วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > On Globalization > สิทธิในการเข้าห้องน้ำของผู้หญิงอินเดีย

สิทธิในการเข้าห้องน้ำของผู้หญิงอินเดีย

Women in Wonderland

 

ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่สองของโลก รองจากจีน และเป็นประเทศกำลังพัฒนา คงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าหากประเทศอินเดียจะสร้างรถไฟความเร็วสูง สร้างสะพานข้ามแม่น้ำ หรือแม้กระทั่งสร้างสนามบินใหม่ เพื่อที่จะพัฒนาประเทศให้มีความทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ดังนั้นสำหรับรัฐบาลอินเดียแล้วเรื่องพวกนี้จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ แต่รัฐบาลคงลืมไปว่าสาธารณูปโภคต่างๆ ภายในประเทศก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องห้องน้ำ ที่คนอินเดียกำลังเผชิญปัญหาภาวะการขาดแคลนห้องน้ำอยู่ในขณะนี้
 
ผู้อ่านคงเคยไปห้างสรรพสินค้า หรือปั๊มน้ำมัน ตามที่ต่างๆ ที่อาจจะมีห้องน้ำบางห้องที่สกปรก จนคุณไม่อยากจะเข้า และอาจตัดสินใจไปเข้าห้องน้ำที่อื่นแทน แต่ที่ประเทศอินเดียนั้นแตกต่างออกไป ในเขตชนบท เขตสลัมในกรุงนิวเดลี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศอินเดีย หรือแม้กระทั่งตามห้างสรรพสินค้า ก็ไม่มีห้องน้ำให้ใช้ 
 
องค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟเปิดเผยว่า 58% ของคนอินเดียนั้นยังขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระในห้องน้ำแบบเปิด ซึ่งในที่นี้หมายความว่า ผู้คนจะขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระตามสถานที่เปิดโล่ง เช่น ตามต้นไม้ หรือพุ่มหญ้า เป็นต้น ประเทศอินเดียถือว่าเป็นอันดับหนึ่งของโลกที่ยังมีประชากรจำนวนมากที่สุดที่ยังคงใช้ห้องน้ำแบบเปิด ตามมาด้วยประเทศจีน และอินโดนีเซีย คือประมาณ 5% ของจำนวนประชากรในแต่ละประเทศ และอันดับที่สาม คือปากีสถานและเอธิโอเปีย
 
ทำไมประชากรในประเทศอินเดียยังคงนิยมใช้ห้องน้ำแบบเปิด
 
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ที่ประเทศอินเดียนั้นคนชนบทส่วนใหญ่จะไม่มีการสร้างห้องน้ำไว้ภายในบ้านของตัวเอง เพราะเป็นความเคยชินที่ปฏิบัติกันมานานว่าจะต้องไปปัสสาวะหรืออุจจาระที่พื้นที่ข้างนอกบ้าน และถ้าหากพวกเขาเหล่านี้ย้ายเข้ามาทำงานตามเมืองใหญ่ๆ ก็จะไปอาศัยอยู่ในเขตสลัมของแต่ละเมือง ซึ่งไม่มีการสร้างห้องน้ำภายในบ้านเช่นกัน ดังนั้นพวกเขาจึงใช้ห้องน้ำสาธารณะกันทุกคน ห้องน้ำสาธารณะจึงเป็นที่ต้องการของประชาชนจำนวนมาก แต่ห้องน้ำเหล่านี้กลับมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ชาวอินเดียมีกว่า 600 ล้านคนด้วยกันที่ต้องอาศัยอยู่โดยที่ไม่มีห้องน้ำใช้ 
 
เรื่องนี้กลายเป็นหัวข้อที่น่าสนใจและได้รับการถกเถียงมากยิ่งขึ้น ในปี 2554 เมื่อ Institute for Water, Environment and Health รายงานต่อสหประชาชาติว่า ในปี 2552 นั้น มีชาวอินเดียประมาณ 366 ล้านคนที่มีห้องน้ำใช้ ในขณะที่คนอินเดีย 545 ล้านคนที่มีมือถือใช้ เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า ทำไมผู้คนชาวอินเดียถึงมีมือถือใช้มากกว่ามีห้องน้ำเป็นของตัวเองในบ้าน 
 
ไม่เพียงแต่อินเดียจะมีห้องน้ำสาธารณะที่มีจำนวนจำกัดเท่านั้น แต่ห้องน้ำที่มีอยู่ก็ยังไม่ถูกสุขลักษณะอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ห้องน้ำมีเพียงพื้นซีเมนต์ที่มีหลุมอยู่ตรงกลาง มีหม้อหรือกระทะปิดตรงหลุมไว้ และมีประตู หรือบางแห่งอาจจะมีเพียงแค่ผ้าม่านกั้นปิดไว้ และน้ำในห้องน้ำก็มีน้อยมาก จนไม่เพียงพอต่อการใช้ในแต่ละวัน เรียกได้ว่า ห้องน้ำหนึ่งห้องมีผู้คนมาต่อแถวเข้าห้องน้ำกันแบบไม่ว่างเว้นเลยทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้นคือ ตามเขตชนบทก็ไม่มีห้องน้ำให้ใช้ ผู้คนจะต้องตื่นแต่เช้าและหิ้วน้ำกันคนละถังเพื่อไปหาจุดที่มืดและบังสายตาจากคนอื่นๆ เพื่อทำการขับถ่าย 
 
อย่างเช่นที่กรุงนิวเดลี ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตสลัมจะไม่มีห้องน้ำสาธารณะให้ใช้ ดังนั้นทุกๆ เช้าทั้งชายและหญิงจะถือน้ำกันคนละขวด และไปรวมตัวกันตามรางรถไฟเพื่อทำการขับถ่ายอย่างไม่มีการแบ่งแยกหญิงชาย และเมื่อรถไฟมาก็จะมีการกดแตรเพื่อให้ผู้คนเหล่านี้หลีกหนีออกจากรางรถไฟ 
 
สาเหตุที่พวกเขาหล่านี้ต้องไปที่รางรถไฟก็เพราะไม่สามารถหาที่อื่นเพื่อที่จะขับถ่ายได้นอกจากตามรางรถไฟ ดังนั้นรางรถไฟในประเทศอินเดียจึงถือเป็นห้องน้ำแบบเปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก
 
Kalaiselvi ผู้หญิงชาวอินเดีย วัย 24 ปี ที่อาศัยอยู่ในเขตสลัมของกรุงนิวเดลี ให้สัมภาษณ์กับนักข่าว BBC ว่า เธออาศัยอยู่ทาง
ตอนใต้ของอินเดียมาก่อน และเพิ่งย้ายเข้ามาหางานทำที่กรุงนิวเดลีได้เพียงแค่ปีกว่า  Kalaiselvi เล่าต่ออีกว่า ทุกคนอายต่อการกระทำเหล่านี้ ที่ผู้หญิงและผู้ชายจะต้องทำการขับถ่ายพร้อมกัน แต่พวกเขาก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เพราะพื้นที่ในเขตสลัมนี้ไม่มีห้องน้ำสาธารณะแม้แต่ห้องเดียว พวกเธอจึงต้องทำการขับถ่ายแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ
 
ปัญหาห้องน้ำไม่ใช่มีแต่เขตสลัมที่กรุงนิวเดลีเท่านั้น อย่างที่เมืองมุมไบ เมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอินเดีย ผู้คนที่อาศัยในเมืองนี้มีห้องน้ำให้ใช้ แต่เมื่อพวกเขาขับถ่ายเสร็จ สิ่งปฏิกูลที่มาจากห้องน้ำก็จะถูกทิ้งลงแม่น้ำทั้งหมด และที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ ชาวเมืองมุมไบต้องใช้น้ำจากแม่น้ำมาทำอาหาร ซักล้างเสื้อผ้า หรือแม้กระทั่งใช้อาบน้ำ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ต่อมาพวกเขาจะเจ็บไข้ได้ป่วยจากเชื้อโรคต่างๆ 
ดังนั้นที่ประเทศอินเดียจะมีเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบต้องเสียชีวิตด้วยโรคอหิวาตกโรค ประมาณ 400,000 – 500,000 คนในแต่ละปี  สาเหตุส่วนใหญ่ล้วนมาจากความแย่ของระบบบำบัดน้ำเสีย
 
Jairam Ramesh รัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่ในเขตชนบท ได้กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าอายสำหรับคนอินเดีย เพราะเกือบ 60% ของประชากรในโลกนี้ที่ยังคงใช้ห้องน้ำแบบเปิดโล่งแบบนี้ยังคงเป็นคนอินเดีย Ramesh ยังคงให้สัมภาษณ์ต่อว่า เขาจะพยายามสร้างห้องน้ำสาธารณะให้มากขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน และจะกำจัดการใช้ห้องน้ำแบบเปิดโล่งในอินเดียให้หมดลงภายในระยะเวลา 10 ปีนี้
 
นอกจากนี้ผู้หญิงอินเดียยังรู้สึกว่าพวกเธอได้รับการเลือกปฏิบัติ เพราะเวลาที่พวกเธอไปใช้ห้องน้ำสาธารณะพวกเธอจะต้องจ่ายเงินค่าใช้ห้องน้ำ ในขณะที่ผู้ชายไม่จำเป็นต้องจ่ายเงิน แม้ว่าค่าใช้ห้องน้ำจะเป็นเงินเพียงแค่ไม่กี่รูปี แต่คนจนมีรายได้ต่อวัน ประมาณ 29 รูปีหรือน้อยกว่านี้ (ประมาณ 19 บาท) ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่แพงสำหรับการใช้ห้องน้ำ นอกจากนี้รัฐบาลยังสร้างห้องน้ำผู้ชายมากกว่าห้องน้ำผู้หญิงอีกด้วย เช่น ที่เมืองมุมไบ มีห้องน้ำสาธารณะสำหรับผู้หญิงเพียงแค่ 132 ห้อง ในขณะที่ห้องน้ำชายมีถึง 1,534 ห้องด้วยกัน1 สำหรับผู้หญิงในเมืองมุมไบที่ไม่สามารถหาห้องน้ำสาธารณะได้ พวกเธอจะขับถ่ายใส่ถุงพลาสติกแล้วนำไปทิ้ง ซึ่งคนอินเดียเรียกการขับถ่ายแบบนี้ว่า “Flying Toilet”
 
เมื่อการเข้าห้องน้ำกลายเป็นเรื่องที่ลำบากและต้องเสียเงิน ทำให้มีผู้หญิงอินเดียเป็นจำนวนมากจะดื่มน้ำเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเข้าห้องน้ำบ่อยๆ แน่นอนว่าการดื่มน้ำน้อยมากๆนั้น ย่อมไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ และอาจทำให้เสียชีวิตได้ถ้าหากร่างกายเกิดอาการขาดน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูร้อน สภาพอากาศในอินเดียจะร้อนมากๆ 
 
เมื่อปลายปีที่แล้ว 35 กลุ่มองค์กรอิสระในอินเดีย รวมไปถึงนักทำกิจกรรมเพื่อสังคม ได้เดินขบวนเรียกร้องให้ผู้คนมาลงชื่อกันเพื่อนำเสนอต่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดว่า ให้ผู้หญิงในเมืองมุมไบได้ใช้ห้องน้ำฟรี (Right to Pee) เพราะสัดส่วนของผู้หญิงในเมืองมุมไบคิดเป็น 50% ดังนั้นรัฐบาลท้องถิ่นควรให้ผู้หญิงได้รับสิทธิในการใช้ห้องน้ำฟรีเหมือนกับผู้ชาย โดยสรุปพวกเขาเรียกร้องให้รัฐบาลท้องถิ่นทำตาม 3 ข้อด้วยกันคือ (1) ผู้หญิงสามารถใช้ห้องน้ำสาธารณะได้ฟรี (2) ในห้องน้ำหญิงควรมีเครื่องขายผ้าอนามัย เหมือนกับห้องน้ำชายที่มีถุงยางขาย และ (3) ควรมีห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าในห้องน้ำด้วย ซึ่งเรื่องเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ 
 
การเดินขบวนเรียกร้องในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทั่วไปทั้งผู้ชายและผู้หญิง เพราะพวกเขาต้องการให้ผู้หญิงมีห้องน้ำสาธารณะที่ถูกสุขลักษณะไว้ใช้ และยังต้องการให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสร้างห้องน้ำสาธารณะให้มากขึ้นอีกด้วย
ด้านนาย Rahul Gaekwad หัวหน้าคณะกรรมการการจัดการทรัพยากรแห่งชาติ ออกมากล่าวว่า จริงๆ แล้วรัฐบาลมีนโยบายให้ผู้หญิงใช้ห้องน้ำสาธารณะได้ฟรีเหมือนกับผู้ชาย เพียงแต่นโยบายนี้อาจจะยังไปไม่ถึงเมืองต่างๆ ดังนั้นในอีกไม่นานนี้ผู้หญิงที่อยู่อาศัยในทุกๆ เมืองก็จะมีห้องน้ำใช้ และไม่ต้องเสียเงินแบบผู้ชาย
 
การเดินขบวนเรียกร้องเกี่ยวกับการสร้างห้องน้ำสาธารณะให้มากขึ้น และการให้ผู้หญิงได้ใช้ห้องน้ำฟรีเหมือนกับผู้ชายในครั้งนี้ ไม่ใช่การออกมาเดินขบวนเรียกร้องครั้งแรก แต่มีการออกมาเดินขบวนเรียกร้องหลายครั้งแล้ว เพียงแต่รัฐบาลไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควรในการแก้ไขปัญหา
 
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้รณรงค์เรื่อง ไม่มีห้องน้ำ ไม่มีเจ้าสาว (No Toilet No Bridge) เพื่อให้ประชาชนสร้างห้องน้ำไว้ในบ้านของตัวเอง เพราะจากการสำรวจครั้งล่าสุดในปี 2556 รัฐบาลอินเดียค่อนข้างตกใจที่พบว่า มีคนมากกว่า 74% ที่มีมือถือใช้ แต่มีเพียงแค่ 50% เท่านั้นที่มีห้องน้ำใช้ภายในบ้านของตัวเอง ซึ่งเมื่อเทียบกับตัวเลขที่ทำการสำรวจเมื่อปี 2552 จะพบว่า คนอินเดียที่มีมือถือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่มีการเพิ่มจำนวนห้องน้ำในบ้านตัวเองเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น
 
การรณรงค์ในครั้งนี้ถือว่าได้ผลพอสมควร เพราะผู้หญิงอินเดียส่วนใหญ่จะไม่แต่งงานกับผู้ชายที่ไม่สร้างห้องน้ำให้พวกเธอ และมีครอบครัวหนึ่งที่ผู้หญิงแต่งงานไปแล้ว แต่สามีไม่ยอมสร้างห้องน้ำให้ เธอจึงขอหย่าและย้ายออกจากบ้าน สามีจึงต้องยอมสร้างห้องน้ำให้
 
เรื่องของห้องน้ำและการรณรงค์ในครั้งนี้คงต้องติดตามต่อไปว่า รัฐบาลอินเดียจะเดินหน้าแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังหรือไม่ เพื่อที่จะให้จำนวนประชาชนที่มีห้องน้ำในบ้านของตัวเอง มีมากกว่าจำนวนคนที่มีมือถือไว้ในครอบครอง