วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ส่งออกไทยปี 64 สดใส? จับตาตลาดโลกฟื้นตัว

ส่งออกไทยปี 64 สดใส? จับตาตลาดโลกฟื้นตัว

ข่าวเรือขนส่งสินค้า Ever Given ที่ติดอยู่ในคลองสุเอซ และส่งผลกระทบต่อการเดินเรือจำนวนมาก สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความวิตกกังวลให้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะใช้เวลาในการคลี่คลายนานเท่าไร และสร้างความเสียหายแก่ธุรกิจมากน้อยเพียงใด ทว่า ในที่สุดเรือ Ever Given ก็สามารถกลับมาเดินเรือได้เป็นปกติ และตอนนี้อยู่ระหว่างหาสาเหตุที่ทำให้เรือติดริมตลิ่ง

การที่เรือ Ever Given ขวางคลองสุเอซอยู่นั้นส่งผลต่อการค้าโลก และแน่นอนว่าภาคการส่งออกไทยได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยตลาดยุโรปเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยที่ใช้เส้นทางผ่านคลองสุเอซ ซึ่งไทยส่งสินค้าไปยุโรปปีละไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนประมาณ 9% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย และเป็นตลาดส่งออกหลักอันดับ 4 ของไทย รองจากสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น

โดยในแต่ละเดือนสินค้าไทยส่งออกไปยังตลาดยุโรปมีมูลค่าประมาณ 1,500-2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสินค้าส่งออกที่ผ่านเส้นทางนี้ได้แก่ อาหารสด เช่น ไก่แปรรูป โดยไทยส่งออกในรูปแช่เย็นแช่แข็ง และพึ่งพาตลาดยุโรปอย่างมากถึง 30% ของการส่งออกไก่แปรรูปทั้งหมดของไทย

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าฟุ่มเฟือยไม่ต่ำกว่า 40% อาจกล่าวได้ว่ายุโรปเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อที่แข็งแกร่งอย่างมาก โดยสินค้าไทยแต่ละรายการพึ่งพาตลาดยุโรปพอสมควร โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศพึ่งพาตลาดยุโรป 20% รถยนต์และส่วนประกอบ 5.2% รถจักรยานยนต์ 31% อัญมณี 7% เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม 22% และอาหารสัตว์เลี้ยง 14%

ขณะที่สินค้าขั้นกลางที่มีห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงกับยุโรปสำหรับไทยก็มีบางส่วน อาทิ HDD พึ่งพาตลาดยุโรป 15% แผงวงจรไฟฟ้า 14% วงจรพิมพ์ 17% ซึ่งหากเทียบกับประเทศในเอเชียอาจเรียกได้ว่าไทยมีห่วงโซ่การตลาดที่เหนียวแน่นกับเอเชียมากกว่ายุโรป

คลองสุเอซเป็นเส้นทางที่ไทยใช้นำสินค้าจากยุโรปเข้ามาคิดเป็น 8.4% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของไทย โดยเฉพาะสินค้านำเข้ารายการหลักล้วนพึ่งพาตลาดยุโรปอยู่ไม่น้อย ในกลุ่มเครื่องจักรกลนำเข้าจากยุโรป 17% เคมีภัณฑ์ 10% เครื่องจักรไฟฟ้า 7% ส่วนประกอบยานยนต์ 10% รถยนต์นั่ง 27% รวมทั้งผลิตภัณฑ์และเภสัชกรรมที่มีสัดส่วนสูงถึง 44%

อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การส่งออกของไทยถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมมีโอกาสขยายตัวได้ และดูเหมือนว่าเชื้อไวรัสโควิดจะทำให้การค้าระหว่างประเทศชะงักงันไปในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะหลังจากที่หลายประเทศประกาศเปิดประเทศโดยเฉพาะด้านการค้าระหว่างประเทศ ส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยกลับมาดำเนินกิจการได้ แม้สถานการณ์จะยังไม่กลับมาเป็นปกติเหมือนก่อนมีโควิดก็ตาม

แต่ตัวเลขการส่งออกล่าสุดของไทยในเดือนมกราคม 2564 แม้จะเติบโตเพียงร้อยละ 0.3 (เมื่อเทียบกับปีก่อน) แต่เมื่อหักทองคำออกยังคงขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 6.3 สะท้อนภาพบวกของการฟื้นตัวของตลาดคู่ค้าไทยในปีนี้ สอดคล้องกับที่ IMF ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2564 เป็นขยายตัวร้อยละ 6.5 จากเดิมร้อยละ 5.2 โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ได้แรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจนขยับคาดการณ์เป็นร้อยละ 5.1 รวมทั้งการกลับมาเร่งตัวของเศรษฐกิจจีน ที่คาดว่าเติบโตอย่างโดดเด่นร้อยละ 8.1 ตลอดจนแผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 ในฝั่งยุโรป ล้วนปลดล็อกข้อจำกัดทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง ด้วยภาพบวกดังกล่าวของเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นกลับมาได้มากขึ้นในปีนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ทิศทางการส่งออกของไทยในปี 2564 จะกลับมาสดใสทั้งในมิติของตลาด ที่ทุกตลาดน่าจะกลับมาสดใส ผ่านพ้นจุดต่ำสุดและอานิสงส์จากฐานต่ำ จึงกลับมาเร่งตัวดี จากการเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 เข้ามาช่วยคลี่คลายข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ประกอบกับทั่วโลกเริ่มคุ้นชินกับการใช้ชีวิตวิธีใหม่ ส่งผลบวกให้แต่ละตลาดฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็น 2 ตลาดหลักของไทยที่การส่งออกของปี 2563 สามารถฝ่าวิกฤตโควิด-19 เติบโตได้ที่ร้อยละ 9.6 และร้อยละ 2.0 ตามลำดับ ทั้งยังคงความแข็งแกรงเป็นแกนนำการส่งออกของไทยในปี 2564 ด้วยตัวเลขเดือนมกราคมเติบโตร้อยละ 12.4 และ ร้อยละ 9.8 ด้วยเช่นกัน ด้วยจุดแข็งที่ต่างก็เป็นทั้งผู้บริโภคและแหล่งผลิตสินค้าเทคโนโลยีของโลก ประกอบกับโควิด-19 ได้กระตุ้นให้ทั่วโลกเร่งปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทั้งสองตลาดจึงเป็นส่วนสำคัญที่เติบโตไปพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านยุคดิจิทัลของโลก

กลุ่มตลาดที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ในปี 2564 การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น ได้อานิสงส์จากการจัดการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ที่น่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อได้จากหลายภาคส่วน ตลาดสหภาพยุโรปต้องยอมรับว่ามีความเปราะบางทางเศรษฐกิจกว่าภูมิภาคอื่น จึงฟื้นตัวล่าช้า อีกทั้งตลาดนี้ส่วนใหญ่ไทยส่งสินค้าฟุ่มเฟือยไปจำหน่าย ทำให้การกลับมาเติบโตก็คงเลื่อนไปตามการบริโภค

ขณะที่ตลาดอาเซียน ถ้าเทียบกับปี 2563 เป็นตลาดที่หดตัวรุนแรงที่สุดร้อยละ 11.7 การขยับมาดีขึ้นในปีนี้ อาจไม่ดีเท่าตลาดอื่น แต่ก็เป็นสัญญาณฟื้นตัวล่าช้าด้วยปัจจัยเฉพาะจากการผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งน้ำมันและทองคำเป็นหลัก แต่กำลังซื้อปรับตัวดีขึ้น ยกเว้นการเมืองในเมียนมาอาจไม่ส่งผลดีต่อการส่งออกและการลงทุนของไทยมากนัก รวมทั้งตลาดตะวันออกกลางที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากโควิด-19 และรายได้จากน้ำมันเริ่มกลับมาตามราคาที่เพิ่มขึ้น จึงน่าจะช่วยให้การส่งออกของไทยได้อานิสงส์ตามมา

นอกจากมิติของตลาดที่มองเห็นทิศทางการขยายตัวได้ดีแล้ว มิติของสินค้าส่งออกที่น่าจะกลับมาเติบโตตามกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัวกลับมาเป็นตัวเสริมให้ทุกสินค้าไปได้ดีในปี 2564

กลุ่มสินค้าที่ในปี 2563 โตสวนกระแสโควิด-19 และยังไปได้ดีในปีนี้ ประกอบด้วย 1. สินค้าตอบโจทย์การบริโภควิถีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่ใช้ต่อสู้กับโควิด-19 อาทิ ถุงมือยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (เพื่อทำแอลกอฮอล์) ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยส่วนบุคคล สินค้าเหล่านี้ยังไปได้ดีต่อเนื่องตามพฤติกรรมการบริโภคที่ยังต้องเฝ้าระวังการระบาดของโควิด-19 และโดยเฉพาะสินค้าเกาะกระแส IT ยังไปได้ดีต่อเนื่องจากอานิสงส์ของการเกิดโควิด-19 ผลักดันให้ทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างรวดเร็ว เร่งความต้องการสินค้าเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมลดการสัมผัสและกิจกรรม Work From Home

2. สินค้าอาหารแปรรูปของไทยมีศักยภาพอยู่แล้วจึงเติบโตดีขึ้นแต่ในส่วนของอาหารกระป๋องอาจชะลอตัวจากปีก่อน เนื่องจากปีนี้โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ผู้บริโภคจึงไม่จำเป็นต้องกักตุนอาหาร

กลุ่มสินค้ากลับมาเติบโตรับตลาดโลกฟื้นตัว ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ถูกเลื่อนการบริโภคออกไปก่อนจึงหดตัวค่อนข้างมากในปี 2563 ดังนั้นฐานที่ต่ำก็มีส่วนหนุนให้การส่งออกกลับมาเติบโตพร้อม ๆ กับการบริโภคและรายได้ที่ทยอยฟื้นกลับมา ได้แก่ สินค้าคงทน เช่น เครื่องจักรกลอุตสาหกรรม เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าโภคภัณฑ์ ที่กลับมาเติบโตปีนี้ สาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันในปี 2564 มีสัญญาณฟื้นตัวจากปีก่อนที่ปรับตัวสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 18 ปี อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป เหล็ก เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก

หากพิจารณาจากข้อมูลข้างต้นแล้ว สถานการณ์ส่งออกของไทยดูจะสดใสและเป็นไปในทิศทางบวก ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อผู้ผลิต และผู้ประกอบการค้าส่ง ทว่า สิ่งที่ยังน่าเป็นกังวลคือ การย้ายฐานการลงทุนออกจากประเทศไทยในอนาคต ทั้งปัจจัยจากค่าแรงของไทยที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน หรือแม้แต่ข้อตกลง FTA ที่เวียดนามดูจะมีภาษีดีกว่า ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า นักลงทุนจำนวนหนึ่งอาจเบนเข็มย้ายฐานการผลิตหรือการลงทุนใหม่ไปยังประเทศเหล่านี้

โครงสร้างการส่งออกของไทยในปัจจุบันยังคงตอบโจทย์ความต้องการของตลาด แต่อาจไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ถ้าหากไม่มีเม็ดเงินลงทุนใหม่มาเพิ่มเติม หรือนักลงทุนเดิมยังคงย้ายฐานการผลิตออกไปจากไทย เนื่องจากโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยพึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติราวร้อยละ 40 ทำให้ไทยผลิตและส่งออกสินค้าสำคัญสร้างรายได้อย่างยานยนต์และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสินค้าเหล่านี้ยังอยู่ในกระแสเทคโนโลยียุคปัจจุบันและไทยยังอยู่ในแผนการผลิตของนักลงทุนโลก แต่ในบรรดาสินค้าดังกล่าว สินค้าอิเล็กทรอนิกส์อาจช่วยขับเคลื่อนการค้าในภาพรวมของไทยได้อีกไม่นาน

เนื่องจากเป็นการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นกลางที่ก็มีอีกหลายประเทศในเอเชียผลิตได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย เวียดนาม ทุกวันนี้สินค้าไทยก็ต้องแข่งขันสูงอยู่แล้ว แต่เมื่อเผชิญกับโจทย์เงินบาทแข็งค่าเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2540 การแข่งขันด้านต้นทุนการผลิตเพื่อให้คุ้มค่าในการลงทุน เวียดนามกลายมาเป็นเป้าหมายใหม่ของนักลงทุนในธุรกิจ IT และยังมีความได้เปรียบจากค่าเงินดองที่เอื้อต่อการส่งออก

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่ผันผวนในช่วงที่ผ่านมาท้าทายการส่งออกไทยมาโดยตลอด และยิ่งกดดันให้สินค้าไทยที่พึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะสินค้า IT แข่งขันยากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าส่งออกของไทยน่าจะมีโอกาสเติบโตได้ราวร้อยละ 4.5 แต่โจทย์หลักของไทยยังคงต้องเร่งสร้างความยั่งยืนจากการส่งออกสินค้าที่มาจากรากฐานการผลิตที่เป็นของไทยเอง นอกเหนือจากการพึ่งพานักลงทุนต่างชาติดังเช่นที่ผ่านมา โดยเฉพาะสินค้าที่นับเป็นจุดเด่นสำคัญของไทยอย่างสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อาหารแปรรูป เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก ที่ส่วนใหญ่ส่งออกในรูปวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลางที่มีมูลค่าเพิ่มไม่สูง ซึ่งการต่อยอดการผลิตสินค้าเดิมให้กลายเป็นสินค้ามีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการยกระดับการผลิตไทยไปสู่การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงให้เกิดได้จริงก็จะยิ่งทำให้ไทยเป็นแหล่งรับการลงทุนจากต่างชาติในสินค้าที่เหนือชั้นกว่าคู่แข่ง

การจะสร้างความยั่งยืนให้ภาคการส่งออกไทยนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐในหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันระดมสรรพกำลังเข้าแก้ปัญหา ก่อนที่นักลงทุนจะย้ายฐานการผลิตออกจากไทยไปหมด เพราะหากเป็นเช่นนั้น วัวหายคงล้อมคอกไม่ทัน

ใส่ความเห็น