วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > เซ็นทรัลเปิดศึกดิวตี้ฟรี ชน “คิงเพาเวอร์-ล็อตเต้”

เซ็นทรัลเปิดศึกดิวตี้ฟรี ชน “คิงเพาเวอร์-ล็อตเต้”

ในที่สุด กลุ่มเซ็นทรัลประกาศเตรียมความพร้อมอย่างชัดเจน เพื่อช่วงชิงพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี หรือ “ดิวตี้ฟรี” ในสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอื่นๆ อีก 3 แห่ง ซึ่งกระทรวงคมนาคมคาดการณ์จะเปิดประมูลในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปี 2562 ท่ามกลางคู่แข่งยักษ์ใหญ่ทั้งในไทยและต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคิงเพาเวอร์ ล็อตเต้ หรือแม้กระทั่งหน้าใหม่ทุนหนาอย่าง “บางกอกแอร์เวย์ส”

ทั้งนี้ ตามแผนการพัฒนาระบบขนส่งทางอากาศของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) จะมีโครงการประมูลพื้นที่ดิวตี้ฟรีในสนามบินขนาดใหญ่อีก 4 แห่ง โดยโครงการแรกของสนามบินสุวรรณภูมิอยู่ในอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 และ 2 ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เตรียมเสนอเอกสารเงื่อนไขการประกวดราคาเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ในเดือนธันวาคมนี้ ควบคู่กับอีก 3 สนามบิน ได้แก่ สนามบินท่าอากาศยานภูเก็ต สนามบินเชียงใหม่ และสนามบินหาดใหญ่

ขณะที่ก่อนหน้านี้ สนามบินอู่ตะเภาประกาศขายทีโออาร์ให้เอกชนเข้ามาบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ จำนวน 2 สัญญา 2 กิจกรรม ประกอบด้วยพื้นที่สินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) และสัญญาพื้นที่ร้านค้าปลีก โดยมีผู้ที่ซื้อซองประมูลกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) 5 ราย คือ 1. คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี 2. เซ็นทรัล ดีเอฟเอส คอนซอร์เตี้ยม กิจการร่วมการงานระหว่างบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด และดีเอฟเอส เวนเจอร์ สิงคโปร์ 3. ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี (ประเทศไทย) 4. บางกอกแอร์เวย์ส โฮลดิ้ง และ 5. บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด

ส่วนกิจกรรมเชิงพาณิชย์ประเภทร้านค้าปลีก มีผู้ซื้อซอง 7 ราย ได้แก่ 1. บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด 2. เซ็นทรัล ดีเอฟเอส คอนซอร์เตี้ยม กิจการร่วมการงานระหว่างบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด และดีเอฟเอส เวนเจอร์ สิงคโปร์ 3. บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป 4. บริษัท ซีเลค เซอร์วิส พาร์ทเนอร์ 5. บริษัท บางกอกแอร์เวย์ส โฮลดิ้ง 6. บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด และ 7. บริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

แม้ผลปรากฏว่า กลุ่มเซ็นทรัล ดีเอฟเอส คอนซอร์เตี้ยม คว้าสัมปทานได้เฉพาะพื้นที่ร้านค้าปลีก เนื่องจากบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด เอาชนะคว้าสัมปทานโครงการดิวตี้ฟรีในสนามบินอู่ตะเภา ระยะเวลาสัญญา 10 ปี โดยเสนอจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำ (Minimum guarantee) สูงสุด 233 ล้านบาทต่อปี เฉือนคู่แข่งยักษ์เกาหลีอย่างบริษัท ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี (ประเทศไทย) ซึ่งเสนอจ่ายผลตอบแทน 212 ล้านบาทต่อปี

ตามด้วยกลุ่มเซ็นทรัล ดีเอฟเอส คอนซอร์เตี้ยม เสนอผลตอบแทนขั้นต่ำ 120 ล้านบาทต่อปี และบางกอกแอร์เวย์ส โฮลดิ้ง เสนอ 70 ล้านบาทต่อปี

แต่การคว้าสัมปทานพื้นที่รีเทลของเซ็นทรัล ดีเอฟเอส คอนซอร์เตี้ยม หมายถึงจุดเริ่มต้นการรุกธุรกิจค้าปลีกในสนามบินและธุรกิจดิวตี้ฟรีอย่างจริงจัง หลังจากพยายามชงข้อเรียกร้องผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งในฐานะเจ้าของอาณาจักรห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่และในฐานะตัวแทนสมาคมผู้ค้าปลีกไทยนานหลายปี เพื่อให้รัฐบาลผลักดันยุทธศาสตร์การเป็นจุดหมายปลายทางการจับจ่ายของกลุ่มนักท่องเที่ยวและดึงกลุ่มลูกค้าคนไทยหันมาซื้อสินค้าแบรนด์เนมต่างชาติในประเทศไทย ดึงเม็ดเงินกลับเข้าสู่ประเทศ

ที่ผ่านมา กลุ่มเซ็นทรัลพยายามสื่อสารกับภาครัฐผลักดันมาตรการลดภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย เนื่องจากคนไทยในระดับรายได้สูงถึงปานกลางยังนิยมเดินทางออกไปชอปปิ้งที่ต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องด้วยอัตรา 9% ต่อปี เฉลี่ยสูงกว่า 170,000-180,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการจับจ่ายสินค้าแบรนด์เนมที่มีจำหน่ายในประเทศไทยสูงถึง 50,000-60,000 ล้านบาท

ในทางกลับกัน สินค้าฟุ่มเฟือยยังมีการนำเข้าสูงมาก ดูจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์พบว่า ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2561 ประเทศไทยมียอดนำเข้ากลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย 8 รายการ สูงถึง 197,332.19 ล้านบาท ประกอบด้วยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านมีมูลค่านำเข้า 75,028 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์เวชกรรม และเภสัชกรรม 38,769.8 ล้านบาท ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ 24,099 ล้านบาท

เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ 21,837.5 ล้านบาท สบู่ ผงซักฟอก และเครื่องสำอาง (รวมน้ำหอม) 15,935.3 ล้านบาท เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค 9,616.5 ล้านบาท นาฬิกาและส่วนประกอบ 8,135.7 ล้านบาท กระเป๋าถือและกระเป๋าอื่นๆ 3,909.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.3%

ช่วงกลางปี 2561 นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ตัดสินใจออกมาตอกย้ำนโยบาย Duty Free City หลังจากพยายามนำเสนออย่างต่อเนื่อง เพราะอยู่ในช่วงจังหวะที่สัญญาสัมปทานพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ในสนามบินสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานภูมิภาคอีก 3 แห่ง คือ เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต จะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2563 เพื่อให้ประเทศไทยเป็น Shopping Destination ของนักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการเปิดเสรีร้านค้าปลอดภาษี เพิ่มจำนวนร้านค้าปลอดภาษีในเมืองมากขึ้น และการพิจารณาเปิดประมูลร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินตามประเภทกลุ่มสินค้า

เหตุผลสำคัญเพราะเม็ดเงินจากกลุ่มนักท่องเที่ยวกำลังเป็นแหล่งรายได้ก้อนใหญ่ในอนาคตของกลุ่มห้างค้าปลีกและมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นหลายเท่า หากมีการผลักดันถูกจุด

สิ่งที่สะท้อนภาพให้เห็นชัดเจน ก็คือ แม้ช่วงปี 2561 ธุรกิจค้าปลีกทุกรูปแบบมีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ รูปแบบ ไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์สโตร์ เพิ่มขึ้น 37 แห่ง ซูเปอร์มาร์เก็ต 47 แห่ง ร้านสะดวกซื้อ 1,104 แห่ง ห้างสรรพสินค้าขยายเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 4 แห่ง ห้างค้าปลีกกลุ่มสินค้าตกแต่งซ่อมแซมบ้าน และการก่อสร้าง 16 แห่ง ห้างค้าปลีกกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 65 แห่ง และกลุ่มสุขภาพ-ความงาม 211 แห่ง รวมเม็ดเงินเฉลี่ยปีละ 44,000 ล้านบาท แต่ธุรกิจค้าปลีกทรงตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า และกระจุกตัวเฉพาะในกรุงเทพฯ และหัวเมืองหลักๆ ของการท่องเที่ยว

ที่สำคัญ ธุรกิจดิวตี้ฟรีของประเทศไทยสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่าเท่าตัว หรือไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 60,000 ล้านบาท หรือทะยานสู่หลักแสนล้านบาทได้ไม่ยาก โดยเปรียบเทียบตัวเลขการจับจ่ายซื้อสินค้าปลอดภาษีของไทย เฉลี่ยเพียงหัวละ 47 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,550 บาท กับตัวเลขการจับจ่ายสินค้าดิวตี้ฟรีในประเทศเกาหลีใต้ สูงถึงหัวละ 260 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 8,580 บาท มากกว่าไทยถึงกว่า 5 เท่า ทำให้เกาหลีใต้มีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีกว่า 3 แสนล้านบาท

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนของธุรกิจดิวตี้ฟรีในสนามบิน การพลิกจากระบบผูกขาดเจ้าเดียวสู่ตลาดที่มีผู้เล่นมากขึ้น แนวโน้มธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐ และที่สำคัญตัวเลขเม็ดเงินนับแสนล้าน

ทั้งหมดดึงดูดให้กลุ่มทุนต่างกระโดดเข้าสู่สมรภูมิการแข่งขัน ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลคงไม่ยอมละทิ้งโอกาสแน่

ใส่ความเห็น