วันเสาร์, กรกฎาคม 27, 2024
Home > On Globalization > ไปดูขบวนแห่กันไหม?

ไปดูขบวนแห่กันไหม?

 
Column: AYUBOWAN
 
หลังจากพ้นวันสำคัญทางพุทธศาสนาในเดือนกรกฎาคม ทั้งวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา พร้อมกับขบวนแห่เทียนพรรษาที่ผ่านไป เชื่อว่าพุทธศาสนิกชนจำนวนไม่น้อยอาจถือโอกาสนี้ตั้งจิตอธิษฐานหวังมุ่งก่อการบุญกุศลด้วยการหลีกหน้าห่างหายจากอบายมุข สร้างเสริมความสุขด้วยกุศลจิต
 
โดยเฉพาะในสังคมไทยซึ่งดูเหมือนจะอ่อนไหวและเปราะบางกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ถึงขนาดรณรงค์ให้มีการงดเหล้าเข้าพรรษาเป็นเวลาสามเดือน หรือหากจะละเลิกไปได้เลยก็นับว่าประเสริฐยิ่ง ซึ่งก็ดูจะเป็นกิจกรรมที่รณรงค์ติดต่อกันมาหลายปี แต่ไม่แน่ใจว่าได้ผลบวกลบอย่างไร
 
ในขณะที่เมืองไทยมีประเพณีแห่เทียนพรรษา ซึ่งถือเป็นหนึ่งกิจกรรมทางสังคมเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ก่อนหน้าวันสำคัญที่ว่านี้ ในศรีลังกา โดยเฉพาะที่เมือง Kandy ก็มีประเพณีสำคัญที่ถือเอาวันเพ็ญแห่งเดือน Esala เป็นหลักหมาย โดยนับจากหลังวันเพ็ญนี้ไปอีก 15 ราตรีกาล เป็นจุดเริ่มต้นของเทศกาลใหญ่ในนาม Esala Perahera ที่จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี ต่อเนื่องไปอีก 15 วันเลยทีเดียว
 
Esala Perahera แห่งเมือง Kandy นี้ เป็นประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องด้วยพุทธศาสนาและอารามหลวง Sri Dalada Maligawa ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระเขี้ยวแก้วที่เป็นประหนึ่งสัญลักษณ์และศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนในศรีลังกาด้วย
 
ประเพณีการเฉลิมฉลอง Esala Perahera มีประวัติการณ์สืบย้อนกลับไปได้ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 3 ในอาณาจักรอนุราธปุระ โดยสันนิษฐานว่าเริ่มต้นจากพิธีกรรมขอฝนในห้วงเวลาแห่งวันเพ็ญเดือน Esala ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ผนวกกับ Dalada Perahera ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองการอัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว (Dalada) จากอินเดียมาประดิษฐานที่ศรีลังกา ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 8 กระทั่งกลายเป็นประเพณีสืบต่อกันมาของราชสำนัก Kandy และประชาชนทั่วไป
 
ที่กล่าวเช่นนี้เพราะในอดีตกาลที่ผ่านมา พระเขี้ยวแก้วถือเป็นของสงวนที่มีแต่สมาชิกในราชสำนักเท่านั้นที่จะได้ชื่นชมและถวายความเคารพเป็นพุทธบูชา โดยที่ประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิจะได้สัมผัสบารมี ไม่นับรวมกรณีที่ถือว่าพระเขี้ยวแก้วเป็นสมบัติส่วนพระองค์ของราชสำนักไม่ใช่สาธารณสมบัติแห่งชาติแต่อย่างใด
 
แต่เมื่อกษัตริย์ Kirthi Sri Rajasinghe (กีรติสิริราชสิงหะ) ขึ้นครองราชบัลลังก์ ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1747–1781 พระองค์พยายามฟื้นฟูพระพุทธศาสนาด้วยการเชิญคณะธรรมทูตจากอยุธยาซึ่งนำโดยพระอุบาลีมหาเถระ และได้ดำริให้มีพิธีกรรมอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วให้ประชาชนได้สักการะชื่นชมในฐานะที่เป็นสมบัติแห่งชาติ และเป็นปฐมบทแห่งที่มาของประเพณี Esala Perahera ในยุคใหม่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
 
ต้องนับว่าดำริที่กษัตริย์ Kirthi Sri Rajasinghe ทรงริเริ่มไว้ในครั้งนั้นมีส่วนช่วยให้พระเขี้ยวแก้วยังคงประดิษฐานอยู่บนผืนแผ่นดินศรีลังกาในฐานะที่เป็นศาสนวัตถุสำคัญ เพราะเมื่ออาณาจักร Kandy เผชิญกับความเสื่อมถอยจนต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอังกฤษในปี 1815 พระเขี้ยวแก้วก็ได้ถูกส่งมอบให้อยู่ภายใต้การรักษาดูแลของมหานายกเถระ ประธานแห่งคณะสงฆ์ ทำให้รอดพ้นไม่ได้ถูกอาณานิคมอังกฤษริบไปเป็นสมบัติของเจ้าอาณานิคม
 
หากพิจารณาในมิติของเงื่อนเวลา Esala Perahera ที่เมือง Kandy ในปีนี้อาจถือเป็นการรำลึกวาระครบรอบ 200 ปี แห่งการสิ้นสุดลงของราชอาณาจักร Kandy ซึ่งถือเป็นราชอาณาจักรแห่งสุดท้ายของศรีลังกาก่อนที่จะถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งในอาณานิคมอังกฤษภายใต้ข้อตกลง Kandyan Convention (1815) ด้วย
 
สำหรับ Esala Perahera ในปี 2015 นี้ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-30 สิงหาคม ซึ่งคาดว่าจะมีผู้คนทยอยเดินทางไปเข้าร่วมกิจกรรมและแสวงบุญเป็นการถวายพุทธบูชาในเมือง Kandy นับแสนคน และคงกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่ได้อย่างคึกคัก แม้จะมีประเด็นว่าด้วยความเข้มข้นทางการเมืองและผลพวงจากการเลือกตั้งทั่วไปในศรีลังกา ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 17 สิงหาคม มาขวางกั้นอยู่บ้างก็ตาม
 
แม้ว่าศรีลังกาจะพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวในฐานะที่เป็นช่องทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจและแสวงหาเงินตราจากต่างประเทศ และมีการจัดวางกิจกรรมลงในปฏิทินท่องเที่ยวตลอดทั้งปี โดย Esala Perahera ถือเป็นกิจกรรมไฮไลต์ด้านการท่องเที่ยวประจำปี และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากได้ในแต่ละปี ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่เฉพาะในบริบทของเมือง Kandy เท่านั้นหากยังแผ่กว้างไปในกิจกรรมและพื้นที่แวดล้อมอื่นๆ ด้วย
 
แต่สำหรับผู้ดำรงตำแหน่ง Diyawadana Nilame ซึ่งถือเป็นประธานจัดงานและผู้ดูแลกิจกรรมโดยรอบของพระเขี้ยวแก้วแล้ว การเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนและประชาชนชาวศรีลังกาได้ร่วมกิจกรรมแสวงบุญประจำปี ถือเป็นหน้าที่หลักมากกว่าที่จะมุ่งแสวงหาผลกำไรจากกิจกรรมเหล่านี้
 
พื้นที่รอบทะเลสาบ Kandy ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางที่ขบวนแห่พระเขี้ยวแก้วจะเคลื่อนผ่านจึงได้รับการสงวนไว้ให้ประชาชนทั่วไปได้จับจองและถวายสักการะ ขณะที่พื้นที่ส่วนอื่นๆ ของเมืองก็ได้รับการจัดสรรให้กับบรรดาห้างร้านและบริษัทท่องเที่ยวให้ได้รับประโยชน์จากการเก็บค่าที่นั่งชมของนักท่องเที่ยวจากแดนไกล เรียกได้ว่าเป็นการจัดสรรที่สร้างสมดุลทั้งประโยชน์ของท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวไปในคราวเดียวกัน
 
สิ่งหนึ่งที่ก่อให้เกิดความกังวลใจแก่ Diyawadana Nilame ซึ่งถือเป็นผู้ดูแลกิจกรรม Esala Perahera ในปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่ลดลง หากแต่เป็นเรื่องราวของโขลงช้างที่จะเข้าร่วมในขบวนแห่ซึ่งจากเดิมมีการคัดสรรช้างลักษณะดีเข้าร่วมในขบวนแห่มากถึงกว่า 100 เชือก แต่ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้มีการจับหรือครอบครองช้างป่า ทำให้ปัจจุบันการนำช้างมาร่วมขบวนจึงลดจำนวนลงอย่างมาก 
 
แต่ความเป็นไปของ Esala Perahera ก็ยังถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมประจำปีที่มีสีสันและเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญยิ่งของทั้ง Kandy และศรีลังกา อยู่ไม่เสื่อมคลายนะคะ