วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Cover Story > เปิดเกม” นิปปอนแพ็ค” แผนท้าชนยักษ์ฟาสต์ฟู้ด

เปิดเกม” นิปปอนแพ็ค” แผนท้าชนยักษ์ฟาสต์ฟู้ด

 
 
“ผมหันมาลุยธุรกิจร้านอาหาร ทุ่มเงินซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ด A&W เพราะคิดต่างจากคนอื่น…”
 
สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิปปอนแพ็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ “NPP” กล่าวกับทุกคนในงานเปิดตัวธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด เอแอนด์ดับบลิว (A&W) ในฐานะผู้ได้รับสิทธิ์แฟรนไชส์แบบเอ็กซ์คลูซีฟในประเทศไทย ระยะเวลาสัญญายาวถึง 20 ปี ซึ่งก้าวย่างครั้งนี้ไม่ใช่แค่การประกาศท้าชนยักษ์ฟาสต์ฟู้ดในตลาด แต่เป็นจุดพลิกโฉมธุรกิจในเครือนิปปอนแพ็ค จากเจ้าตลาดบรรจุภัณฑ์พลาสติกรายใหญ่สู่ธุรกิจร้านอาหารและยังวางแผนการใหญ่ เตรียมทุ่มทุนซื้อแบรนด์ร้านอาหารชื่อดังอีกหลายดีล 
 
เฉพาะปีนี้นิปปอนแพ็คจะเปิดตัวอีก 2 แบรนด์ โดยเตรียมเผยโฉมร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือเร็วๆนี้  1 แบรนด์ ส่วนอีก 1 แบรนด์ยังอยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งสุรพงษ์ย้ำว่าต้องเป็นร้านอาหารที่มีศักยภาพ โดนใจลูกค้า มีจำนวนสาขาในระดับหนึ่ง และเป็นแบรนด์ของคนไทย เพื่อต่อยอดสู่แผนการเจาะตลาดในต่างประเทศ 
 
ส่วนแบรนด์ A&W ซึ่งถือเป็นฟาสต์ฟู้ดระดับทอปไฟว์ของโลกและผู้นำธุรกิจแฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ดนั้น ด้านหนึ่งนิปปอนแพ็คต้องการขยายสิทธิ์แฟรนไชส์เข้าสู่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน หลังจากเจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์เดิมสัญชาติมาเลเซียหยุดการทำตลาดหลายปี  โดยล่าสุด บริษัทแม่ A&W Restaurant Inc. USA อนุมัติเพิ่มสิทธิ์แฟรนไชส์ในประเทศ สปป.ลาว และเมียนมา มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 รวมทั้งกำลังเจรจาขั้นต่อไป เพื่อขอรับสิทธิ์แฟรนไชส์ในประเทศกัมพูชาตามแผนรุกขยายตลาดอาเซียน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ตลาดธุรกิจอาหารบริการด่วน หรือ QSR (Quick Service Restaurant) กำลังเติบโตสูงมาก
 
อีกด้านหนึ่ง นิปปอนแพ็คสามารถเรียนรู้ระบบแฟรนไชส์ต่างๆ ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อรองรับแผนการขายแฟรนไชส์ธุรกิจร้านอาหารในอนาคต ทั้งในและต่างประเทศ 
 
ที่สำคัญ การสร้างอาณาจักรธุรกิจทุกสเต็ป แท้จริงแล้วถูกวางโรดแมพและยุทธศาสตร์การขยายตัวอย่างครบวงจร 360 องศาด้วย
 
ทั้งนี้ บริษัท นิปปอน แพ็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2530 เริ่มจากทุนจดทะเบียนเพียง 4.2 ล้านบาท เพื่อประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทอ่อนตัว (Flexible Packaging) สำหรับบรรจุสินค้าอุปโภคและบริโภคประเภทต่างๆ 
 
ต่อมามีการขยายกำลังการผลิต เพิ่มสายการผลิตขวดพีอีที (PET) บรรจุน้ำดื่มและน้ำมันพืช สร้างรายได้เติบโตต่อเนื่องและแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี  2536  มีทุนจดทะเบียนเพิ่มเป็น 549 ล้านบาท
 
ปี 2555 บริษัทเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ดึงสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย อดีตซีอีโอบริษัท ทราฟฟิค คอนเนอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นมือเทกโอเวอร์คนหนึ่งในวงการ เข้ามานั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ 
 
แน่นอนว่า สุรพงษ์เริ่มซื้อกิจการ นำ NNP เข้าถือหุ้นในธุรกิจดาวรุ่งและแตกไลน์ธุรกิจใหม่ๆ 
 
ปัจจุบัน  นิปปอนแพ็คมีธุรกิจในเครือ 3 กลุ่มหลัก เริ่มจากกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ประกอบด้วย 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท นิปปอนแพ็ค โรงงานตั้งต้นผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกและขวดเพ็ท บริษัท  พร้อมแพค จำกัด ผลิตบรรจุภัณฑ์พวกถาดบรรจุอาหาร และบริษัท ไทยเฟลคซิ-เบิลแพค จำกัด ผลิตบรรจุภัณฑ์พวกซองบรรจุอาหารชนิดต่างๆ 
 
ปี 2557 แตกไลน์กลุ่มธุรกิจสื่อโฆษณา จัดตั้งบริษัท นิปปอนแพ็คเทรดดิ้ง จำกัด เพื่อเป็นพันธมิตรร่วมกับบริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก โดยเซ็นสัญญาเป็นผู้บริหารจัดการสื่อโฆษณาภายในร้านค้าปลีก “จิฟฟี่” ทุกแห่งทั่วประเทศ ระยะเวลา 12 ปี 
 
ส่วนกลุ่มที่ 3 ธุรกิจจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นกลุ่มที่หมายมั่นปั้นมือจะสร้างรายได้หลักใกล้เคียงกับกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ 50:50 ล่าสุดมี 2 บริษัทในเครือ คือ บริษัท ไทยลักซ์ ฟู้ดโปรดักส์ จำกัด ซึ่งสุรพงษ์นำนิปปอนแพ็คเข้าถือหุ้น 45% และเป็นจุดเริ่มเส้นทางการรุกเข้าสู่ธุรกิจอาหาร เนื่องจากไทยลักซ์ฯ ถือเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปแช่แข็งและผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานรายใหญ่ในตลาด ปัจจุบัน ผลิตสินค้าป้อนขายในร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นทั่วประเทศ เช่น ข้าวต้มกุ้ง ข้าวผัดน้ำพริกปลาทู 
 
ไทยลักซ์ฯ เองยังอยู่ในเครือบริษัท ไทยลักซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของธุรกิจอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำและธุรกิจเลี้ยงสัตว์น้ำรายใหญ่ มีตลาดหลักทั้งในและต่างประเทศ 
 
อีกบริษัท คือ เอ็นพีพี ฟู้ด อินคอร์ปอเรชั่น ซึ่งนิปปอนแพ็คร่วมทุนกับบริษัท ไทยลักซ์ฯ ก่อตั้งเมื่อปลายปี 2558 ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท เพื่อลุยธุรกิจร้านอาหาร โดยประเดิม A&W เป็นแบรนด์แรก
 
สุรพงษ์กล่าวว่า บริษัทมีแผนลุยธุรกิจร้านอาหาร เพื่อกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจหลักอย่างการผลิตแพ็กเกจจิ้งอาหาร ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ปัญหากำลังซื้อ แม้เวลานี้ยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจน  เพราะสินค้าส่วนใหญ่ของนิปปอนแพ็คป้อนตลาดระดับแมส แต่บริษัทต้องป้องกันความเสี่ยง ขณะเดียวกัน ต้องการต่อยอดธุรกิจ ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาวที่สำคัญ เนื่องจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์ถือเป็นวัตถุดิบหลักของธุรกิจอาหารทุกประเภท  
 
ในอนาคต บรรจุภัณฑ์ของบริษัทสามารถสร้างยอดขายจากร้านอาหารในเครือ เช่น ขวดน้ำในร้าน A&W ถาดอาหาร กล่อง ซองอาหาร หีบห่อต่างๆ ซึ่งหมายรวมถึงร้านอาหารแบรนด์ใหม่ๆ ที่จะเข้ามาอยู่ในเครือด้วย 
 
“จริงๆ NPP อยู่ในวงการธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มนานแล้ว มีคู่ค้าและสายสัมพันธ์กับบริษัทมากมายและเรากำลังต่อยอดเพื่อเป็นผู้ดำเนินธุรกิจอาหารอีกรายหนึ่งในตลาด โดยมีจุดได้เปรียบในแง่วัตถุดิบ สามารถผลิตเอง ซึ่งสามารถลดต้นทุนและเพิ่มยอดขายให้บริษัทแม่อีกต่อหนึ่งด้วย”
 
ยุทธศาสตร์ดังกล่าวทำให้สุรพงษ์มั่นใจว่าผลประกอบการของนิปปอนแพ็คปี 2559 จะเติบโตก้าวกระโดด จากเดิมที่วางไว้เพิ่มขึ้นเพียง 20% จากปีก่อน 
 
สิ่งที่เห็นชัดเจนทันทีที่กลายเป็นผู้ได้รับสิทธิ์แฟรนไชส์ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด A&W ไม่ใช่แค่การสร้างรายได้ในกลุ่มธุรกิจอาหาร แต่บริษัทสามารถเพิ่มเมนูอาหารที่เอื้อกับบริษัทในเครืออย่าง “ไทยลักซ์ ฟู้ด โปรดักส์” เช่น การเพิ่มเมนูปลา ซึ่งไม่เคยปรากฏอยู่ในเมนูหลักของ A&W ซึ่งสร้างยอดขายให้ไทยลักซ์ฯ และเพิ่มความแปลกใหม่ให้กลุ่มลูกค้าด้วย 
 
ตามแผนเบื้องต้น ก้าวแรกในธุรกิจอาหาร บริษัทเตรียมเงินลงทุนมากกว่า 500 ล้านบาท เพื่อขยายสาขาร้าน A&W อย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้เปิดเพิ่ม 6 สาขา รวมกับร้านสาขาเดิมที่ได้ต่อสัญญาแฟรนไชส์แล้ว จำนวน 21 สาขา สร้างรายได้ปีแรกไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท และภายในปี 2560 จะขยายสาขาครบ 50 สาขา หลังจากนั้นเร่งขยายสาขาให้ครบ 100 สาขา ภายใน 5 ปี เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเป็น 10% ของตลาด QSR ในเซกเมนต์เบอร์เกอร์และไก่ทอดที่มีมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านบาท 
 
จุดเปลี่ยนธุรกิจในฐานะน้องใหม่ที่ขอท้าชนยักษ์ฟาสต์ฟู้ด ทั้งเจ้าตลาด “เคเอฟซี-แมคโดนัลด์” รวมถึง “เบอร์เกอร์คิง” ที่ประกาศรุกตลาดเต็มสูบอีกครั้ง หรือแม้กระทั่งแบรนด์ไก่ทอดในเครือ ปตท. ที่ซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์จากอเมริกาเช่นกัน 
 
สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย คงต้องพิสูจน์อีกครั้งว่า ยุทธศาสตร์การสร้างอาณาจักร “นิปปอนแพ็ค” จะไม่ใช่แค่การขายฝันเท่านั้น