฐกิจฟื้นตัวโดยอาศัยเพียงนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลเพียงอย่างเดียว คำตอบคงจะไม่ต่างจากสถานการณ์ปัจจุบันมากนัก เว้นเสียแต่จะมีการปรับแก้ทั้งองคาพยพ และไม่ปล่อยให้ความพยายามครั้งนี้เป็นเพียงกระแสที่สร้างความหวังไปวันๆ