วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > “เคอีแลนด์” ดันบิ๊กโปรเจกต์ มิกซ์ยูส ทาวน์ เซ็นเตอร์

“เคอีแลนด์” ดันบิ๊กโปรเจกต์ มิกซ์ยูส ทาวน์ เซ็นเตอร์

 
แนวรบค้าปลีกเลียบทางด่วนรามอินทราเพิ่มดีกรีความร้อนแรงมากขึ้นและกลายเป็น “รีเทลฮับ” อีกจุดใหญ่ โดยเฉพาะ “เซ็นทรัล” ที่เข้ามาปักหมุดผุด “อีสต์วิลล์” กับเจ้าถิ่น “เค.อี.แลนด์” ซึ่งล่าสุดขยายเฟสใหม่ เปิดตัว “เดอะคริสตัล วีรันด้า” และมีแผนลงทุนบิ๊กโปรเจกต์ต่อเนื่อง ขยาย “คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ (ซีดีซี)” และต่อยอดสู่โครงการ “มิกซ์ยูส ทาวน์ เซ็นเตอร์” มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท
 
ทั้งหมดเป็นการทยอยต่อจิ๊กซอว์พลิกที่ดินในมือกว่า 300 ไร่ ตั้งแต่การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยระดับไฮเอนด์เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เริ่มจากทาวน์เฮาส์ “คริสตัลวิลล์” ตามด้วยคฤหาสน์สไตล์เบเวอร์ลี่ ฮิลล์ “คริสตัลพาร์ค” ราคาหลังละ 80 ล้านบาท เปิดบ้านเดี่ยวสไตล์คฤหาสน์ “แกรนด์ คริสตัล”แล้วเติมเต็มคอมมูนิตี้มอลล์ระดับหรู “เดอะคริสตัล” รองรับกลุ่มผู้อยู่อาศัย ทั้งในโครงการและพื้นที่ใกล้เคียงทั้งหมด 
 
จนกระทั่งปี 2553 ลงทุนสร้างโครงการ คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ ซึ่งถือเป็นศูนย์ดีไซน์ครบวงจรฉีกแนวแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและเอเชีย ณ เวลานั้น 
 
กวีพันธ์ เอี่ยมสกุลรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค.อี.แลนด์ จำกัด กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360  ํ” ว่า บริษัทพัฒนาโครงการตั้งแต่วันแรกจนถึงล่าสุด โจทย์ข้อสำคัญไม่เปลี่ยนแปลง คือการสร้างความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบโครงการ การออกแบบ สไตล์การตกแต่ง การเจาะลูกค้าระดับบน ลูกค้ากลุ่มนิชมาร์เก็ต หรือการเลือกสรรร้านค้าต่างๆ ซึ่งทำให้บริษัทสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว เพราะถ้าทำโครงการเหมือนคู่แข่ง ไม่มีทางประสบความสำเร็จ
 
ขณะเดียวกันการเน้นเจาะลูกค้าระดับ A-B  มาตลอด เนื่องจากลูกค้าโซนนี้เป็นกลุ่มกำลังซื้อสูงและเติบโตต่อเนื่อง โดยกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มที่มีรายได้รวมทั้งครอบครัวไม่ต่ำกว่า 80,000 บาทต่อเดือน ส่วนใหญ่หมดภาระการผ่อนบ้านและอาศัยอยู่ต่อมาจนถึงรุ่นลูก 
 
รวมทั้งในพื้นที่มีโครงการที่อยู่อาศัยระดับบนเปิดใหม่จำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่และเจ้าของกิจการ ซึ่งถ้าวัดรัศมีพื้นที่อยู่ในรัศมี 5-10 กิโลเมตร ครอบคลุม 7 เขตเศรษฐกิจสำคัญของกรุงเทพฯ ได้แก่ ลาดพร้าว วังทองหลาง บางกะปิ บึงกุ่ม วัฒนา บางเขน และจตุจักร มีประชากรกว่า 1.2 ล้านคน
 
จากลูกค้ากลุ่มเป้าหมายระดับบน รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่หลั่งไหลจากพื้นที่อื่นทำให้ “เดอะ คริสตัล” เหมือน “เสือซุ่ม” เติบโตอย่างเงียบๆ ไร้คู่แข่ง พร้อมต่อจิ๊กซอว์ขยายเฟส 2 และล่าสุด บริษัท เค.อี.แลนด์ ตัดสินใจทุ่มทุนอีกกว่า 2,000 ล้านบาท ขยายเฟส 3 ภายใต้ชื่อโครงการ “คริสตัล วีรันด้า” โดยวางคอนเซ็ปต์ใหม่ “ชอปปิ้งมอลล์ไฮลักชัวรี่” ตกแต่งหรูหรา งานดีไซน์ระดับโลก และให้บริการเหมือนโรงแรมระดับ 5 ดาว เปิดพื้นที่ส่วนกลางเป็นล็อบบี้ บริการชา กาแฟ อาหารว่าง  
 
ในส่วนร้านค้าและแบรนด์ชั้นนำ มีจำนวนมากกว่า 200 แบรนด์ หรือกว่า 100 ร้านค้า แบ่งเป็นหมวดร้านอาหาร 23% หมวดบันเทิง 19% หมวดแฟชั่น 17% หมวดเด็กและการศึกษา 11% ซูเปอร์มาร์เก็ต 8% กีฬา 7% ความงาม 6% ธนาคาร 5% และไอที 3% แต่ละหมวดชูจุดขายคอนเซ็ปต์สโตร์ลักชัวรี่ เช่น โรงภาพยนตร์เอสเอฟเอ็กซ์ระดับเอ็กซ์คลูซีฟ  ฟิตเนสเฟิร์สที่มีวิว 360 องศา และคริสตัลบูทีคสโตร์ ซึ่งถือเป็นแฟชั่นบูทีคแนวคิดแรกของไทย 
 
ขณะที่กลุ่มธนาคารมีไฮไลต์ คือธนาคารกรุงเทพ ซึ่งใช้พื้นที่มากถึง 2,000 ตร.ม. เปิด BBL Exclusive Lounge ครั้งแรก พร้อมบริการเทรดหุ้นและตู้นิรภัย 
 
แน่นอนว่า การเติมเต็ม “เดอะ คริสตัล เอกมัย-รามอินทรา” มีเป้าหมายรองรับบิ๊กโปรเจกต์ รวมพื้นที่ทั้ง 3 เฟส  120,000 ตร.ม จำนวนร้านค้ารวมกว่า 400 ร้านค้า ที่จอดรถกว่า 1,800 คัน พร้อมบริการ valet parking และ super car parking 
 
กวีพันธ์กล่าวว่า แผนลงทุนหลังจากนี้จะเป็นโครงการใหญ่  คือการสร้างอาณาจักร “มิกซ์ยูส ทาวน์ เซ็นเตอร์” เนื้อที่รวมมากกว่า  30 ไร่ จากทั้งหมด 73 ไร่ฝั่งซีดีซี โดยจะมีทั้งอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม บูทีคโฮเต็ล และเพิ่มพื้นที่โชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ในส่วนซีดีซี  เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้โครงการทั้งสองฝั่ง
 
อย่างไรก็ตาม การลงทุนบิ๊กโปรเจกต์ที่ใช้เงินลงทุนมหาศาลทำให้เค.อี.แลนด์ ต้องศึกษาปัจจัยต่างๆ ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน โดยเฉพาะความชัดเจนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกที่มีผลต่อการลงทุนมากที่สุด
 
ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีเทา (วัชรพล-พระโขนง-สะพานพระราม 9-ท่าพระ) เป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พ.ศ. 2553-2572 เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของที่พักอาศัยบริเวณถนนประดิษฐ์มนูธรรมและย่านสาธุประดิษฐ์ 
 
แนวเส้นทางเริ่มจากถนนรามอินทรา ชานเมืองด้านตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ ลงมาทางทิศใต้ตามถนนประดิษฐ์มนูธรรม เลียบทางพิเศษฉลองรัช เข้าสู่ใจกลางเมืองย่านทองหล่อ ถนนสุขุมวิท ถนนพระราม 4 คลองเตย ถนนรัชดาภิเษก-พระราม 3 ไปสิ้นสุดบริเวณเชิงสะพานพระราม 9 ด้านทิศใต้ของพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ รวมระยะทาง 26 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสาร 340,000 เที่ยวต่อวันในปี 2572
 
ในการก่อสร้างจะแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงวัชรพล-ลาดพร้าว ช่วงลาดพร้าว-พระราม 4 และช่วงพระราม 4-สะพานพระราม 9 โดยแนวรบค้าปลีกเลียบทางด่วนรามอินทราจะอยู่ในช่วงวัชรพล-ลาดพร้าว ซึ่งเริ่มต้นจากบริเวณแยกต่างระดับรามอินทรา จุดตัดถนนรามอินทรา ถนนวัชรพล ถนนประดิษฐ์มนูธรรม และทางพิเศษฉลองรัช มุ่งหน้าลงมาทางทิศใต้ตามแนวเขตทางของถนนประดิษฐ์มนูธรรม รวมระยะทาง 8 กิโลเมตร มี 5 สถานี ซึ่งเฉพาะช่วงนี้คาดกันว่าจะมีผู้โดยสาร 84,000 เที่ยวต่อวันในปี 2562
 
กวีพันธ์กล่าวว่า หากการก่อสร้างของภาครัฐเดินหน้าต่อเนื่องและสามารถเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเทาไม่เกินปี 2562 โครงการมิกซ์ยูส ทาวน์ เซ็นเตอร์ น่าจะมีความชัดเจนภายในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเช่นกัน 
 
และนั่นหมายถึงสมรภูมิค้าปลีกได้ขยายจาก “ดาวน์ทาวน์” สู่ “อัพทาวน์” แถมดุเดือดไม่แพ้กันด้วย