วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ผลกระทบ COVID-19 จุดเริ่มต้นของการถดถอยครั้งใหญ่

ผลกระทบ COVID-19 จุดเริ่มต้นของการถดถอยครั้งใหญ่

ความเป็นไปของการแพร่ระบาด COVID-19 นอกจากจะคุกคามความเป็นอยู่ของสาธารณชนในวงกว้างแล้ว ยังนำพามาซึ่งความกังวลใจต่อภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับโลกที่กำลังจะติดตามมาในอนาคตด้วย

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ครั้งนี้ ได้รับการประเมินว่าส่งผลกระทบอยู่ในระดับที่ใหญ่โตและกว้างขวางเกินกว่าวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อปี 2551 หรือเมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์วินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2544 ซึ่งแม้นักวิเคราะห์บางสำนักจะพยายามประเมินสถานการณ์และมองโลกแง่ดีว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจครั้งนี้จะเป็นรูป V shape ที่เศรษฐกิจจะตกต่ำเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

หากแต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทำให้ความเชื่อดังกล่าวอาจเป็นเพียงคำอธิษฐานเท่านั้น เนื่องจากประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกหลายประเทศกำลังจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในไม่กี่เดือนข้างหน้า และมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อต่อเนื่องออกไปอีกอย่างน้อย 2 ไตรมาส ซึ่งหากเศรษฐกิจโลกไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย ก็จะต้องเผชิญกับภาวะไม่เติบโต หรือเติบโตต่ำอยู่ดี

ผลกระทบเศรษฐกิจโลกจากเหตุการแพร่ระบาดของ COVID-19 มีแนวโน้มที่จะเป็นรูป U shape ที่สะท้อนภาพการเผชิญกับภาวะตกต่ำเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะฟื้นตัว ขณะที่ประชาคมโลกสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบแบบ L shape หรือภาวะที่เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวขึ้นเลยได้ ด้วยการตัดสินใจและกำหนดมาตรการรองรับที่ถูกต้องเหมาะสม

สถานการณ์การระบาดของไวรัส Covid-19 ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจในปีนี้ชะลอตัวอย่างมาก ยอดขายของธุรกิจหายไป เช่นเดียวกับรายได้ของประชาชนรายย่อย ซึ่งทำให้หลายฝ่ายพยายามคาดการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นเปรียบเทียบกับวิกฤตการเงินต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยหดตัวถึงร้อยละ 10.5 ในลักษณะของการสร้างตัวแบบผลกระทบและเปรียบเทียบปัจจัยทางเศรษฐกิจว่าเหตุการณ์ในปีนี้จะเหมือนหรือต่างจากปี 2540 อย่างไรอีกด้วย

ข้อน่าสังเกตที่น่าสนใจประการแรกก็คือ จุดเริ่มต้นของปัญหาทางเศรษฐกิจจากเหตุ COVID-19 ในครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการขาดความสมดุลทางเศรษฐกิจในลักษณะเดียวกันกับวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ซึ่งมีต้นตอของปัญหามาจากการที่เศรษฐกิจไทยขาดความสมดุลในหลายด้าน บนอัตราแลกเปลี่ยนที่ผูกติดกับเงินเหรียญสหรัฐ จึงทำให้ภาคเอกชนไม่คำนึงความเสี่ยงและใช้จ่ายเกินตัว จนสะท้อนผ่านการเพิ่มขึ้นของการลงทุนและการบริโภคที่สูงกว่าเงินออมที่มี มีการก่อหนี้ต่างประเทศ และมีการเก็งกำไรสินทรัพย์อย่างกว้างขวาง

ขณะที่ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องความสมดุลในลักษณะเดียวกันกับปี 2540 แต่ปัญหาในครั้งนี้เกิดขึ้นจากสถานการณ์โรคระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งระบาดไปทั่วโลก เป็นปัญหาภัยธรรมชาติขนาดใหญ่ การแก้ปัญหาในครั้งนี้จึงขึ้นกับการจัดการของสาธารณสุขทั่วโลก ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงตัวแปรสำคัญที่ได้แก่ การผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพื่อยับยั้งการระบาดอย่างถาวร

ข้อเท็จจริงที่ทำให้วิกฤต COVID-19 ต่างจากวิกฤตในปี 2540 อยู่ที่แม้เศรษฐกิจไทยจะมีพื้นฐานที่ดีกว่าปี 2540 แต่ตัวเลขการขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตปี 2540 โดยในช่วงปี 2558-2562 เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยเพียงร้อยละ 3.4 ต่อปี เทียบกับเศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนเกิดวิกฤตทางการเงินในปี 2540 หรือในช่วงปี 2530-2538 ที่ขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 9.9 ซึ่งสะท้อนภาพปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะปัญหาขีดความสามารถของธุรกิจทั้งทักษะแรงงานและการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ

รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 80 ต่อจีดีพี เมื่อเทียบกับในอดีตในปี 2540 ที่อยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 49.2 ต่อจีดีพี ผู้ที่จะได้รับผลกระทบในวิกฤต COVID-19 ครั้งนี้จึงกระจายเป็นวงกว้าง ตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี และประชาชนรายย่อย ซึ่งต่างจากในปี 2540 ที่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจะเป็นกลุ่มนายทุน หรือภาคธุรกิจเป็นหลัก

ประเด็นที่น่าสนใจในการรับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ด้วยมาตรการทางสาธารณสุข ส่งผลให้กลไกทางเศรษฐกิจในแต่ละระดับตกอยู่ในภาวะชะงักงัน ก่อนที่กลไกภาครัฐจะออกมาตรการต่างๆ เพื่อเยียวยาและป้องกันไม่ให้กลไกทางเศรษฐกิจหยุดทำงาน ขณะที่มาตรการที่ใช้ในปี 2540 เป็นมาตรการเพื่อฟื้นฟูกลไกทางเศรษฐกิจให้กลับมาทำงานอีกครั้ง โดยมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบภาครัฐและธนาคารกลางทั่วโลกนำมาใช้ในปัจจุบันนั้น มีวงเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยขนาดของมาตรการการคลังที่แต่ละประเทศนำมาใช้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของ GDP ในขณะที่มาตรการทางการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบก็มีขนาดใหญ่เช่นกัน อย่างไรก็ดี เหตุการณ์โรคระบาดยังมีความไม่แน่นอน โดยหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น คาดว่าทางการคงพร้อมออกมาตรการเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อทุกภาคส่วนและการชะลอตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

วิวาทะและการต่อสู้ในเชิงความคิดว่าด้วยมาตรการทางสาธารณสุขที่เข้มงวดกับราคาที่ต้องจ่ายในเชิงเศรษฐกิจกลายเป็นข้อถกแถลงที่นับวันจะมีเสียงเรียกร้องที่ดังกังวานขึ้น เพราะในความเป็นจริงความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ไม่มีใครประเมินได้อย่างชัดเจนว่าจะมีมูลค่าสูงเพียงใดในสถานการณ์ที่การต่อสู้เพื่อชะลอการแพร่ระบาดของ COVID-19 ดูจะเป็นเพียงการต่อสู้เพื่อจำกัดวงและประวิงเวลาไม่ให้การแพร่ระบาดลุกลามจนเกินกว่าศักยภาพทางการแพทย์และการสาธารณสุขไทยเท่านั้น

อุบัติการณ์ของโรคระบาดไวรัส Covid-19 ในครั้งนี้ถือเป็นปัจจัยลบขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจจะยืดเยื้อยาวนานและนำไปสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 21 หรือเป็น The Great Depression of 21st Century ที่อาจครอบคลุมช่วงเวลานานนับ 5-10 ปีนับจากนี้ ซึ่งอาจส่งผลไม่เพียงเฉพาะต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบประพฤติกรรมและการดำเนินวิถีชีวิตของผู้คนตามปกติ ที่ทำให้รูปแบบการทำงานแบบ Work from home หรือจากสถานที่อื่นๆ ทำได้ง่ายขึ้น ความจำเป็นในการมี Office ขนาดใหญ่จะลดลง และยังจะเป็นปัจจัยที่พร้อมจะ disrupt และรื้อสร้างกระบวนการผลิตในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนอีกด้วย

ผลกระทบระยะยาวต่อเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลกจาก COVID-19 ที่ยากจะหลีกเลี่ยงอยู่ที่ภาวะการขาดดุลการคลังทั่วโลก รวมถึงหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากมาตรการการคลังที่เพิ่มขึ้นก็ย่อมนำมาซึ่งการขาดดุลเพิ่มขึ้น โดยงานวิจัยล่าสุดของ UBS พบว่าการขาดดุลการคลังทั่วโลกในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อยร้อยละ 2.5 ของ GDP จากที่ขาดดุลประมาณร้อยละ 0.5 ในปีที่ผ่านมา ซึ่งงบประมาณรัฐที่ขาดดุล ย่อมนำมาซึ่งหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นมาก โดยหนี้สาธารณะทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในระดับร้อยละ 10 ของ GDP ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ทำให้รัฐไม่สามารถเก็บภาษีเพื่อชดเชยการขาดดุลได้มากนัก และไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ทำให้จะใช้วิธีกู้ยืมมากขึ้น

กรณีที่น่าสนใจจากเหตุ COVID-19 อีกด้านหนึ่งอยู่ที่ประสิทธิภาพของเศรษฐกิจโลกจะลดลง เพราะการที่ภาครัฐเข้าอุ้มโดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้ไม่เกิด Creative destruction หรือการทำลายอย่างสร้างสรรค์ อันเป็นกระบวนการธุรกิจที่ไม่ประสบผลสำเร็จต้องล้มหายตายจากไป ทำให้ทรัพยากรจะหันไปหาภาคธุรกิจที่มีประสิทธิภาพและมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นซึ่งโดยปกติในแต่ละปี ธุรกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะมีสัดส่วนการล้มละลายกว่าร้อยละ 8 ในแต่ละปี และแรงงานจะถูกเลิกจ้างกว่าร้อยละ 10 หากแต่ในปัจจุบัน การที่ภาครัฐเข้าช่วยอุ้มธุรกิจผ่านมาตรการเยียวยาผลกระทบต่างๆ จะทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่อยู่รอด แต่ธุรกิจขนาดเล็กที่สายป่านสั้นและเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐก็จะล้มไป

เหตุดังกล่าวดูจะสวนทางกับบทบาทของภาครัฐที่จะใหญ่ขึ้น ทั้งการเข้ามาเป็นผู้เล่นในภาคธุรกิจต่างๆ ผ่านการทำ Nationalization หรือยึดกิจการมาเป็นของรัฐ รวมถึงการกำกับและสอดส่องกิจการรวมถึงความเป็นอยู่ของประชาชนที่มากขึ้น ผ่านการใช้ระบบ Electronic Surveillance ทั้งประวัติด้านภาษี ประวัติทางการแพทย์ (Medical Record) หรือระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ (Electronic Record) ผ่านข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ ประวัติเหล่านี้จะถูกตรวจสอบง่ายขึ้น ทำให้ความเป็นส่วนตัวลดลง

ขณะที่ในฝั่งการค้า กระแสโลกาภิวัตน์จะยิ่งลดลง จากผลของเงื่อนไขการเดินทางที่เปลี่ยนไปภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยาวนาน ยังไม่นับรวมถึงความไม่แน่นอนในห่วงโซ่การผลิต (Supply-chain) ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่สงครามการค้าต่อเนื่องมาถึงวิกฤต COVID-19 รวมถึงการที่แต่ละประเทศจะหันมาผลิตสินค้าที่สำคัญเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อป้องกันภาวะขาดแคลนและเสริมสร้างความมั่นคง ทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรคสำคัญ และผลิตอาหารในประเทศมากขึ้น

โลกในยุคหลัง COVID-19 ดูจะเป็นประหนึ่งโลกใบใหม่ที่เต็มไปด้วยวิถีใหม่ หรือ new normal ที่คงต้องปรับตัวรับกับความท้าทายนี้ ก่อนที่จะถูกสถานการณ์โดยรอบ disrupt ให้ต้องพ้นไปไม่ว่าจะสมัครใจหรือไม่ก็ตาม

ใส่ความเห็น