วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
Home > Cover Story > COVID ระลอกใหม่ ฉุดเศรษฐกิจไทยดิ่งเหว?

COVID ระลอกใหม่ ฉุดเศรษฐกิจไทยดิ่งเหว?

การแพร่ระบาดระลอกใหม่ล่าสุดของ COVID-19 นอกจากกำลังเป็นภาพสะท้อนที่บ่งชี้ถึงความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนเพื่อต้านทานและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคแล้ว ในอีกด้านหนึ่งยังเป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการสถานการณ์ในภาวะวิกฤตของกลไกรัฐได้อย่างชัดเจน และเผยให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพในการวางแผนและกำหนดมาตรการเชิงรุก ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในสังคมไทยและต่อนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับการคาดหมายและฝากความหวังว่าจะเป็นปัจจัยหนุนนำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวในอนาคต

ผลของการแพร่ระบาดครั้งใหม่ดังกล่าว ทำให้การประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ซึ่งเดิมกลไกรัฐพยายามโหมประโคมว่า GDP ของไทยจะกลับมาเติบโตได้อีกครั้งที่ระดับร้อยละ 4 จากดฐานคิดที่ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐได้ผลดี และฐานทางเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาหดตัวแคบมากแล้วการเติบโตที่ระดับร้อยละ 4 จึงไม่น่าจะเป็นความเพ้อฝันแต่เป็นสิ่งที่กระทำได้ไม่ยาก

หากแต่ความเป็นไปของการแพร่ระบาดระลอกล่าสุดดูเหมือนจะทำให้ความคาดหวังของกลไกรัฐดังกล่าวพังครืนลงอย่างยากที่จะปฏิเสธ ขณะที่สำนักวิจัยและคาดการณ์ทางเศรษฐกิจหลายแห่งต่างปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงอีก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ซึ่งได้เคยคาดการณ์เศรษฐกิจไทยว่าจะเติบโตได้ที่ร้อยละ 2.6 เมื่อไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา ได้ปรับลดประมาณการลงเหลือที่ระดับร้อยละ 1.8 เท่านั้น

ปัจจัยที่ทำให้สำนักวิจัยแห่งนี้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงต่ำเช่นนี้ นอกจากจะเป็นผลกระทบเบื้องต้นจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ซึ่งส่งผลต่อการท่องเที่ยวเดินทาง โดยเฉพาะเมื่อประเมินจากสถานการณ์ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่มีความรุนแรงกว่าในระลอกก่อนหน้านี้ ขณะที่กลไกรัฐไม่สามารถออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวด แต่ความกังวลต่อสถานการณ์จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน รวมถึงความเชื่อมั่นที่ลดลงมีผลต่อการบริโภคของครัวเรือนให้มีทิศทางต่ำกว่าที่ประเมิน เหตุดังกล่าวส่งผลต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่น่าจะยืดเวลาฟื้นตัวออกไป ยังไม่นับรวมถึงกรณีการจัดหาและจัดสรรวัคซีนที่ล่าช้าอีกด้วย

ความน่ากังวลจากสถานการณ์ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันอยู่ที่ภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มชัดเจนขึ้นว่าจะมีเข้ามาต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 2 ล้านคน ซึ่งกลไกรัฐต้องมีมาตรการเพื่อดูแลผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรค โดยตัวแปรสำคัญอยู่ที่การเร่งจัดการและกระจายฉีดวัคซีน ที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคเท่านั้น หากยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมไทยในวงกว้างและนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาด้วย

ความล่าช้าในการจัดหาและกระจายวัคซีนสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้การแพร่ระบาดยืดเยื้อหรืออาจเกิดการระบาดอีกระลอกในไตรมาส 3 ของปีนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างมาก ทำให้ความหวังของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวให้ทยอยกลับมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอาจต้องล่าช้าออกไปอีกหนึ่งปี ส่งผลต่อการจ้างงานและการบริโภค ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นโอกาสที่เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะไม่เติบโตจากปีก่อนหน้าก็มีความเป็นไปได้สูงมาก

การควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาด และการปูพรมกระจายวัคซีนเป็นภารกิจเร่งด่วน เนื่องจากระบบสาธารณสุขไทยมีขีดจำกัดในการรองรับผู้ติดเชื้อ หากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังอยู่ในระดับสูงมากกว่าพันคนอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนๆ อาจเกิดภาวะระบบสาธารณสุขล่ม และส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญกับต้นทุนแฝง (Hidden cost) ที่อาจประเมินค่าไม่ได้

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ก็คือ หลายโรงพยาบาลเผชิญกับปัญหาเตียงผู้ป่วยเต็ม และขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเครื่องช่วยหายใจ ขณะที่ต้นทุนต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนจะเพิ่มขึ้น โดยผู้ป่วยธรรมดาก็ไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้เป็นปกติเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อประสิทธิภาพของแรงงานให้ลดลงอย่างรวดเร็ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจจะมีมากกว่าการบริโภคที่ลดลงและรายได้จากการท่องเที่ยวที่หายไป

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ดำเนินอยู่นี้ทำให้มีการประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลานับจากนี้อาจอยู่ในรูปแบบของ K-Shaped Recovery ที่มีทั้งกลุ่มที่ฟื้นตัวกลับได้เร็ว และกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวและแย่ลงเรื่อยเหมือนกับตัวอักษร “K” ที่มีทั้งเส้นทแยงขึ้นและลง ซึ่งเป็นความยากในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะทำให้ทุกส่วนฟื้นตัวพร้อมกัน หลังจากการเกิดวิกฤต

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่อาจเป็นรูปตัว K เป็นเรื่องที่รัฐบาลกำลังจับตามองอยู่และเห็นว่าแนวโน้มที่จะเป็นการฟื้นตัวในลักษณะนั้น คือ บางธุรกิจ บางกลุ่มอุตสาหกรรมเติบโตดีมาก แต่บางธุรกิจยังยากลำบากไปต่อได้ยาก และต้องการได้รับความช่วยเหลือเป็นการเฉพาะ โดยที่ผ่านมารัฐบาลพยายามออกมาตรการแก้ไขและให้การช่วยเหลือส่วนที่เป็นขาของตัว K ที่ชี้ลงข้างล่าง ด้วยมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยพยุงการจ้างงานด้วย

ภายใต้สถานการณ์ที่ดำเนินอยู่นี้ กลไกรัฐก็ยังคงเชื่อว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2564 ยังสามารถให้เป็นไปตามเป้าในการขยายตัวไว้ที่ร้อยละ 4 โดยให้การส่งออกเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย เพราะภาคการส่งออกมีส่วนสำคัญและคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ของจีดีพี พร้อมกับหวังว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะมีการฟื้นตัวจึงเป็นปีที่ภาคการส่งออกได้ประโยชน์ และเมื่อการส่งออกดีขึ้นจะทำให้ภาคเอกชนผลิตสินค้าเพื่อส่งออกมากขึ้นจนการใช้กำลังการผลิตขยายตัวไปอยู่ที่ร้อยละ 70 จะเกิดการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต ซึ่งการลงทุนจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น

ข้อน่าสังเกตจากความเป็นไปที่ดำเนินอยู่นี้ก็คือ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยผูกพันอยู่กับการระบาดของ COVID-19 ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีทั้งกลุ่มที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกและการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ โดยกลุ่มที่เน้นตอบโจทย์ชีวิตช่วงการระบาด ไม่ว่าจะเป็น การค้าขายอาหารออนไลน์ สินค้าสุขภาพ หน้ากาก เจล การค้าออนไลน์ มีแนวโน้มจะไปได้ดี ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจภาพรวม เริ่มมีกำลังซื้อกลับมา เพราะการกระตุ้นของภาครัฐที่มีมาต่อเนื่อง

ภาคการส่งออกอาจกลายเป็นความหวังในการที่จะหนุนนำการฟื้นตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง ดูจะยังไร้สัญญาณบวกที่จะฟื้นตัวกลับมาได้ หากแต่ถึงที่สุดแล้วการนำพาเศรษฐกิจไทยให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้งย่อมต้องอาศัยปัจจัย และมาตรการที่ชัดเจน รวมถึงวุฒิภาวะและวิสัยทัศน์ของผู้นำที่จะเป็นประหนึ่งดัชนีบ่งชี้ทางล่มหรือทางรอดของเศรษฐกิจสังคมไทยนับจากนี้.

ใส่ความเห็น