วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Cover Story > สหฟาร์ม (เตรียม) come back ทวงบัลลังก์เบอร์ 1 ผู้ส่งออกไก่สด

สหฟาร์ม (เตรียม) come back ทวงบัลลังก์เบอร์ 1 ผู้ส่งออกไก่สด

หลังเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการมานานกว่า 7 ปี ในที่สุด “สหฟาร์ม” ผู้ผลิตและส่งออกไก่เนื้อรายใหญ่ ได้กลับคืนสู่ตระกูล “โชติเทวัญ” อีกครั้ง เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่ง “ยกเลิก” การฟื้นฟูกิจการตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งการกลับมาครั้งนี้นอกจากจะเป็นการกลับเข้ามาบริหารสหฟาร์มอีกครั้งของโชติเทวัญแล้ว ยังเป็นการกลับมาเพื่อทวงบัลลังก์ของผู้ส่งออกไก่สดของไทย ผ่านแผนธุรกิจและการลงทุนใหม่ๆ ในรอบ 7 ปีอีกด้วย

ดร.ปัญญา โชติเทวัญ เริ่มก่อตั้งบริษัท สหฟาร์ม จำกัด ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 ด้วยเงินลงทุนเพียง 5,000 บาท จากการเลี้ยงไก่สัปดาห์ละ 500 ตัว โดยพื้นเพของเขาเป็นชาวอำเภอวิเศษไชยชาญ จังหวัดอ่างทาง สําเร็จการศึกษาวิชาเสนารักษ์ จากกรมการแพทย์ทหารเรือ เมื่อปี พ.ศ. 2494 ภายหลังจบการศึกษาเขาเข้ารับราชการตำแหน่งพยาบาลในกองทัพเรือถึง 11 ปี (ตั้งแต่ปี 2495-2506) จากนั้นรับราชการในตำแหน่งพนักงานสุขาภิบาลกรุงเทพมหานคร เป็นเวลา 12 ปี และตำแหน่งสุดท้ายคือหัวหน้าสุขาภิบาลเขตสามเสน ก่อนที่จะผันตัวเองมาเลี้ยงไก่ และก่อตั้งบริษัท สหฟาร์ม จำกัด ในที่สุด

เนื่องจากมีต้นทุนน้อยทำให้ ดร.ปัญญาต้องประยุกต์ใช้เครื่องมือที่มีเข้ากับภูมิปัญญาและประสบการณ์ด้านสาธารณสุขของตนในการทำฟาร์มไก่ จนทำให้สหฟาร์มเติบโตอย่างต่อเนื่องและดำเนินธุรกิจได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งกิจการฟาร์มไก่ปู่-ย่าพันธุ์, ฟาร์มไก่พ่อ-แม่พันธุ์, ฟาร์มไก่เนื้อ, ไซโลเก็บเมล็ดธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารไก่, โรงงานผลิตอาหารสัตว์, โรงงานผลิตยาสัตว์, โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ และทำให้ “สหฟาร์ม” กลายเป็นผู้ส่งออกไก่สดที่ได้รับการยอมรับจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ สามารถนำเข้าเงินประเทศนับหมื่นล้านบาทต่อปี

นอกเหนือจากอุตสาหกรรมส่งออกไก่สดแล้ว ดร.ปัญญายังเป็นที่รู้จักในฐานะเจ้าของ “บ้านสุขาวดี” คฤหาสถ์หลังใหญ่และสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของพัทยา อีกทั้งยังเป็นจุดซื้อผลิตภัณฑ์ของสหฟาร์มอีกด้วย

สำหรับ “บ้านสุขาวดี” สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2543 ในช่วงของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ แต่เจ้าของสหฟาร์มกลับสวนกระแสด้วยการสร้างคฤหาสน์หรูหราติดถนนสุขุมวิท บนหลักกิโลเมตรที่ 129 ห่างจากที่ว่าการอำเภอบางละมุง ประมาณ 1 กิโลเมตร มีเนื้อที่กว่า 85 ไร่ และมีชายหาดยาว 400 เมตร ประกอบด้วยกลุ่มอาคารขนาดใหญ่สไตล์โรมันหลายหลัง ตกแต่งภายนอกด้วยโทนสีชมพู-ฟ้า ตั้งเด่นเป็นสง่าดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้าเยี่ยมชมได้ปีละจำนวนไม่น้อย และเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความรุ่งโรจน์ของ ดร.ปัญญา ได้เป็นอย่างดี

แม้จะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง มีอาณาจักรทั้งฟาร์มเลี้ยงไก่และโรงงานที่ครอบคลุมตั้งแต่จังหวัดสระบุรี ลพบุรี และเพชรบุรี แต่ถึงกระนั้น “สหฟาร์ม” ก็หนีไม่พ้นมรสุมทางธุรกิจที่โหมกระหน่ำ จนทำให้สหฟาร์มขาดสภาพคล่องและต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในปี 2557

วิกฤตครั้งนั้นเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งค่าแรงที่ปรับสูงขึ้นถึง 300 บาท การขาดแคลนอาหารสัตว์ ซึ่ง ณ ขณะนั้นสหฟาร์มเลี้ยงไก่วันละ 800,000-1,000,000 ตัว นั่นทำให้ผลผลิตเสียหาย และเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนัก

สหฟาร์มเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลายกลางเมื่อปี 2557 ด้วยมูลหนี้รวมกว่า 20,788 ล้านบาท โดยเป็นหนี้ของสหฟาร์ม 10,353 ล้านบาท และบริษัท โกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส ซึ่งเป็นบริษัทในเครืออีกกว่า 10,435 ล้านบาท โดยมีธนาคารกรุงไทยเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ ซึ่งศาลได้เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2558 และมีบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นผู้บริหารแผน

กระทั่งปี 2563 หลังดำเนินการตามแผนฟื้นฟูต่อเนื่องมาเป็นเวลา 5 ปี จนจะครบกำหนดตามแผนฟื้นฟูที่วางไว้ “อีวาย” กลับยื่นขอขยายแผนฟื้นฟูกิจการของสหฟาร์มออกไปอีก 1 ปี ท่ามกลางการยื่นคัดค้านของสหฟาร์ม พร้อมขอให้ศาลพิจารณาให้อีวายพ้นจากการเป็นผู้บริหารแผน เนื่องจากเห็นการว่าการดำเนินงานภายใต้แผนฟื้นฟูที่ดำเนินการมาร่วม 5 ปี ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควรจะเป็น

โดยรายงานแผนการชำระหนี้ของกลุ่มบริษัท สหฟาร์ม ในไตรมาส 2 ของปีที่ 5 (ระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562-19 กุมภาพันธ์ 2563) พบว่า เจ้าหนี้ทั้ง 15 กลุ่ม ซึ่งมีหนี้เงินต้นรวมดอกเบี้ยอยู่ที่ 10,910 ล้านบาท ยังมีภาระหนี้คงค้างอยู่ที่ 8,014 ล้านบาท ลดลงเพียง 2,896 ล้านบาทหรือ 36.13% โดยเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ได้รับการชำระหนี้เพียงส่วนน้อย เมื่อเทียบกับระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการบริหารแผนที่ลูกหนี้จ่าย แต่ถึงกระนั้นการประชุมเจ้าหนี้ของสหฟาร์มก็มีมติขยายเวลาให้อีวายบริหารแผนฟื้นฟูต่อไปอีก 1 ปี

ในที่สุดวันที่ 18 สิงหาคม 2565 สหฟาร์มจึงได้กลับคืนสู่ครอบครัวโชติเทวัญ เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่ง “ยกเลิก” การฟื้นฟูกิจการ เพราะธุรกิจส่งออกไก่ได้กำไรอย่างมหาศาล ทำให้มีเงินมากพอสำหรับชำระหนี้ โดย ดร.ปัญญา ถือฤกษ์วันที่ 9 เดือน 9 พ.ศ. 2565 ในการกลับเข้ามาบริหารสหฟาร์มอีกครั้ง พร้อมแผนธุรกิจและการลงทุนใหม่ๆ ในรอบกว่า 7 ปี รวมถึงการปรับเปลี่ยนองค์กร โดยมีลูกหลานโชติเทวัญและผู้บริหารมืออาชีพเป็นแบ็กอัปที่แข็งแกร่ง หวังกลับมาทวงบัลลังก์ผู้ส่งออกไก่สด

อย่างแรก ดร.ปัญญา ได้เชิญ รศ. ดร.เยาวมาลย์ ค้าเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนศาสตร์อาหารสัตว์ มาช่วยพัฒนาสูตรอาหารสัตว์ให้ไก่ของสหฟาร์มให้เป็นไก่ที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงมากขึ้น มีการปรับโครงสร้างการบริหารโดยเอาทีมฟาร์มที่เป็นบริษัทในเครือมาดูแลสหฟาร์มทั้งหมด มี ดร.ก้อง โชติเทวัญ บุตรชายดูแลในส่วนของโรงงาน ในขณะที่บุตรสาวอย่าง น้ำผึ้ง-จารุวรรณ โชติเทวัญ ดูแลบัญชีการเงินและการตลาดต่างประเทศ

อีกทั้งยังมีแผนเพิ่มศักยภาพการทำงานและเร่งกำลังการผลิตเพื่อขยายตลาดต่างประเทศ โดยการลดต้นทุนและเพิ่มจำนวนไก่เข้าเชือด ซึ่งเดิมมีไก่เข้าเชือดอยู่ที่ประมาณวันละ 5 แสนกว่าตัว ปัจจุบันมีไก่เข้าเชือด  6-7 แสนตัวต่อวัน และจะเพิ่มเป็น 1 ล้านตัวในอนาคต

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีแผนปรับปรุงสหฟาร์มซูเปอร์มาร์เกต ที่ตั้งอยู่บริเวณรามอินทรา กม.8 ซึ่งเป็นหน้าร้านขายผลิตภัณฑ์ของสหฟาร์มทั้งหมดในรูปแบบขายปลีก ราคาหน้าฟาร์ม เพื่อเพิ่มการเข้าถึงสินค้า และยังเปิดบริการบ้านสุขาวดีให้กลับมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของพัทยาอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังตีตลาดพรีเมียมและกลุ่มคนรักสุขภาพด้วยแบรนด์น้องใหม่ “พอลดีย์” ไก่อารมณ์ดี ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนไก่สดพรีเมียมที่ต่อยอดมาจากผลิตภัณฑ์ไก่สดดั้งเดิมที่เปิดตัวมาในช่วงโควิด-19 ระบาดอีกด้วย

หลังฝ่ามรสุมทางธุรกิจลูกใหญ่มาได้ ก้าวย่างนับจากนี้ของสหฟาร์มจึงน่าสนใจและน่าติดตามเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหนึ่งในเป้าหมายหลักคือการกลับมาทวงบัลลังก์ผู้ส่งออกไก่สดของไทย ที่มีเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นคู่แข่งคนสำคัญ.