วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Home > Cover Story > อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ เดินหน้าจัดงานใหญ่ พร้อมภารกิจผลักดันไทยสู่ Hub ด้านอาหาร

อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ เดินหน้าจัดงานใหญ่ พร้อมภารกิจผลักดันไทยสู่ Hub ด้านอาหาร

ธุรกิจไมซ์ (MICE) หรือ ธุรกิจจัดการประชุมและแสดงสินค้า เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย เหล่าผู้จัดงานทยอยจัดงานกันอย่างต่อเนื่อง รวมถึง “อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์” หนึ่งในผู้จัดงานแสดงสินค้า ที่ออกมาประกาศเตรียมความพร้อมกับการจัดงานใหญ่ด้านอาหารแห่งปี อย่าง “ProPak Asia 2023” และ “Fi Asia 2023” มุ่งยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ต้องยอมรับว่าธุรกิจไมซ์เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีความสำคัญและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นธุรกิจที่ดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ และผู้ประกอบการจากทั้งในและต่างประเทศ ให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี

“รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์” ผู้อำนวยการกลุ่มงานภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย (Informa Markets) ในฐานะผู้จัดแสดงสินค้าและการประชุมเพื่อเชื่อมต่อธุรกิจระดับโลกในประเทศไทย เปิดเผยตัวเลขที่น่าสนใจของธุรกิจไมซ์ว่า ธุรกิจไมซ์สร้างรายได้เข้าประเทศถึง 29,749 ล้านบาท คิดเป็น 0.18% ของจีดีพีรวม จ่ายภาษีให้รัฐกว่า 2,089 ล้านบาท สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนกว่า 33,230 ล้านบาท และสร้างตำแหน่งงานถึง 46,718 ตำแหน่งงาน

สำหรับ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในผู้นำของธุรกิจการจัดแสดงสินค้าระดับนานาชาติ เป็นแพลตฟอร์มด้านงานแสดงสินค้า (Trade Exhibition) ที่จะช่วยผู้ประกอบการขยายตลาดทั้งในประเทศและในระดับภูมิกาค เฉพาะในไทยมีการจัดงานปีละไม่ต่ำกว่า 14 งาน เน้นเป็นงานแสดงสินค้า สำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ครอบคลุมทั้งด้านอัญมณี พลังงาน อุตสาหกรรมพลาสติก อาหารและการบริการ ยานยนต์ รวมถึงอุตสาหกรรมน้ำ เป็นต้น กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ นักธุรกิจและภาครัฐ (B2B และ 62G) ทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งทุกงานล้วนมีมูลค่าสูงทั้งในด้านการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ

ล่าสุด อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประกาศความพร้อมเตรียมจัดงานด้านอุตสาหกรรมอาหารอีก 2 งานใหญ่ติดๆ กัน ได้แก่ “ProPak Asia 2023” (Processing & Packaging Exhibition of Asia – โพรแพ็ค เอเชีย 2023) และ “Fi Asia 2023” (Food ingredient Asia Forum – ฟู้ด อินกรีเดียนส์ เอเชีย 2023) เพื่อกระตุ้นตลาดไมซ์ ผลักดันให้กลุ่ม M-SMEs ของไทยสามารถแข่งขันและก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดโลก และที่สำคัญคือผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตอาหารของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นการต่อจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญเพื่อเติมภาพการเป็นครัวของโลกให้กับประเทศไทยได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นการกลับมาอีกครั้งของงานใหญ่ภายใต้การดำเนินงานของ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ฯ และยังเป็นการครบรอบปีที่ 30 ของงาน ProPak Asia 2023 งานแสดงสินค้าและนวัตกรรมในกระบวนการผลิต แปรรูป และบรรจุภัณฑ์ และเป็นปีที่ 26 ของงาน Fi Asia 2023 งานแสดงสินค้า เทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้านส่วนผสมอาหารแห่งเอเชียอีกด้วย

ในฐานะแม่งานคนสำคัญ “รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์” ยังเปิดเผยต่อไปว่า “อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ฯ ต้องการผลักดันให้กลุ่ม M-SMEs สามารถแข่งขันและก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดโลกได้ รวมทั้งผลักดันให้ไทยกลายเป็น Hub แห่งนวัตกรรมใหม่ๆ ในกระบวนการผลิต ซึ่งในปีนี้สภาวะสถานการณ์โรคอุบัติใหม่โควิด-19 ที่ผ่อนคลายลง ทำให้เราสามารถผลักดันในแง่การสร้างการรับรู้สู่กลุ่มต่างชาติและการเดินทางมาได้เต็มรูปแบบ แน่นอนว่าในปีนี้อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ฯ จะผลักดันและสนับสนุนกลยุทธ์ในการเป็นหนึ่งในงานที่จะช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมไมซ์ให้เติบโตตามนโยบายภาครัฐ”

“อุตสาหกรรมอาหารไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว แต่เราเป็นหนึ่งในไมซ์ที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ เป็น Soft Power ทางด้านวัฒนธรรมอาหาร และเป็นแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างชาติให้เข้าประเทศ ดังนั้น การเสริมความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมอาหารตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องช่วยกันสร้างขึ้นมา นอกจากนั้น การจัดงานในครั้งนี้ มุ่งหวังให้เป็นการจุดประกายระบบ Ecosystem แบบครบวงจร ของอุตสาหกรรมทั้งในส่วนของ Processing และ Packaging เรียกว่าครบทั้งกระบวนการแบบครบวงจร”

ทั้งนี้ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ฯ ตั้งเป้ามีผู้แสดงงานจากต่างชาติเข้าร่วมกว่าร้อยละ 50 สำหรับงาน ProPak Asia 2023 และร้อยละ 60 สำหรับงาน FI Asia 2023 นอกจากนั้น ยังคาดว่าการจัดงานดังกล่าวจะสร้างให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องจากการใช้จ่ายเงินของทั้งผู้เข้าร่วมในประเทศและต่างชาติ ซึ่งมีการเก็บสถิติพบว่าโดยเฉลี่ยมีการใช้เงินต่อคนประมาณ 76,000 บาท ต่อการเข้ามาในประเทศในระยะเวลา 5 วัน

อีกทั้งยังก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ที่จะช่วยส่งเสริมการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทยให้เติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน

ไม่เพียงเท่านั้น ผลดีที่เกิดขึ้นยังส่งผลไปถึงภาคการเกษตรอันเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ ที่จะได้ประโยชน์จากการนำเทคโนโลยีไปใช้แปรรูปและพัฒนาการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น และทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตอาหารแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ในที่สุด

ในขณะที่ “เจริญ แก้วสุกใส” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่มของไทยได้อย่างน่าสนใจว่า ในปี 2565 ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารและเครื่องดื่มเป็นจำนวน 1.54 ล้านล้านบาท เป็นสินค้าเกษตร อาหาร 0.74 ล้านล้านบาท (48%) สินค้าอาหารสำเร็จรูปและเครื่องดื่ม 0.80 ล้านล้านบาท (52%) เป็นผู้ผลิตและส่งออกอันดับ 13 ของโลก และเป็นอันดับที่ 4 ของเอเชีย

ทางด้านสถิติจากงาน ProPak Asia ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้แสดงสินค้ารวม 780 บริษัท จาก 41 ประเทศ ซึ่ง top 10 ของประเทศที่เข้าร่วมได้แก่ ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, เวียดนาม, อินโดนิเซีย, สิงคโปร์, บังกลาเทศ, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลี และลาว โดยจุดประสงค์หลักที่เข้าร่วมคือเพื่อเก็บข้อมูลด้านการตลาด หาซัปพลายเออร์ รวมถึงแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ

ในส่วนของงาน Fi Asia ปีที่ผ่านมามีผู้แสดงสินค้ารวม 230 บริษัท จากต่างประเทศ 137 บริษัท และ 93 บริษัทจากในประเทศ ในขณะที่ผู้เข้าร่วมอยู่ที่ 15,995 ราย ในประเทศ 12,316 ราย และต่างประเทศ 3,679 ราย และ 10 อันดับแรกของผู้แสดงสินค้าประกอบด้วย ไทย, เดนมาร์ก, จีน, อุรุกวัย, สิงคโปร์, อินเดีย, สหรัฐอเมริกา, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น และมาเลเซีย

โดยงาน ProPak Asia 2023 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 17 มิถุนายน 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค และงาน Fi Asia 2023 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 22 กันยายน 2566 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งถือเป็น 2 งานใหญ่ที่ครบถ้วนทั้งกระบวนการของอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ตั้งแต่กระบวนการผลิต การคัดสรรบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ต่อตัวสินค้า และเป็นแหล่งรวมของวัตถุดิบเพื่อการผลิตอาหารและเครื่องดื่มจากทั่วโลกที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว.