วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > Food Delivery ขยายตัว แข่งขันสูง กำเนิดผู้เล่นหน้าใหม่

Food Delivery ขยายตัว แข่งขันสูง กำเนิดผู้เล่นหน้าใหม่

“อาหารไม่ว่าอย่างไรก็ยังขาย” คำกล่าวนี้ไม่เกินไปเลยสักนิด เมื่ออาหารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงmชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะส่งผลให้การดำเนินชีวิตของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปเพียงใดก็ตาม

จึงไม่น่าแปลกใจที่ธุรกิจอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะมีโอกาสขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าธุรกิจหรืออุตสาหกรรมอื่นๆ ในยามที่โลกเผชิญกับเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นระยะเวลากว่าหนึ่งปี

มูลค่าธุรกิจร้านอาหารของไทยในแต่ละปีสูงถึงหลักแสนล้านบาท นับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการแข่งขันกันสูงมาก และจะมีนักลงทุนหน้าใหม่กระโจนเข้าใส่ตลาดนี้อย่างต่อเนื่อง เมื่อส่วนแบ่งการตลาดสูงจนน่าเสี่ยง

ธุรกิจร้านอาหารเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคบริการและเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยมูลค่าหมุนเวียนที่ไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.7 ของภาคบริการทั้งหมดของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

แน่นอนว่า ไวรัสโคโรนา 2019 สร้างผลกระทบอย่างมหาศาล ผู้ประกอบการร้านอาหารบางรายที่มีอัตราการขยายสาขาอย่างรวดเร็ว ทยอยปิดตัวลงในอัตราที่ไม่ต่างกันตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เนื่องจากต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือนในจำนวนที่สูงมาก ในขณะที่รายรับกลับเดินสวนทาง

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยคาดการณ์ไว้ว่า ธุรกิจร้านอาหารในปี 2563 จะมีมูลค่าเพียง 3.85-3.89 แสนล้านบาท หรือหดตัวประมาณ 9.7-10.6 เปอร์เซ็นต์ จากปีที่ผ่านมาและถือเป็นการพลิกกลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 8 ปี

ผู้ประกอบการร้านอาหารจำนวนมากปรับตัวไปตามสถานการณ์ พร้อมทั้งคว้าโอกาสในการขยายฐานลูกค้าด้วยการเปิดบริการสั่งอาหารทางออนไลน์ ซึ่งการเปิดหน้าสู้ในศึกครั้งนี้ของธุรกิจร้านอาหาร ส่งผลให้ธุรกิจ Food Delivery เติบโตอย่างต่อเนื่อง

มีการประเมินจากยูโรมอนิเตอร์ว่า มูลค่าตลาดรวมของ Food Delivery ในประเทศไทยพบว่า ในปี 2563 มูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 68,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ถึงอนาคตว่า ตลาดนี้จะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 74,000 ล้านบาทในปี 2564, ปี 2565 มูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 82,000 ล้านบาท, ปี 2566 มูลค่าตลาดรวมน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 90,000 ล้านบาท และในปี 2567 ตลาดรวมน่าจะทะลุถึง 99,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจากปีนี้ไปตลาดรวมเติบโตเฉลี่ย 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

เมื่อ “โลกออนไลน์” เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น เห็นได้จากสถิติการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง 5 นาที ทำให้ธุรกิจร้านอาหารใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต ด้วยการใช้สื่อออนไลน์ในการเข้าถึงผู้บริโภคจากช่องทางการขายออนไลน์ ประกอบกับการเข้ามาของธุรกิจบริการส่งอาหารอย่าง LINE MAN, Grab Food, foodpanda

ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการร้านอาหารทั่วไปจะเข้าสู้ศึกในตลาด Food Delivery เพื่อหวังยอดขายที่เพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น แม้แต่ร้านอาหารที่เป็นแบรนด์ใหญ่ต่างเข้าร่วมบนเวทีนี้แทบทั้งสิ้น เมื่อความหอมหวานของตลาดทำให้น่าเข้าแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดที่มูลค่าสูงนับหมื่นล้านบาท ประกอบกับช่วงเวลาวิกฤตที่ต้องคว้าทุกโอกาสที่มือจะสามารถเอื้อมถึง

ไม่เว้นแม้แต่บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ส่งแบรนด์ในมือถึง 9 แบรนด์เข้าชิงส่วนแบ่ง อย่าง เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, บอนชอน, เบอร์เกอร์คิง, สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เล่อร์, แดรี่ควีน, เดอะ คอฟฟี่คลับ ผ่านธุรกิจเดลิเวอรี่ 1112 ที่ตั้งเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจนี้มากถึง 10 เท่า

โดยข้อมูลล่าสุดระบุว่า ช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคมปี 2562 เทียบกับปี 2563 พบว่า เดอะพิซซ่า ที่เป็นรายได้หลัก เดลิเวอรี่โตถึง 55 เปอร์เซ็นต์ และซิซซ์เล่อร์ ที่เพิ่งเปิดบริการเดลิเวอรี่ในปี 2563 เติบโตสูงถึง 300 เปอร์เซ็นต์

ต้องยอมรับว่าการปรับตัวของผู้บริโภคเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจจำนวนไม่น้อยต้องปรับกลยุทธ์ให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังเป็นแรงผลักดันให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ในช่วงเวลาวิกฤตมักจะมีโอกาสใหม่อยู่เสมอ ครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อผู้ประกอบการร้านอาหารปรับตัว การมาถึงของธุรกิจบริการส่งอาหาร สร้างให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก

ด้าน 7-Eleven ที่เข้าสู้ศึกบริการจัดส่งสินค้ามาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 โดยมีบริการให้เลือกระหว่าง “จัดส่งถึงที่” หรือ “รับที่ร้าน” แต่จะไม่ให้บริการส่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การแข่งขันในธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564 มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยจำนวนครั้งของการจัดส่งอาหารไปยังที่พักในปี 2563 สูงกว่า 66-68 ล้านครั้ง หรือโตจากปีก่อนหน้า 78-84 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นการเติบโตที่รวดเร็วมาก

ทั้งยังประเมินว่า รูปแบบการทำธุรกิจขณะนี้จะยังไม่สามารถสร้างกำไรได้ ส่งผลให้ผู้เล่นบางรายที่ปรับตัวไม่ได้อาจต้องออกจากตลาด หรือเกิดการควบรวมกิจการรวมถึงประกาศใหม่จากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2564 ที่จะเข้ามาควบคุมอัตราค่าบริการอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้เล่นในตลาด

การขยายตัวของธุรกิจ Food Delivery ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจแอปพลิเคชันสั่งอาหาร ที่นอกจากเจ้าตลาดที่เข้ามาบุกตลาดไทยมานานแล้วอย่าง Foodpanda ที่ค่อยๆ สร้างการจดจำใหม่ให้กับแบรนด์แล้ว ยังมีนักลงทุนจากต่างประเทศที่ได้กลิ่นความหอมหวานและเข้ามาสร้างฐานลูกค้าในไทย อย่าง Line man Grab food และน้องใหม่ในวงการที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นานอย่าง Gojek และ Robinhood

นอกจากทั้งสองธุรกิจที่จะเอื้อประโยชน์ต่อกันเป็นอย่างดีแล้ว การเติบโตของทั้งธุรกิจ Food delivery และธุรกิจแอปพลิเคชันสั่งอาหาร ยังส่งผลต่อผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจนี้อย่างไรเดอร์ หรือผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่รับงานส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน

แม้หลายคนจะมองว่า ธุรกิจแอปพลิเคชันสั่งอาหารจะไม่ต่างอะไรกับเสือนอนกิน ที่ทำหน้าที่เป็นเพียงตัวกลางระหว่างร้านอาหารและผู้บริโภค โดยเก็บค่าใช้จ่ายจากฝั่งของร้านอาหารตามข้อตกลงของธุรกิจ และเก็บค่าบริการส่งอาหารจากผู้บริโภค

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าธุรกิจผู้ขนส่งอาหารจะมีกำไร เห็นได้จากผลการดำเนินงานย้อนหลังของ Grab ปี 2559 มีรายได้ 104 ล้านบาท ขาดทุน 516 ล้านบาท ปี 2560 รายได้ 508 ล้านบาท ขาดทุน 985 ล้านบาท และปี 2561 มีรายได้ 1,159 ล้านบาท ขาดทุน 711 ล้านบาท

แม้จะมีรายได้มากขึ้น ทว่าขาดทุนก็อยู่ในเกณฑ์ที่สูงขึ้นเช่นกัน สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการแข่งขันในตลาดที่ดุเดือด การมีผู้เล่นหน้าใหม่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้ประกอบการแต่ละรายจำเป็นต้องอัดโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดใจลูกค้า พยายามสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ขณะเดียวกันกลับสร้างบาดแผลให้กับผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน

ทว่าการขาดทุนของบรรดาแอปพลิเคชันสั่งอาหารเหล่านี้ ดูจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด เมื่อธุรกิจ E-commerce อย่าง Lazada และ Shopee เองก็ประสบกับภาวะขาดทุนเช่นเดียวกัน แต่นั่นคล้ายเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งเพื่อแลกกับฐานลูกค้าที่ค่อยๆ เพิ่มปริมาณมากขึ้น โดยยอมขาดทุนในระยะแรกเพื่อรอเก็บเกี่ยวกำไรในระยะยาว

แม้ว่าการเติบโตของเทคโนโลยีจะสามารถ Disrupt โลกธุรกิจได้ไม่น้อย และโควิด-19 สร้างแรงสั่นสะเทือนให้แก่ธุรกิจ Food Delivery ให้เติบโตได้สูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาส สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการทั้งรายใหม่และรายเก่า รวมไปถึงผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจ ทว่า การเติบโตด้วยอัตราอันรวดเร็วนี้อาจทำให้ธุรกิจเข้าสู่จุดอิ่มตัวได้เร็วขึ้นเช่นกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่แพร่หลายมากขึ้น ประชาชนเริ่มกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ สิ่งนี้ต่างหากที่อาจเป็นตัวคัดกรองผู้เล่นในตลาดปัจจุบัน ว่าจะสามารถยืนระยะต่อไปได้นานเพียงใด หากในเวลานี้ยังไม่สามารถทำกำไรได้ และอนาคตก็เริ่มไม่มีความแน่นอน ปัจจัยข้างต้นอาจเป็นตัวกรองชั้นดีให้ผู้เล่นหลุดออกจากการแข่งขันที่ระอุอยู่ในเวลานี้

ใส่ความเห็น