วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > สมาร์ทไทยแลนด์ บนกระแส Industrial 4.0

สมาร์ทไทยแลนด์ บนกระแส Industrial 4.0

ภาพยนตร์ต่างชาติที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหุ่นยนต์ หรือจักรกลสังหาร ครั้งหนึ่งเป็นเพียงจินตนาการของผู้ประพันธ์หรือผู้เขียนบท ที่จะสร้างตัวละครหุ่นยนต์เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินให้แก่ผู้ชม

หากแต่ในวันนี้ที่ยุคสมัยกำลังเดินทางสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ พัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนำสมัย ทำให้เรื่องที่เคยเป็นเพียงจินตนาการกลายเป็นเรื่องจริง

แน่นอนว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหุ่นยนต์ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเคยเกิดขึ้น แต่ความพยายามที่จะพัฒนาหุ่นยนต์ในโลกแห่งความจริงนั้นมีมาให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศญี่ปุ่น ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีล้ำหน้าและก้าวแซงหลายๆ ประเทศ

AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เริ่มมีบทบาทและแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมบางประเภทที่ปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ถูกออกแบบให้สามารถทำงานทดแทนแรงงานคนได้

นัยหนึ่งของการมาถึงของยุคปัญญาประดิษฐ์ ไม่ใช่เพียงหลักฐานที่บ่งบอกถึงความสามารถของมนุษย์ในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์เพื่อทุ่นแรงงานคนเท่านั้น

หากแต่เป็นการย้ำเตือนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างช้าๆ แต่มีนัยที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยต่อประเด็นที่ว่า เหล่า AI กำลังเข้ามาแทนที่แรงงานคนในอุตสาหกรรมหรืองานบางประเภท

นั่นน่าจะนำมาซึ่งความวิตกกังวลว่า ในอนาคตข้างหน้าแรงงานคนจะเป็นอย่างไร เมื่อเหล่า AI ที่ถูกพัฒนามานั้นคล้ายกับว่ากำลังแย่งงานของมนุษย์

สำหรับบางคนอาจจะประเมินและมองเห็นถึงข้อดีต่อการถือกำเนิดของยุคปัญญาประดิษฐ์ว่า เมื่อมนุษย์สามารถใช้ AI ทำงานแทนได้แล้ว นั่นจะทำให้นักคิดนักพัฒนาทั้งหลายมีเวลามากขึ้นในการสร้างสรรค์หรือคิดค้นสิ่งใหม่ๆ เพื่อพัฒนาต่อไป

แต่แน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเป็นนักคิดนักพัฒนาได้

กระแสการมาของ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ น่าจะสร้างความตื่นตัวรวมไปถึงความวิตกกังวลต่อผู้คนที่แวดล้อมอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ที่ตัวเลขเงินลงทุนรวมไปถึงนักลงทุนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ถือเป็นรายได้สำคัญของประเทศ และที่สำคัญคือไทยมีทรัพยากรหลักอย่าง “แรงงานคน” ที่แม้จะเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ในระบบ แต่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเครื่องจักรตัวใหญ่

เมื่อไม่นานมานี้ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการตัดสินใจจะย้ายฐานการผลิตกลับประเทศญี่ปุ่นของบางแบรนด์ ก็เป็นเรื่องที่น่าจับตามองไม่น้อย เมื่อมองถึงเหตุผลของการตัดสินใจของแบรนด์ชื่อดังอย่าง Casio ก็พบว่า มีด้วยกันหลายสาเหตุ ทั้งเรื่องการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของไทยที่จะอนุมัติใช้ในวันที่ 1 เมษายนนี้ ทั้งการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในสายการผลิต ซึ่งมีต้นทุนที่พอรับได้เมื่อเทียบกับค่าจ้างแรงงานในไทย และการใช้คำว่า “Made in Japan” เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้กับแบรนด์ได้มากขึ้น

แม้ว่า Casio จะมีโรงงานในไทยเพียงแค่ 1 แห่งเท่านั้น โดยอีก 2 แห่งตั้งอยู่ที่ประเทศจีน และอีก 1 แห่งอยู่ในจังหวัดยามากาตะ ประเทศญี่ปุ่น

แน่นอนว่าไม่ใช่ Casio แบรนด์สัญชาติญี่ปุ่นเพียงแบรนด์เดียวเท่านั้นที่ตัดสินใจจะย้ายฐานการผลิตกลับประเทศต้นกำเนิด ด้าน Honda ค่ายรถยนต์ชื่อดังจากญี่ปุ่นเองก็ตัดสินใจที่จะย้ายฐานการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ที่ตั้งอยู่ในประเทศจีนกลับญี่ปุ่นเช่นกัน ขณะที่ Canon เองก็มีแผนที่ชัดเจนว่าจะย้ายฐานการผลิตกล้องดิจิทัลกลับญี่ปุ่น รวมไปถึงแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องเสียงอย่าง Pioneer ที่มีฐานการผลิตอยู่ในไทยเตรียมย้ายกลับสู่บ้านเกิดเช่นกัน

การตั้งฐานการผลิตนอกประเทศญี่ปุ่นนั้นเกิดขึ้นเพราะในช่วงปี 2011-2012 เงินเยนแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 80 เยน ทั้งที่ 30 ปีก่อน ค่าเงินเยนคือ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 250 เยน ซึ่งการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนทำให้สินค้าต่างๆ ขายได้ยาก นั่นทำให้บริษัทญี่ปุ่นออกไปสร้างฐานการผลิตยังนอกประเทศเพื่อเป็นการลดต้นทุน

แผนการในอนาคตของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่กำลังเริ่มขึ้นในเร็ววัน รวมไปถึงอนาคตอันใกล้ ไม่ใช่ภาพสะท้อนให้เราได้เห็นเพียงแค่เรื่องวิวัฒนาการของ AI หรือปัญญาประดิษฐ์เท่านั้น ที่ไทยจะต้องก้าวตามให้ทัน ทั้งเพื่อรักษานักลงทุนให้ยังคงอยู่ในประเทศต่อไป แต่นั่นหมายถึงอีกหนึ่งปัญหาที่เราจะต้องตระหนัก คือ ปัญหาแรงงาน ที่อาจจะตกงานในอนาคต

หากจะมองกันในเรื่องของความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้นเกี่ยวกับการเข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมของ AI หรือหุ่นปัญญาประดิษฐ์ คือหลักฐานสำคัญที่ฉายภาพของการเข้าสู่ Industrial 4.0 อย่างแท้จริง แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงคำนึงว่าอุตสาหกรรมไทยจะพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงอีกเรื่องคือทำอย่างไรให้วิ่งตามเทคโนโลยีที่เติบโตแบบก้าวกระโดดได้ทันเวลา

ยิ่งเมื่อมีรายงานว่าในปี 2017 หลายโรงงานเริ่มมีการเลิกจ้างแรงงานมนุษย์ เมื่อสามารถใช้ประโยชน์จากเหล่าปัญญาประดิษฐ์ได้ และข้อเท็จจริงที่ว่า การใช้งานจากปัญญาประดิษฐ์สามารถลดต้นทุนได้ในระยะยาวเมื่อเทียบกับแรงงานมนุษย์

แม้ว่าการเลิกจ้างแรงงานมนุษย์จะไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แน่นอนว่าหลายประเทศทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญและหยิบเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใส่ในระบบอุตสาหกรรมมากขึ้น และสำหรับแรงงานมนุษย์ในจุดที่ยังมีความจำเป็นนั้นถูกบังคับไปโดยปริยายว่าต้องพัฒนาและเสริมสร้างทักษะบางอย่างให้มากขึ้น

มองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ในยุคที่การบริหารงานยังอยู่ภายใต้การดูแลจากคณะรักษาความสงบและมั่นคงแห่งชาติ เราได้เห็นนโยบาย แผนการปฏิรูป และแผนการพัฒนามากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่ห้อยท้ายมาด้วยตัวเลข 4.0 หรือมีคำว่า “สมาร์ท” นำหน้า

นามธรรมเเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถทดแทนรูปธรรมที่เกิดขึ้นจริงได้ เช่นว่า เราจะพัฒนาแรงงานมนุษย์อย่างไร รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรมให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในยุคนี้อย่างไร

เพราะต้องไม่ลืมว่า ยุค 4.0 ที่ไม่ว่าจะห้อยท้ายในระบบใดก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบอุตสาหกรรม 4.0 แรงงานคนถือเป็นทรัพยากรหลักของไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งให้เกิดการพัฒนา เสริมสร้างทักษะสำคัญที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมยุคใหม่ เพื่อให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ผู้มีอำนาจในภาคอุตสาหกรรมของไทยต้องไม่ลืมว่า หากเราช้าลงเรื่อยๆ เราจะตามหลังและในที่สุดจะถูกทิ้งจนไม่เห็นฝุ่น นั่นคงไม่เป็นไปตามนโยบาย “Thailand 4.0” เท่าใดนัก

มีการคาดการณ์มากมายว่า ภายในปี 2020 ระบบ AI จะเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตของคนเรามากขึ้น โดยเฉพาะด้านการบริการ และด้านที่จะถูกระบบ AI เข้ามาทดแทนหรือเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงคือ 1. อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ 2. ด้านการตลาด 3. วิถีชีวิตของมนุษย์ 4. การคมนาคม และ 5. การเงิน

ถึงตอนนี้เราคงมองข้ามหรือปฏิเสธ AI ไม่ได้อีกแล้ว กระนั้นสิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ มนุษย์เป็นผู้พัฒนาหุ่นปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ และการพัฒนาสิ่งเหล่านี้คงไม่หยุดหรือจบลงง่ายๆ นั่นทำให้เราต้องย้อนถามตัวเองว่า เราจะทำอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะพยายามพัฒนาและก้าวให้ทันตามเทคโนโลยี หรือปฏิเสธไม่ยอมรับ และพร้อมจะถูกทิ้งให้ตามหลังต่อไป

ยุค ไทยแลนด์ 4.0 หรือ สมาร์ทไทยแลนด์ หรืออุตสาหกรรม 4.0 หลายฝ่ายคงกำลังเฝ้ารอให้นามธรรมเหล่านี้ขยายภาพจนกลายเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้นในเร็ววัน

ใส่ความเห็น