วันพุธ, กันยายน 18, 2024
Home > On Globalization > อิมเพรสชั่นนิสต์ที่ลอนดอน

อิมเพรสชั่นนิสต์ที่ลอนดอน

Column: From Paris

Paris Plages เป็นกิจกรรมฤดูร้อนที่เทศบาลกรุงปารีสจัดระหว่างวันที่ 20 กรกฎาคมถึงสิ้นเดือนสิงหาคม เป็นการแปลงริมแม่น้ำแซน (Seine) ช่วงหนึ่งให้เป็นชายหาด สำหรับคนที่ไม่มีโอกาสไปพักร้อน และเป็นสีสันสำหรับนักท่องเที่ยว แต่เดิมจะนำทรายมาเท ตั้งเก้าอี้ผ้าใบและร่มกันแดด บางหาดก็ปูหญ้าเทียม มีกิจกรรมสำหรับเด็กๆ สระว่ายน้ำ หน้าศาลากลางกรุงปารีส (Hôtel de ville) เททราย ขึงเน็ตสำหรับกีฬาวอลเลย์บอลชายหาด ทว่านั่นกลายเป็นอดีตไปแล้ว เพราะนายกเทศมนตรีกรุงปารีสคนปัจจุบันลดกิจกรรมหมดทุกอย่าง ยกเว้นการตั้งเก้าอี้ผ้าใบและร่มกันแดด มีกิจกรรมสำหรับเด็กเล็ก ผลก็คือ ผู้คนบางตา

ไปเดินริมแม่น้ำแซนบ่อยๆ วันหนึ่งเห็นบอร์ดติดรีโปรดักชั่นภาพเขียนของจิตรกรอิมเพรสชั่นนิสต์ (impressionniste) หลายภาพด้วยกัน จึงได้ทราบว่ากำลังมีนิทรรศการอิมเพรสชั่นนิสต์ที่เปอติต์ ปาเลส์ (Petit Palais)

Petit Palais เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับงานเอกซ์โปนานาชาติปี 1900 ต่อมาเป็นพิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ ขึ้นอยู่กับเทศบาลกรุงปารีส Musée des beaux-arts de la Ville de Paris มีงานศิลป์มากมาย ตั้งแต่ยุคกรีก-โรมันจนถึงศตวรรษที่ 19 มีทั้งภาพเขียนของเรมบรานด์ (Rembrandt) รูเบนส์ (Rubens) ปอล เซซานน์ (Paul Cézanne) โคล้ด โมเนต์ (Claude Monet) เอดูอารด์ มาเนต์ (Edouard Manet) ปิแอร์ บอนนารด์ (Pierre Bonnard) กุสตาฟ กูร์เบต์ (Gustave Courbet) อัลเฟรด ซิสเลย์ (Alfred Sisley) อองเดร เดอแรง (André Derain) กามีย์ ปิสซาโร (Camille Pissarro) โมริซ เดอนีส์ (Maurice Denis) เอดูอารด์ วุยยารด์ (Edouard Vuillard) เป็นต้น แม้จะไม่มีมาก แต่ก็เป็นสีสันพอให้ชื่นใจ เปิดให้เข้าชมฟรี ยกเว้นนิทรรศการจร

Petit Palais จัดนิทรรศการจรอยู่เนืองๆ ฤดูร้อนปี 2018 นี้เป็นเรื่องราวของจิตรกรอิมเพรสชั่นนิสต์ที่ลี้ภัยไปลอนดอนระหว่างปี 1870-1904 Les impressionnistes à Londres, artistes français en exil 1870-1904 เป็นชื่อนิทรรศการ

นิทรรศการเริ่มจากภาพเขียนที่เกี่ยวกับการสงครามที่เป็นเหตุให้อาร์ทิสต์จำนวนหนึ่งลี้ภัยไปลอนดอน เริ่มจากการที่จักรพรรดินโปเลองที่ 3 (Napoléon III) พ่ายการสงครามกับปรัสเซียในปี 1870 จนกรุงปารีสถูกยึดครองโดยปรัสเซียและแคว้นต่างๆ ของเยอรมนีที่เป็นพันธมิตร ความพ่ายแพ้ของนโปเลองที่ 3 ที่เซดอง (Sedan) ในเดือนกันยายน 1870 ทำให้จักรวรรดิที่ 2 (Second Empire) ของฝรั่งเศสสิ้นสุดลง เริ่มต้นสาธารณรัฐที่ 3 (3ème République) ผู้นำฝรั่งเศสในขณะนั้นประกาศไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ แต่ในที่สุดปารีสก็ไม่สามารถต้านทานกองกำลังของปรัสเซียและพันธมิตร และถูกยึดเมื่อวันที่ 20 มกราคม 1871

ชาวกรุงปารีสไม่พอใจรัฐบาลและสภาซึ่งมีผู้นิยมกษัตริย์และนโปเลองเป็นจำนวนมาก เกิดการลุกฮือของชาวกรุงปารีส เรียกช่วงนี้ว่า Commune de Paris เกิดจลาจล ฝ่ายก่อการเผาทำลายศาลากลางกรุงปารีส และพระราชวังตุยเลอรีส์ (Tuileries)

ช่วงนี้เองที่อาร์ทิสต์ฝรั่งเศสหนีภัยสงคราม ทยอยเดินทางไปกรุงลอนดอนตั้งแต่ปี 1870 ในขณะนั้นทั้งหมดยังเป็นอาร์ทิสต์ “เด็ก” เริ่มจากโคล้ด โมเนต์ที่ไม่อยากถูกเกณฑ์ทหารไปรบกับปรัสเซีย จึงเดินทางไปกรุงลอนดอน และได้พบกับกามีย์ ปิสซาโร เจมส์ ติสโซต์ อองเดร เดอแรง และอาร์ทิสต์อื่นๆ อีกมากหน้าหลายตา อาร์ทิสต์อังกฤษให้การต้อนรับผู้ลี้ภัยอย่างดี ในขณะเดียวกัน พ่อค้างานศิลป์ชื่อ ปอล ดูรองด์-รูเอล (Paul Durand-Ruel) ก็ย้ายงานศิลป์ที่ตนสะสมไว้ไปเปิดแกลเลอรีที่ลอนดอน และให้การสนับสนุนอาร์ทิสต์ฝรั่งเศสที่ภายหลังคือกลุ่มอิมเพรสชั่นนิสต์นั่นเอง กลุ่มนี้มีโอกาสชมผลงานของอาร์ทิสต์อังกฤษ ชื่นชอบผลงานของวิลเลียม เทอร์เนอร์ (William Tuner) จอห์น คอนสเตเบิล (John Constable) เป็นต้น

อาร์ทิสต์ฝรั่งเศสเขียนภาพทัศนียภาพกรุงลอนดอน นิทรรศการนำภาพเขียนรัฐสภาอังกฤษของโคล้ด โมเนต์มาแสดงหลายภาพ ภาพเปลี่ยนอารมณ์ตามแสงและเวลาของแต่ละวัน อาคารรัฐสภาในสายหมอก อาคารรัฐสภาในแสงแดดและหมอก เป็นต้น ทั้งอัลเฟรด ซิสเลย์ กามีย์ ปิสซาโร อองเดร เดอแรง ต่างบรรจงเขียนภาพเกี่ยวกับลอนดอน ในขณะที่เจมส์ ติสโซต์ถ่ายทอดชีวิตของชาวลอนดอน ภาพผู้คนแต่งตัวสวยงามตามงานต่างๆ เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นภาพเขียนของเจมส์ ติสโซต์อย่างเต็มตา แล้วชอบมาก นอกจากนั้นเจมส์ ติสโซต์ยังเขียนภาพของนโปเลองที่ 3 และจักรพรรดินีเออเจนี ที่ลี้ภัยในกรุงลอนดอน ไปจนภาพงานศพของนโปเลองที่ 3

นิทรรศการยังนำประติมากรรมของอาร์ทิสต์ฝรั่งเศสหลายคนมาแสดง ล้วนสวยงามยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานของฌอง-บาติสต์ การ์โปซ์ (Jean-Baptiste Carpeaux)

ดูแล้วอิ่มใจ ออกจากนิทรรศการตรงทางเข้าตัวพิพิธภัณฑ์ที่แสดงคอลเลกชั่นถาวร มีภาพของโคล้ด โมเนต์ กามีย์ ปิสซาโร อองเดร เดอแรง อัลเฟรด ซิสเลย์ ปอล เซซานน์ (Paul Cézanne) โมริซ เดอนีส์ (Maurice Denis) เออแจน บูแดง (Eugène Boudin) และกุสตาฟ กูร์เบต์ (Gustave Courbet) หลายภาพด้วยกัน

ใส่ความเห็น